ผลงานทั้งหมดที่ลงอยู่ในหน้า
Novel เป็นสิทธิส่วนตัวของผู้เขียน หากมีผู้ใดต้องการจะทำการคัดลอกหรือดัดแปลงผลงานบางส่วน
หรือทั้งหมดเพื่อนำไปใช้ในการอื่น นอกจากอ่านเพื่อความบันเทิง กรุณาติดต่อเพื่อขออนุญาตจากผู้เขียนตาม
e-mail ที่ให้ไว้เสียก่อน ขอบคุณสำหรับความร่วมมือค่ะ อีกประการหนึ่งนักเขียนทุกคนต้องการกำลังใจและคอมเมนท์(แม้ว่าบางคนจะไม่พูดออกมา)ไม่ว่าจะเป็นคำติหรือคำชมนะคะ
เพราะฉะนั้นเมื่ออ่านแล้วชอบไม่ชอบยังไงไ ก็เมลไปคอมเมนท์ได้ตามอีเมลที่ให้ไว้ของแต่ละคน
หรือไม่ก็โพสต์คำติชมไว้ในบอร์ดก็ได้ค่ะ
|
Sound Of Soul(1) by...Rai ร้านรับถ่ายเอกสารและพิมพ์รายงานหน้ามหาวิทยาลัยกำลังวุ่นวายกับการรับและส่งงานให้กับผู้มาว่าจ้างซึ่งได้แก่บรรดานักศึกษาที่กำลังเร่งร้อนเนื่องด้วยใกล้ปิดเทอม ซึ่งก็หมายความว่าระยะเวลาของการส่งรายงานของเทอมนี้ใกล้เข้ามาทุกขณะ "พี่เร่งให้หนูหน่อยนะ พรุ่งนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่ส่งรายงาน หนูติดเอฟแน่ ๆ" นักศึกษาหญิงส่งปึกกระดาษในมือวางบนโต๊ะรับงานพิมพ์ ชายวัยกลางคนเจ้าของร้านที่มีหน้าที่รับงานพิมพ์มองความหนาของกระดาษแล้วให้หนักใจ เขาไม่เข้าใจว่าทำไมนักศึกษาพวกนี้ถึงได้รั้งรอที่จะทำรายงานจนถึงวินาทีสุดท้าย และส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นรายงานชนิดตัดแปะ เขาเคยเห็นบางคนถ่ายเอกสารจากหนังสือมาเกือบทั้งเล่ม แล้วส่งให้ทางร้านพิมพ์เพื่อเป็นผลงานของตนเอง ปึกกระดาษตรงหน้าก็เป็นเช่นเดียวกัน เพราะเท่าที่เห็นส่วนใหญ่เป็นการถ่ายเอกสารมาจากหนังสือ แล้วนำมาเรียงต่อกันจนหนาเตอะ ไม่มีแม้แต่จะเรียบเรียงประโยคใหม่เป็นของตัวเอง แต่แบบนี้ก็ดี คนรับพิมพ์รายงานจะได้อ่านง่ายและพิมพ์เร็วขึ้น หากจะหดหู่ก็คงจะเป็นเรื่องของมาตรฐานการศึกษาและจริยธรรมกระมัง แต่ในเมื่อเขาก็เป็นแค่คนหาเช้ากินค่ำ ไม่ใช่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยก็ไม่รู้ว่าจะเดือดร้อนไปทำไม "พรุ่งนี้คงไม่ทัน" เขาทำหน้าหนักใจ ตอนนี้งานล้นมือ คนพิมพ์รายงานแทบไม่มีเวลากินข้าวด้วยซ้ำ "โธ่ พี่ ช่วยหนูหน่อยเถอะ" นักศึกษาหญิงทำหน้าเหมือนจะร้องไห้ "ตอนนี้งานเต็มมือไปหมด คิวยาว" "หนูมาส่งพิมพ์รายงานกับพี่บ่อยจะตายไป ซีรอกซ์หนังสือก็หลายเล่ม ถือว่าช่วยลูกค้าประจำหน่อยนะพี่ ช่วยลัดคิวให้หนูที" คุณศุภชัยเจ้าของร้านกำลังตรองดูว่าจะสามารถทำงานชิ้นนี้ได้หรือไม่ อันที่จริงถ้าแยกพิมพ์หลาย ๆ คนก็น่าจะเสร็จทัน เพราะนอกจากคนงานประจำที่ทำหน้าที่พิมพ์ในร้านแล้ว เขายังมีเด็กช่วยพิมพ์งานอีกหลายคน แต่ส่วนใหญ่ก็จะจ้างเป็นชิ้น ๆ ไป ถ้าโทรศัพท์ให้มารับงานคงไม่น่ามีปัญหา ดังนั้นชายเจ้าของร้านจึงพยักหน้าช้า ๆ "จะเร่งทำให้ก็แล้วกัน แต่ว่างานด่วนนี่ต้องคิดอีกราคาหนึ่งนะ" หญิงสาวพยักหน้ายินยอมอย่างไม่มีข้อแม้ "เฮีย งานผมได้หรือยัง?" นักศึกษาชายเดินเข้ามาในร้านพร้อมร้องถามเจ้าของร้าน เจ้าของร้านเงยหน้าขึ้นมองแล้วผายมือเชิญอีกฝ่ายนั่ง "นั่งก่อนน้อง นัดกับคนพิมพ์ให้แล้ว เดี๋ยวเขาจะเอางานมาส่งให้ รอแป๊บหนึ่ง นี่พี่นัดกับเขาไว้ตอนสิบโมง" คุณศุภชัยหันไปมองนาฬิกาที่ข้างฝา เห็นเข็มยาวเลยเลขสิบสองไปเกือบสิบนาทีแล้ว "สงสัยรถคงจะติด รอหน่อยนะ" อติชาตินั่งลงที่เก้าอี้เก่า ๆ ในร้านอย่างกระวนกระวายใจ อากาศในร้านถ่ายเอกสารอบอ้าวเพราะความคับแคบของสถานที่ เขานึกโทษตัวเองที่มัวแต่สนุกสนานไปวัน ๆ จนใกล้ถึงเวลาส่งรายงานแล้วจึงจะเริ่มขยัน "แล้วจะเอาไปตรวจแก้ไขกี่วันก็นัดเขาเองนะ" เจ้าของร้านบอกกับชายหนุ่มตรงหน้าเป็นเชิงหาเรื่องคุย "คงไม่เอากลับไปตรวจหรอกเฮีย กะว่าจะตรวจแก้ไขวันนี้ แล้วให้เขากลับไปแก้ พรุ่งนี้ค่อยนัดมารับอีกที ถ้ายังไงเฮียถ่ายซีร็อกซ์ให้ผมชุดหนึ่งนะ แล้วเข้าปกทั้งสองเล่ม" เจ้าของร้านพยักหน้าเป็นเชิงตกลง ก่อนจะมองไปที่ประตูร้านด้วยความแปลกใจ "อ้าว พี ทำไมวันนี้มาเอง" อติชาติหันไปมองตามสายตาอีกฝ่ายก็เห็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นย่างเท้าก้าวเข้ามาในร้านด้วยท่าทีตื่น ๆ แต่ที่สำคัญในมือของหมอนั่นมีต้นฉบับรายงานของเขา เด็กหนุ่มที่ถูกเรียกว่า 'พี' ยื่นของในมือส่งให้เจ้าของร้าน ซึ่งได้แก่ปึกกระดาษต้นฉบับและรายงานที่พิมพ์ดร๊าฟแรก ก่อนจะส่งกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ให้ทีหลัง คุณศุภชัยรับกระดาษขึ้นมาอ่านแล้วพยักหน้าหงึก ๆ เป็นเชิงเข้าใจ ก่อนจะหันไปบอกนักศึกษาหนุ่มตรงหน้า "เดี๋ยวน้องเอาไปตรวจเลยแล้วกัน จะให้พีเขารอรับ เขาเป็นคนพิมพ์งานของน้องเองแหละ" พูดจบก็ก้มหน้าก้มตาเขียนอะไรอยู่ครู่หนึ่งแล้วส่งให้เด็กหนุ่มที่มาส่งงาน พีรพลรับกระดาษขึ้นมาอ่านทวนช้า ๆ
ก่อนจะพยักหน้า "เอาอย่างนี้ดีไหมเฮีย เดี๋ยวผมเอาไปอ่านที่ใต้ตึกคณะ แล้วเอามาส่งให้ จะได้ไม่รบกวนคนมาติดต่องาน" เจ้าของร้านพยักหน้าเห็นด้วย ก่อนจะทำท่าเหมือนนึกอะไรขึ้นมาได้เมื่อเห็นพีรพลยืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่ตรงนั้น "ถ้ายังไงก็ไปกันทั้งคู่ ถ้าน้องอ่านแก้ไขเสร็จก็ส่งให้พีเขาก็แล้วกัน จะได้ไม่ต้องแวะกลับมาที่ร้าน" พูดจบก็ก้มหน้าก้มตาเขียนอะไรสักพักแล้วส่งให้พีรพล เด็กหนุ่มรับกระดาษมาอ่านอยู่พักหนึ่งแล้วพยักหน้าเป็นเชิงตอบรับ อาจจะเป็นเพราะเขาเองก็ไม่คุ้นเคยกับการอยู่ในหมู่คน ทำให้เขาปรารถนาที่จะออกจากร้านนี้ให้เร็วที่สุด ทุกครั้งที่รับและส่งงานนั้น น้าจี๊ด หรือจิตราจะเป็นคนจัดการทั้งหมด แต่วันนี้เขาต้องมาด้วยตนเองเพราะอีกฝ่ายมีธุระกระทันหัน "งั้นไปกันเลยนะ" อติชาติเอ่ยปากก่อนจะลุกขึ้นเดินนำออกไป ***** ภายในมหาวิทยาลัยมีผู้คนบางตา เนื่องจากอยู่ในช่วงการสอบปลายภาค ขณะเดินนำทางไปยังตึกคณะ อติชาติเริ่มต้นชวนอีกฝ่ายคุย เมื่อเห็นบรรยากาศเงียบจนน่าอึดอัด "ชื่อพีหรือ? น้องทำงานพิมพ์แบบนี้มานานหรือยังเนี่ย?" เงียบ สงสัยจะไม่ได้ยิน เขาจึงพูดเสียงดังขึ้นด้วยประโยคเดิม แต่คนที่เดินตามมาข้างหลังติด ๆ ก็ยังไม่มีปฏิกิริยาอะไร อติชาติชะงักเท้า พาให้อีกฝ่ายหยุดเดินไปโดยปริยาย ชายหนุ่มหันไปถามอย่างเคือง ๆ "ไม่ชอบคุยอย่างนั้นหรือ?" พีรพลกระพริบตาด้วยความงุนงง เขาไม่ทันคิดว่าอีกฝ่ายจะคุยกับตน จึงยังไม่ทันตั้งตัว ดูจากสีหน้าของคนตรงหน้าแล้วก็เห็นว่าคงไม่พอใจกับความเงียบของเขานัก แต่สิ่งที่เขาทำได้ก็คือยืนนิ่งเท่านั้น นักศึกษาหนุ่มส่ายหัวอย่างมึน ๆ แล้วบ่นพึมพำกับตัวเอง "ไม่พูดด้วยก็ได้วะ" ทั้งคู่เดินกันไปอย่างเงียบ ๆ จนถึงตึกคณะซึ่งมีโต๊ะม้าหินเรียงรายเป็นจุด ๆ อยู่รอบตึก อติชาติโบกมือเอ่ยทักทายเพื่อนและรุ่นพี่รุ่นน้องที่รู้จักเป็นระยะ "ไอ้เต้ จนป่านนี้เอ็งยังเดินลอยชายอยู่ได้ อ่านวิชาอาจารย์นิคมจบแล้วหรือวะ?" เพื่อนร่วมรุ่นเอ่ยทักเมื่อเห็นหน้า "เดี๋ยวก่อนโว้ย ตอนนี้ต้องทำรายงานอาจารย์รัมภาก่อน" อติชาติยกปึกกระดาษในมือร่อนให้เพื่อนเห็น "พรุ่งนี้เป็นกำหนดส่งวันสุดท้ายแล้ว เอ็งยังทำไม่เสร็จอีกหรือวะ" "เออน่า ยังไงพรุ่งนี้ข้าก็ส่งได้แหละน่า" อติชาติเดินต่อไปจนถึงโต๊ะว่างใต้ร่มเงาไม้ใหญ่จึงทรุดตัวลงนั่ง
