ประจำวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 - วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2542

สหัสวรรษที่ 3

บทพิสูจน์

คนต่างศาสนาเขียนหนังสือ "กรณีธรรมกาย" มิใช่พระธรรมปิฎก

โดยความเป็นจริงแล้ว พระผู้ศึกษาได้เปรียญธรรม ย่อมสามารถให้ความหมายที่แตกต่าง ระหว่างคำว่า "ธรรม" กับ "วินัย" ได้เป็นอย่างดี และคำจำกัดความของทั้งสองคำนี้ ก็มิได้มีความละม้ายเหมือนกันอีกด้วย ไม่ว่าทางอักขระ หรือโดยอรรถ ในหนังสือ "กรณีธรรมกาย" มีการ กล่าวถึงคำว่า "พระธรรมวินัย" โดยไม่ใช่ความหมายทางพุทธศาสนา

และเมื่อเห็นหน้าปกหนังสือระบุว่า ผู้เขียนคือ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนา เชี่ยวชาญทางด้าน พระไตรปิฎก เป็นอาจารย์สอนในมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อันเป็นสถาบันชั้นสูงของสงฆ์ไทย ยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้อยคำ ดังกล่าว มิใช่ถ้อยคำของพระพุทธศาสนิกชนใช้ แต่เป็นคำพูดของคนที่ไม่รู้พระพุทธศาสนามักใช้

เช่น ฝรั่งอยากจะพูดภาษาไทย รู้บ้างไม่รู้บ้าง ก็อยากพูด พอเห็นพระฉันภัตตาหาร ก็บอกว่า "พระกินข้าว" ไม่ต้องอธิบายก็รู้ว่า คนนี้ ไม่ใช่คนไทย และไม่ใช่ชาวพุทธ

เพราะเหตุใด? นั่นก็เพราะว่า ผู้เขียนหนังสือนี้ ยังไม่มีความรู้เรื่องอาบัติ หรือ ศีลของพระภิกษุสงฆ์ ที่เรียกว่า วินัย นั้นมีอะไรบ้าง ไม่รู้ แม้กระทั่งเรื่องการบวชพระภิกษุ และการลาสิกขาบท ว่า มีระเบียบอย่างไร? และในคำกล่าวลาสิกขาบท ก็ไม่มีคำไหน? ประโยคใด? กล่าวว่า ไม่ยอมรับพระไตรปิฎก ยกตัวอย่างหน้า 15 (เล่มสมบูรณ์) จะเห็นว่า นำเอาคำว่า "วินัย" ไปปนกับเรื่อง "นิพพาน" เป็นคนละเรื่อง ในหนังสือดังว่านี้

"อย่างเรื่อง นิพพาน ก็ยิ่งสำคัญเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะว่า วินัย ที่รักษานั้น ก็เพื่อที่จะเป็นฐานให้เข้าถึงจุดหมาย ถ้าการรักษาหลักการ อย่าง นิพพาน ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดไว้ไม่ได้ การรักษาความประพฤติปฏิบัติเบื้องต้น เช่น วินัย ก็แทบจะหมดความหมาย"

นิพพาน คือ การสิ้นอาสวะ หรือสภาวธรรม ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะบรรลุได้ด้วยการปฏิบัติทางจิต โดยมีวิปัสสนากรรมฐาน ตัดกิเลส ตัณหา นี่เป็นเรื่องที่ชาวพุทธทั่วไปรู้

วินัย คือ ข้อวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางจิต เช่น ไม่มีอาบัติที่ว่า หากไม่นั่งวิปัสสนา พิจารณาธรรม แล้วต้องอาบัติ ไม่มีปรากฏ ตรงนี้ผู้เขียนไม่ได้อ่าน ต้นบัญญัติ หรือ วินัยบัญญัติ ซึ่งเป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นต้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฐานที่จะให้เข้าถึง นิพพานนั้น คือ การปฏิบัติตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค หรือตามแนวทางพระอภิธรรมปิฎก

หากพิจารณาจากพระไตรปิฎก แล้วละก็จะพบได้ว่า พระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า บรมศาสดา ได้ทรงแยก ธรรม และ พระวินัย ไว้ใน (บาลี มหาสีหนาทสูตร สี.ที.9/209/265) ซึ่งทรงตรัสแก่ อละกัสสปะ ณ กัณณกถลมิคทายวัน ใกล้เมือง อุชุญญาว่า

"กัสสปะ หนทางมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ ซึ่งผู้พ้นตามนั้นแล้ว จักรู้ได้เองทีเดียวว่า พระสมณโคดม เป็นผู้มีปกติกล่าวถูกต้องตามกาล กล่าว ถูกต้องตามที่เป็นจริง กล่าวโดยอรรถ กล่าวโดยธรรม กล่าวโดยวินัย ดังนี้"

