ปีที่ 2 ฉบับที่ 648 ประจำวันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2542

สหัสวรรษที่ 3

ศึกนิกาย ธรรมทิฏฐิ แรงอิจฉา

ชาวพุทธแท้ จิตสงบไร้มิจฉาทิฏฐิ

เมื่อสองวันก่อน ผมเห็นกองทัพปลดแอกไอริช ประกาศกร้าวไม่ยอมต่อรัฐบาลอังกฤษ ดูหนทางที่สร้างสันติสุขในประเทศนี้ ก็มืดมนธ์ ไปอีก ใครที่ไม่ได้ติดตามสงครามกลางเมืองในประเทศอังกฤษ คงไม่ทราบว่า ชาวไอริชซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง อยู่ในเกาะอังกฤษ ได้พยายามขอ แบ่งแยกดินแดนเพื่อเป็นอิสระ

ไม่เพียงแต่เพื่อศักดิ์ศรีของชาวไอริช แต่ส่วนหนึ่งที่ไปกันไม่ได้ก็คือ ในเรื่องความเชื่อในเรื่องศาสนา

ครับ เป็นชาวคริสต์ด้วยกัน แต่ต่างนิกายกัน ก็เริ่มรังเกียจกัน ดูถูกกัน ทั้งที่เป็นฝรั่งผิวขาวด้วยกัน หน้าตาเหมือนกันแท้ๆ ลงท้าย ก็จับอาวุธสู้กัน ฝ่ายที่มีกำลังมากกว่าก็ชนะ ฝ่ายที่แพ้ก็เต็มไปด้วยความอาฆาตแค้น ก็หาทางทำร้ายด้วยการสร้างสงครามกองโจร

ในที่สุด ก็บานปลายเป็นสงครามกลางเมือง และขอแยกประเทศไปเลย

เช่นเดียวกับ ศึกกลางเมืองในแหลมบอลข่านขณะนี้ จากประเทศเดียวกัน แยกเป็นหลายประเทศ แยกกันตามเขื้อชาติและศาสนา กลายเป็น สงครามล้างเผ่าพันธุ์ กลางเป็นฝรั่งอพยพหนีกระเจิดกระเจิงไปอาศัยประเทศเพื่อนบ้าน

ในบางครั้ง วิกฤตการณ์ของมนุษยชาตินี่ ก็ทำให้เกิดผลดีบ้างเหมือนกัน เหมือนชาวอังกฤษที่นับถือโปรเตสแตนท์ ทนถูกกดขี่ไม่ไหว เพราะนับถือพระเยซูองค์เดียวกันแท้ๆ เพื่อนเล่นทั้งฆ่าตัดหัวเสียบประจาน ทั้งเผาทั้งเป็น ทั้งจับใส่คุกไปทรมาน เพื่อให้เปลี่ยนใจ ให้กลับมา ยึดถือความเชื่อแบบเดียวกันให้ได้

สุดท้ายทนไม่ไหวต้องหนีข้ามน้ำข้ามมหาสมุทรไปตายเอาดาบหน้า ไปสร้างประเทศใหม่ เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ยิ่งใหญ่กว่า ประเทศเดิม ของตนเอง ประเทศเกิดใหม่ที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกทุกวันนี้

แต่พอไปตั้งหลักในสหรัฐ ก็ยังมีการแยกนิกายอีกเช่นเดิม ก็มีการตั้งข้อรังเกียจกันอีก อย่างนิกายมอร์มอน ก็ถูกชาวบ้านรังเกียจ ทั้งที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวกันแท้ๆ ถูกรังแกถูกฆ่า จนอยู่ร่วมเมืองกับเขาไม่ไหว ต้องหนีระหกระเหิน ข้ามภูเขาทุรกันดาร ไปทางตะวันตก

สุดท้ายต้องไปตั้งหลักอยู่ตรงเชิงเขากลางทะเลทราย สร้างเมืองใหม่ของตนเอง เนรมิตทะเลทรายจนเขียวชอุ่ม กลายเป็นเมือง ซอลท์เลคซิตี้ เมืองสวยงามในทุกวันนี้ กลายเป็นเมืองศาสนาทั้งเมืองของตัวเอง ไม่ง้อใคร

ผมคิดว่า พุทธศาสนาของเราโชคดีที่สุด เพราะถึงแม้ว่า จะมีการแบ่งออกเป็นมหายานกับหินยาน ที่มีแนวคิดแตกต่างกัน แต่หลักสำคัญ ก็คือ นับถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน ถือพระรัตนตรัยเหมือนกัน ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย ก็จะแตกต่างไปตาม ภูมิลำเนาและวัฒนธรรม ของแต่ละประเทศนั้น

มหายานนั้น จะขยายไปทางเหนือ ไปทางตะวันออก ไปทางธิเบต จีน ญี่ปุ่น ก็จะมีความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ เรื่องการทำอะไรใหญ่โต ทำอะไรเป็นหมู่มาก เพราะมีความเชื่อว่า มหายานเป็นยานใหญ่ ถ้าจะไปนิพพานก็ต้องไปด้วยกันมากๆ