นักศึกษาหนุ่มหันไปมองคนที่เดินตามมาก็เห็นกำลังมองสภาพรอบข้างอย่างตื่น
ๆ คล้ายกับไม่เคยเห็นมาก่อน มองดูแล้วเหมือนเด็กเล็กที่พลัดหลงกับผู้ปกครองมากกว่าคนที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน
เพราะกะด้วยสายตาคร่าว ๆ แล้ว เขาคะเนว่าอายุของอีกฝ่ายน่าจะยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน เงียบ ไม่มีปฏิกริยาอะไรที่บอกว่าอีกฝ่ายได้ยินสิ่งที่เขาพูด นัยน์ตาตื่น ๆ นั้นยังคงเบิกกว้างพร้อมกับจับจ้องมองไปรอบ ๆ คล้ายอยู่ในโลกส่วนตัว จนเขารู้สึกอึดอัด แต่เมื่อนึกได้ว่าคนเรานั้นมีนิสัยต่างกัน ร้อยพ่อพันแม่จะให้ถูกใจเขาไปเสียหมดก็คงจะเป็นไปไม่ได้ อติชาติจึงยักไหล่ไม่สนใจ แล้วเริ่มอ่านรายงานของตนเพื่อตรวจแก้ไขคำผิด อติชาติตรวจคำผิดในรายงานของตนจนแทบลืมไปว่ามีคนนั่งร่วมโต๊ะ เพราะอีกฝ่ายนั่งเงียบไม่พูดอะไรสักคำ ซึ่งก็ดีเพราะทำให้เขามีสมาธิมากขึ้น งานของเขามีคำผิดไม่มากนัก เขาพับมุมในหน้าที่ต้องการให้แก้ไขพร้อมวงคำผิดด้วยปากกา และเขียนแก้ไขให้ถูกต้อง ก่อนจะส่งรายงานทั้งปึกยื่นให้ "แก้ไขไม่เยอะ วันนี้น่าจะเสร็จ ถ้ายังไงพรุ่งนี้น้องช่วยเอาไปส่งเฮียเจ้าของร้าน แล้วให้เขาเข้าเล่มให้ด้วยนะ" พีรพลกระพริบตาถี่ ๆ รับปึกกระดาษกลับคืนมาแล้วลุกขึ้นยืนกลับหลังหัน เตรียมกลับบ้านไปทำงาน "จะเที่ยงแล้ว ไปหาอะไรกินก่อนไหมน้อง หลังตึกมีโรงอาหาร" อติชาติชวนอีกฝ่าย ดูเหมือนอีกฝ่ายจะไม่สนใจ เพราะร่างของคนรับพิมพ์งานเดินออกจากโต๊ะไปโดยไม่หันกลับมามองนักศึกษาหนุ่มด้วยซ้ำ "อะไรกันหนักกันหนาวะเนี่ย" อติชาติโคลงศีรษะอย่างอ่อนใจ เขาเพิ่งเคยเจอคนที่ขาดมนุษยสัมพันธ์มากที่สุดก็คราวนี้แหละ ***** "เมื่อวานยุ่งมาก ลูกปิดเทอมก็รบเร้าให้พาไปห้างให้ได้ ก็เลยให้น้องพีมาเอง ไม่มีปัญหาอะไรใช่ไหมพี่ชัย" จิตราเอ่ยถามเจ้าของร้าน "ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ที่จริงให้เขามารับงานหรือส่งงานเองก็ได้นี่นา หรือกลัวว่าพี่จะโกงเด็ก" "แหม เรื่องโกงนี่ฉันไม่กลัวหรอก แต่น้องพีเป็นอย่างไรพี่ชัยก็รู้ดีอยู่แล้ว เดี๋ยวรับงานผิดพลาดไป พี่ชัยนั่นแหละจะเสียหาย" "เออว่ะ เมื่อวานก็ลุ้นเหมือนกันว่าจะคุยกันรู้เรื่องหรือเปล่า" อติชาติฟังอยู่นานก็นึกสงสัย จึงเอ่ยปากถาม "ขอโทษนะครับ เด็กเมื่อวานเขาเป็นอะไรหรือครับ?" จิตรากับเจ้าของร้านสบตากับชั่วครู่ก่อนจะตอบเสียงเบา "น้องพีเขาหูหนวกค่ะ" นักศึกษาหนุ่มอึ้งไปชั่วขณะ หญิงสาวอธิบายต่อ "ไม่ใช่หูหนวกตั้งแต่กำเนิดหรอกนะคะ แม่ของน้องพีเล่าว่าตอนที่น้องพีอายุได้หกเดือนก็ป่วยติดเชื้อทำให้สูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน น้องพีเรียนหนังสือที่โรงเรียนโสตศึกษาจนจบมัธยมแล้วออกมาอยู่ที่บ้าน พอดีพี่รู้จักกับแม่น้องพีก็เลยอาสาหางานให้น้องพีทำ จะได้ไม่เหงาหรือว่างจนเกินไป" ***** อีกฝ่ายรู้เพียงแต่ว่าเขาอายุสิบเก้าปี ทำงานหาเลี้ยงตัวเองอยู่กับบ้าน ส่วนเขาก็รู้เพียงว่าอีกฝ่ายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐบาลแห่งหนึ่ง ชอบดูหนังฟังเพลง ก่อนที่ทั้งคู่จะนัดพบเพื่อเจอหน้ากัน การติดต่อเป็นเพียงการสื่อสารผ่านจดหมายอิเลคทรอนิกส์ แม้อีกฝ่ายจะชักชวนให้เขาเข้าห้องสนทนา แต่พีรพลรู้ข้อจำกัดของตัวเองดีว่าไม่สามารถทำได้ เพราะภาษาไทยกับเขานั้น แม้จะอ่านได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจอยู่นาน กว่าเขาจะอ่านและทำความเข้าใจกับตัวอักษรภาษาไทยแต่ละคำ หรือแต่ละประโยคก็ใช้เวลานาน บางคนเข้าใจว่าคนหูหนวกสามารถอ่านตัวหนังสือได้คล่องแคล่วเช่นเดียวกับคนปกติ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเรียนรู้ภาษาตัวอักษรนั้นเป็นไปได้ยากสำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินเสียงอะไรมาก่อน
คนหูหนวกไม่เคยรู้ถึงความแตกต่างของตัวอักษรแต่ละตัว ถ้าจะให้เปรียบเทียบแล้วภาษามือที่เขาใช้อยู่ก็เทียบได้กับภาษาไทยของคนปกติ
ส่วนภาษาไทยที่คนหูหนวกใช้นั้นก็คงเป็นภาษาอีกภาษาหนึ่ง เหมือนกับคนปกติที่เรียนภาษาอังกฤษ
หรือภาษาเยอรมัน ญี่ปุ่น ซึ่งการจะใช้ได้คล่องแคล่วหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน
โชคดีที่งานของเขาไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษมากนัก เพียงแค่จดจำแป้นพิมพ์และพิมพ์ไปตามตัวอักษรเท่านั้น
เหมือนอย่างคนที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษแต่ก็สามารถพิมพ์ภาษาอังกฤษออกมาได้ถ้าหากมีต้นฉบับให้ดู เด็กหนุ่มผู้พิการทางหูรู้สึกว่าตนเองมีความลับมากมายเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะความลับที่สำคัญที่สุดนี้ แม้แต่ผู้บังเกิดเกล้าของเขาเองก็ยังไม่รู้ เขาเองก็เพิ่งรู้จักตัวเองเมื่อไม่นานมานี่เอง เครือข่ายที่โยงใยผ่านสายโทรศัพท์ทำให้เขารู้จักคนมากขึ้น และในที่สุดเขาก็รู้ดีว่าตนเองต้องการอะไร พีรพลพบว่าตนเองไม่เพียงแต่บกพร่องทางการได้ยิน แต่ตอนนี้เขาบกพร่องในฐานะคนที่นิยมชมชอบในเพศเดียวกัน หากถือว่าคนที่เบี่ยงเบนทางเพศเป็นผู้ป่วยประเภทหนึ่งแล้ว เขาคงจะจัดว่าเป็นคนพิการซ้ำซ้อนกระมัง <จะไปเจอเขาจริงหรือ?> 'สินาภา' เพื่อนสนิทที่เรียนจบจากโรงเรียนโสตศึกษามาด้วยกัน ส่งภาษามือถามด้วยความเป็นห่วง หล่อนทำงานขายเสื้อผ้าอยู่ในตลาดย่านที่มีผู้พิการทางการได้ยินตั้งหลักแหล่งทำมาค้าขายอยู่เป็นจำนวนมาก และก็เป็นคนเดียวที่รู้ว่าเขามีรสนิยมแบบนี้ พีรพลพยักหน้า แล้วส่งภาษามือตอบกลับไป <เขาไม่รังเกียจที่ฉันพิการ> <อันตรายจะตายไป> เพื่อนของเขาทำท่าขนลุกเมื่อคิดว่าต้องไปเจอคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เด็กหนุ่มก็ยังยืนยันความคิดเดิม เพราะถึงแม้เขาจะพิการแต่ก็มีความรู้สึกและเลือดเนื้อซึ่งกระตุ้นให้มีความต้องการเช่นเดียวกับคนปกติ และเขากำลังต้องการใครสักคนที่จะมาสนองความต้องการดังกล่าว เด็กหนุ่มรู้ดีว่าความสุขไม่ใช่จะได้มาโดยง่าย เพราะในโลกที่สื่อสารผ่านโมเด็มนั้น ความหวัง ความสนุกสนาน การหลอกลวง และความผิดหวัง มักจะมาด้วยกันตลอด สุดแท้แต่ว่าจะเจอกับคนประเภทไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรักร่วมเพศแล้ว การหลอกลวงมักจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ***** อติชาติใช้เวลาในช่วงปิดเทอมไปกับกิจกรรมบันเทิงหลากหลาย ทั้งดูภาพยนตร์ อ่านหนังสือการ์ตูนที่ต้องงดในช่วงสอบ ติดตามการถ่ายทอดสดกีฬานัดสำคัญตลอดทั้งคืน เดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าและซื้อของกับเพื่อนสนิท ทำให้แต่ละวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว เว้นแต่วันนี้ที่เขารู้สึกว่าช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้าเสียเหลือเกิน "อาเต้ ดูหนังเรื่องนี้เหอะ" นายแฟนต้าผู้เป็นหลานชายยึดชายเสื้อของเขาอยู่ยิก ๆ "เฮ้ย! ไม่ได้ว้อย เรื่องนี้ไม่เหมาะกับเด็ก ดูเรื่องนี้ดีกว่า" อติชาติแย้ง นึกเบื่อขึ้นมาตะหงิด ไม่น่ารับปากพ่อของมัน ซึ่งก็คือพี่ชายของเขาว่าวันนี้จะดูแลมันเลย แต่เพราะทั้งพี่ชายและพี่สะใภ้ต้องไปงานบวชของเพื่อนสนิท ดังนั้นจึงนำลูกสาววัยน่ารักไปคนเดียว ส่วนเจ้าลูกชายจอมซนนั้นฝากไว้กับเขาแทน "ไม่เหมาะยังไง เพื่อนยังไปดูมาแล้วเลย มันเล่าว่าเด็ด" เจ้าตัวชูนิ้วโป้งรับประกัน "เด็ดไงวะ" "หัวขาด ลากไส้มาฟัน ตัวแบะออกเป็นสองเสี่ยง มันสมองทะลัก แขนขากระจุย ซี้ด" เจ้าตัวเล็กสูดปาก ก่อนจะพล่ามต่อด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย "สยองขวัญ สั่นประสาท สยึ๋มกึ๋ย สยิวกิ้ว" "หยุดพูดเลย ต้าหลานรัก เราต้องตกลงอะไรกันหน่อยแล้ว" อติชาติล็อคคอหลานชายเดินออกจากป้ายโปรแกรมหนัง เพราะหลายคนเริ่มจับตามองมาทางพวกเขาสองอาหลาน โดยเฉพาะเจ้าหลานชายตัวแสบที่มีทีท่าจะโฆษณาภาพยนตร์ชวนแหวะอีกหลายยก อติชาติพาเด็กชายเดินออกมาห่างจากกลุ่มคน แล้วเริ่มทำความเข้าใจกับมันใหม่ "ไหนตอนแรกบอกว่าแค่พาออกมาหาพิซซ่ากินแล้วจะกลับบ้าน แล้วดันบอกว่าขอเล่นตู้เกมให้ย่อยอาหาร อาก็ยอมต้าแล้วนะ เนี่ย หมดไปตั้งหกสิบ คราวนี้ก็ตื้อจะดูหนังอาเองก็ว่าจะยอมแล้วนา แต่ถ้าต้าจะดูเรื่องหยิวกิ้วอะไรนั่น กลับบ้านโลด" "ตามใจ งั้นอาเต้จะดูอะไร?" "การ์ตูนเฟ้ย การ์ตูนอนิเมชั่น ไม่เป็นพิษไม่เป็นภัย " ผู้เป็นอาชะงักไปครู่หนึ่งเมื่อเห็นใครบางคนคุ้นตา "ใครวะ คุ้น ๆ" "อะไรหรืออาเต้?" "เพื่อนน่ะ ต้าไปดูสิว่าหนังมีรอบไหน เดี๋ยวอาตามไปทีหลัง" อติชาติสั่ง แล้วเดินแยกจากหลานชายไปอีกทาง คนที่เกาะลูกกรงยืนนิ่งท่ามกลางคนที่เดินสวนไปมา ทำให้ดูราวกับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างจากคนอื่น พีรพลหวังว่าตนเองจะเป็นเพียงฝุ่นผงหรือกลุ่มควัน แทนที่จะเป็นคนพิการเช่นนี้ เขาจำไม่ได้ว่าตนเองเดินออกมาจากร้านที่นัดพบกับเพื่อนที่ติดต่อกันทางจดหมายอิเลกทรอนิกส์ได้อย่างไร ทั้งที่ในครั้งแรกที่เจอดูเหมือนอีกฝ่ายจะพึงพอใจกับรูปลักษณ์ของเขา แต่เมื่อคุยหรือสื่อสารกันไม่เข้าใจ ความประทับใจก็ดูจะเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะจบลงด้วยการร่ำลาชนิดที่สามารถเดาออกล่วงหน้าว่าคงจะขาดการติดต่อกับอีกฝ่ายตลอดไป บางทีเขาน่าจะสำนึกตัวเองได้แล้ว ขนาดคนปกติยังหาความจริงใจยากสำหรับความสัมพันธ์แบบนี้ แล้วคนพิการอย่างเขาคงจะเรียกได้ว่างมเข็มในมหาสมุทรกระมัง "หวัดดีน้อง" อติชาติทักทายอีกฝ่าย ก่อนจะนึกขึ้นมาได้ว่าอีกฝ่ายพิการทางหู ดังนั้นจึงยื่นมือโบกไปมาตรงหน้า จนอีกฝ่ายหันหน้ากลับมา ชายหนุ่มยิ้มค้างเมื่อพบว่าใบหน้าเรียบเฉยของอีกฝ่าย เหมือนกับจะร้องไห้อยู่รอมร่อ "เป็นอะไร?" พีรพลยกมือปาดน้ำตาที่ทำท่าจะหยดลงมาอย่างไม่ใส่ใจ แล้วทำท่าจะเดินหนีไปอีกทาง แต่อีกฝ่ายก็ดึงต้นแขนเขาไว้ "เดินร้องไห้ไปอย่างนี้ ไม่อายคนอื่นหรือไง?" เขาพูดแม้จะรู้ว่าอีกฝ่ายไม่เข้าใจสิ่งที่เขาบอกก็ตาม เด็กหนุ่มผู้พิการมองหน้าอีกฝ่ายด้วยแววตาสับสน "โห นี่นายเห็นอาเป็นสตอปเปอร์หรือไงวะ" ชายหนุ่มบ่นพึม หลานชายหัวเราะแหะ ๆ ก่อนจะรายงานผล "อาเต้คร้าบ หนังเริ่มฉายไปห้านาทีแล้ว จะดูรอบนี้เลยหรือเปล่า?" อติชาติมองคนที่ยืนนิ่งอยู่ข้าง ๆ แล้วพูดกับอีกฝ่าย "ไปดูหนังกัน" เงียบ ชายหนุ่มกระตุกแขนอีกฝ่าย แล้วพูดซ้ำ ดูเหมือนอีกฝ่ายจะเข้าใจที่เขาพูด เพราะเห็นพยักหน้าช้า ๆ อติชาติจึงปล่อยมือ แล้วเดินขนาบไปยังช่องขายตั๋ว พีรพลแปลกใจที่ตนเองเดินตามคนแปลกหน้าไปชมภาพยนตร์ได้ง่าย ๆ ทั้งที่เรื่องโรงภาพยนตร์กับเขาแล้ว ยากนักที่จะมีความสัมพันธ์กันได้ เพราะเขาเองนั้นกลัวความมืดเช่นเดียวกับคนหูหนวกโดยทั่วไป เนื่องด้วยประสาทสัมผัสที่คนหูหนวกใช้มากที่สุดแทนการฟังก็คือการดูด้วยตา ในสถานที่มืดมิดจนไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดได้ถนัดชัดเจนนั้น เป็นบรรยากาศที่คนหูหนวกหวั่นเกรงเป็นที่สุด แต่เมื่อใคร่ครวญในภายหลังแล้ว พีรพลก็พบว่าการที่เขาเดินตามชายหนุ่มที่เพิ่งเคยพบหน้ากันเพียงครั้งเดียวไปโดยง่าย คงเป็นเพราะสภาพอารมณ์และจิตใจในตอนนั้นที่ย่ำแย่เต็มทน ขอเพียงมีใครยื่นมือเข้ามามา เขาก็ยินดีที่จะให้ชักจูงไปได้ตามแต่ที่อีกฝ่ายจะนำพาไป สำหรับตัวของอติชาติเองนั้น ก็ไม่รู้ว่ามีอะไรดลใจให้เขาต้องชวนอีกฝ่ายไปชมภาพยนตร์ด้วยกัน แต่สีหน้าที่ใกล้จะร้องไห้นั้นทำให้เขาต้องลากอีกฝ่ายเข้าไปนั่งในโรงภาพยนตร์ที่มืดมิด เพราะถ้าเป็นตัวของเขาเองแล้ว ก็ยินดีที่จะร้องไห้โดยไม่ให้ใครเห็นมากกว่า โชคดีที่ภาพยนตร์การ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องนี้มีเนื้อหาที่น่าประทับใจ
จนทำให้ผู้ชมหลายคนถึงกับต้องปาดน้ำตา ดังนั้นเมื่อลุกเดินออกมาจากโรงภาพยนตร์แล้ว
นัยน์ตาที่แดงก่ำของพีรพลจึงไม่เป็นที่สนใจของคนอื่นทั่วไป "นายเพิ่งกินอิ่มก่อนเข้าโรงหนังไม่ใช่เรอะ?" อติชาติย้อนถาม "สามชั่วโมงผ่านไปไวเหมือนโกหก" นายต้าหรือเด็กชายตระการพูดแจ้ว ๆ "เด็ก ๆ กะเพาะเล็ก กักเก็บอาหารไม่ได้เยอะ" "กะเพาะเล็ก แถมความจำยังสั้นอีกด้วย" ผู้เป็นอาอดค่อนขอดไม่ได้ "ใครวะที่บอกว่าดูหนังเสร็จแล้วจะกลับบ้าน" "บ้านไม่หายไปไหนหรอกน่า" มันพูดเหมือนรำคาญ ก่อนจะทำตาโตเมื่อเห็นร้านไอศกรีมอยู่ตรงหน้า "อาเต้เห็นอย่างที่ผมเห็นหรือเปล่า สวรรค์ของผมอยู่ข้างหน้า ท่านผู้บัญชาการครับ เป้าหมายอยู่ที่สามนาฬิกา ทาร์เก็ตล็อค อนุมัติให้จู่โจมเลยไหมครับ" อติชาติปวดกบาลกับเด็กแก่แดด ครูอาจารย์สมัยนี้จะปวดหัวกับไอ้พวกนี้ไหมหนอ มันช่างพูดช่างเจรจาเสียเหลือเกิน ฟังหลานชายพูดจนแทบลืมไปว่ามีคนร่วมเดินมาอีกคน "แวะกินอะไรกันก่อนไหมน้อง?" อติชาติเอ่ยถามคนข้าง ๆ ขึ้นมาด้วยความลืมตัว ก่อนจะนึกขึ้นมาได้ว่าเขากำลังสื่อสารกับคนที่ไม่สามารถได้ยิน อีกทั้งตอนนี้อีกฝ่ายกำลังสนใจมองร่างอวบ ๆ ของเจ้าต้าที่กึ่งเดินกึ่งวิ่งอยู่ตรงหน้า ชายหนุ่มหันไปทำมือตรงหน้าอีกฝ่ายเป็นการเรียก
เพราะเขาไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไรกับคนที่ไม่ได้ยินเสียงเหมือนคนปกติ
แล้วทวนประโยคเดิม เด็กหนุ่มผู้พิการพยักหน้าเมื่อรู้ความหมายจากการขยับริมฝีปากของอีกฝ่าย เด็กชายต้าหยุดยืนมองผู้เป็นอาและเพื่อนของอาด้วยความประหลาดใจเล็กน้อย เจ้าหนูรู้สึกเหมือนกันว่าเพื่อนของอาเต้นั้นผิดจากคนทั่วไป แต่ไม่รู้ว่าเป็นที่ตรงไหน อีกทั้งเมื่ออาของเขายินยอมให้เข้าไปในร้านไอศกรีมได้ เรื่องอื่นจึงถูกปัดออกจากหัวของเจ้าหนูไปโดยไว ***** อติชาติหัวเราะในใจ นี่เป็นครั้งแรกที่เขาทำตัวเป็นเผด็จการ เพราะเมื่อพนักงานของร้านมารอรับรายการอาหาร เขาเห็นสีหน้าแสดงความหนักใจของพีรพล แน่นอนว่าด้วยสภาพที่เห็นตรงหน้า อีกฝ่ายดูเหมือนเด็กวัยรุ่นโดยทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าหากยังคงนั่งนิ่งหรือทำท่าชี้มือชี้ไม้ก็อาจจะเป็นที่สะดุดตาคนอื่น