พระธรรมปิฎก ท่านย่อมทราบว่า ธรรม,วินัย นั้น เป็นคนละคำ และคนละความหมายอยู่แล้ว ด้วยความเป็นอัจฉริยะทางศาสนาของท่าน พระสูตรตามตัวอย่างนี้ ท่านย่อมผ่านสายตามาเป็นร้อยครั้ง และยังเป็นศัพท์ขั้นปฐมอีกด้วย จึงไม่มีวันผิดพลาดสำหรับท่าน

ฉะนั้น ผู้ที่เขียน "กรณีธรรมกาย" จึงเป็นคนนอกศาสนา ที่แอบอ้างนามพระธรรมปิฎก ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญทางศาสนา ไม่เพียงแต่ เจตนาทำลาย วัดพระธรรมกายเท่านั้น ยังเป็นการทำลายทรัพยากรบุคคล ทางพุทธศาสนา เช่น ท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อีกทางหนึ่งด้วย เรามาตามไปดูให้เห็นถึงเจตนา ผู้ที่จ้องทำลายพุทธศาสนาในหนังสือ "กรณีธรรมกาย" ต่อไป ว่าจริงหรือไม่?

ในหนังสือกล่าวว่า 1.วัดพระธรรมกายนำพระไตรปิฎกมหายาน มาสั่งสอนเป็นการทำลายพุทธศาสนา

ความเป็นจริง ได้มีการนำพระสูตรของพระไตรปิฎกฉบับมหายาน มาสั่งสอนให้กับพุทธศาสนิกชนในฝ่ายเถรวาท ของประเทศไทย อย่าง ต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม มาเกินกว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับปัญญาชน โดยเฉพาะในช่วงระยะ 20 กว่าปีที่ผ่านมา พระเถระ ชั้นผู้ใหญ่ ท่านที่นำมาเผยแผ่ ก็เป็นที่รู้จักเคารพกันทั่วแผ่นดิน ก็เพราะว่า ท่านได้เป็นผู้นำเอาพระสูตรในพระไตรปิฎกมหายาน มาสั่งสอน อย่างเปิดเผย พิมพ์เผยแพร่ แถมยังขายดีอีกด้วย ในปัจจุบัน พระสูตรนั้นชื่อว่า "คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร" เป็นคำสอนของ นิกายมหายานแท้ ว่าด้วยความว่าง คือทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นอนิจจัง เป็นความไม่เที่ยง เป็น สุญญตา (ต้นกำเนิดของนิกายเซ็น ซึ่งพระธรรมรักษ์ เป็นผู้นำมา เผยแผ่ ในประเทศจีน ซึ่งรู้จักกันในนาม สูตรเว่ยหล่าง)

พระพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนพระสูตรนี้แก่สาวกก็เพราะ เนื่องจาก สาวกผู้ได้อิทธิบาท และอภิญญา บางองค์ใช้ฤทธิ์ไปในทางที่ผิด เช่น พระเทวทัต เนื่องจากว่า การปฏิบัติตามวิถีแห่งอภิญญา ไม่ว่าผู้นั้น จะเป็นใคร วรรณะใด ก็ย่อมได้ฤทธิ์ทั้งสิ้น พุทธองค์ จึงทรงสั่งสอนคัมภีร์นี้ เพื่อลดความยึดติด ในฤทธิ์ อภิญญา และญาณ เสียให้สิ้น ชี้ให้เห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นความว่าง ทรงสั่งสอนโดยคัมภีร์ ปรัชญาปรมิตาสูตร นี้อยู่ 14 ปี

พระพุทธทาสภิกขุ แห่งวัดสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.นครศรีธรรมราช ได้นำมาเผยแพร่สั่งสอนตีพิมพ์ และใช้เป็นหลักปฏิบัติของพระภิกษุในวัด และสานุศิษย์ เรียกว่า ความว่าง ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ หนังสือข้อเขียน "แนวมหายาน" ของท่านนั้น เป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์ ราชบัณฑิตทั่วไป เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ไม่มีพระสูตรนี้ หลักการปฏิบัติของท่านพุ ทธทาส ก็คือหลักของนิกาย เซ็น แท้ๆ อีกด้วย แม้กระทั่ง โรงละครแห่งวิญญาณ เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี สำหรับการสั่งสอนโดยหลักมหายาน ในสงฆ์เถรวาท ประเทศไทย

พระธรรมปิฎก เป็นนักปราชญ์ทางศาสนา รอบรู้ตำราศาสนาทั่วโลก ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะไม่รู้จักพระพุทธทาส และยิ่งเป็นไปไม่ได้ ที่ท่านจะไม่ทราบว่า "สุญญตา หรือ ความว่าง" เป็นหลักของมหายาน โดยเฉพาะเป็นนิกายเซ็นอย่างชัดแจ้ง ดังนั้น จึงไม่ใช่ท่านเขียน แต่เป็นคน นอกศาสนา แอบอ้างอย่างแน่แท้

