กองร้อยปฏิบัติการพิเศษ " นเรศวร 261 "

  • ประวัติหน่วยนเรศวร 261

  • หน่วยปฏิบัติการพิเศษ นเรศวร 261 จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2526ตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องนโยบายหลักและแนวความคิดในการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย ลง 1 ก.พ. 2526 ต่อจากนั้น ตร. ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการเปิดการฝึกอบรมหน่วยปฏิบัติการพิเศษและให้จัดตั้ง หน่วยปฏิบัติการพิเศษ " นเรศวร 261 "ขึ้นในปี 2527 ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษในสังกัด กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน ต่อมาปลายปี 2529 ตามพระราช กฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 14 หน่วยปฏิบัติการพิเศษ นเรศวร 261 ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนราชการระดับ กองร้อย ในอัตราการจัดของกองกำกับการ สนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน คือกองร้อยที่ 4 กก.สอ.ตชด. ในปัจจุบัน
  • ภารกิจ
  • กองร้อยปฏิบัติการพิเศษ นเรศวร 261 มีภารกิจปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล และการก่อการร้ายในเมืองทุกรูปแบบ นอกจากนั้นยังมีภารกิจการถวายความปลอดภัยแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและ พระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักต่าง ๆ ทั่วประเทศ รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และสถานที่สำคัญซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
  • การจัด
  • กองร้อยที่ 4 กก.สอ.ตชด. ประกอบด้วย ที่บังคับการกองร้อย ,หมวดโจมตี , หมวด ลาดตระเวนซุ่มยิง , หมวดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด , หมวดการฝึก , และหมวดสนันสนุน
  • การฝึก
  • การฝึกในครั้งแรกไม่มีรูปแบบที่แน่นอน โดยได้รับการสนับสนุนครูฝึกจาก ตร. และยึดรูปแบบการปฏิบัติการเป็นทีม 5 คน เหมือนหน่วยปฏิบัติการพิเศษ GSG 9 ของประเทศ เยอรมนี มีการฝึกการยิงปืนทางยุทธวิธี , การฝึกพลแม่นปืน , การปฏิบัติการทางน้ำ , การต่อสู้ป้องกันตัว , การขับขี่ยานพาหนะในรูปแบบต่าง ๆ เมื่อการฝึกรุ่นแรกสำเร็จ ก็มีการถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่เข้าประจำการในกองร้อย ปฏิบัติการพิเศษเรื่อยมา อีกทั้งมีการจัดส่งกำลังพลไปฝึกในหลักสูตรต่าง ๆ ของต่างประเทศ และนำวิชา ความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับกำลังพล ที่อยู่ในหน่วย โดยจะทำการฝึกกันเองถ่ายทอดกัน ต่อ ๆ มา และได้มีการจัดแบ่งหลักสูตร ออกเป็น 5 หลักสูตร คือ
    
             1. หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 24 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุใหม่
             2. หลักสูตรทบทวนการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 6 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่
    ประจำการอยู่ในหน่วย และฝึกทดสอบแผนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย       1 สัปดาห์
             3. หลักสูตรการทำลายระเบิด 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง 
    " พลเก็บกู้ทำลายระเบิด  "
             4. หลักสูตรพลแม่นปืน 4 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง " พลซุ่มยิง  "
             5. หลักสูตรผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์ 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง
    " ผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์ "
             นอกจากนี้ยังมีการฝึกร่วมกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของเหล่าทัพ ในการเตรียมความพร้อม
    การต่อต้านการก่อการร้ายสากล และการฝึกร่วมกับมิตรประเทศทั้ง ประเทศสหรัฐอเมริกา ,
    ประเทศออสเตรเลีย และประเทศเยอรมนี  
  • การปฏิบัติงาน
  • กองร้อยปฏิบัติการพิเศษ นเรศวร 261 จัดกำลังร่วมถวายความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์] เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักต่าง ๆ ทั่วประเทศ และจัดชุดตำรวจหญิง ถวายความปลอดภัยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จเยี่ยมและ ทรงงานโรงเรียนตำรวจตระเวน ชายแดนทั่วประเทศ การปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายที่ผ่านมา เช่น กรณีนักศึกษาพม่าบุกยึดสถานฑูตพม่า ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 - 2 ตุลาคม 2542 ที่กรุงเทพฯ การช่วยเหลือตัวประกัน ณ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี อ.เมือง จว.ราชบุรี เมื่อวันที่ 24 - 25 มกราคม 2543 การช่วยเหลือตัวประกันกรณีนักโทษกระเหรี่ยงเชื้อสายพม่าจับตัวผู้บัญชาการเรือนจำ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ จว.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 22 - 23 พฤศจิกายน 2543 ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์ ที่ผ่านมานั้น หน่วยปฏิบัติการพิเศษ นเรศวร 261 สามารถแก้ไขปัญหา ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จนประสบผลสำเร็จ สามารถหยุดยั้งผู้ก่อการร้าย และช่วยเหลือตัวประกันให้รอดพ้นจากเหตุการณ์วิกฤตได้
    
             ในปัจจุบันหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 ได้มีการพัฒนากำลังพลทั้งในด้านการฝึกยุทธวิธี รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณ
    จัดหาอาวุธ ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสนองตอบภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