ปีที่ 7 ฉบับที่ 671 ประจำวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2542

พิเศษ - บันทึกคนทำงาน

ผู้กล้าที่แท้จริง คือผู้ที่กล้าชนะใจตัวเอง

เกี่ยวกับบทความ "กรณีธรรมกาย" ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ที่ได้ยกประเด็นต่างๆ เพื่อบ่งชี้ว่า วัดพระธรรมกาย บิดเบือนคำสอน ในพระไตรปิฎก ซึ่งมีผู้รู้เป็นจำนวนมาก ได้ท้วงติงที่มาของบาลีที่ท่านยกอ้างขึ้นมาว่า เกือบทั้งหมด ไม่ได้เป็นบาลีจากพระไตรปิฎก ซึ่งมีผู้รู้ ท่านหนึ่งได้กล่าวถึงประเด็นนี้อย่างละเอียด โดยบาลีที่ท่านยกมาแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่คือ

1.บาลีจากอรรถกถา

2. บาลีจากพระอภิธรรม

3. บาลีจากพระสูตร

สำหรับบาลี 2 ข้อแรก เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักวิชาการทางพระพุทธศาสนา (รวมถึงเปรียญธรรมทั้งหลาย) ว่า "ไม่ใช่พระพุทธพจน์แท้" คือเป็นส่วนที่ถูกเรียบเรียงขึ้นภายหลัง ตามความเข้าใจของแต่ละท่าน ซึ่งการนำมาเป็นหลักฐานสำคัญเพื่อลงโทษหนักแก่ผู้อื่นนั้น จะเรียกว่า เป็นกลางได้อย่างไร โดยแท้จริงแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ไม่เป็นธรรมเลยทีเดียว

ส่วนบาลีข้อที่ 3 ซึ่งนอกจากจะเป็นจุดเดียวในบทความที่เป็นพระสูตร (แต่ก็เป็นพระสูตรชั้นหลังๆ ) แต่จุดเดียวที่ว่านี้ กลับมีปม หลายปม ผูกอย่างน่าแคลงใจ

ข้อแรก พระสูตรชั้นหลังๆ ที่ว่า หมายถึงอย่างไร ก็คือพระสูตรที่แต่งขึ้นภายหลังนั่นเอง ซึ่งระดับภูมิปัญญาของผู้มีความรู้ น่าจะรู้ดีอยู่แล้ว

ข้อสอง การที่มีจุดเดียวในพระสูตร (ที่แต่งขึ้นภายหลัง) ทำให้น่าคิดว่า ทำไม..?

ข้อสาม นอกจากจะเป็นจุดเดียวในพระสูตร ยังเป็นจุดที่อ่อนต่อการอ้างอิง เพราะจุดนี้ พระไตรปิฎกเถรวาท ฉบับหลวงที่น่าเชื่อถือกว่า ไม่ได้แปลอย่างท่าน ฉบับที่แปลอย่างนี้คือ ฉบับมหามงกุฏฯ ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า เป็นฉบับที่มีจุดผิดพลาดมาก เพราะจัดทำด้วยความรีบร้อน แต่ท่านกลับเลือกคำแปล ที่ตรงกับใจท่าน แล้วมองข้ามความไร้น้ำหนักของหลักหลักฐานอ้างอิง

ข้อสี่ หากถือพระไตรปิฎกเฉพาะส่วนที่เป็นพุทธพจน์แท้ ก็คือ พระวินัยกับพระสูตรเท่านั้น ไม่เอาส่วนที่ถูกเรียบเรียงขึ้นมาภายหลังข้างต้น จะพบว่า แม้ในพระไตรปิฎกเถรวาทเอง ไม่มีที่ใดในฉบับที่จัดทำโดยรีบร้อน คือฉบับมหามกุฏฯ เท่านั้น

จากที่กล่าวมานี้ บุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นนักวิชาการ จะไม่รู้ได้อย่างไร คนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง อ่านแล้ว จะไขว้เขวเพียงใด

พระไตรปิฎกจะผิดเพี้ยนเพราะใคร หรือจะเป็นเพราะท่าน?