และตามความเป็นจริง ที่ใครๆ ก็รู้ว่า วัดพระธรรมกายไม่ได้ใช้หลักแห่ง "สุญญตา (ความว่าง) " ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติแบบมหายาน มาใช้ ในการปฏิบัติ เพราะวิธีปฏิบัติของวัดพระธรรมกายนั้น เป็นไปตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค อันรจนาโดยพระพุฒโฆษาจารย์แห่งลังกา เป็นหลักปฏิบัติ ของเถรวาททั้งปวง ซึ่งภิกษุสงฆ์ผู้ศึกษาบาลี ก็ต้องแปลธรรมบทของท่าน พระธรรมปิฎกเอง ท่านก็เป็นอาจารย์ สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านย่อมรู้ซึ้งถึง คัมภีร์วิสุทธิมรรค ว่า เป็นของเถรวาทโดยแท้

การสั่งสอนและหลักการปฏิบัติของวัดพระธรรมกายนั้น ยังเป็นไปตามประกาศ องค์การศึกษา

เรื่อง ระเบียบการศึกษาวิปัสสนาธุระข้อ 7 ซึ่งระบุว่า "ข้อความอันใด ซึ่งเป็นวิธีของวิปัสสนาธุระ ที่มิได้กล่าวไว้ในที่นี้ ให้ถือเอาโดยนัย ที่มีในคัมภีร์วิสุทธิมรรค" (ปรากฏตามเอกสารประกอบ จ.1) และยิ่งกว่านั้น ในเอกสารวิธีการปฏิบัติของวัดพระธรรมกายทุกฉบับ ได้ระบุไว้ อย่างชัดแจ้งว่า

วิชชาธรรมกาย อาศัยการกำหนด อาโลกกสิณ คือ กสิณความสว่าง

กสิณ เป็นวิชชาหนึ่งที่ระบุแนวทางปฏิบัติไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ของเถรวาท ไม่ใช่มหายาน

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เขียนหนังสือ "กรณีธรรมกาย" ไม่มีความรู้เรื่องพุทธศาสนา หรือแนวทางปฏิบัติในทางพุทธศาสนาอีกด้วยว่า กสิณ คืออะไร? ดังนั้น ผู้เขียนหนังสือดังกล่าว ต้องเป็นคนนอกศาสนา อย่างแน่นอน เพราะท่านเจ้าประคุณพระธรรมปิฎก ย่อมกระจ่าง ในความหมาย ของ กสิณ ได้ดี อีกทั้งท่านย่อมทราบระเบียบและกฎเกณฑ์ของคณะสงฆ์ไทย ในการเรียนหรือการปฏิบัติวิปัสสนา ได้เป็นอย่างดี ในฐานะ พระราชาคณะอีกด้วย จึงแน่ใจว่า ท่านจะไม่เขียนเช่นนี้

ในหนังสือกล่าวว่า "การเห็นธรรมกายนั้น ต้องเห็นด้วยตาปัญญาไม่ใช่เห็นด้วยสมาธิ ไม่มีวิธีปฏิบัติวิชชาธรรมกาย บัญญัติอยู่ใน พระไตรปิฎก ฉบับบาลีเถรวาท"

ความเป็นจริง พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ) ท่านได้ค้นพบวิชานี้นั้น เป็นแนวทางที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับบาลี ซึ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสอนไว้ ถึงการทรงกำหนดสมาธินิมิต ให้พิจารณาจดจำ แสงสว่าง และนำมาใช้สั่งสอนศิษย์วัดปากน้ำ ซึ่งท่าน พระมงคลเทพมุนี เรียกชื่อ แสงสว่าง นั้นว่า ดวงปฐมมรรค ซึ่งหมายถึง ดวงต้นทาง อันเป็นจุดเริ่มต้น ของการปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ ทรงตรัส แก่ พระเถระ 3 รูปคือ พระอนุรุทธะ พระนันทิยะ พระกิมพิละ (ในบาลีอปักกิเลสสูตร สุญญตวรรค อุปริ ม.14/302/452) โดยทรงอาลปนะว่า

"อนุรุทธะทั้งหลาย นิมิต นั่นแหละ เธอพึงแทงตลอดเถิด แม้เราเมื่อครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ ยังมิได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็จำแสงสว่าง และการเห็นรูปนั้นทั้งหลายได้ ต่อมาไม่นาน แสงสว่างและการเห็นรูปของเรานั้น ๆ ก็หายไป เกิดความสงสัยแก่เราว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็น ปัจจัย ที่ทำให้แสงสว่างและการเห็นรูปนั้นหายไป อนุรุทธะทั้งหลาย เมื่อคิดอยู่ก็เกิดความรู้สึกว่า

วิจิกิจฉา แล เกิดขึ้นแก่เราแล้ว สมาธิของเราเคลื่อนแล้ว (ย้ายฐานแล้ว) ก็เพราะมีวิจิกิจฉาเป็นต้นเหตุ ครั้นสมาธิของเราเคลื่อนแล้ว (ย้ายฐานแล้ว) แสงสว่างและการเห็นรูป ย่อมหายไป เราจักกระทำโดยประการที่วิจิกิจฉา จะไม่บังเกิดแก่เราอีก...ฯลฯ

