ประจำวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 - วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2542

วิวาทะ

มองต่างมุมพระธรรมปิฎกกรณีวัดพระธรรมกาย

กรีดเลือดกรีดเนื้อ โชว์ความเป็นพุทธศาสนิกชน ณ ท้องสนามหลวง กลายเป็นฮีโร่ของพระพยอมไปแล้วกระมัง ผมอ่านหนังสือ กรณี ธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ ของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) โดยไม่ต้องควักสตางค์ 90 บาท ออกจากกระเป๋า เพราะมีผู้หวังดีส่งมาให้ถึงโรงพิมพ์ ต้องขอขอบคุณผู้หวังดีท่านนี้มาก

ส่วนกรณีธรรมกายเล่มที่แล้ว ก็ไม่ได้เสียเงินเสียทองซื้อหาเช่นกัน มีผู้หวังดีส่งมาให้หลายเล่ม บ้างก็ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นยาขัดกิเลส อวิชชา "โซตัส" ก็ต้องขอขอบพระคุณเช่นกัน ที่มีความห่วงใยผม

หนังสือกรณีธรรมกายของท่านเจ้าคุณปยุตโต ฉบับที่แล้วคงมีเนื้อหาไม่สมบูรณ์ (Perfect) พระคุณเจ้าจึงมีดำริ จัดทำกรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ขึ้นมาอีก

หนังสือเล่มนี้ ได้รับการสอดประสานจากสำนักพิมพ์มติชน มีจุดประสงค์ปกป้องพระพุทธศาสนา (เขาว่าอย่างนั้น) และปกป้องเกียรติภูมิ องค์สมเด็จพระสังฆราช

แต่ที่ผ่านมา เมื่อปี 2534 "มติชน" หมิ่นพระสังฆราช จนต้องพิจารณาสำนักพิมพ์ตนเองด้วยการปิดตัวเองไปถึงสามวัน

ผู้บริหารระดับบรรณาธิการ แก้ต่างสำนึกบาปบวชชดใช้พฤติกรรม หมิ่นเหม่ต่อพระสังฆราชถึง 2 ท่านด้วยกัน คือ คุณสมหมาย ปริฉัตถ์ และ คุณธรรมเกียรติ กันอาริ คนละ 1 พรรษาเต็มๆ

ใจจริงผมอยากเห็นสำนักพิมพ์นี้จริงใจจริงจังต่อการปกป้องพระพุทธศาสนา และสถาบันสงฆ์ไว้เหนือหัว

แต่ไงคนอย่าง "เสฐียรพงษ์ วรรณปก" ในฐานะเลือดเนื้อเชื่อไขคนชายคามติชน จึงมีปัญญาหยาบ คิดบังอาจปลดพระสังฆราช จากตำแหน่ง ประมุขสงฆ์

ภาพการณ์อย่างนี้ "มติชน" เรียกว่า การอุ้มชูเทิดทูนปกป้องพระพุทธศาสนากระนั้นหรือ?

ใจจริงผมไม่อยากจะฟื้อฝอยหาตะเข็บ แต่อดไม่ได้ที่จู่ๆ มีการดึงประมุขสงฆ์มาเชิดชู ชนิดผีเข้าผีออก เดี๋ยวดี เดี๋ยวด่า ประชาชนและ พระภิกษุสงฆ์ ที่ท่านติดตามการทำหน้าที่ของท่าน จะรู้สึกสับสนต่อบทบาทหน้าที่

มาสรุปสาระสำคัญของหนังสือกรณีธรรมกายฉบับสมบูรณ์กันดีกว่า ผมจะแบ่ง 4 ส่วนใหญ่ดังนี้ คือ 1) พระไตรปิฎก 2) เรื่องพระนิพพาน ต้องเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา 3) บุญบารมีที่จะกู้แผ่นดินไทย โยงใยถึงเรื่องการทำบุญให้ทานของวัดพระธรรมกาย และ 4) ภาพรวมของวัดพระ ธรรมกาย ไม่มีความดีงามแม้แต่น้อย อวดอิทธิปาฏิหาริย์

โดยเฉพาะภาคผนวก ถาม-ตอบ ท่านเจ้าคุณตำหนิการสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ใหญ่โต ผลาญเงิน ตั้งสมมติฐานว่า สถานที่ลดละเลิกกิเลส มักจะมีผู้คนไปน้อย ส่วนสถานที่ปรุงแต่งสนองกิเลส จะมีผู้คนหมู่มากไปรวมตัวกัน อันมีนัยยะถึงวัดพระธรรมกายอีกนั่นเอง

สรุปแล้ววัดพระธรรมกาย ที่ก่อตั้งมาถึง 29 ปี ปราศจากสิ่งดีงามอย่างสิ้นเชิง เป็นสำนักที่สร้างขึ้นมาเพื่อล้มล้างพระศาสนา โดยแท้

ก่อนอื่นผมต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า เจตนานำงานกรณีธรรมกาย ของพระธรรมปิฎกมาวิจารณ์ต่อที่สาธารณะ ผมไม่มีเจตนาอื่นใด แอบแฝง และมิบังอาจลบหลู่ท่านเจ้าคุณ และยังเชื่อมั่นเสมอมาว่า ท่านคือ "ปราชญ์แห่งพุทธ"

