ประจำวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 - วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2542
วิวาทะ
มองต่างมุมพระธรรมปิฎกกรณีวัดพระธรรมกาย (ต่อ)
วิจารณ์พระไตรปิฎกในความเห็นของผม ซึ่งมีข้อมูลอ้างอิงจากพระพุทธทาสไปแล้ว ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก คงเข้าใจถึงที่ไปที่มา ของ พระไตรปิฎก และการที่ผมหยิบยกเรื่ององคุลีมาล มาพิจารณาถึงการดำเนินให้ถึงมรรค ผล นิพพาน ตามหลักพระพุทธศาสนา
ประเด็นต่อมาที่ท่านเจ้าคุณลิขิตไว้ในหนังสือกรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ หน้าที่ 46-66 ธรรมกาย เรื่องที่สูงแต่ไม่ใหญ่
ท่านเจ้าคุณยกธรรมกายในพระไตรปิฎก ตามศัพท์แปลว่า "กองธรรม" มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก 4 แห่ง และในคัมภีร์อรรถกถา และฎีกาอีกมากมาย
วัดพระธรรมกายเผยแพร่เอกสารต่างๆ เกี่ยวกับวิชชาธรรมกาย เป็นการจาบจ้วงพระธรรมวินัย โดยเฉพาะประเด็นธรรมกาย เป็นคำพูด รวมๆ หมายถึงธรรมต่างๆ ที่ประสงค์จะกล่าวถึงทั้งชุด หรือทั้งหมวด เช่น โลกุตตรธรรมทั้ง 9 และธรรมโลกุตตรธรรม 9 นั่นแหละ ที่ท่านจัดวาง ระบบ วิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงเรียบร้อยแล้ว
พระธรรมปิฎกระบุว่า "เมื่อมรรค ผล นิพพาน มีวิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงพร้อมบริบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่ต้องมีวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมกาย ขึ้นมาต่างหาก มีแต่ว่า ผู้ที่ปฏิบัติเข้าถึงมรรค ผล นิพพานแล้ว ก็จะมีธรรมกายที่ประกอบด้วยธรรม คือ คุณสมบัติต่างๆ มากมาย ตามแต่จะเลือก พรรณา
ดังกล่าวแล้วว่า "ธรรมกาย" ไม่ใช่หลักธรรมอันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ
ธรรมกายตามวิชชาที่ท่านว่าเพิ่งค้นพบใหม่ ตามแบบของสำนักพระธรรมกายนั้น ไม่มีมาในพระพุทธศาสนาดั้งเดิม แต่เป็นคำสอน และแนว ปฏิบัติตามหลักที่เรียกว่า "วิชชาธรรมกาย" ซึ่งทางสำนักกล่าวว่า อาจารย์ใหญ่ของสำนักได้ค้นพบเมื่อ พ.ศ.2460 หลังจากที่สูญหายไป หลังจาก พุทธปรินิพพานได้ 500 ปี โดยพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร วัดปากน้ำ)
ท่านเจ้าคุณยกธรรมกายตามความหมายของพระไตรปิฎก เปรียบเทียบกับวิชชาธรรมกายของวัดปากน้ำ สรุปไม่ยอมรับหลักวิชชาดังกล่าว
และชี้นำด้วยว่า... "จะเอาธรรมกายของพระพุทธเจ้าหรือธรรมกายแบบไหน ก็มีเสรีภาพเลือกได้ แต่ขอให้บอกไปตามตรง"