หรือว่า ท่านกำลังอาศัยชื่อเสียงที่เหนือกว่า ทำหลักฐานที่อ่อน ให้กลับเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือ โดยไม่ใส่ใจว่า ชาวพุทธจะแตกเป็นกี่กลุ่ม ด้วยปากกาของท่าน

นอกจากประเด็นข้างต้นนี้ มีสิ่งที่ทุกคนควรรู้คือ พระมหาเถระ โดยเฉพาะที่อยู่ในมหาเถรสมาคม นอกจากท่านจะมีความรู้สูงแล้ว ยังมี คุณธรรมสูงด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าท่านไม่รู้ แต่ท่านเมตตาต่อทุกผู้ทุกนาม รวมทั้งท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกด้วย ท่านจึงพยายามไม่หักหาญน้ำใจใคร และจะเป็นภาพที่ไม่ดีต่อหมู่สงฆ์โดยรวม

จึงมีคำถามว่า แล้วท่านเจ้าคุณฯ จะทำอย่างไรต่อไป?

แม้แต่เมื่อพระผู้ใหญ่ขอให้ทุกฝ่ายหยุด และไม่ควรให้สัมภาษณ์โจมตีกัน เพราะภาพที่ออกมามันไม่ดีไม่งาม จะมีก็เพียงพวกอยากเด่น อยากดัง เท่านั้น ซึ่งทางวัดพระธรรมกายก็เงียบมาตลอด ไม่คิดออกมาตอบโต้ใดๆ ทั้งสิ้น

ที่วัดพระธรรมกายเงียบ ก็เพราะเชื่อฟังพระผู้ใหญ่ แต่พวกท่านพยายามยุยงให้ออกมาตอบโต้ ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งเอาสื่อมวลชน เป็น แนวร่วม ลดความน่าเชื่อถือของวัดพระธรรมกายว่า ไม่กล้าพูด

มีคนพูดอยู่เสมอว่า สังคมไทยต้องการคนที่กล้าออกมาแสดงพลัง ซึ่งนั่นไม่ใช่ความกล้าที่แท้จริง เพราะเป็นความกล้า ที่ต้องการเอาชนะ ผู้อื่นเท่านั้น แต่ผู้กล้าที่แท้จริง คือผู้ที่กล้าชนะใจตัวเอง เมื่อชนะใจตัวเองได้แล้ว ผู้อื่นย่อมยอมรับ โดยไม่มีการเอาชนะ ถ้าจะเรียกว่า เป็นชัยชนะ ก็จะเป็นชัยชนะที่ผู้อื่นยกให้ ไม่ใช่ชนะเพราะผู้อื่นไม่มีชีวิตเหลือ ที่จะมาต่อต้าน

ผู้กล้าที่แท้จริง ต้องเป็นคนกล้าสละบาป คือความกล้าที่จะลดทิฏฐิของตนเอง ยืนอยู่บนความถูกต้อง ผิดว่า ตามผิด ถูกว่าตามถูก การสละชีวิตเพื่อสิ่งที่ตนเองเชื่อว่า ถูกต้อง ยังง่ายกว่าการสละทิฏฐิ เมื่อพบว่า สิ่งที่เชื่อนั้นผิ ซึ่งก่อนที่จะถึงตรงนี้ จะต้องเปิดใจ รับข้อมูลหลักฐาน ที่ชัดเจนก่อน จะเชื่ออะไรลงไป

บ้านเมืองเราในยามนี้ เผชิญวิกฤติต่างๆ มากมาย แม้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำขนาดนี้ ก็ยังไม่วุ่นวายเหมือนที่อื่นๆ นั่นเป็นเพราะ พระพุทธศาสนา ได้ฝังรากลึกในสังคมไทยมาแต่โบราณ รวมทั้งมีองค์ประมุข ซึ่งทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นแบบอย่าง ซึ่งดีเลิศกว่าการสอนวิธีใดๆ เราจึงควรน้อมนำแบบอย่าง ซึ่งพระองค์ทรงนำเรามาอย่างดีแล้ว มาใช้ในการแก้ปัญหา

ผู้อ่อนด้อย