แต่สถาบันศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นหน้าที่ขอบพุทธบริษัทปกป้องเทิดทูนไว้เหนือหัว อีกทั้งพุทธศาสนา ก็ไม่ใช่สมบัติของ กลุ่มบุคคลใด เพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

แม้พระคุณเจ้าจะยืนยันว่า พระศาสนาไม่ใช่เรื่องของวิชาการ ไม่ใช่เรื่องของลัทธิ และก็ไม่ใช่เรื่องของปรัชญาก็ตามที

ขอเพียงมีใจเปิดกว้างรับฟังความรอบข้าง วางใจให้นิ่ง รวมถึงการน้อมนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนา มาตัดสินปัญหาน้อยใหญ่ ที่กำลัง ก่อตัวเป็นปมแตกหัก ก็เชื่อว่าปัญหาต่างๆ จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี

อย่าให้ฆราวาสเขามองได้ว่า "ทิฏฐิพระ มานะชี" หากการแสดงความเห็นต่างมุมของผม กระทบกระเทือนต่อพระคุณเจ้า หนักเบาเพียงใด ไปบ้าง ก็ขออโหสิกรรมมา ณ ที่นี้ด้วย

ผมไม่คาดคิดว่า การแสดงความคิดเห็นของผู้มีภูมิธรรมอันน้อยนิดอย่างผม จะกระทบไปถึงท่านเจ้าคุณ ถึงขั้นหยิบยกคอลัมน์วิวาทะ "พิมพ์ไทย" ไปวิจารณ์ในหนังสือ กรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ หน้าที่ 103 ผนวก 1 รู้จักพระไตรปิฎกแบบชาวบ้าน

จึงขอใช้สิทธิ์พาดพิงบ้าง.. ท่านเจ้าคุณกล่าวอ้างถึงคอลัมน์วิวาทะ วันที่ 25 ก.พ. 42 ผมได้แสดงความเห็นไปว่า องคุลีมาลไม่ได้อ่าน พระไตรปิฎก ก็สำเร็จพระอรหันต์

ผมขยายความไว้ว่า... อยากจะถามว่า เมื่อครั้งพุทธกาล ผู้ที่สำเร็จอรหันต์มีตำราหรือพระไตรปิฎกาเป็นทางนำไปสู่พระนิพพานหรือไม่ องคุลีมาลไล่เข่นฆ่าผู้คนจำนวนมาก แต่ก็ได้สำเร็จอรหันต์เพียงแต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราหยุดแล้ว ท่านยังไม่หยุด องคุลีมาลอ่าน พระไตรปิฎก เล่มไหน?

พระพุทธเจ้าก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า ... เมื่อพระองค์ละสังขารไปแล้ว ให้ถือพระธรรมวินัยเป็นแนวทาง ปฏิบัติตาม พระองค์ ไม่ได้บอกให้ถือพระไตรปิฎกอย่างที่เข้าใจกัน...

พระธรรมปิฎกวิจารณ์กลับว่า.... ก็อยากจะถามว่า ถ้าไม่มีพระไตรปิฎกเราจะรู้เรื่ององคุลีมาล และเรื่องผู้สำเร็จอรหันต์ ในครั้งพุทธกาล หรือไม่? แต่น่าเสียดายที่น้อยคนจะได้อ่านเรื่องพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก หากแต่ได้ยินได้ฟังจากพระอาจารย์ เล่าสืบ่อกันมาเท่านั้น

และครูอาจารย์ที่สอนไปเอาเรื่องครั้งพุทธกาลมาจากไหน ก็พระไตรปิฎก สรุปว่าพระไตรปิฎกเป็นที่ประทับของพระศาสดา (คือพระธรรม วินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้)

สรุปว่า ผมไม่มีความเข้าใจในพระไตรปิฎก ไม่เคารพนับถือพระไตรปิฎก เป็นการสร้างความไขว้เขวให้แก่ชาวพุทธ

โยงมาถึงเรื่องพระนิพพานเป็นอัตตา หรืออนัตตา ผมเห็นว่า คำสองคำไม่อาจลดความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระนิพพาน และเป็นธรรม ต้องพึ่งพา กัน

ท่านเจ้าคุณยืนยันว่า ไม่มีอัตตา หรืออนัตตาปนเปอยู่ด้วยกัน เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของธรรมสองตัวอะไรที่ไหน

ผมขออนุญาตแย้งว่า พระไตรปิฎกเป็นของสูง การหยิบยกเรื่ององคุลีมาลขึ้นมานั้น มิได้ต้องการให้ใครออกมาเต้น หรืออยากดังกับใครเขา แต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงการศึกษาพระธรรมวินัยและพระไตรปิฎกต่างหาก

และไม่อยากเชื่อว่า พระไตรปิฎกเป็นตำราที่ทำหน้าที่เหมือนกฎหมาย รัฐธรรมนูญอย่างที่เราเขียนร่างเสร็จทำลายฉีกทิ้งกี่ฉบับ พระไตรปิฎกชำระกันกี่ชั่วอายุคน

ดังนั้นอย่าตีความในพระไตรปิฎกให้เข้ากับจริตของตนเองเป็นสำคัญ การศึกษาพุทธศาสนา หากแต่ท่องจำดังนกแก้วนกขุนทอง ก็ป่วยการ เปล่า ศาสนาพุทธของเราเน้นหนักที่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน

โครงสร้างของพระไตรปิฎกมีอะไรเป็นหัวใจพุทธศาสนา หากอ่านเพียงรู้จำ สอบผ่าน สอบได้ แล้วไม่ปฏิบัติ มันจะมีค่าราคาอะไร ต่อความทรงจำ


ผมขออนุญาตวิจารณ์หนังสือ กรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ โดยพระธรรมปิฎก (ปยุตฺโต) อีกหนึ่งวัน...