ความเห็นเช่นนี้ ท่านเจ้าคุณต้องการจะสื่อให้วัดพระธรรมกาย แยกนิกายหลุดพ้นจากฝ่ายเถรวาทโดยแท้
ผมจะไม่วิจารณ์รายละเอียดกรณีนี้ให้ยืดยาว เพราะความเห็นของท่านเต็มไปด้วยวิชาการ และพระไตรปิฎกฉบับของแท้ ที่ท่านเจ้าคุณ เคารพบูชา โดยหากสำนักใด มีแนวทางที่ผิดเพี้ยนไปจาก แนวทางความเห็นท่าน เขาเหล่านั้นถือเป็นการตู่ บิดเบือนพระศาสนา
แต่ขอให้วิญญูชนระลึกไว้ถงแนวทางการศึกษา พระพุทธศาสนา ให้ขึ้นใจว่า เราจะไม่ศึกษาพระศาสนาเพื่ออยากดัง หรือได้เปรียญธรรม ชั้นสูง หรือรับปริญญาทางสงฆ์หรือทางโลก
ทว่าพุทธบริษัทต้องเรียนรู้ศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อรับปริญญาบัตรจากพระพุทธเจ้า ปริญญาบัตรของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกว่า "พระนิพพาน"
พูดให้ชัดกว่านี้ การที่ท่านเจ้าคุณวิจารณ์วิชชาธรรมกาย และป่าวประกาศให้สาธุชนเลือกว่า... จะนับถือธรรมกายแบบไหน ผมมิบังอาจว่า ท่านเจ้าคุณมาความรู้สึกมาจากมานะ ทิฏฐิ แต่ผมอ่านได้ความเข้าใจอย่างนั้น
จะไม่ให้รู้สึกออกมามีเป้าหมาย วัตถุประสงค์แบ่งแยกนิกายอย่างชัดแจ้งทุกเรื่อง ทุกประเด็น ทุกกรณี ตั้งแต่หน้าแรก ยันหน้าสุดท้าย ของงานเขียน
การที่ท่านเจ้าคุณมีความเห็นไม่รับหลวงพ่อสด และพยายามสื่องานเขียน ให้ผู้อ่านเคารพบูชาพระศาสดา เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ไม่สมควร อย่างยิ่งที่จะลบหลู่พระไตรปิฎก ที่ท่านเคารพบูชา
โดยเฉพาะประเด็นจะเชื่อธรรมกายของใคร?
"สัญญา" (ไม่ใช่ชื่อเพลงสัญญาเมื่อสายัณของพี่ไทนะครับ) แต่ผมหมายถึง "การรู้จำ" อักษรไทย บาลี ฯลฯ ก็เป็นการรู้จำอย่างหนึ่ง มนุษย์ เราอุปโลกขึ้นมาทั้งสิ้น ทั้งคำว่า "อัตตา-อนัตตา" หรือแม้แต่อักษรที่ปรากฏในพระไตรปิฎก รวมถึงคำว่า "นิพพาน" เรากำหนดขึ้นมา เพื่อสื่อสาร กันในสังคมมนุษย์โลกใบนี้
หนังสือกรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ ปฏิเสธความคิดเห็นเกจิอาจารย์สายปฏิบัติทั้งหมด ไม่ปิดกั้นไปหน่อยหรือท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
พระสายปฏิบัติท่านบำเพ็ญเพียร ตามหลักพระพุทธเจ้า จนรู้จริงเห็นแจ้ง ได้มรรค ผล นิพพาน ตามปรารถนาแล้วไม่รู้กี่หมื่นกี่พันรูป
แม้แต่สังขารบางท่านก็ไม่เน่าเปื่อย บ้างกระดูกกลายเป็นเกล็ดมีสีสดใส หรือเป็นพระธาตุ ซึ่งวิชาวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถตอบคำถาม เหล่านี้ได้
ภูเขาทองยังมีทางขึ้นถึงสองทาง การไปสู่แดนแห่งนิพพาน มีทางของท่านเจ้าคุณเพียงทางเดียวกระนั้นหรือ?