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย เรานั้น เมื่อไม่ประมาท มีเพียร มีอัตตา ส่งไปอยู่ ย่อมจำแสงสว่างได้ดีแต่ไม่เห็นรูป ย่อมเห็นรูป แต่จำแสงสว่าง ไม่ได้ เป็นดังนี้ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง ความสงสัยเกิดแก่เราว่า อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่เราจำแสงสว่างได้แต่ไม่เห็นรูป เห็นรูปแต่จำแสงสว่างไม่ได้ ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง

ดูก่อนอนุรุทธะทั้งหลาย ความรู้สึกได้เกิดแก่เราว่า สมัยใดเราไม่ทำ รูปนิมิตไว้ในใจ แต่ทำโอกาสนิมิต ไว้ในใจ สมัยนั้นเราย่อมเห็นรูป แต่จำแสงสว่างไม่ได้ ตลอดทั้งคืนบ้าง ตลอดทั้งวันบ้าง ตลอดทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีอัตตา ส่งไปอยู่ ย่อมจำแสงสว่างได้เพียงน้อย เห็นรูปเพียงน้อย จำแสงสว่างมาก ไม่มีประมาณ เห็นรูป ไม่มีประมาณบ้าง เป็นดังนี้ ทั้งคืนบ้าง ทั้งวันบ้าง ทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง ความสงสัยเกิดแก่เราว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เราจำแสงสว่างได้เพียงน้อย เห็นรูปเพียงน้อย จำแสงสว่างได้มากไม่มีประมาณ เป็นรูปได้มาก ไม่มีประมาณ ตลอดทั้งคืนบ้าง ตลอดทั้งวันบ้าง ตลอดทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย ความรู้ได้เกิดแก่เราว่า สมัยใด สมาธิของเราน้อย สมัยนั้น จักขุก็มีน้อย ด้วยจักขุอันมีน้อย เราจึงแสงสว่างได้น้อย เห็นรูปน้อย สมัยใด สมาธิของเรามากไม่มีประมาณ สมัยนั้น จักขุของเราก็มากไม่มีประมาณ ด้วยจักขุอันมากไม่มีประมาณนั้น เราจึง จำแสงสว่าง ได้มากไม่ได้ประมาณ เห็นรูปได้มาก ไม่มีประมาณตลอดทั้งคืนบ้าง ตลอดทั้งวันบ้าง ตลอดทั้งคืนแลทั้งวันบ้าง

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย ในการที่เรารู้แจ้งว่า วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสแห่งจิตแล้ว และละมันเสียได้แล้ว การนั้น ย่อมเกิดความรู้สึกแก่เราว่า อุปกิเลสแห่งจิตของเราเหล่าใด อุปกิเลสนั้น ๆ เราละได้แล้ว เดี๋ยวนี้ เราเจริญแล้วซึ่ง สมาธิ โดยวิธีสามอย่าง

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย เราเจริญแล้ว ซึ่งสมาธิอันมีวิตกวิจาร ซึ่งสมาธิอันไม่มีวิตก แต่มีวิจารพอประมาณ ซึ่งสมาธิอันมีปิติ ซึ่งสมาธิอัน เป็นไปกับด้วยความยินดี และสมาธิอันเป็นไปกับด้วยอุเบกขา

ดูก่อน อนุรุทธะทั้งหลาย กาลใด สมาธิอันมีวิตกวิจาร เป็นธรรมชาติอันเราเจริญแล้ว กาลนั้น ญาณเป็นเครื่องรู้เครื่องเห็น เกิดขึ้นแก่เรา ว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพเป็นที่เกิดไม่มีอีก (นิพพาน) ดังนี้

ตามพระไตรปิฎก ที่กล่าวถึงนี้นี้ จะเห็นวิธีการปฏิบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ถึงพระนิพพานนั้น ใช้หลักนิมิต รูป แสงสว่างใน การทำสมาธิ เป็นวิถีนำไปสู่การสิ้นชาติภพพ้นจาก สภาวธรรมทั้งปวง อันเป็นวิธีการอันถูกต้องซึ่ง เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ) ได้นำมาจากพระไตรปิฎกบาลี ที่ใช้เป็นหลักของเถรวาทนั้นเอง มิใช่เป็นวิชาที่ท่านคิดค้นขึ้น ตามที่มีบุคคลกล่าวอ้างว่า ไม่มีปรากฏใน พระไตรปิฎก เพราะโดยความเป็นจริง ในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท (บาลี สฬา. สํ . 18/298 /440) ได้กล่าวถึง วิชชา ว่า

ภิกษุทั้งหลาย จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลาย ในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่เคยฟังมาก่อน