เมื่อวานพูดถึงเรื่องพระไตรปิฎก และเรื่ององคุลีมาล สำเร็จอรหันต์ ไม่ได้อ่านพระไตรปิฎก แต่ท่านเจ้าคุณก็ถามกลับว่า ... แล้วเรารู้จัก องคุลีมาลกันได้อย่างไร ก็รู้จักกันในพระไตรปิฎกนั่นเอง

และท่านเจ้าคุณก็อรรถาธิบายต่อไปว่า .. สมัยพุทธกาลไม่มีพระไตรปิฎก แต่องคุลีมาลสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะมีพระพุทธเจ้า เป็นผู้สอน

ท่านเจ้าคุณยืนยันโดยตลอดว่า พระไตรปิฎกถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คงไม่มีใครปฏิเสธ แต่ที่ระบุว่า พระไตรปิฎกมีความแม่นยำ ถูกต้องที่สุด ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนนั้น นอกจากเป็นการยืนยันที่ผู้ให้ความสนใจเกี่ยวกับพระไตรปิฎกจะต้องนำมาพิจารณากันให้หนัก รวมถึง การศึกษาธรรมะจากพระไตรปิฎกด้วย

การยืนยันว่า พระนิพพานมีสภาพเป็นอนัตตา ของพระธรรมปิฎก เท่ากับเป็นการฉีกแนวทางของพระสุปฏิปันโนหลายรูป ไล่มาตั้งแต่ สมเด็จพระสังฆราชแพ มีหลักฐานทุกอย่างยืนยันว่า หลวงพ่อแพระบุว่า พระนิพพานมีสภาพเป็นอัตตา

พระภาวนาวิสุทธิ์หรือพระอาจารย์เสริมชัย พูดถึงพระนิพพานว่า คือหนทางแห่งการดับกิเลสแห่งทุกข์ พระนิพพานเป็น โลกุตตรธรรม เป็นจุดสูงสุดทางพุทธศาสนา ไม่ว่ามนุษย์หรืออมนุษย์ ต่างปรารถนานิพพานทั้งสิ้น แต่รู้จักนิพพานเพียงใด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้นำออกเผยแผ่ แต่ความเข้าใจในพระนิพพาน ก็อาจจะเป็น ที่เข้าใจ แตกต่างกันไปบ้าง จะเรียกว่า ผิดหรือเรียกว่า ถูกไม่ได้

เพราะว่าผู้ที่กำลังคิดว่า อะไรจะผิดอะไรจะถูก คือผู้ที่ยังไม่ได้พระนิพพานอย่างแท้จริง ถ้าได้แล้วไม่ต้องคิด จะรู้ได้เลยว่า อะไรผิดอะไรถูก อาตมาก็ตกอยู่ในที่นั่งนั้นเช่นกัน

แต่ด้วยคำแนะนำสั่งสอนของครูอาจารย์ ด้วยการศึกษาในหลักปริยัติ ประกอบด้วยประสบการณ์จากธรรมปฏิบัติ ซึ่งอาตมาได้รับมาแต่ เพียงเล็กน้อย แต่อาศัยจากประสบการณ์จากหลายๆ ท่าน มารวมกันเข้าแล้ว จึงนำมาเล่าสู่ท่านทั้งหลาย

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นั้นหมายแต่เฉพาะสังขาร โดยทรงยกเอาขันธ์ 5 ขึ้นแสดงเสมอๆ เท่านั้น ธรรมอื่นที่มิใช่ สังขาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นวิสังขาร ที่เป็นอสังขตธาตุ อสังขตธรรม ที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งอย่างเช่น พระนิพพาน ไม่เป็นอนัตตา แน่นอน

ที่ว่าว่างเป็น "อนัตตา" นิพพานัง ปรมัง สุญญัง" นั้น คือว่างจากกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายนั้นเอง

ไม่เว้นแม้แต่สายพระป่า อย่างหลวงปู่เทศก์ เทสรังสี แห่งวัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย ท่านยืนยันว่า "อย่าคิดว่า พระนิพพาน คือผลไม้ ที่หมดฤดูกาล หากแต่ยังออกดอกออกผลอยู่เสมอ" (หากปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้า)

ขณะที่ หลวงตามหาบัว ท่านก็พูดไว้อย่างชัดเจน เมื่อมีราชบัณฑิตไปถามท่านถึงพระนิพพานว่า "หลวงตาบัวเราเป็นพระป่า ไม่อยากพูด ถึงพระนิพพานว่า มีสภาพเป็นอย่างไร ถึงรู้ก็ไม่อยากจะตอบ ถึงเวลาจะตอบเอง และว่าถ้าพระนิพพานเป็นอนัตตา พระนิพพานก็เป็นไตรลักษณ์ อนัจจัง ทุกขัง อนัตตา และพระนิพพานวิเศษ วิโสตรงไหน"

ต้องถามท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกว่า พระนิพพานท่าน วิเศษวิโสตรงไหน?

กรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ หน้า 33 ท่านระบุไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมาอนตฺตาติ นิพฺพานํ อนฺโตกริตฺวา วุตฺตํ แปลข้อความว่า "ธรรมทั้งปวงเป็น อนัตตานั้น พระพุทธเจ้าตรัสรวมถึงพระนิพพานด้วย"

ความจริงเรื่องพระนิพพาน ผมกราบเรียนพระคุณเจ้าไปแล้วว่า น่าจะเป็นเรื่องที่พูดกันในกำแพงวัดเท่านั้น แต่พระคุณเจ้าท่าน ก็เอามา ขยายกัน จนเป็นประเด็นเป็นความแตกหัก เป็นความแบ่งแยกของหมู่สงฆ์จนได้

ยิ่งพระพยอมยิ่งแล้วใหญ่ อยากถามว่า วันๆ หนึ่ง ปฏิบัติศาสนกิจด้านใดบ้าง นอกจากการเทศน์ตลกโปกฮา ผมมองเห็นแต่ท่าน เป็นพระที่มี พรสวรรค์พูดเก่ง เอาใจคนเก่ง รู้ทันสถานการณ์ทางโลก รู้ทันสถานการณ์ในการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง เท่านั้น

เมื่อมีการพูดถึงเรื่องพระนิพพาน ท่านก็ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า วัดพระธรรมกายยืนยันพระนิพพานเป็นอัตตา ก็ต้องไปตั้งนิกายใหม่ อยากถามว่า พระพยอมบวชเรียนมานับสิบปี เคยมีอารมณ์ใฝ่หาพระนิพพานมาก่อนหน้านี้หรือไม่


วิวาทะวิจารณ์กรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ ของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) เมื่อวานพูดถึง เรื่องพระนิพพานเป็นอัตตา หรืออนัตตา ตามที่ท่านเจ้าคุณยืนยันว่า มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหลายเล่ม

แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกหยิบยกขึ้นมาเป็นวิวาทะกับวัดพระธรรมกาย มีคำสอนที่ผิดเพี้ยนเรื่อง "อัตตา" นั้น เป็นการ หยิบยกจากคัมภีร์ที่เป็น "อรรถกถาจารย์" เช่นกัน

ความแตกต่างระหว่าง "อัตตา-อนัตตา" นี้ มิใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งนำมาถกเถียงกันในหมู่คณะสงฆ์ แต่เป็นปัญหาที่เกิดมานานแล้ว

ผลสุดท้าย ก็ไม่สามารถหาข้อยุติแห่งปัญหาดังกล่าวได้เลย ไม่ใช่เรื่องที่ประเทืองปัญญา ไม่ใช่เรื่องของการแพ้-ชนะ

การที่ท่านเจ้าคุณออกมาประกาศอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนถึงสภาวะแห่งพระนิพพาน เป็นอนัตตา นั้น ถูกต้องแล้วหรือ

การออกมายืนยันอย่างโจ่งแจ้งว่า พระนิพพานต้องเป็นอนัตตา ยังไม่พอกลับออกมาตอกย้ำเหตุผลส่วนตนอีกว่า ... หากกลุ่มบุคคลใด มีความเห็นพระนิพพานเป็นอื่นแล้ว พูดอีกทีก็คือ ไม่ใช่ "อนัตตา" ความไม่มีตัวตน คนกลุ่มนั้น เป็นพวก มิจฉาทิฐิ ทั้งสิ้น

ท่าทีและจุดยืนของท่านเจ้าคุณแสดงให้สาธุชนเห็นแล้วว่า พระคุณเจ้าไปสัมผัสพระนิพพานแล้ว ทุกซอก ทุกมุม แห่งนิพพาน มีภาวนาเป็น นิพพานเป็นอารมณ์

พูดให้ชัดลงไป ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก รู้จริง เห็นแจ้ง แทงตลอดถึงพระนิพพาน ด้วยพระไตรปิฎกที่มีความคมชัด แม่นยำที่สุด

ขณะที่สงฆ์หรือกลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งมีความเห็นเกี่ยวกับพระนิพพานว่า เป็น "อัตตา" หรือไม่ใช่ "อนัตตา" อย่างแน่นอนนั้น เขาก็มี พระไตรปิฎกนำทางเช่นกัน หากแต่ไม่การอ่านแล้วตีความ แต่เป็นสายปฏิบัติยืนยันว่า พระนิพพานไม่มีสภาพเป็นอนัตตาอย่างแน่นอน สรุป งานนี้ต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ถูกต้อง

กลับกัน ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหลงผิดเป็นแน่..

.. หรืออาจจะถูกต้องทั้งสองฝ่าย...