ถ้าท่านยืนยันว่า ทางเดียว ก็ต้องประกาศไปเลยว่า "สายอื่นที่ปฏิบัติ ยุบหนอ พองหนอ สัมมาอะระหัง พุทโธ เพี้ยนกันไปหมด" หรือว่า มีการกำหนดอย่างไร เพื่อเป็นหนทางสู่พระนิพพานได้จริง ตามความเห็นของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
ใครกำหนดผิดเพี้ยนจากความเห็นและตำราของท่าน เป็น "เดรัจฉาน เดรัจถีย์" ก็พูโกันให้มันชัดไปเลย
"พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ธรรมที่พระองค์สอนเปรียบเสมือนใบไม้ในกำมือ แต่ธรรมที่พระองค์ค้นพบเปรียบเสมือนใบไม้ในป่าใหญ่"
พระไตรปิฎกจะฉบับใดก็ตาม ก็เปรียบเสมือนใบไม้ในกำมือ และใบไม้ในกำมือนี่แหละที่เราจะต้องนำไปศึกษาด้วยวิริยะ ปัญญา และ ลงมือปฏิบัติควบคู่ไปกับปริยัติ
หรือพุทธบริษัทจะมองพระนิพพานกันอย่าง "เสฐียรพงษ์ วรรณปก" ศึกษาแผนที่เพื่อไปพระนิพพานมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน แต่แล้ว วันดีนดี ท่านก็กลับมาเคาะประตูบ้าน เพื่อรับความอบอุ่นจากศรีภรรยา และบุตรสาวผู้น่ารัก
และกลับมีความคิดปัญญาหยาบ บังอาจเสนอปลดพระสังฆราช เพื่อกดดันปาราชิกเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พอๆ กับดร.เจิมศํกดิ์เมาหมัด ประกาศล้มรัฐบาล หากแก้ปัญหาธรรมกายไม่ลุ
ถามประเทศชาติเป็นของนายสองตนเท่านั้นหรือ....?
วิจารณ์งานของพระธรรมปิฎกอกจะล้ำเส้นไป กรณีที่ผมเห็นว่า ท่านมีมานะ ทิฐิ มุ่งร้ายต่อวัดพระธรรมกาย ตั้งแต่หน้าแรก ยันหน้าสุดท้าย ของหนังสือกรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์
เปิดอ่านที่หน้า 115 ภาค 2 บุญ-บารมี ที่จะกู้แผ่นดินไทย ก็เห็นท่านกล่าวถึงเรื่องบุญเพื่อสร้างสรรค์ชีวิต และชุมชน ก็เห็นเข้าท่าดีอยู่
แต่ทฤษฎีที่สวยหรูยังคงเป็นเพียงความคิด ยังเป็นเพียงตำรา ยังไม่มีหน่วยงานใด โดยเฉพาะองค์กรสงฆ์ใดนำไปเผยแผ่และปฏิบัติต่อสังคม เพื่อยกพื้นใจของคนในสังคมให้เจริญด้วยปัญญาตามหลักพระศาสนาแล้ว ก็นับว่าเป็นเรื่องเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง
ความจริงหากจะพูดกันถึงการพัฒนาสังคม โดยมีสถาบันสงฆ์เข้ามาเป็นเบ้าหลอม พัฒนาคุณภาพชีวิตให้แด่คนในสังคมแล้ว ตรงนี้ในความ เป็นจริงแล้ว ยังถือเป็นเรื่องห่างไกล จากความเป็นจริงมาก
แม้จะมีความพยายามจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐบาลและเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่า จะเข้าลักษณะต่างคน ต่างพายเสียมากกว่า
แต่วัดพระธรรมกายได้เริ่มทำแล้ว และดูท่าจะไปได้สวย แต่ก็มาสะดุดกับปัญหาร้อยแปด
วัดจำนวน 30,000 วัด หลายวัด มีพระภิกษุอยู่จำวัดเพียง 1 รูป มันคุ้มแล้วหรือกับสถานที่ใหญ่โตเช่นนั้น?