การกล่าวว่า การใช้ปฏิบัติในวิชชานี้ เป็นเพียงการพื้นฐานขั้นต้นเท่านั้น จึงมิใช่การกล่าวที่ถูกต้อง เพราะแนวทางที่วัดพระธรรมกาย นำมาปฏิบัตินี้ เป็นวิธีการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้ปฏิบัติในคืนขณะตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นวิชชาและวิธีปฏิบัติสูงสุด ของพุทธศาสนา ดังปรากฏในพระไตรปิฎก ที่อ้างไว้ มิใช่ขั้นต้นดังเช่น บางบุคคลกล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะเป็นวิธีเดียวกันกับ พระไตรปิฎก ทุกประการ

จึงเป็นที่ยืนยันแก่พุทธศานิกชน ถึงวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์คือ นิพพาน นั้น มีวิธีการปฏิบัติโดยการใช้ โอภาสนิมิต หรือ นิมิตแสงสว่าง เป็นอย่างเดียวกันกับที่ พระมงคลเทพมุนีนำมาสั่งสอน วิธีการปฏิบัติ ให้กับสานุศิษย์ มิได้ผิดเพี้ยน นับว่า เป็นคุณแก่ ชาวพุทธ ในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่โชคดีที่ได้มีพระสุปฏิปันโน ผู้รู้วิธีปฏิบัติถึงพระนิพพานได้จริง นำมาเผยแพร่ให้แก่ชาวพุทธ เพื่อเป็นแนวทาง ปฏิบัติโดยถูกต้อง ตามพระไตรปิฎกเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาและเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธใดๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณอักษร ทั้งทางบาลี หรือทางภาษาไทย ย่อมแปลได้โดยอรรถ และโดยธรรมเช่นเดียวกัน

ท่านธรรมปิฎก เป็นปราชญ์ทางศาสนา สอบได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ของมหาจุฬาฯ และยังได้เปรียญธรรม 9 ประโยค อรรถคาถาบาลีปกรณ์ ทั้งหลาย ล้วนผ่านสายตามาแล้วทั้งสิ้น ฉะนั้น ในพระไตรปิฎกส่วนนี้ ย่อมไม่มีพลาดจากท่านเป็นแน่

ฉะนั้น เมื่อในหนังสือ "กรณีธรรมกาย" เขียนว่า การเห็นธรรมกาย ต้องเห็นด้วยตาปัญญา มิใช่ตาสมาธิ นั้น ขัดกับพระพุทธพจน์ ในพระไตรปิฎก อย่างชัดแจ้ง และโดยเจตนา แสดงให้เห็นถึงบุคคลผู้นี้ ไม่เพียงไม่ได้อ่านพระไตรปิฎกเท่านั้น แม้แต่เรื่องสมาธิจิตขั้นพื้นฐาน ยังไม่มีความรู้ ซึ่งสามเณรน้อยบวชไม่ถึงเดือน ก็เรียนรู้ได้ จึงไม่ใช่คนในศาสนาพุทธ อย่างแน่นอน

2.หนังสือกล่าวว่า การนำพระไตรปิฎกของประเทศอื่น นิกายอื่นมาเปรียบเทียบกับ พระไตรปิฎกฉบับเถรวาท เป็นการกระทำที่ทำลาย พุทธศาสนา

ความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทรงให้สาวกเทียบเคียงคำสั่งสอน (มหาปรินิพานสูตร มหา.ที 10/104/112) พระไตรปิฎกฉบับบาลี ซึ่งใช้เป็น หลักของเถรวาทได้ปรากฏพุทธบัญญัติให้พุทธสาวกวินิฉัยพระธรรมของพระพุทธองค์ ว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าฟังมาแล้ว ได้รับมาแล้ว เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้

เธออย่าเพิ่งรับรอง อย่าเพ่อคัดค้าน เธอกำหนดเนื้อความนั้นให้ดี แล้วนำไปสอบสวนในพระสูตร นำไปเทียบเคียงในวินัย ถ้าลงกันไม่ได้ พึงแน่ใจว่า นั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน ฯลฯ ดังนั้น การที่วัดพระธรรมกาย นำเอาพระสูตรจากพระไตรปิฎกอื่น ไม่ว่า จะเป็นของ ฝรั่ง จีน ไทย แขก มาสอบสวนว่า ตรงกันหรือไม่ จึงเป็นการปฏิบัติตามบัญญัติของ พระไตรปิฎกฉบับบาลีเถรวาท โดยเคร่งครัด ซึ่งควรแก่การยกย่อง

กรณีนี้เห็นได้ชัดว่า พระธรรมปิฎกไม่ได้เป็นผู้เขียน เพราะในการสอนของท่านที่ ศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านใช้ พระไตรปิฎก ประเทศอื่น มาเทียบเคียงในการสอนเช่นกัน ซึ่งเป็นหลักการในการสอนของ ศูนย์ศาสนศึกษา ที่ให้พิสูจน์ด้วยเหตุและผล อยู่แล้ว จึงพิสูจน์ได้ไม่ยากในกรณีนี้

3.หนังสือกล่าวว่า นิพพานเป็นอัตตา ไม่มีในพระไตรปิฎกฉบับบาลี ที่ใช้อยู่ในนิกายเถรวาท

