![]() | ![]() |
![]() |
เมื่อแรกเข้าเป็นตำรวจในปี พ.ศ. 2499 นั้น ผมสังกัดกองตำรวจสันติบาล ซึ่งมีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน การกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ถ้าจำไม่ผิดก็ในปีเดียวกันนั่นแหล่ะที่มีการตั้งหน่วยตำรวจพลร่มขึ้น ตอนนั้น มีนายตำรวจทั้งรุ่นที่ผมและรุ่นผมหลายคนสมัครไปรับการฝึกโดดร่ม ผมฟังข่าวนั้นด้วยความไม่ตื่นเต้น แต่ด้วยความสงสัยว่าพี่ ๆ และเพื่อน ๆ เหล่านั้นนึกขลังอะไรกันขึ้นมา หรือคงไม่ค่อยสบายกระมัง จึงไปคิดโดดออกจากเครื่องบินขณะที่กำลังบินอยู่บนฟ้า คนสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ที่ไหน เขาจะคิดอย่างนั้น แล้วผมก็บอกตัวเองว่าผมเห็นว่าอาการของผมจะไม่กำเริบจนถึงกับคิดจะไปโดดร่มแบบเขา ปี พ.ศ. 2504 สถานการณ์บ้านเมืองผันแปร ตำรวจสืบทราบว่ามีผู้ที่ฝักใฝ่กับลัทธิคอมมิวนิสต์จัดตั้ง ขบวนการขึ้นในจังหวัดภาคอีสานบางจังหวัด เพื่อเผยแพร่ลัทธินั้น และหาผู้นิยมเลื่อมใสไปร่วมขบวนการ เพื่อเปลี่ยน แปลงระบอบการปกครองไปเป็นระบอบ "สังคมนิยม" กำลังผสมของตำรวจภูธร ตำรวจภูธรชายแดน (คือตำรวจ ตระเวนชายแดนซึ่งตอนนั้นถูกยุบไปเป็นส่วนหนึ่งของตำรวจภูธร) และตำรวจสันติบาล" ได้รับคำสั่งให้จับกุมผู้ต้อง สงสัยว่าเป็นสมาชิกของขบวนการนั้นใน จังหวัดอุดรธานี สกลนคร และ นครพนม ได้ผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก ตำรวจ สันติบาลจัดชุดพนักงานสอบสวนขึ้นไปร่วมทำการสอบสวนผู้ต้องหา ขณะนั้นผมมียศเป็น พ.ต.ต. และทำงานเกี่ยวกับต่างประเทศอยู่ในกรุงเทพ ฯ ข่าวการ จับกุมคนอีสานใน ข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์รบกวนหัวใจผมมาก เพราะผมเกิด และเติบโตขึ้นมาในภาคอีสานเชื่อว่าตัวเองรู้จัก คนอีสานดีและไม่เข้าใจว่าคนอีสานจะเป็นคอมมิวนิสต์ได้ อย่างไร ผมคิดว่าทางหนึ่งที่จะเข้าใจเรื่องนั้นได้จริง ๆ น่าจะ ได้แก่การไปสืบสาวราวเรื่องจากต้นตอ ผมจึงไปขออนุญาตผู้บังคับบัญชาและได้รับอนุญาตให้เป็นพนักงานสอบสวน อีกคนหนึ่งในชุดที่ส่งขึ้นไปสอบสวนผู้ต้องหาในภาคอีสาน ผลการสืบสวนสอบสวนปรากฎว่า คนอีสานเป็นคอมมิวนิสต์ได้จริง ๆ และเรื่องตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ ก็เป็นเรื่องจริง สาเหตุคือความผิดหวังในรัฐบาลสมัยนั้น ซึ่งผลักดันให้คนอีสาน ต้องหันไปหาสิ่งที่เขาเข้าใจว่าดีกว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งถ้าจะเขียนจะต้องกินเนื้อที่และเวลามากกว่านี้ เพื่อเผชิญกับความคุกคามของผู้นิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีท่าว่าจะขยายตัวกว้างออกไปในภาคอีสาน