เมื่อพื้นที่ของวัดใหญ่โตเพียงนั้น (เทียบกับจำนวนพระภิกษุและจำนวนผู้เข้าไปใช้ประโยชน์) หลายครั้งเกิดเรื่องเศร้าสลดใจ คนใจบาป จับหญิงสาวโทรมข่มขืนภายในกำแพงวัด
พระอุโบสถตามวัด วาอารามหลายแห่ง ว่างเว้นจากการปฏิบัติศาสนกิจ จนเกือบเป็นอารามร้าง หลายวัดต้องนำเครื่องพันธนาการโซ่กุญแจ มาล็อคปิดประตูโบสถ์ เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพเข้าไปลักขโมยพระพุทธรูปของมีค่า
อีกเรื่องที่พระธรรมปิฎกหยิบยกขึ้นมาโจมตีวัดพระธรรมกาย
คงจะปฏิเสธมิได้เรื่องการเรี่ยไร
แต่ทำไมวัดพระธรรมกายจึงตกเป็นเป้าสายตาของคนจำนวนมาก ทั้งฝ่ายสงฆ์ด้วยกันเอง และฆราวาสทั่วไปเพราะวัดพระธรรมกาย มีการ ทำบุญที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นรูปแบบธุรกิจเต็มตัว โดยเฉพาะการผ่อนบุญ?
วัดพระธรรมกายเป็นวัดใหญ่ มีผู้คนศรัทธาเข้าวัดจำนวนนับแสนคน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะเกิดปัญหาตามมาบ้าง สังคมใหญ่เท่าไหร่ ก็มีปัญหามากดังเงาตามตัว
เรื่องการผ่อนบุญถูกสังคมโจมตีอย่างหนัก ลุกลามไปถึงตัวพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ธัมมชโย) เจ้าอาวาส
ในมุมมองของผม ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการผ่อนบุญของวัดก็จริงอยู่ แต่ในเมื่อปัญหาต่างๆ มันเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะโหมไฟ ด่าทอกันอย่างไรสติปัญญา
ควรที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหา ติติงกันด้วยความเตตาและเหตุผล
ภาพการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผู้ถือศีลทรงธรรม เป็นพระภิกษุกลับออกมาเหน็บแนม ทำให้รู้สึกว่า ชาวพุทธเราวันนี้ ปฏิบัติต่อกัน ถึงเพียงนี้ เชียวหรือ
ไม่มีใครใช้ปัญญามองปัญหาอย่างพุทธะ
ทำไมจึงมีการผ่อนบุญ ใครเป็นผู้ดำริแนวคิดนี้ขึ้นมา มีวัตถุประสงค์อะไร?
รวมถึงเรื่องการสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ใหญ่โตด้วย
... นี้คือหลักการแห่งตรรกโดยแท้...