หินยานนั้นขยายมาทางใต้ มาทางศรีลังกา พม่า ไทย เขมร เวียตนาม แนวความคิดก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง การไปนิพพาน ก็จะถือแบบ ยานลำเล็ก มีความเชื่อในเรื่องปัจเจกบุคคลเพราะหินะ แปลว่า เล็ก การมุ่งนิพพานเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องไปชวนคนอื่น ถ้าขับสปอร์ตได้ ก็ขับรถไปคนเดียวเลย

และก็เป็นค่านิยมของคนไทยในประเทศไทยมาเกือบหนึ่งพันปีที่สร้างประเทศ

แต่ข้อดีก็คือ ไม่ว่าจะยึดถืออย่างไร ชาวพุทธทั่วโลกก็อยู่ร่วมกันโดยสันติ มิได้รังเกียจเดียจฉันท์อะไรกันว่า จะมีวัตรปฏิบัติแตกต่างกัน อย่างไร เพราะศรัทธานี้เป็นของแต่ละบุคคลแต่จะวัฒนธรรม จะบังคับให้เหมือนกัน คงเป็นไปไม่ได้

ผมไปประชุมพุทะศาสนาในต่างประเทศได้เห็นภาพพระนั่งดินเนอร์กันทุกเย็น พระไทยวิ่งหนีกระจุย ถือเป็นภาพประหลาดของคนไทย แต่พระที่อื่น เขาถือเป็นเรื่องธรรมดาปรกติ เพราะมิใช่วัตรปฏิบัติของเขา

มีหลายอย่างที่ แตกต่างกัน แม้กระทั่งวันมาฆบูชามหาบูชาลางประเทศเขาก็ไม่มี วันวิสาขบูชาก็ยังเข้าใจไม่ตรงกัน ของเราถือว่า ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานตรงกันหมด บางประเทศเขาก็ถือว่า เฉพาะตรัสรู้กับปรินิพพานเท่านั้นก็ตรงกัน

ครับ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" คือ นโยบายที่ชาวพุทธทั่วโลกใช้มาตลอด แม้ในการประชุมขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ทุกครั้ง และเคยมีการรวบรวมจุดร่วมว่า พุทธทั่วโลกมีอะไรที่เหมือนกันบ้าง ไม่ต้องทะเลาะกันเถียงกัน นาย กูรูเก้ อดีตเอกอัครราชฑูต ศรีลังกาประจำสหรัฐ เคยปราศรัยว่า ได้ค้นพบแล้ว ได้มาถึง 14 ข้อ

ส่วนข้อแตกต่างนั้น ไม่ต้องพูดกันดีกว่า เพราะต่างกันเป็นร้อยเป็นพันข้อ

แต่ชาวพุทธก็น่ารักตรงที่ไม่ทะเลาะกันในเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้าประมาณว่า ณ วันนี้ มีคนนับถือพุทธทั่วโลกประมาณ 800 ถึง 1,000 ล้านคน เราจะไปถือว่า เราเป็นเจ้าของศาสนาพุทธคนเดียว ทุกคนจะต้องเชื่อตามเหมือนฉัน แล้วก็แบกพระไตรปิฎกไปตบหน้าคนอื่น ด่าคนอื่น อันนี้มิใช่วิสัยชาวพุทธที่แท้ มิใช่ชาวพุทธที่พระพุทธเจ้าทรงพึงปรารถนา

เมืองไทยเราโชคดีที่ 800 ปีที่ตั้งประเทศ เราไม่มีการแยกนิกาย จนกระทั่งเมื่อ 100 กว่าปีนี้ เราจึงมีการแยกเป็นธรรมยุตนิกาย ที่เคร่งกว่า และมหานิกายที่เคร่งน้อยกว่า แต่กระนั้น ก็ยังไม่มีเรื่องถกเถียงกัน ไม่เคยทะเลาะกัน ต่างฝ่ายต่างเคารพสิทธิในความเชื่อ ใครจะถือ อย่างไรก็ตามใจ ทั้งๆ ที่ปัจจุบัน วัดมหานิกายทั่วประเทศ มี 28,883 วัน ขณะที่วัดธรรมยุต มี 1,475 วัด พระภิกษุสามเณรมหานิกายมี 337,516 รูป พระภิกษุสามเณรวัดพระธรรมยุตมี 32,184 รูป

แต่เราก็รักใคร่กันดี แม้ในมหาเถรสมาคม ก็แบ่งกันใน 20 ตำแหน่งก็จะเป็นพระมหาเถรสายละ 10 ตำแหน่งเท่ากัน เราก็อยู่กัน สงบ ร่มเย็นรักใคร่ปรองดองกันจนถึงวันนี้

สิงห์ขาว