ปิงคิยมาณพ
ย่อความจากพระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 17
ขุททกนิกาย อุทาน
ปรายนวรรคที่ 5 ปิงคิยปัญหาที่ ๑๖
[๔๔๐]
ปิงคิยมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์เป็นคนแก่แล้ว มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมอง
นัยน์ตาทั้งสองของข้าพระองค์ไม่ผ่องใส (เห็นไม่จะแจ้ง) หูสำหรับฟังก็ไม่สะดวก ขอข้าพระองค์อย่างได้เป็นคนหลง
ฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ ข้าพระองค์ควรรู้ ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้
เสียเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรปิงคิยะ ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่
เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังเป็นผู้ประมาทก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย ดูกรปิงคิยะเพราะเหตุนั้น
ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละรูปเสีย เพื่อความไม่เกิดอีก ฯ
ปิ. ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ
รวมเป็น สิบทิศ สิ่งไรๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ทราบ หรือไม่ได้รู้แจ้ง
มิได้มี ขอพระองค์จงตรัส บอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ เป็นเครื่องละชาติและชราใน
อัตภาพนี้เถิด ฯ
พ. ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้ว
เกิดความเดือดร้อน อันชราถึงรอบข้าง ดูกรปิงคิยะ เพราะ เหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละตัณหาเสีย
เพื่อความไม่เกิดอีก ฯ
... (หลังจากนั้นปิงคิยมาณพได้บวช แล้วเดินทางกลับไปหาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์
และได้สนทนากัน - ธัมมโชติ) ...
[๔๔๓] ... พราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์ถามพระปิงคิยะว่า ท่านปิงคิยะ พระโคดมพระองค์ใด
ได้ทรงแสดงธรรมอันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีจัญไร
หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้แก่ท่าน เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น
ผู้มีพระปัญญาเป็นเครื่องปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง สิ้นกาลแม้ครู่หนึ่งเล่า
ฯ
พระปิงคิยะตอบพราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์ว่า ท่านพราหมณ์ พระโคดมพระองค์ใด ได้ทรงแสดงธรรมอันบุคคลพึงเห็นเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้แก่อาตมา
อาตมามิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระปัญญาเป็นเครื่องปรากฏดุจแผ่นดิน
มีพระปัญญากว้างขวาง สิ้นกาล แม้ครู่หนึ่ง ท่านพราหมณ์ อาตมาไม่ประมาททั้งกลางคืน
กลางวัน เห็นอยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยจักษุ
ฉะนั้น อาตมานมัสการอยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้นตลอดราตรี อาตมามาสำคัญความ
ไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้น ด้วยความไม่ประมาทนั้น ศรัทธา ปีติ
มานะ และสติของอาตมา ย่อมน้อมไปในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้โคดม พระพุทธเจ้าผู้โคดมผู้มีพระปัญญากว้างขวาง
ประทับอยู่ยังทิศาภาค ใดๆ อาตมานั้นเป็นผู้นอบน้อมไปโดยทิศาภาคนั้นๆ นั่นแล ร่างกายของอาตมาผู้แก่แล้ว
มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อยนั่นเอง ท่านพราหมณ์ อาตมาไปสู่พระพุทธเจ้าด้วยการไปแห่งความ
ดำริเป็นนิตย์ เพราะว่าใจของอาตมาประกอบแล้วด้วยพระพุทธเจ้านั้น อาตมานอนอยู่บนเปือกตม
คือกาม ดิ้นรนอยู่ (เพราะตัณหา) ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง ครั้งนั้นอาตมา
ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ฯ
(ในเวลาจบคาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ ของพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีแล้ว
ประทับอยู่ ณ นครสาวัตถีนั้นเอง ทรงเปล่งพระรัศมีดุจทองไปแล้ว พระปิงคิยะกำลังนั่งพรรณนาพระพุทธคุณแก่
พราหมณ์พาวรีอยู่ ได้เห็นพระรัศมีแล้วคิดว่า นี้อะไร เหลียวแลไป ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประหนึ่งประทับอยู่เบื้องหน้าตน
จึงบอกแก่พราหมณ์พาวรีว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว พราหมณ์พาวรีได้ลุกจากอาสนะประคองอัญชลียืนอยู่
แม้พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงแผ่พระรัศมีแสดงพระองค์แก่พราหมณ์พาวรี ทรงทราบธรรมเป็นที่สบายของพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีทั้งสองแล้ว
เมื่อจะ ตรัสเรียกแต่พระปิงคิยะองค์เดียว จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า)
ดูกรปิงคิยะ พระวักกลิ พระภัทราวุธะ และพระอาฬวีโคดม เป็นผู้มีศรัทธาน้อมลงแล้ว
(ได้บรรลุอรหัตด้วยศรัทธาธุระ) ฉันใด แม้ท่านก็จงปล่อยศรัทธาลง ฉันนั้น ดูกรปิงคิยะ
เมื่อท่านน้อมลงด้วยศรัทธาปรารภวิปัสสนา โดยนัยเป็นต้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
ก็จักถึงนิพพาน อันเป็นฝั่งโน้นแห่ง วัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมัจจุราช ฯ
พระปิงคิยะเมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของตนจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์นี้ย่อมเลื่อมใสอย่างยิ่ง
เพราะได้ฟังพระวาจาของ พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์มีกิเลสดุจหลังคาอันเปิดแล้ว
ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เอง ไม่มีกิเลสดุจเสาเขื่อน ทรงมีปฏิภาณ ทรงทราบธรรมเป็นเหตุกล่าวว่าประเสริฐยิ่ง
ทรงทราบธรรมชาติทั้งปวง ทั้งเลวและประณีต พระองค์เป็นศาสดาผู้กระทำที่สุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
แก่เหล่าชนผู้มีความสงสัยปฏิญาณอยู่ นิพพานอันกิเลสมีราคะเป็นต้นไม่พึงนำไปได้
เป็นธรรมไม่กำเริบ หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้ ข้าพระองค์จักถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแน่แท้
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในนิพพานนี้เลย ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปแล้ว
(ในนิพพาน) ด้วย ประการนี้แล ฯ (บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว - ธัมมโชติ)
จบปารายนวรรคที่ ๕
วิเคราะห์
เนื่องจากพระปิงคิยะเป็นผู้ยิ่งด้วยศรัทธา พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ท่านใช้ศรัทธา
นำหน้าปัญญาในการเข้าถึงธรรม คือท่านมีปัญญาเห็นแจ้งในธรรมชาติทั้งปวง (เช่น สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
เป็นต้น) อยู่ระดับหนึ่ง แล้วอาศัยศรัทธาน้อมใจเชื่อคำสอนอื่นๆ ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด
เพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไป จนกลายเป็นพระอรหันต์ ซึ่งผู้ที่บรรลุธรรมด้วยวิธีนี้
ที่กล่าวถึงไว้ในพระไตรปิฎก มีเพียงไม่กี่รูปเท่านั้น เช่น พระวักกลิ พระภัทราวุธะ
และพระอาฬวีโคดม รวมถึงพระปิงคิยะรูปนี้ด้วย.
ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
22 กรกฎาคม 2544