ความจริง ในพระไตรปิฎกฉบับบาลีของเถรวาท ซึ่งคณะสงฆ์ไทยใช้อยู่ และมีอยู่แทบทุกวัด ไม่เพียงแต่ว่า นิพพานเป็นอัตตา เท่านั้น นิพพานยังทำให้ลุ่มหลงอีกด้วย

อัตตา คือ ตัวตน สัมผัสได้ รับรู้ได้ ด้วยผัสสะใดผัสสะหนึ่ง หากพูดว่า นิพพาน ทำให้เพลิดเพลิน ลุ่มหลงได้ พุทธพจน์ปรากฎใน พระไตรปิฎก บาลี (บาลี มูลปริยายสูตร มู.ม.12/10/9) ว่า ...

..ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ก็รู้ชัดซึ่งนิพพานตามความเป็นนิพพาน ครั้นรู้นิพพาน ตามความเป็น นิพพานแล้ว ก็ไม่ทำความมั่นหมายซึ่งนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมายในนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมายโดยความเป็นนิพพาน ไม่ทำความมั่นหมายว่า นิพพานเป็นของเรา ไม่เพลิดเพลินลุ่มหลงในนิพพาน ข้อนี้เพราะเหตุไรเล่า? เรากล่าวว่า เพราะรู้ว่าความเพลิดเพลินเป็นมูลแห่งทุกข์ และเพราะ มีภพ จึงมีชาติ เมื่อเกิดเป็นสัตว์แล้วจึงต้องมีแก่และตาย เพราะเหตุดังนี้ตถาคต จึงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯลฯ (นี่เป็นประเด็นที่พึงสังวรว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ)

นี่เป็นประเด็นที่พึงสังวรว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ และใน นิพพานมีแต่ความสุข จึงเกิดความเพลิดเพลิน ลุ่มหลงได้ จึงเป็นที่มาของพุทธภาษิตที่ว่า "นิพพานํ ปรมํ สุขํ" แปลว่า พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เมื่อเพลิดเพลินได้ ย่อมสัมผัสได้ เมื่อนิพพาน สัมผัสได้ จึงต้องเป็นลักษณะใด ลักษณะหนึ่งของอัตตา มิฉะนั้น องค์พระทศพลคงไม่มีพระพุทธาธิบายไว้ปรากฏในพระไตรปิฎกเป็นแน่แท้

สิ่งที่เราทราบดีว่า พระธรรมปิฎก ท่านเป็นนักค้นคว้า ดังนั้นความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกของท่านนั้น ยากจะหาผู้เปรียบ เสมอเหมือนได้ ในแผ่นดิน พระไตรปิฎกในส่วนนี้ท่านทราบดีอยู่แล้ว เนื่องจากสภาวะธรรม (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) เป็นอนัตตา แต่นิพพานนั้น พ้นจากสภาวะธรรม จึงมีสภาพเป็น อัตตา (อายตนะ) และมีพุทธพจน์กำหนดสภาพของนิพพาน ปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งปราชญ์อย่างท่าน ไม่มีวันพลาด ในส่วนนี้ อย่างแน่นอน

ฉะนั้น ผู้ที่เขียน "กรณีธรรมกาย" จึงเป็นผู้ทำลายศาสนา ที่ไม่เคยศึกษาพุทธศาสน์ ไม่เข้าใจ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวธรรมอย่างไร นิพพานจะทำให้พ้นสภาวธรรมอย่างไร จึงแน่ใจได้ว่าไม่ใช่ชาวพุทธเขียน เป็นการแอบอ้างชื่อพระธรรมปิฎก

4.หนังสือกล่าวว่า "ไม่เคยมีปรากฏในพระไตรปิฎกฉบับบาลี ของเถรวาท ซึ่งคณะสงฆ์ไทยใช้เป็นแม่แบบ ว่านิพพานเป็นอมตะ เที่ยงแท้ แน่นอน และคนที่สั่งสอนว่านิพพานเป็นอมตะ เป็นการบิดเบือนนอกเหนือไปจากพระไตรปิฎกฉบับนี้ เป็นเดียรถีย์ หรืออลัชชีนอกรีด เป็นผู้ ทำลายศาสนาพุทธ ไม่สมควรอยู่ในพุทธศาสนา"

ความจริง เมื่ออ่านในพระไตรปิฎกฉบับบาลีของเถรวาท ที่ มัชฌิมปัณสาสก์ มัชฌิมนิกาย (บาลี ม.ม.13/463/511) จะปรากฏอรรถ ดังนี้

"... ฯลฯ ....."

"...นิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธาลงไปเถิด

ดูก่อน พรหม เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันปราณีต ที่เราแคล่วคล่องชำนาญ ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้...."

