ข้อเสนอประชาชนต่อแผนเงินกู้ปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรมของ ADB

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า แนวทางการพัฒนาการเกษตรพาณิชย์เพื่อการส่งออกภายใต้ทิศทางการค้าเสรี ไม่ได้เอื้อประโยชน์ใดต่อกลุ่มเกษตรกรรายย่อย
ที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 60 ของเกษตรกรทั้งหมด แต่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใหญ่ทั้งทุนในชาติและทุนข้ามชาติ
การปรับโครงสร้างดังกล่าวทั้งด้านการปฏิรูประบบทรัพยากรให้กลุ่มทุนยึดครอง การลดบทบาทรัฐในการสนับสนุนเกษตร
และการปรับระบบการผลิตทั้งหมดให้พึ่งพิงกับการค้าเสรีที่ประเทศไทยเสียเปรียบเป็นการทำลายฐานทางวัฒนธรรมและทรัพยากรชีวภาพ
อันเป็นฐานชีวิตเกษตรกร เป็นความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศชาติ ดังนั้น ภาคประชาชน
จึงต่อต้านการปฏิรูปทิศทางการเกษตรตามแนวทางดังกล่าว

ข้อเสนอต่อแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรจากเงินกู้เอดีบีดังต่อไปนี้

1. ADB และรัฐบาลจะต้องยกเลิกแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม และคืนเงินกู้ทั้งหมดแก่ ADB เนื่องจากแนวทางการปรับโครงสร้าง
ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และทรัพยากรธรรมชาติ กระบวนการจัดทำแผนก็ขาดการมีส่วนร่วมของเกษตรกร
และประเทศไทยไม่จำเป็นต้องกู้เงินต่างประเทศเพื่อมาใช้ปรับโครงสร้างเกษตรกรรม
2. ADB และองค์กรข้ามชาติ เช่น ธนาคารโลก โออีซีเอฟ เจเอ็กซิมแบงค์ และอื่น ๆ จะต้องยุติความพยายามใด ๆ ที่จะเข้ามาปรับโครงสร้างด้านทรัพยากร
การเกษตร เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยให้เป็นการค้าเสรีของทุนข้ามชาติ เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย
และสร้างผลกระทบต่อประชาชนไทย
3. ADB และองค์กรข้ามชาติต่าง ๆ จะต้องยกเลิกโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ เช่น โครงการบำบัดบ่อน้ำเสีย คลองด่าน จ.สมุทรปราการ หรือโครงการอื่น ๆ
ที่ประชาชนประเมินแล้วว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยให้ถอนเงินกู้ออกไป
4. ADB และองค์กรข้ามชาติต่าง ๆ จะต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ประชาชนประเมินแล้วว่าล้มเหลว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
สังคม สิ่งแวดล้อมของประชาชน และจะต้องยกเลิกหนี้สินที่เกิดจากโครงการที่ล้มเหลวทั้งหมดด้วย

ข้อเสนอต่อรัฐบาล

1. รัฐบาลจะต้องยุติการกู้เงินต่างประเทศเพิ่มไม่ว่ากรณีใด ๆ เนื่องจากสภาวะปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวมาก
จนรัฐจะต้องเจียดงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากไปใช้หนี้สิน ซึ่งการกู้เงินเพิ่มจะสร้างภาระหนี้อันหนักหน่วง
และทำให้กลุ่มทุนข้ามชาติได้ใช้โอกาสครอบครองระบบเศรษฐกิจ การเกษตร ทรัพยากร สังคม การเมืองของไทยทั้งหมด
2. รัฐบาลจะต้องร่วมมือกับประชาชนในการเจรจาต่อรอง ผลักดันให้การทำข้อตกลงใด ๆ กับองค์กรระหว่างประเทศ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน
หากเงื่อนไข แผนงาน โครงการต่าง ๆ ที่รัฐและองค์กรข้ามชาติสนับสนุน แต่ประชาชนไม่ต้องการ หรือเกิดผลกระทบต่อประชาชน
รัฐบาลและองค์กรข้ามชาติจะต้องร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น
3. รัฐบาลจะต้องสร้างกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอนย่างแท้จริงในการจัดทำแผนปรับโครงสร้างทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเกษตร
และการเมืองการปกครอง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นการปรับโครงสร้างที่ตอบสนองต่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องอาศัยเงินทุนต่างชาติ
และจะได้ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลความคิด นโยบายที่กำกับโดยองค์กรข้ามชาติเหล่านี้

หน้าแรก ADB.