เพราะไม่ว่าจะ "อัตตา" หรือ "อนัตตา" ต่างก็ใฝ่หาพระนิพพาน ซึ่งเป็นความสุขสูงสุดในพุทธศาสนา มีสภาพคงที่ ไม่แปรเปลี่ยน

การยืนยันของพระธรรมปิฎกเหมาเอานิพพานเป็น "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" ชัดลงไปก็คือ พระนิพพานรวมอยู่กับธรรมทั่วๆ ไปนั่นเอง

ในเมื่อเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา แล้ว พระนิพพานก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่ความสุขสุดยอด หรือบรมสุข ยังคงมีสภาพสั่นไหวตามขันธ์ 5 มีสภาพ วนเวียนอยู่ในไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา

ความเห็นของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเท่ากับเป็นการหักยอดพระนิพพานลงอย่างสิ้นเชิง และเป็นการหมิ่นเหม่ต่อพระไตรปิฎก ที่ท่าน ประกาศเชิดชูให้เป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

ที่ว่าหักยอดพระนิพพาน และหมิ่นเหม่ต่อพระไตรปิฎกนั้น เป็นอย่างไร?

ต้องขยายความต่อไปว่า ในพระไตรปิฎกระบุไว้ชัดแจ้งหลายที่หลายเล่มว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ แปลว่า พระนิพพานเป็นสุขแท้ เป็นยอด บรมสุข

ท่านเจ้าคุณพลาดแล้วกรณีพระนิพพานเป็นอนัตตา หลายฝ่ายพูดอย่างนั้น แต่ไม่มีใครออกมาชนกันตรงๆ

ในเมื่อท่านเขียนว่า รู้จักพระไตรปิฎกแบบชาวบ้าน

ผมก็จะพูดสื่อสารแบบชาวบ้านผู้ด้อยภูมิรู้ภูมิธรรม จะได้เข้าใจกันแบบลูกทุ่งๆ ไม่ต้องครวญเพลงร็อค บ็อป แจ๊ทส์ แบบฝรั่งชาตินิยม

อย่างที่พระคุณเจ้าว่า เรื่องที่เป็นไปเพื่อเพิ่มพูนกิเลส มักจะมีผู้คนหมู่มากให้ความสนใจ ส่วนเรื่องที่เป็นไปเพื่อลดเชื้อกิเลส มักจะมีผู้คน ให้ความสนใจน้อย

ก็เป็นเรื่องที่ถูก แต่ก็ไม่เสมอไปขอรับพระคุณเจ้า

"สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้น ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นอนัตตา"

ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ที่มีลิขิตไว้ในพระไตรปิฎก พระองค์ไม่ได้เหมารวมเอาพระนิพพานอยู่ในอนัตตา แต่พระองค์ หมายเอาเฉพาะสังขาร โดยทรงยกเอาขันธ์ 5 ขึ้นแสดง ธรรมอื่นไม่ใช่สังขารโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นวิสังขาร ที่เป็นอสังขตธาตุ อสังขตธรรม ที่ไม่ ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง อย่างเช่นพระนิพพานไม่เป็นอนัตตาอย่างแน่นอน

ส่วนที่หยิบยก นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ ก็ไม่ได้หมายถึงนิพพานเป็นอนัตตา หากแต่ว่างจากกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่างจากโลภะ ราคะ โทสะ และโมหะ

ว่างจาก อัตตานุทิฏฐิ หรือ อัตตาวาทุปาทาน คือ ความหลงยึดมั่นในสังขารมีขันธ์ 5 เป็น "ตาทิโน" คือผู้คงที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์นั่นเอง

... เข้าใจพระไตรปิฎกแบบชาวบ้าน ผมเข้าใจอย่างนี้ ขอรับท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ..


วิจารณ์กรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ ของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) อ่านหนังสือกรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ ผมชักจะเริ่มเง็ง... โดยเฉพาะ พระนิพพานเป็น "อนัตตา-อัตตา"

เออ.. หรือผมจะบ้าไปแล้ว หรือว่า ...ไม่บ้า เอ.. แต่สงสัยจะบ้า.. บ้าก็บ้าให้มันสุดๆ ไปเลยดีกว่า...

ผมมาสะดุดจนหัวคะมำ ที่หน้า 43 ท่านเจ้าคุณเขียนว่า พูดกันไป พูดกันมา ระวังอย่าหลงคำว่า "อนัตตา"

เรื่องนิพพานเป็นอัตตา หรืออนัตตานี้ ได้พูดมาเป็นมากแล้ว ขอแถมท้ายเป็นการทบทวนไว้อีกหน่อย

ได้พูดไว้ตั้งแต่ต้นให้กำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า คำว่า "อนัตตา" นี้ เราพูดทับศัพท์ภาษาบาลี เพื่อความสะดวกเท่านั้น จะต้องระลึกไว้ว่า อนัตตา เป็นคำปฏิเสธความเป็นอัตตา ไม่ใชว่า มีอะไรอย่างหนึ่งหรือสภาวะอย่างหนึ่งที่เรียกว่า อนัตตาที่ตรงกันข้ามกับ อัตตา..???