กรมตำรวจจึงอนุมัติให้ตั้งหน่วยตำรวจสันติบาลพิเศษภาคอีสานขึ้น ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้าหน่วยนั้น มีการตั้งหน่วยย่อยขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน เพื่อให้การติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยเป็นไปโดยสะดวกและ รวดเร็วจึงจำเป็นที่หน่วยตำรวจสันติบาลพิเศษภาคอีสานจะต้องมีเจ้าหน้าที่สืบสวนของตนเอง ขณะนั้นหน่วยตำรวจ พลร่มหรือ กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน มีข่ายและเจ้าหน้าที่การสื่อสารเป็นกิจจะลักษณะ อยู่แล้ว ตำรวจสันติบาลจึงขอความร่วมมือไปทางตำรวจพลร่ม ขอให้ช่วยฝึกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลให้เป็น พนักงานสื่อสาร มีความรู้ในการใช้เครื่องรับส่งวิทยุแบบ RS-1 ซึ่งแบบที่ต้องใช้เคาะรับและส่งเป็นเสียงสั้นและยาว อย่างที่เรียกว่ารหัสมอร์ส(Morse Code) ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับการฝึกที่ค่ายนเรศวรที่หัวหินแล้ว ผมก็มีเวรกรรมต้อง ตามไปตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่เหล่านั้นตามหน้าที่ ตอนนั้นเองที่ผมได้พบและรู้จักพ.ต.ท.ประเนตร ฤทธิฦาไชย ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้บังคับค่ายนเรศวร หรือรองผู้กำกับการสนับสนุนทางอากาศ เราสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพราะทั้งพี่ประเนตรและผมเป็นคนอีสานเหมือนกัน (พี่ประเนตร เป็นชาวสกลนคร ส่วนผมเป็นคนอุดร ) และอาจเป็นเพราะเรามีทัศนคติที่ตรงกันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการ เผชิญกับคอมมิวนิสต์ พี่ประเนตรและผมเห็นตรงกันว่า การที่จะให้ตำรวจออกไปทำหน้าที่สืบสวนและปราบปรามผู้นิยม คอมมิวนิสต์ ซึ่งขณะนั้นถืออาวุธและเริ่มต่อสู้กับฝ่ายบ้านเมืองแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่เองจะต้องมีความรู้ เกี่ยวกับเรื่องลัทธิและวิธีปฏิบัติการของคอมมิวนิสต์ และจะต้องเข้าใจด้วยว่าลัทธิและวิธีปฏิบัติของคอมมิวนิสต์นั้น เป็นภัยแก่ชาติบ้านเมืองอย่างไรเราจึงจะต้องต่อสู้และปราบปราม พี่ประเนตรขอร้องให้ผมเป็นผู้บรรยายให้ความรู้เรื่องคอมมิวนิสต์แก่ตำรวจพลร่มเพราะท่านเห็นว่า เคยศึกษาวิชารัฐศาสตร์มา ผมรับที่จะบรรยายและเริ่มที่ค่ายนเรศวรเป็นแห่งแรก ต่อจากนั้นการบรรยายให้ความรู้ เกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์และอันตรายของลัทธินั้นจึงขยายออกไปยังหน่วยอื่น ๆ ในกรมตำรวจ ผมกลายเป็นอาจารย์ของค่ายนเรศวร และรู้จักคุ้นเคยกับตำรวจพลร่มหลายต่อหลายรุ่น ความใกล้ชิด และผูกพันธ์ทำให้ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมลูกศิษย์จนถึงแนวรบหลายครั้ง ทั้งในและนอกประเทศ (ขณะนั้นรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรลาวและรัฐบาลไทยเป็นมิตรร่วมนโยบายกัน ตำรวจพลร่มได้รับอนุญาตให้เข้าไปช่วยจัดตั้ง และฝึกอบรมชุดต่อสู้ป้องกันตนเองของกองทัพ ราชอาณาจักรลาว)หลายครั้งผมได้เห็น เป็นประจักษ์พยานใน ความกล้าหาญและเสียสละของตำรวจตระเวนชายแดนและโดยเฉพาะพลร่มตำรวจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เห็นแก่ ชีวิตของตน ตำรวจพลร่มคนแล้วคนเล่าได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ คงเป็นเพราะความประทับใจ อย่าง รุนแรงและลึกซึ้งในวีรกรรมนั่นเอง ครั้งหนึ่งเมื่อจบคำบรรยายในห้องเรียนผมได้ประกาศออกไปว่า "ผมจะมาโดดร่มกับพวกคุณ" ขณะนั้นผมมียศเป็น พันตำรวจโท แล้ว และยังเป็นตำรวจสันติบาลอยู่ ค่ายนเรศวรดีใจมากจัดชุดครูฝึก เฉพาะกิจในห้องทันที ภาคพื้นดินเป็นหน้าที่ของ ครูสมนึก กฤษณะสุวรรณ (ถึงเกษียณอายุราชการไปแล้วในยศ พ.ต.อ.)ภาคอากาศเป็นหน้าที่ของ ครูสมจิตต์ ธัญญะโชโต (ถึงแก่กรรมในขณะที่เป็น พ.ต.ท.) ความจริงทั้งครู และผมตั้งใจว่าจะฝึกรวดเดียวจบแล้วโดดร่มเลยเหมือนคนอื่น ๆ แต่ขณะนั้นภารกิจของผมมากและหนักอย่างยิ่ง ไม่สามารถจะรับการฝึกได้ตลอดหลักสูตร จึงต้องใช้วิธีกลับไปรับการฝึกเมื่อมีเวลา การฝึกจึงเป็นไปอย่างยืดเยื้อ อย่างยิ่ง จนครูทั้งสองปรารถภายหลังว่าผมเป็นพลร่มตำรวจที่ใช้เวลาในการฝึกยาวนานที่สุด ถ้าไม่ใช่เพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมก็คงจะต้องฝึกแล้วฝึกอีกไปนานกว่านั้น จึงจะจบ แต่ในปี พ.ศ. 2509 ผมมีบุญได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทขณะที่ยังเป็นอาจารย์ฝึกอบรมตำรวจตระเวน ชายแดนอีกรุ่นหนึ่งอยู่ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ผมปฏิบัติหน้าที่ตาม เสด็จ ฯ ในโอกาสต่าง ๆ เวลาเสด็จฯ มาประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล ผมก็ต้องมาเฝ้า ฯ ถวายงานด้วย เป็นเหตุ ให้ผมได้กลับมาค่ายนเรศวรบ่อยขึ้น การฝึกเพื่อเตรียมโดดร่มของผมจึงใกล้ความจริงมากขึ้น ผมจะไม่พรรณาละเอียดถึงการฝึกเพราะคงจะรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว จะขอเล่าแต่เพียง ว่า การฝึกภาค พื้นดินทำให้ผมรู้ตัวว่าร่างกายยังไม่สมบูรณ์พอ ในการทดสอบครั้งหนึ่งผมจำได้ว่า พอวิ่งเสร็จผมถึงกับเป็นลม