จากพระไตรปิฎกฉบับเถรวาท ที่ผ่านการสังคายนามาหลายครั้ง มิได้มีการตัดออก หรือมีหมายเหตุใดๆ ไว้ว่าคลาดเคลื่อน ยังคงเก็บรักษา พุทธโอวาท ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนา ในส่วนนี้ไว้ปรากฏเป็นหลักฐาน ให้พุทธบริษัทได้ศึกษากันสืบมาจวบเท่าปัจจุบัน

พระธรรมปิฎก เป็นพระเถระที่มีศีลาจริยาวัตร อันควรเคารพ ไม่ควรเขียนจาบจ้วง ซึ่งผิดหลักสมณสารูป ในคำว่า "ไม่ควรอยู่ใน พุทธศาสนา" ซึ่งท่านย่อมไม่เขียนเช่นนี้ เนื่องจากความเป็นปราชญ์ ย่อมใช้ปัญญาและเหตุผล เพราะเป็นความเห็นแย้งเรื่องธรรม มิใช่เรื่องการผิด วินัยสงฆ์ แต่อย่างใด โดยเฉพาะหากติดตามงานนิพนธ์กว่า 150 เล่มของท่าน จะไม่พบเห็นคำรุนแรง หรืออาจรุนแรงนี้ หรือทำนองนี้ ในที่ใด มาก่อน จึงพิสูจน์ได้แน่ชัดว่า ไม่ใช่ท่านเขียนแน่นอน

ผู้ที่แอบอ้างชื่อท่านเขียน "กรณีธรรมกาย" ไม่เพียงไม่รู้พระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกเท่านั้น ยังไม่รู้ข้อวัตรปฏิบัติ ของพระภิกษุ ใน พระพุทธศาสนา ในการกล่าววาจา หรือการสำรวจของสงฆ์อีกด้วย

สิ่งที่ฟ้องชัดว่า ผู้เขียนเป็นคนนอกศาสนา และไม่เคยเรียนรู้เรื่องไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ว่ามีขั้นตอนอย่างไร ตั้งแต่หน้า 140 (ฉบับสมบูรณ์) ไปจนถึงหน้า 142 เป็นลักษณะของการโจมตีพุทธศาสนารุนแรง ในวิธีการทำสมาธิจิต เช่น

ในหนังสือกล่าวว่า "การดิ้นรนหาทางออกจากปัญหาจิตใจด้วยวิธีการทางจิตนี้ เป็นสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้านหนึ่ง แต่กลับก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ฯลฯ โทษที่ทางพระพุทธศาสนาถือว่า ร้ายแรงมากก็คือ ทำให้ตกอยู่ในความประมาท"

ความเป็นจริง ขั้นตอนของพุทธศาสนาคือ ไตรสิกขา

ศีล คือสำรวมกาย วาจา ใจ เมื่อมีศีลแล้วก็จะเกิด

สมาธิ คือ การทำจิตให้เป็นหนึ่งเดียว เมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่าน ก็จะเกิด

ปัญญา อันเป็นแนวทางแก้ปัญหา

พระธรรมปิฎก ย่อมไม่มีทางที่จะเขียนเช่นนี้ได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะคำว่า "ข้อสำคัญคือ (การสมาธิ) ไม่เป็นวิธีการที่จะแก้ปัญหาได้จริง นอกจากจะทำให้เกิดการพึ่งพา และเป็นการกล่อมใจแล้ว โทษที่ทางพุทธศาสนาถือว่าร้ายแรงมาก ก็คือ ทำให้ตกอยู่ในความประมาท" นั่นก็ เพราะว่า การทำสมาธิเป็นแนวทางให้เกิดการพ้นทุกข์ (ปัญหา) เป็นต้นทางของการเข้าสู่วิปัสสนาธรรม เข้าถึงสภาวธรรมและโลกุตรธรรม อันสูงสุด เกินกว่าปัญญามนุษย์จะเข้าถึงได้ แล้วเหตุไฉน หนังสือ "กรณีธรรมกาย" กลับกลายเป็นว่า การทำสมาธิทำให้ประมาท พุทธศาสนา ถือว่ามีโทษร้ายแรง ข้อความนี้ แม้ผู้เป็นชาวพุทธยังไม่ได้บวชเรียน ก็รับรองว่า ไม่มีเด็ดขาด เพราะทุกคนรู้จักสมาธิดี ไม่มากก็น้อย ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงท่านธรรมปิฎก ให้เสียเวลา นี่คือคำพูดของคนนอกศาสนาโดยแท้ หรือว่าชาวพุทธไหนจะเถียงว่า พระพุทธเจ้าห้ามไว้ว่า ทำสมาธิ ทำให้ประมาท ใครทำถือว่ามีโทษ?

แสดง อุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ชัดแจ้ง สมัยไม่กี่ปีมานี้ เราคงเคยได้ยินคำขวัญและอุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ว่า "ศาสนาคือ ยาเสพติด" ลองมาดูในหนังสือ "กรณีธรรมกาย" หน้า 141 (ฉบับสมบูรณ์) ที่ว่า

ในหนังสือความว่า "ผู้ที่ใช้วิธีทางจิต ฯลฯ ความสุขที่เราได้นี้ มากับความดื่มด่ำแบบลุ่มหลง ที่ไม่ต่างมากนัก กับความสุขของ คนเสพยา หรือไม่?"