แต่หลายคนก็อดไม่ได้ ถ้าไม่คอยเตือนให้ระวังไว้ ก็ชักจะเพลินไปหรือโน้มเอียงไปโดยไม่รู้ตัว ที่จะรู้สึกเหมือนว่า อนัตตาเป็นอะไร อย่างหนึ่ง ที่ตรงข้ามกับอัตตา

เพราะฉะนั้น สำหรับคนไทยทั่วไปแทนที่จะพูดว่า นิพพานเป็นอัตตา หรือเป็นอนัตตา ซึ่งชวนให้หลง ก็สามารถพูดเป็นคำภาษาไทยง่ายๆ ว่า

"พระพุทธเจ้าสอนว่า นิพพานเป็นอัตตาหรือไม่?"

แล้วก็ตอบง่ายๆ ว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่านิพพานเป็นอัตตา

หรืออาจจะพูดให้กว้างไปเลยก็ได้ว่า "พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ยึดเอาอะไรเป็นอัตตาทั้งสิ้น"

พูดกันไป พูดกันมา ระวังอย่าหลงประเด็น

พูดกันไปพูดกันมา บางที่ก็เพลินหลงไปว่า เป็นการมาเถียงกันว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา

ถ้าใครจะมาแสดงความคิดว่า เขาเห็นว่า พระนิพพานเป็นอัตตา ก็เป็นเรื่องความคิดเห็นส่วนตัวของเขา ใครสนใจจะร่วมวง ถกเถียงกับเขา ก็ได้ แต่เราทั้งหลายส่วนมากคงไม่สนใจจะเถียงเรื่องนี้ ก็ให้เป็นความเห็นส่วนตัวของคนนั้นๆ ไป

ท่านเจ้าคุณเกรงว่า จะถูกแย้งกลับว่า พระคุณเจ้าก็ออกมาเถียงเรื่องพระนิพพานมาโดยตลอด ความเห็นแตกต่างดังกล่าว

จึงออกตัวว่า แต่ขณะนี้เกิดปัญหามีผู้เอาความเห็นส่วนตัว (หรือแม้แต่ประสบการณ์ หรือผลการปฏิบัติของเขา) มาอ้างให้กลายเป็นว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า นิพพานเป็นอัตตา หรือว่าพระไตรปิฎกสอนว่า นิพพานเป็นอัตตา ทำให้เกิดความสับสนปะปนต่างๆ ซึ่งเป็นการบิดเบือน ไม่ซื่อตรงต่อพระพุทธศาสนา

ถึงตอนนี้ จึงกลายเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท ที่จะชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจ ที่ตรงความเป็นจริงว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร หลักการ ของพระพุทธศาสนาสอนเถรวาทว่าอย่างไร อะไรเป็นมาตรฐานที่จะถือร่วมกันว่า เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระคุณเจ้าสรุปลงเอาดื้อ ๆ ว่า .. เป็นอันว่า ปัญหาไม่ใช่การเถียงกันว่า นิพพานเป็นอัตตา หรืออนัตตา

บางท่านตอบว่า นิพพานเป็นเรื่องสูงมาก ฉันยังไม่รู้ ฉันยังไม่บรรลุ ฉันตอบไม่ได้ อย่างนี้ก็ไปสุดโต่งข้างหนึ่ง

บางท่านว่า ฉันปฏิบัติมาแล้ว รู้ว่า นิพพานเป็น (หรือไม่เป็น) "อัตตา" ก็ไปสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง

บางท่านว่า "พระไตรปิฎกบอกว่านิพพานเป็นอัตตา" ก็กลายเป็นกล่าวตู่ บิดเบือน หรือปลอมปนพระธรรมวินัยไปเลย

ก็ต้องถามกลับ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกว่า

แล้วคนที่ออกมายืนยันว่า พระนิพพานเป็นอนัตตา อย่างนี้สุดโต่งข้างหนึ่งหรือไม่?

บางท่านก็ออกมาพูดว่า พระไตรปิฎกยืนยันชัดเจน "พระนิพพานเป็นอนัตตา" อย่างนี้กลายเป็นการกล่าวตู่ บิดเบือน หรือ ปลอมปน พระธรรมวินัยไปเลยหรือไม่

เห็นวิจารณ์ไปวิจารณ์มาจะหลงประเด็น อย่างท่านเจ้าคุณกล่าวเตือนไว้ข้างต้นกระมัง

จะไม่เป็นการสรุปตามความเข้าใจของตนเองมากไปหรือ กรณีให้จำไว้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่า พระนิพพานเป็นอัตตา ท่านเจ้าคุณ ชี้ชัดลงไปว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้ติด ยึดอะไรเป็นอัตตาทั้งสิ้น

และต้องเพิ่มเติมเข้าไปอีกว่า

แม้แต่พระนิพพาน แก่นยอดของพระพุทธศาสนา

ทรงสอนให้พระนิพพานไม่เที่ยง ยังมีทุกข์เจือปนอยู่ เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ฟันธงลงไปว่า พระนิพพาน ก็เป็น ไตรลักษณ์ มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสรณะอาศัยแห่งนิพพาน

พูดให้ชัดๆ อีกที สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา นิพพานัง ปรมัง ทุกขัง นั่นเอง เออ.. เอากันให้เลอะเทอะ ไปเลยดีไหมล่ะทีเนี้ย สงสัยผมจะบ้าแน่ๆ ไม่ใช่บ้าธรรมดา ต้องเรียกผมว่า "มหาบ้า" จึงจะถูกต้อง