เราต้องพิจารณาเหตุเพื่อไปหาผล ให้รอบคอบกว่านี้ เมื่อได้ผลแล้ว ก็นำผลไปพิจารณาเพื่อหาเหตุกันอีกครั้งหนึ่งตามหลักตรรกศาสตร์ แต่เราจะใช้หลักตรรกศาสตร์ในการปกครองสถาบันสงฆ์ ซึ่งเติบใหญ่มาได้ด้วยศรัทธาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ และนิติ ศาสตร์ เข้าไปจับ
ท้ายๆ เล่มกรณีธรรมกาย ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ถามตอบเบ็ดเตล็ดเรื่องขนาด และจำนวน
สรุปได้ความว่า ท่านเห็นว่า วัดพระธรรมกายไม่มีอะไรดีเลย
โดยเฉพาะเรื่องของขนาด-จำนวน ท่านระบุว่า เจดีย์ธรรมกายมูลค่า 70,000 ล้านบาท มันเป็นค่านิยมสร้างวัตถุใหญ่โต ผู้ปกครองสงฆ์ท่าน ก็เตือนในช่วงที่บ้านเมืองประสบปัญหาเศรษฐกิจ แต่คนก็มองว่าคงห้ามกันไม่ได้
ท่านเจ้าคุณพูดถึงหลักการในการสร้างถาวรวัตถุว่า ควรให้เป็นเรื่องของฝ่ายคฤหัสถ์เป็นผู้ดำริ ส่วนพระภิกษุเป็นผู้ควบคุม
ส่วนความใหญ่ดต สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ควรจะยกให้ เทคโนโลยีอันทันสมัยมากกว่า
มีการถามแย้งว่า เจดีย์ธรรมกายจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ดึงคนต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทย
ท่านเจ้าคุณเห็นว่า ไม่ใช่กิจของสงฆ์ นอกเรื่องธรรมะ จะทำให้ความสนใจหันเหออกไปจากทางของบุญกุศลและปัญญา มุ่งไปที่การหาเงิน
ถ้าจะหาเงินก็ไม่เห็นจะคุ้ม ถ้าสร้างแล้วช่วยให้เงินเช้าประเทศ ปีละ 100 ล้านบาท กว่าจะได้คุ้มทุน ก็ 700 ปี จึงจะครบ 70,000 ล้านบาท หรือถ้าคิดทุนสร้างแค่ 20,000 ล้านบาท ก็ 200 ปี
ควรจะทำชุมชนและสังคมของเราให้สงบเรียบร้อย พัฒนาคนให้ถูกต้องตามหลักไตรสิกขา สงวนรักษาธรรมชาติ จะดีกว่า
... นี่คือวิสัยทัศน์ส่วนหนึ่งของผู้ได้ชื่อว่า ปราชญ์แห่งพุทธ...
โดยส่วนตัวผมเห็นว่า การใช้หลักตรรกศาสตร์เข้าไปแก้ปัญหาเจดีย์ของท่านเจ้าคุณนั้น เป็นการตัดตอนบิดเบือน ไม่เปิดโอกาส รับฟัง ความเห็นของวัด
ทำไมต้องสร้างใหญ่โต สร้างแล้วได้อะไร อย่าดูถูกภูมิธรรม ความสามารถของผู้อื่น ตัวเงินกับเรื่องการทำบุญ จะนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ การสร้างคนดีให้กับสังคมแม้เพียงหนึ่งคน
อย่าว่าแต่ 70,000 ล้านบาทเลยครับ ต่อให้ 700,000 ล้านบาท ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาพูดว่าแพง เพราะความดีมันซื้อขายกันไม่ได้ อย่าง ที่ท่านว่า บุญซื้อขายกันไม่ได้
ทางกลับกัน วัดพระธรรมกายอาจขนฝรั่งตาน้ำข้าว มาปฏิบัติธรรม หรือเป็นนักบวชแต่ละปี อาจจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากกว่า 100 ล้าน ก็ได้ (ปีละ 10,000 ล้านบาท 7 ปี ก็เป็นไทแล้ว)
... นี่คือการคิดเผื่อเหลือเผื่อขาด ไม่ใช่การมุ่งร้ายจับผิดกัน...
วิจารณ์ถึงภาคเบ็ดเตล็ด ถาม-ตอบของพระธรรมปิฎกกรณีธรรมกาย มีคำถาม-คำตอบที่พิจารณาอีกข้อหนึ่งคือ กรณีชวนคนมาทำความดี มากๆ โดยเฉพาะที่วัดพระธรรมกาย ไม่เป็นเรื่องดีหรือ?
พระธรรมปิฎกเห็นว่า ในขั้นศีลธรรมทั่วไปนี้ ชาววัดพระธรรมกายได้รับคำชมมากทีเดียว เช่น สุภาพ เรีบร้อย เป็นระเบียบ รักษาศีล เลิกอบายมุขได้ เป็นต้น ในส่วนนี้ใครๆ ก็อนุโมทนา
ท่านเจ้าคุณเพิ่งระบุถึงความดีของวัดพระธรรมกายชัดเจนก็ตรงนี้เอง จากหนังสือทั่งเล่มที่มีความหนาถึง 192 หน้า
แต่วัดพระธรรมกาย ยังไม่ดีจริงในสายตาของท่านเจ้าคุณ....