ดังนั้นชายหนุ่มจึงรวบรัดสั่งรายการอาหารให้เอง เมื่อลับตาพนักงานของร้าน เขาจึงเอ่ยปากกับอีกฝ่าย "ไม่รู้ว่าจะชอบหรือเปล่าที่สั่งให้น่ะ" เพราะสายตาของอีกฝ่ายที่จ้องหน้าเขาตลอดเวลาทำให้ชายหนุ่มชักลำบากใจ "มีอะไรติดอยู่ที่หน้าพี่หรือ?" อีกฝ่ายส่ายศีรษะก่อนจะล้วงมือเข้าไปในกระเป๋าเป้ของตนแล้วหยิบสมุดโน้ตและปากกาขึ้นมา มือสั่นน้อย ๆ เมื่อเห็นร่องรอยเดิมที่เขาเพิ่งเขียนติดต่อกับคนที่เพิ่งนัดพบกันก่อนหน้านั้น เด็กหนุ่มฉีกมันออกแล้วขยำทิ้ง ก่อนจะเริ่มต้นเขียนช้า ๆ และตั้งใจ /พีอ่านปากได้ แต่ไม่ดีนัก ช้ามาก/ ประโยคดังกล่าวทำให้ชายหนุ่มมีสีหน้าดีขึ้น แบบนี้เขาก็สามารถคุยกับอีกฝ่ายได้ "แล้วถ้าเขียนล่ะ เร็วกว่าหรือเปล่า" เขาถาม แล้วหัวเราะกับตัวเองเมื่อนึกขึ้นได้ว่าตัวเองพูดรัวเร็วมากเกินไป อีกฝ่ายอาจจะเห็นไม่ชัด จึงพูดซ้ำให้ช้าลง พีรพลส่ายหน้า เรื่องการเขียนของคนหูหนวกก็เช่นเดียวกับการอ่าน การเรียบเรียงประโยค การคิดหาคำศัพท์ และไวยากรณ์จะผิดพลาดอยู่เสมอ ทำให้หลายคนคิดว่าคนหูหนวกเป็นคนโง่ เพราะเรียนรู้ภาษาไทยไม่แตกฉาน ทั้งที่จริงแล้วเป็นสาเหตุสืบเนื่องมาจากความพิการเป็นสำคัญ สำหรับพีรพลแล้วการเรียนรู้เรื่องอ่านและเขียนภาษาไทยเมื่อเทียบกับคนหูหนวกคนอื่นแล้วจัดอยู่ในขั้นดีทีเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ดีเท่าคนปกติ /ภาษาไทยใช้ได้ แต่ไม่ดี ช้า/ "อ้าว แล้วเวลาคุยกัน ใช้ภาษาอะไรล่ะ?" /ภาษามือ/ อติชาติแวบนึกไปถึงภาพที่มุมจอโทรทัศน์ในช่วงข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ที่มีคนมานั่งทำมือทำไม้ขวักไขว่ไปมาน่าปวดหัว "น้องชื่อพีใช่ไหม?" อีกฝ่ายพยักหน้าแล้วเขียนเพิ่มลงไปในกระดาษ /พีรพล/ อติชาติดึงสมุดจดและแบมือขอปากกาจากมืออีกฝ่าย ก่อนจะเขียนลงไป /อติชาติ/ พีรพลเอียงคออ่านด้วยความสนใจ อติชาติหัวเราะแล้วเขียนต่อ /พี่เต้/ คราวนี้พีรพลเงยหน้าขึ้นมองอีกฝ่าย "ให้เรียกพี่เต้ แต่น้องเรียกไม่ได้นี่หว่า" อติชาติพูดกับตัวเอง ก่อนจะสะดุ้งเมื่อโดนกระทุ้งสีข้างด้วยศอกของหลานชาย "อาเต้ เพื่อนของอาเป็นอะไรง่ะ?" นายต้าถาม นัยน์ตาแสดงความสงสัย อติชาติชะงัก ขืนเจ้าต้ารู้มันคงโวยวายลั่นตามประสาเด็ก ซึ่งอาจจะทำให้อีกฝ่ายเกิดความอับอายได้ ดังนั้นจึงแกล้งบอกหลานชายไปว่า "เขาปวดฟัน" "อ้าว แล้วจะกินอะไรได้หรือ?" "พูดมากน่า" ผู้เป็นอาขยี้ผมของเด็กชายโดยแรง พอดีกับที่พนักงานของร้านนำไอศกรีมที่สั่งไว้มาเสริฟ จึงหยุดยั้งปากของเจ้าหนูได้ทันควัน "วันนี้พีมาเที่ยวห้างคนเดียวหรือ?" อติชาติชวนสนทนา พีรพลชะงัก เขาไม่ได้มาเดินเที่ยว แต่มาด้วยวัตถุประสงค์ที่น่าอาย และถ้าคนตรงหน้ารู้เรื่องของเขา ก็คงจะไม่ชอบแน่ ๆ ดังนั้นเด็กหนุ่มจึงทำเป็นอ่านริมฝีปากอีกฝ่ายไม่ทัน นั่งเล็มไอศกรีมไปเรื่อย ๆ "แล้ววันนี้ไม่ต้องทำงานหรือ?" อติชาติชวนคุยอีก เขาไม่คุ้นกับการนั่งเงียบ ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีเพื่อนใหม่นั่งร่วมโต๊ะ ความรู้สึกอยากรู้จักตัวตนของอีกฝ่ายให้มากกว่าที่เป็นอยู่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ /งานไม่มีมาก ปิดเทอม/ "อ้อ " อติชาติพยักหน้าอย่างเข้าใจ "แล้วบ้านอยู่แถวนี้หรือ ถึงได้มาเที่ยวห้างนี้" พีรพลเขียนตำแหน่งของบ้านให้อีกฝ่ายอ่าน "ไกลเหมือนกันนี่นา บ้านพี่อยู่แถวนี้แหละ วันหลังไปเที่ยวที่บ้านก็ได้นะ" พีรพลกระพริบตาถี่ ๆ ด้วยความประหลาดใจ เขาไม่ค่อยได้พบปะกับผู้คนมากมายเท่าใดนัก ส่วนใหญ่ที่พูดคุยสื่อสารกันมักจะเป็นเพื่อนที่โรงเรียนโสตศึกษาที่เรียนจบมาด้วยกัน เพื่อนที่เป็นคนปกติไม่มีเลยด้วยซ้ำ เพราะปัญหาด้านการสื่อสารเป็นสำคัญ แต่ดูราวกับว่าคนตรงหน้าจะไม่สนใจในปัญหาข้อนี้เลย พูดคุยกับเขาเหมือนกับว่าเขาเป็นคนปกติทั่วไป ถ้าหากพีรพลเข้าใจเรื่องพื้นฐานทางจิตวิทยาสักนิดก็คงจะรู้ได้ว่า คนที่เกิดมาในครอบครัวที่มีแต่รอยยิ้มและความสุขนั้นมักจะมีความปรารถนาดีให้กับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา และอติชาติก็ทำตัวราวกับว่าจะแบ่งปันความสุขที่มีให้กับทุกคนที่ได้พบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ด้อยโอกาสเช่นพีรพล สำหรับอติชาตินั้น การทำความรู้จักกับพีรพลเริ่มต้นจากความสงสารเป็นลำดับแรก แค่ดูหน้าก็รู้แล้วว่าอีกฝ่ายนั้นเหงา แต่ตัวของเขาเองนั้นแทบจะไม่เคยรู้จักความรู้สึกดังกล่าวเนื่องจากรอบตัวมีแต่ความอึกทึกอยู่ตลอดเวลา ทั้งเสียงบ่นของบุพการี พี่ชาย พี่สะใภ้ เสียงโวยวายเอะอะของหลานชายหลานสาว แต่เมื่อใดที่เขาต้องอยู่บ้านคนเดียว ความเงียบทำให้เขาเริ่มเข้าใจว่า มนุษย์นั้นต้องการสังคม และการพูดคุยสนทนาก็คือสัญลักษณ์ที่แสดงการคงอยู่ของสังคมและการรวมกลุ่ม เมื่อชายหนุ่มได้รู้ถึงความผิดปกติของพีรพลทำให้เขาอยากรู้ว่าในโลกที่ไม่มีเสียงนั้นแตกต่างจากโลกของเขามากขนาดไหน เมื่อถึงเวลาที่ต้องแยกจากกัน อติชาติจดเบอร์โทรศัพท์ของตนให้อีกฝ่ายด้วยความเคยชิน ก่อนจะนึกขึ้นได้ว่าคนหูหนวกจะคุยโทรศัพท์ได้อย่างไรกัน พีรพลชูโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้อีกฝ่ายเห็น "อ้อ คุยด้วยการส่งข้อความ" อติชาติพยักหน้าหงึก ๆ ก่อนจะบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ของอีกฝ่ายไว้ในเครื่องมือสื่อสารของตนเอง พีรพลจดหมายเลขโทรศัพท์ที่บ้านให้อีกฝ่าย อติชาติยิ้มพร้อมกับคาดเดา "งั้นนี่ก็ทางแฟ็กซ์ล่ะสิ" พีรพลพยักหน้า ก่อนจะจดอีเมล์แอดแดรสให้อีกฝ่ายด้วย "ที่จริงก็ติดต่อกันได้หลายทางนี่นา" อติชาติหัวเราะกับตนเอง โลกของคนหูหนวกนี่ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจอะไรได้ง่าย ๆ เลยแฮะ เขาคิดในใจก่อนจะจดอีเมล์แอดเดรสของตนให้เป็นการแลกเปลี่ยน ***** นับเป็นครั้งแรกที่เขามีเพื่อนที่เป็นคนปกติ พีรพลทนเก็บความรู้สึกนี้ไม่ได้ หลังจากแยกกับสองอาหลานแล้ว เด็กหนุ่มแวะไปที่แผงขายเสื้อผ้าของสินาภาแทนที่จะตรงกลับบ้าน <ประสบความสำเร็จกับนัดบอดหรือไง?> หญิงสาวทักทายด้วยภาษามือ ใบหน้าแสดงความตื่นเต้น พีรพลส่ายหน้า สินาภาทำหน้าสงสัย <ทำไมยิ้มล่ะ? ทำหน้าเหมือนมีความสุข> <วันนี้ฉันไปเจอคนใจดี> <ใครหรือ?> <ชื่อพี่เต้> พีรพลทำมือเป็นสัญลักษณ์ชื่อเฉพาะ ซึ่งการเรียกชื่อคนอื่นโดยใช้ภาษามือนั้นจะทำโดยหาคุณลักษณะเด่น ๆ มาใช้เรียก แน่นอนว่าสินาภาไม่รู้ว่าคนที่เพื่อนสนิทพูดถึงมีชื่อว่าอะไร จนกว่าอีกฝ่ายจะเขียนชื่อนั้นให้เห็น แต่หล่อนก็รับรู้และเข้าใจว่าภาษามือที่ใช้เรียกคนนั้นคืออะไร <เขาเป็นใครหรือ? แล้วพีไปรู้จักเขาได้อย่างไรกัน?> พีรพลเล่าให้เพื่อนสนิทฟังอย่างตื่นเต้น นัยน์ตาเปล่งประกายความสุขอย่างเห็นได้ชัด มือที่ใช้ส่งภาษายกขึ้นลง ตวัดไปมาอย่างน่าสนุก <พี่เต้เขาชอบพีอย่างนั้นหรือ?> พีรพลทำท่าชะงัก ก่อนจะส่งภาษามือตอบกลับไป
<ไม่หรอก แต่พี่เต้ใจดี> *****
|