วิจารณ์กรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ เมื่อพูดถึงคำยืนยันของพระธรรมปิฎกที่ระบุให้ชาวพุทธจำไว้ว่า พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า พระนิพพาน ไม่เป็นอัตตา ต้องมีสภาพเป็นอนัตตา และยึดถือพระไตรปิฎกเป็นยานพาหนะนำพาไปสู่พระนิพพาน

ความถูกต้องของพระไตรปิฎก คือตัวแทนของพระพุทธเจ้าทีเดียว นี่คือสิ่งที่ท่านเจ้าคุณลิขิตเขียนไว้ในหนังสือกรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์

อีกทั้งท่านเจ้าคุณยังให้ความสำคัญกับพระไตรปิฎก มีความสำคัญยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก เพราะรัฐธรรมนูญเราสามารถยกร่างกันใหม่ได้ ตามกาลสมัย แต่พระไตรปิฎก จะทำอย่างนั้นไม่ได้

ท่านเจ้าคุณมีความเห็นอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะแท้ที่จริงแล้ว ความเป็นมาของพระไตรปิฎกที่ท่านยืนยันว่า มีความถูกต้องที่สุด เพราะได้มีการรวบรวมจัดเก็บมาเป็นอย่างดีนั้น ก็ได้ผ่านการชำระต่อโน้น ตัดนี่ ผ่านมือปุถุชนคนทั่วไป มาแล้วหลาย ต่อ หลายครั้ง

คำยืนยันนี้ ท่านพระพุทธทาส พูดไว้อย่างชัดเจน ดังปรากฏอยู่ในหนังสือ 114 ปัญหาพุทธศาสนากับท่านพุทธทาส หน้า 82-83

พระไตรปิฎกของเรานี้ จะควรได้รับความเชื่อถือเพียงไร?

"อาตมาขอร้องให้พวกเราทุกคนถือตามหลักกาลามสูตร ที่ว่า อย่ายึดถือหลักใดๆ ว่าเป็นของถูกต้อง ข้อความเช่นนี้ มีอยู่ในปิฎก"

เพราะว่า พระไตรปิฎกก็เป็นของที่เพิ่มเติมกันได้ ตัดทอนกันได้ และเป็นมาอย่างล้มลุกคลุกคลานเสมอมาตลอดเวลา ผ่านมือปุถุชน คนสามัญ มาเรื่อยๆ

และยิ่งกว่านั้น ที่เป็นความมุ่งหมายอันแท้จริง ของพระพุทธภาษิตข้างบนนั้น ก็คือว่า แม้ว่าพระไตรปิฎกนั้นจะเป็นของบริสุทธิ์ ออกมา จากพระพุทธโอษฐ์ทุกๆ คำ (ถ้าหากเป็นไปได้) ก็ขออย่าให้ถือเอาด้วยเหตุผล แต่สักว่า ข้อความ หรือหลักที่ตนอยากจะถือนั้น มีอยู่ในพระไตรปิฎก อย่างเดียวกัน

พระพุทธเจ้า ท่านได้ใช้เหตุผลที่ตนเองมองเห็นชัดเจนเอง ว่ามันเป็นไปได้เช่นนั้นจริงๆ พระองค์ตรัสสรรเสริญ พระสารีบุตร ในเรื่องเช่นว่า นี้คือ กำลังตรัสและทูลต่อปากต่อคำกันอยู่สองพระองค์แท้ๆ ในเรื่องอันเกี่ยวกับอริยสัจ พระสารีบุตรกล้าทูลสนองพระพุทธปุจฉา ว่า ท่านไม่เชื่อ แม้คำที่พระผู้มีพระภาค ตรัสออกมา แต่เชื่อความเห็นจริงของท่านเองต่างหาก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ไม่ทรงเห็นประโยชน์อะไรในการที่จะให้ใครเชื่อตามตำราโดยปราศจากการเชื่อด้วยตัวเอง ว่า ที่ว่านั้น มันมีเหตุผลที่จะเป็นเช่นนั้นได้จริงๆ แม้ตำนานหรือปิฎกจะเขียนไว้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นของไม่ดีควรละ เราก็ไม่ต้องเชื่อและถือว่า นั่นเป็น ความจริง จนกว่าเราจะได้รู้จักตัว โลภะ โทสะ โมหะ และเห็นชัดด้วยปัญญาเราว่า มันไม่ดีจริงๆ เสียก่อน

ถ้าใครไม่ถือตามหลักนี้ คนนั้นไม่เหมาะ หรือถึงกับไม่สามารถเลย ในการที่จะไต่ไปตามรอยของพระพุทธเจ้า มีแต่จะเข้ารกเข้าพง และไป ติดอยู่ในวงล้อมของภูเขา จนมุมอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เป็นแน่แท้

ดูอย่างเรื่อง จิตๆ นามๆ จะให้เราถือเอาเป็นหลักอย่างไรเล่า ถ้าไม่ให้ถือเอาตามที่เราจะเห็นชัดๆ กันจริงๆ ไม่ใช่เรื่องหนังสือ

