วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมืองน่าน

พระวิหารหลวง ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดคู่กับหอพระไตรปิฎก (ขวา)

    วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวัดหลวงประจำเมืองที่เจ้าเมืองใช้เป็นสถานที่
    ประกอบพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา และพิธีสำคัญของบ้านเมือง ตำนานการสร้าง
    พงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า เจ้าผู้ครองนครน่าน ชื่อพญาภูเข่ง หรือภูเข็ง เป็นผู้สร้าง
    เมื่อปีจุลศักราช 768 ตรงกับ พ.ศ. 1949 เรียกชื่อในครั้งนั้นว่า วัดหลวง ตามหลักฐาน
    ดังกล่าวนี้ อายุของวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร นับถึงปัจจุบัน ก็จะมีอายุถึง 593 ปี
    (ถึง พ.ศ. 2542)
สิ่งสำคัญภายในวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ หรือพระธาตุหลวง

    พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ
    พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ เป็นบูชนียสถานสำคัญที่เป็นประธานของวัด ตั้งอยู่ในเขต
    พุทธาวาสตรงแนวตะวันตกด้านหลังวิหารหลวง ก่อเป็นเจดีย์สวมพระบรมธาตุไว้ภายใน
    ชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุหลวง สัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ
    9 วา สูงตั้งแต่พื้นดินถึงยอด 16 วา 2 ศอก องค์เจดีย์ก่ออิฐถือปูน ชั้นล่างสุดยกขึ้นไป
    ประมาณ 5 วา ฐานชั้นที่ 2 ทำรูปช้างโผล่หน้าลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าคู่ยืนพ้นออกมา
    นอกเหลี่ยมฐานลักษณะรองรับฐานชั้นที่ 2 ไว้ เฉพาะช้างที่อยู่ตรงมุมทั้ง 4 ด้าน ประดับ
    เครื่องอลังการตรงบริเวณตระพองและรอบคอเป็นพิเศษ แตกต่างจากช้างเชือกอื่น ๆ
    ที่อยู่ด้านหลัง ซึ่งมิได้ตกแต่งประดับประดาสิ่งใด เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ซ้อนกัน 3 ชั้น
    และเป็นองค์ระฆังลังกาที่ปรากฏอยู่ทางเหนือทั่วไปเหนือองค์ระฆังทำเป็นฐานเบียง
    รองรับมาลัยลูกแก้ว ซึ่งลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นส่วนยอด ตรงยอดทำเป็นปลี ภาษาเหนือ
    เรียกว่า มานข้าว หุ้มด้วยทองจังโก้สวมยอดฉัตร

พระวิหารหลวง

    พระวิหารหลวง
    พระวิหารหลวง ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดคู่กับหอพระไตรปิฎก หันหน้าไปทางทิศใต้
    ในสมัยโบราณเรียก พระวิหารหลวง หลังใต้ห่างจากกำแพงด้านหน้า 10 เมตร และ
    ด้านทิศตะวันตก 5 เมตร กว้าง 12.50 เมตร ยาว 28 เมตร ใช้เป็นสถานที่ประกอบ
    ศาสนกิจในวันธรรมสวนะเป็นประจำ รูปทรงสร้างตามสถาปัตยกรรมภาคเหนือ
    พระประธานองค์ใหญ่ในพระวิหารหลวงเป็นพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย
    ลงรักปิดทองขนาดหน้าตักกว้าง 4 เมตร 50 เซนติเมตร สูงจากฐานถึงยอดพระเกตุมาลา
    6 เมตร ชาวเมืองเรียกว่า พระเจ้าหลวง เป็นลักษณะศิลปกรรมแบบล้านนาไทย
    สังฆาฏิปั้นลวดลายด้านต่อศอกลงรักปิดทองติดกระจกสวยงามประทับนั่งอยู่บน
    ฐานชุกชีที่ทำเป็นรูปตรีมุข ชาวเมืองนับถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์พระองค์หนึ่ง
    ดุจเป็นพระพุทธรูปประจำเมือง กล่าวว่า ได้แสดงอภินิหารบอกเหตุล่วงหน้า เกี่ยวกับ
    ชะตาของเมืองน่านด้วยเช่นกัน ครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าสุมนเทวราชเสด็จลงมายังกรุงเทพฯ
    และทิวงคตกลางทางนั้น เมืองน่านมีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือองค์พระเจ้าหลวงมี
    เหงื่อไหลออกมาดังความในหนังสือพงศาสดารเมืองน่านว่า
    "อนึ่ง เมื่อเจ้าสุมนเทวราชเสด็จลงไปยังกรุงเทพมหานครแล้ว ขณะเดินทางใกล้
    จะถึงสงกรานต์ปีใหม่ได้เกิดเหตุการณ์ในเมืองน่านขึ้นอย่างหนึ่ง คือเกิดพายุลมใหญ่
    อันสพึงกลัวมากพัดมาทางทิศตะวันตกพัดเอาต้นไม้บ้านเรือนของคนทั้งหลายหักก่น
    ล้มลงเป็นอันมาก และเหงื่อพระเจ้าหลวงองค์ในวิหารวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารและ
    ในอุโบสถก็ไหลออกมาโทรมทั่วพระวรกายเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก และยอดพระธาตุ-
    เจ้าภูแช่แห้ง ก็คดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้"


    อุโบสถวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร


พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนีในหอพระไตรปิฎก

    พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี
    พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี คือพระพุทธรูปลีลาสมัยสุโขทัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์
    อย่างดีมีส่วนทองผสมประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสูง 145 เซนติเมตร มีข้อความจาลึก
    ไว้ที่ฐานว่าพระเจ้าลารผาสุมเป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ เดือน 8 ใต้ จุลศักราช
    788 พ.ศ. 1969 เดิมลงรักพอกปูน หุ้มไว้และประดิษฐานอยู่ภายในโขรพระเจดีย์ทิพย์
    ทางด้านทิศตะวันออก เพิ่งพบเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 โดยนายไกรศรี นิมมาน-
    เหมินทร์ และนายอเล็กซานเดอร์ เบราว์ กริสโวสด์ นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ซึ่งมา
    ศึกษาและค้นคว้าศิลปกรรมในจังหวัดน่าน ได้ตรวจพระพุทธรูปองค์นี้แล้ววินิจฉัยว่า
    ไม่ใช่พระปูนปั้นจึงใช้ฆ้อนกระเทาะปูนที่หุ้มแตกออก ปรากฏว่า พระวรกายข้างใน
    ทารักทับไว้อีกชั้นหนึ่ง เมื่อขูดดูจนเห็นเนื้อทองสุกปลั่ง ได้เคาะเอาปูนออกหมด
    ทั้งองค์ตกแต่งขัดสีใหม่เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะสวยงามมาก เจ้าอาวาสสมัยนั้น
    คือ พระชยานันทมุนี (พรหม) จึงได้ถวายพระนามตามตำแหน่งสมณศักดิ์เจ้าคณะ
    จังหวัดน่านว่า พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ปัจจุบันประดิษฐานไว้ในหอพระไตรปิฎก
    ซึ่งได้บูรณะปรับปรุงให้เป็นวิหารพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ถือเป็นพระอันศักดิ์สิทธิ์
    ประจำเมือง แต่เนื่องจากพระเกตุโมลีของพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนีถูกตัดมาแต่เดิม
    ต่อมาใน พ.ศ. 2522 สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท โดยนายอนันต์ สงวนนาม เลขาธิการ
    เร่งรัดฯ รับพระราชทานกฐินพระราชทานมาทอดถวาย ณ ที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
    ได้ปรารภถึงยอดพระโมลีควรจะได้หล่อสวมให้สมบูรณ์ ได้ฝากกับ พ.ท.อุดม เพชรศิริ
    ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมกับข้าราชการแผนกต่าง ๆ ศรัทธาประชาชนในจังหวัด
    ได้ร่วมกันบริจาคทองเพื่อหล่พระเมาลี โดยนายอนันต์ สงวนนาม เลขาธิการเร่งรัดพัฒนา
    ชนบทเป็นประธาน และคณะได้บริจาคทองสมทบอีก และมาร่วมพิธีหล่อพระเมาลีและ
    พุทธาภิเศกพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พร้อมด้วยเหรียญจำลองขึ้น ณ วัดพระธาตุ
    ช้างค้ำวรวิหาร ในวันสาร์ที่ 5 เมษายน 2523 เมื่อหล่อพระเมาลีเสร็จเรียบร้อยแล้วทาง
    ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้นำยอดเมาลีไปเก็บรักษาไว้ที่ธนาคารกสิกรไทย และทาง
    ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สมเด็จพระบรม-
    โอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินสวมพระเมาลีพระพุทธนันทบุรี
    ศรีศากยมุนี แทนพระองค์ ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2524
    เมื่อทรงสวมพระเมาลีเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ได้นำประดิษฐาน ณ ห้องพระที่สร้างขึ้นใหม่
    ติดกับกุฎเจ้าอาวาส ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะหอพระไตรปิฎก และปรับปรุงเป็นวิหารที่
    ประดิษฐานพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี


หอพระไตรปิฎก เป็นวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี


วิหารพระเจ้าทันใจ

Top
[ Map of Thailand ]
dp dmbc kk mp mp

[ Map of Thailand ]
dp dmbc kk mp mp
NAN CITY MAP
TOURIST MAP OF NAN

Information
: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 4 ถนนราชดำเนินนอก, กรุงเทพฯ 10100.
โทร. : (02) 281-0422 (20 คู่สาย), E-mail : tat@cs.ait.ac.th
: สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคเหนือ : เขต 1
105/1 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน, อำเภอเมืองเชียงใหม่, เชียงใหม่ 50000
โทร.: (53) 248-604, 248-607, 241-466; Fax: (53) 248-605
E-mail : tatcnx@samart.co.th
พื้นที่รับผิดชอบ : เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง และ แม่ฮ่องสอน
: Tourism Authority of Thailand Tourist Service Center
: ที่พักในจังหวัดน่าน
: ประวัติวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร, 2542.