และครูสมจิตต์ต้องทำการปฐมพยาบาลให้ ทำให้ผมต้องพิถีพิถันปรับปรุงตนเองด้วยการบริหารร่างกายอย่าง เอาจริงเอาจังจนกลายเป็นนิสัยมาถึงทุกวันนี้ และผมก็คงเหมือน ๆ กับพลร่มอีกหลายๆคน ตรงที่เกลียดการโดดหอเป็นที่สุด ขณะที่ขึ้นบันไดไป บนหอนั้น ผมวิ่งขึ้นไปด้วยความอกสั่นขวัญหาย เสียงตะโกนขานชื่อตัวเองว่า "ผมพลร่ม วสิษฐครับ! " ก่อนออกไปยืนที่ประตูหอนั้นผมไม่แน่ใจนักว่าดังชัดถ้อยชัดคำหรือสั่นเครือ ไปตามอารมณ์ (ความกลัว) หรือไม่ เมื่อครูซึ่งเป็นผู้กำกับการโดด (Jumpmaster) ร้องสั่งว่า " GO!" ผมก็หลับหูหลับตาโดดออกไปจากหอ พลางแหกปากร้อง "One thousand ! Two thousand !" ไปตามยถากรรม ทุกครั้งที่โดดออกไปนอกหอ ผมนึกในใจว่า riser หรือสายรั้งเชือกร่ม ไม่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างคงจะขาด และร่างกายของผมคง ตกลงฟาดพื้นถึงพิการแน่ ๆ ใครจะไปรู้เล่าครับว่าครูสมจิตต์ อุตส่าห์ไปปีนหอแอบดูและเห็นว่าผมหลับตาโดดออกไป ครูบอกว่า ยังใช้ไม่ได้ ต้องขึ้นไปโดดใหม่ จนกว่าจะลืมตาโดดได้ ผมโดดหออยู่ 14 ครั้ง ครูจึงวินิจฉัยว่าผมผ่านการโดดหอแล้ว อีกตอนหนึ่งที่ผมว่ายากเอาการเห็นจะได้แก่การฝึกล้มตัวเมื่อถึงพื้น หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "parachute landing fall(PLF)"เมื่อต้องโดดจากโต๊ะที่ยกสูงจากพื้นลงไปล้มกลิ้งอยู่กับพื้นดินเบื้องล่าง เวลาครูทำให้ดูเป็นตัวอย่างรู้สึกว่ามันไม่ยากเย็นอะไรเลย แต่พอถึงตาเราต้องทำบ้าง ดูมันเก้งก้างไม่สวย และแทนที่ส่วนต่างๆของร่างกายจะกระทบพื้นได้ 5 จุดตามที่ครูสอน ก็มักจะขาดไป สองจุดสามจุดทุกที ครั้นแล้วก็ถึงการโดดออกจากเครื่องบินจริงๆ(เหวออ์อ์) คืนก่อนโดดครั้งแรกและวันแรกพลร่มรุ่นผมไม่มีใครนอนหลับ ทุกคนออกไปจุดธูปเทียนไหว้และ บนบานศาลกล่าวต่อเจ้าที่ทุกศาลที่มีอยู่ในค่ายนเรศวร ผมเพิ่งรู้คืนนั้นว่าในค่ายนเรศวรมีศาลแยะจริงๆ ตอนสายวันรุ่งขึ้น เราขึ้นเครื่องบินเพื่อโดดร่มที่สนามบินบ่อฝ้าย เครื่องบินที่เราโดดวันนั้นเป็น เครื่องบิน คาริบู ซึ่งผมเคยโดยสารมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่มันดูน่ากลัวเท่าวันนั้น ผมเป็นคนแรกในสติกแรก พอกว้างสายสแตติกไปท้ายเครื่องบินแล้ว ผมก็ไปยืนเป็นสง่าอยู่ที่ ประตู คราวนี้ผมรู้ว่าเสียงประกาศ "ผม พลร่มวสิษฐ ครับ! " ดังชัดเจนและไม่มีสั่นเครือ มือสองข้างของผม แตะขอบประตู พร้อมที่จะเผ่นออกไปหาความว่างเปล่าข้างนอก ผมมองดูพื้นน้ำทะเลสีเขียว ชายหาดและ อาคารบ้านเรือนเบื้องล่างด้วยความรู้สึกต่างกับเมื่อยืนอยู่ที่ประตูหอ คือไม่รู้สึกเสียวไส้หรือหวาดกลัวเลย พอได้ยินเสียง Jumpmaster ร้องสั่ง GO! ผมก็ถีบตัวเองออกไปนอกประตูก้มคอลงไปหาอกมือ ทั้งสองเกาะร่มสำรองปากร้อง "One thousand! Two thousand! " ผมลืมตาและ หูได้ยินเสียงพืด ๆ ของร่มที่กำลังถูกดึงออกจากถุงข้างหลังผม ยังไม่ถึง "Four thousand !" ร่มก็กางออกจนเต็มที่ ร่างที่กำลังร่วงลงไปของผม ถูกกระชาก กลับไปโดยแรง ผมควรจะวิตกว่า กระดูกสันหลังอายุ 38 ปี ของผม จะเคลื่อนเพราะแรงกระชากนั้น แต่ก็ ไม่ทันได้คิด เพราะมัวแต่สาละวนแหงนหน้าขึ้นไปตรวจร่ม ด้วยสายตา เมื่อเห็นว่าร่มกางเรียบร้อยแล้ว ผมก็ ก้มลงมองเบื้องล่าง ที่ L.Z. (landing zone) หรือสนามที่จะลง ผมเห็นเครื่องหมายบนพื้น และได้ยินเสียง โหวกเหวกจากเครื่องขยายเสียงมือถือของเจ้าหน้าที่ ภาคพื้นดินซึ่งคงจะมี ครูสมนึกฯ รวมอยู่ด้วย ผมรั้ง สายร่มทั้งคู่ด้วยมือและแขนเพื่อบังคับให้ร่มร่อนลงตรงสนาม ตำราบอกว่าหลังจากที่ร่มกางแล้วร่ม (และผม) จะถึงพื้นในเวลา 45 วินาที แต่ผมรู้สึกว่านาน เหมือนหนึ่งกัปป์ ขณะที่กำลังลอยอยู่นั้นความสงบที่เกิดขึ้นแก่ผมนั้นยากที่จะพรรณนาได้ จำได้ว่าพลร่ม รุ่นพี่คนหนึ่งเคยบอกผมว่า เหมือนกับสำเร็จความใคร่ แต่ผมไม่รู้สึกอย่างนั้น ผมรู้สึกเหมือนกับว่าโลกทั้งโลก เป็นของผม และอยากอยู่ในความสงบนั้นไปให้นานแสนนาน คืนที่โดดครั้งแรก และวันแรกและคืนต่อ ๆ มา ผมนอนหลับไม่สนิท พอจะหลับทีไรก็ฝันว่าตนเอง โดดออกไปนอกประตูเครื่องบินทีนั้น และผวาตื่น เป็นทีนั้นทั้งคืน พอรุ่งเช้าถามเพื่อนพลร่มรุ่นเดียวกัน จึงรู้ว่าหลายคนมีประสบการณ์แบบเดียวกัน ผมโดดจนครบหกครั้งและกลายเป็นพลร่มตำรวจในที่สุด ครั้งที่หกผมได้โดดออกจากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งน่าหวาดเสียวกว่าโดดออกจากเครื่องบิน เพราะเวลาโดดเฮลิคอปเตอร์ลอยอยู่กลางอากาศเฉย ๆ ไม่ได้บินไป เหมือนเครื่องบิน เพราะฉะนั้นผมจึงตกดิ่งลงไปตรง ๆ ไม่มีแรงลมช่วยกางร่ม ครูเตือนผมก่อนแล้วว่าผมอาจ จะต้องนับเกิน "Four thousand ! " ก่อนร่มกาง แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ที่กลางสนามหลังพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มีต้นมะขามศักดิ์สิทธิ์อยู่ต้นหนึ่ง ที่ว่า ศักดิ์สิทธิ์ก็ เพราะในการโดดทุกรุ่นจะต้องมีพลร่มโดดลงไปค้างอยู่บนต้นมะะขามต้นนั้น ผมเองก็เกือบไป สนามโดดร่มที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน นั้นอยู่ติดกับทะเล เพราะฉะนั้นบางรุ่นจึงมีคนโดดพลาด ที่หมายลงไปในทะเลบ้างผมเป็นคนกลัวน้ำ และก่อนโดดแอบไปอ่านตำราพบว่าในการโดดใกล้ทะเลกว่า 1 