พระไตรปิฎกนั้น ส่วนมากหรือแทบทั้งหมด ข้อความที่มีเหตุผลอยู่ในตัวเองเด่นอยู่ จนเราพอใจะเชื่อ ถึงแม้ว่าคำนั้นๆ จะไม่ได้ตรัสไว้ โดยพระองค์เอง จะเป็นเด็กข้างถนนพูดก็ตาม

พระองค์ตรัสว่า ... แม้หญิงชาวบ้านที่ตักน้ำตามบ่อสาธารณะ ถ้าเขาพูดอะไรออกมามีหลักชัดแจ้งอยู่ในตัวว่า มันจะละความทุกข์ได้ เช่นนั้นๆ จนใครๆ ก็เห็นจริงแล้ว เราก็ต้องถือเอา และนับถือเท่ากับที่แม้พระองค์จะตรัสเอง

ธรรมคือของจริง ใครก็พูดได้ และต้องจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ฉะนั้น จึงไม่อาจมีพระไตรปิฎก ที่แบ่งแยกเป็น อดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อรับการยกเว้น ไม่ต้องเป็นไปตามกาลามสูตรนั้น

ฉะนั้น ทำไมจะต้องถือหลักว่า "มันจริง เพราะมันมีอยู่ในปิฎก" ซึ่งมีแต่จะทำคนให้หมดตัวของตัว มีแต่ตัวของความละเมอไปตามความจำ อันฟั่นเฟือน เหมือนคนที่มัวแต่เที่ยวแบกบันได ไม่รู้จะจดรดเข้าที่ไหนเท่านั้นเอง

เรามีพระไตรปิฎก สำหรับเป็นวัตถุดิบอันมากมาย เพื่อการเลือกเฟ้นและนำมาย่อยเป็นผลิตผล อันจะเป็นเครื่องแก้ทุกข์ ทางกายและทางใจ ได้จริงๆ ให้เหมาะเฉพาะคนๆ เท่านั้น

คงไม่มีใครสามารถคิดว่า ในทะเลมีปลา แล้วพยายามกินทะเลทั้งหมดเข้าไป เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครสามารถกินวัตถุดิบ คือ พระไตรปิฏก ทั้งหมดเข้าไป โดยไม่คัดเลือกและย่อยเสียก่อน ในทะเลมีปลามาก คุณเลือกกินแต่ตัวที่รู้จัก และมีรสดี ก็มากพอถมไป ไม่ต้องไปกินตัว ที่ไม่รู้จัก และสงสัย หรือไปสนใจกะมันให้เสียเวลาเปล่าๆ

ข้อความบางส่วนของพระไตรปิฎกที่เราไม่สามารถตีความได้ ก็เป็นเช่นนั้น คือทิ้งไว้ให้อยู่ในพระไตรปิฎกก็แล้วกัน เราเอากันแต่ที่เห็น ชัดแจ้ง และยึดหลักกาลามสูตรไว้ได้ นับว่าประเสริฐ เพราะปลอดภัย

... พระพุทธทาส ท่านมีความเห็นเกี่ยวกับพระไตรปิฎกอย่างนั้น...

หนังสือกรณีธรรมกาย ท่านเจ้าคุณยืนยันว่า พระนิพพานต้องเป็นอนัตตาไว้หลายแห่งด้วยกัน ควบคู่ไปกับการตอบโต้ความเห็นที่เป็นอัตตา ถือเป็นลัทธินอกศาสนา เป็นคู่แข่งของพระพุทธเจ้า

เป็นความพยายามอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่า "อัตตา" ตัวกู ของกู มีพระพุทธเจ้านับหมื่นรอคอยอยู่ในแดนนิพพาน ซึ่งพระ ธรรมปิฎกเห็นว่า เป็นเรื่องเหลวไหล จอมลวงโลกทั้งเพ

โดยไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ปฏิบัติมองนิพพาน เป็นอัตตาแท้ บริสุทธิ์ สว่างไสว ไม่ตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ท่านเจ้าคุณระบุด้วยว่า เกจิต่างๆ ที่เห็นนิพพานเป็นอัตตานั้น เดินทางผิด เห็นสมาธิก็สำคัญว่าเป็นนิพพาน ไม่ยอมรับประสบการณ์ของผู้อื่น ไม่ฟังความคิดเห็นของใครทั้งสิ้น นอกจากพระไตรปิฎก

พระพุทธทาสพูดไว้ว่า พระไตรปิฎกเปรียบเหมือนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ มีปลาอยู่มากมาย หากเราจะกินปลา คงไม่จำเป็น ต้องกินทะเล ทั้งหมด เลือกปลารสดี เลือกกินแต่ตัวที่รู้จักก็น่าจะพอ

การที่พระธรรมปิฎกมีความเห็นอย่างนี้ จะเป็นการฉันทะเลเพื่อได้มาซึ่งปลาทั้งหมดหรือไม่??

อีกทั้งท่านเจ้าคุณเองที่ประกาศเคารพบูชาพระไตรปิฎก ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามพระไตรปิฎก 100% ถ้าท่านมั่นคงในพระไตรปิฎก ท่านต้องยึด หลักกาลามสูตร

(ยังมีต่อ)

โซตัส