ลองช่วยแปลความหมายคำสองคำระหว่าง ศาสนาคือยาเสพติด กับ ผู้ที่ทำสมาธิจิต (ทางพุทธศาสนา) คือคนเสพยา มันต่างกันตรงไหน? (พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ยังไม่ยกเลิก กรณีนี้แจ้งความได้เลยว่า ทำลายความมั่นคง แจ้งจับคนพิมพ์เผยแพร่)

เมื่อพิจารณาดูแล้ว พระธรรมปิฎก เป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนาชั้นราชาคณะ บรรพชามากกว่า 30 พรรษา ย่อมไม่มีความคิดเห็น หรือ อุดมการณ์ ในทำนองนี้อย่างแน่นอน จึงย่อมไม่ใช่ท่านเขียนขึ้นอีกนั่นแหละ

เราลองมาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง ถึงความไม่ซึ้งในวัฒนธรรม ประเพณีและขนบธรรมเนียม ของไทย ทางอาชญาวิทยา ให้คำนิยามไว้ว่า "แม้อาญชากรเก่งที่สุด ก็ย่อมทิ้งร่องรอย" ผู้ที่เขียนหนังสือ "กรณีธรรมกาย" คงไม่รู้หรอกว่า สังคมไทยน่ะไม่ยอมรับพระภิกษุ ที่มีสัมพันธ์ ทางเพศ กับสตรี จนฝังไปในสายเลือด ไม่ต้องถึงขนาดมีลูกมีเต้า มาเสริฟน้ำชา ตามที่เขียนไว้ในหน้า 145 (ฉบับสมบูรณ์)ว่า

ในหนังสือว่า "... ฯลฯ ... มีพระภิกษุจากประเทศไทยคณะหนึ่ง เดินทางไปดูงานพระศาสนา ที่ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ เมื่อเข้าไปพบกับ สังฆราช นิกายนั้น ก็มีหญิงสาวนำน้ำชา มาต้อนรับพระภิกษุไทย ได้ความว่า หญิงสาวที่นำน้ำชามาต้อนรับนั้น เป็นลูกสาวของสังฆราชญี่ปุ่นนั่นเอง"

"ถ้าคนไทยไม่อยากเห็นพระภิกษุไทย เป็นอย่างพระญี่ปุ่น ก็จะทำได้ด้วยการช่วยกันรักษาพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทนี้ไว้ ให้บริสุทธิ์ มั่นคง .. ฯลฯ"

นี่คือความไม่รู้ของผู้ที่เขียนหนังสือ "กรณีธรรมกาย" ว่า สิ่งที่ต้องรักษาคือ "วินัยสงฆ์" เพราะอาบัติปาราชิก อยู่ในวินัย และกล้าพูดและกล้า รับรองแทนคนไทยในประเทศได้เลยว่า ไม่มีทางที่พระสงฆ์ไทย จะเป็นเช่นนั้น นี่เป็นลักษณะหรือมุมมองของคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีปฏิบัติ และคำสอนของวัดพระธรรมกาย ก็เป็นไปตามพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท ไม่ผิดเพี้ยนตรงไหน ไม่มีคำสอน ไหนที่บอกให้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับพระได้ ไม่มีสักแห่งเดียว

แล้วที่ผู้เขียนหนังสือ "กรณีธรรมกาย" กล่าวเรื่อง "นิพพาน" มาตั้งแต่ต้น ไหงมาลงเอยตรงพระมีภรรยามีลูกได้ ก็ไม่รู้ เอ... สงสัยว่า คนเขียน หนังสือ "กรณีธรรมกาย" คงจะใช้ยาปลุกพลังทางเพศ ไวอาก้าเกินส่วนละมั้ง???

และที่แน่ๆๆ ก็คือ พระธรรมปิฎก ซึ่งเป็นนักปราชญ์ทางศาสนา เป็นพระราชคณะ เป็นพระภิกษุในศาสนาพุทธ ย่อมมีสติสัมปชัญญะ สมบูรณ์ ย่อมไม่เขียนข้อความเช่นนี้ เป็นการ ดูถูกตนเอง ดังข้อเขียนเช่นนี้อย่างแน่นอน

นี่คือตัวอย่าง เล็กๆ น้อย ๆ ที่พิสูจน์ง่ายๆ ว่า ที่ผู้เขียนหนังสือ "กรณีธรรมกาย" ไม่ใช่พระธรรมปิฎก เด็ดขาด และบุคคลนี้ ต้องไม่ใช่ชาวพุทธ อีกทั้งต้องเป็นผู้ที่มีเจตนาทำลายพระพุทธศาสนา ให้สิ้นไปจากแผ่นดินไทย เหมือนเช่นได้เคยทำมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จในอดีต

เบ็ญจ์ บาระกุล