กิโลเมตรนั้น เขาบังคับว่า พลร่มต้องสวมเสื้อชูชีพเพื่อกันจมน้ำตาย ผมจึงเอาตำราไปให้ครูดู และร้องขอ เสื้อชูชีพตามระเบียบ ครูของผมน่ารักมาก ท่านชี้แจงว่าเสื้อชูชีพมีไม่พอจ่ายให้ทุกคน ถ้าจะสวมเสื้อชูชีพ แล้วคนอื่นขอบ้างจะเอาที่ไหนมาให้ ผมฟังคำชี้แจงแล้วก็หายสงสัย ก้มหน้าใช้หลักยถากรรมไปเช่นเดียวกับ คนอื่น ๆ ที่โดดหกครั้งนั้น ผมทำ PLF ได้เพียงครั้งเดียว เพราะลมบนพื้นช่วย นอกนั้นผมเอาก้นลง หรือมิฉะนั้นก็สะโพกลง ครูสมจิตต์ ฯ คอยรับผมอยู่บนพื้นดินทุกครั้ง และพอโดดเสร็จแล้วก็พาผมไป ปลอบขวัญด้วยก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อสดร้านแม่บาง (หวังว่าจะจำชื่อไม่ผิด) ที่หน้าบังกะโลเทศบาลหัวหิน ตบท้ายด้วยเบียร์เย็นซึ่งเป็นของโปรดของทั้งครูและผม วันที่โดดร่มครบหกครั้งนั้น เป็นวันที่ผมมีความสุขที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต อารมณ์ของผมดีและ รู้สึกรักทุกคน โดยเฉพาะครูฝึกของผม ผมเพิ่งเข้าใจในวันนั้น ว่า ความเป็นพลร่มหมายความว่าอย่างไร การโดดออกมาจากเครื่องบินนั้น ใคร ๆก็ทำได้ ไม่ยากแม้แต่ผู้ที่ไม่เคยผ่านการฝึกมาเลยก็ทำได้ แต่การฝึกเป็นงานหนักและยากกว่าการโดดร่มจริง หลายเท่า เป็นการพยายามหล่อหลอมให้เราอยู่ระเบียบวินัย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รู้จักและเห็นความสำคัญของคำสั่งและระเบียบวินัย เพราะการพยายามปลูกฝัง (หรือยัดเยียด)ของครูฝึกแท้ ๆ เราจึงรู้จักรักษาและเอาชีวิตรอดมาได้ ผมถือเป็นกำไรชีวิตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การฝึกโดดร่ม ทำให้ผมได้เพื่อนเพิ่มอีกพวกหนึ่ง เพื่อนเหล่านั้นคือตำรวจที่เป็นพลร่มรุ่นเดียวกัน ตำรวจเหล่านั้นต่างวัยและต่างยศกับผม ผมมียศสูงที่สุด ในรุ่น แต่การฝึกทำให้เรากลายเป็นเพื่อนที่วัยและยศไม่อาจขวางกั้นเราได้ต่อไปอีก การเป็นพลร่มตำรวจ ทำให้ผมยิ่งใกล้กับเพื่อนตำรวจอื่น ๆ มากขึ้น ต่อมาภายหลังเมื่อยศและตำแหน่งสูงขึ้น ผมไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ผมรู้ว่าอย่างน้อยผมยังมีเพื่อนอีกพวกหนึ่งคือพลร่มตำรวจรุ่นผม ปีกพลร่มตำรวจที่ประดับบนอกเสื้อเครื่องแบบของผมมาจนกระทั่งเป็น พลตำรวจเอก นั้นเป็นปีกพลร่มตำรวจชั้นสามที่ไม่มีดาวหรือมงกุฎประดับเหนือร่ม และผมประดับปีกนั้นด้วยความภูมิใจที่ สมบูรณ์เช่นเดียวกับพลร่มตำรวจอื่น ๆ ไหน ๆ ก็เขียนแล้ว ขอเปิดเผยไว้ในที่นี้เสียเลยว่า โรงเรียนตำรวจพลร่มที่ค่ายนเรศวร เป็นโรงเรียนตำรวจโรงเรียนเดียวและหลักสูตรเดียวในกรมตำรวจที่ผมเคยเป็นนักเรียน "ผม พลร่มวสิษฐ ครับ"