เพราะท่านอ้างว่า แต่ก็มีเสียงออกมามาก เช่น เรื่องที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว ซึ่งโดยมากเกิดจากการบริจาคเงิน แบบเอาแต่ใจ ตัวคนเดียว แล้วทำให้ครอบครัวเดือนร้อน เรียกว่าครอบครัวไม่พัฒนาไปด้วยกัน ทำให้ปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกายเป็นเรื่องซับซ้อน ซึ่งต้อง พิจารณาหลายชั้น
ถาม : เมืองไทยทุกวันนี้ ให้คนทำตามศีลธรรมขั้นต้นๆ ได้ ก็ดีเยอะแล้ว
ท่านเจ้าคุณตอบว่า ดีน่ะดีแน่ แต่ก็ต้องไม่ประมาท จะเทียบให้ฟัง สมัยก่อนมีโรงงานฝิ่น คนนอนสูบฝิ่นกันไม่น้อย เพิ่งมาเลิกสมัยจอมพล สฤษดิ์ นายคนหนึ่งเป็นคนหุนหัน ใจร้อน บุ่มบ่าม มีเรื่องกระทบกระทั่งง่าย ต่อมากลับเปลี่ยนไปตรงข้าม เขากลายเป็นคนใจเย็น ไม่ฉุนเฉียว มีคนพูดว่า ตั้งแต่นายคนนี้สูบฝิ่นนี่ เขาเปลี่ยนเป็นคนละคน ใจเย็น สุขุม รอบคอบ ดีขึ้นมาก
อย่างนี้เราจะว่า การสูบฝิ่นนี้ดีเป็นประโยชน์มาก ควรจะส่งเสริมให้คนสูบฝิ่นกันให้ทั่วอย่างนั้นหรือ คงไม่ใช่
ท่านเจ้าคุณออกตัวว่า ที่ว่านี้ ไม่ใช่ว่าวัดพระธรรมกาย แต่เป็นการพูดให้รู้จักมองอะไรหลายๆ แง่ คือแยกเหตุปัจจัยให้ดี รู้จักใช้ โยนิโส มนสิการ แบบที่มองความเป็นไปได้อย่างอื่น ในสถานการณ์ที่ปรากฏเป็นอย่างเดียวกัน
พระพุทธศาสนาจึงสอนไม่ให้ประมาท ไม่ใช่ตื่นไปกับภาพภายนอกที่ผิวเผิน
วัดพระธรรมกาย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คน แต่อยู่ที่วัดมีคำสอนผิดเพี้ยน ถ้าแก้ปัญหาวัดได้ คนไปวัดมากๆ ก็จะได้ประโยชน์มาก แต่ถ้าวัดให้ อะไรที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งคนไปวัดมาก ก็ยิ่งมีโทษมาก
ในความเห็นของผมวิเคราะห์งานเขียนของพระธรรมปิฎกมานานกว่าสัปดาห์ เห็นแล้วว่า...
นักปราชญ์แห่งพุทธ ท่านมีแนวคิดที่แยบยลจริงๆ
แนบเนียนหาที่จับได้ยาก แต่ผมก็ยังอยากจะจับ กรณีที่พระคุณเจ้าหยิบยกเรื่องคนสูบฝิ่นกลับตัวเป็นคนดีนั้น
ท่านเจ้าคุณมีมุ่งหมายอย่างไร?
ไม่คิดก็ต้องคิด เพราะหนังสือเล่มนี้ มีจุดประสงค์ถล่มวัดพระธรรมกายให้สิ้นซาก เพราะความเห็นของท่าน ชี้เป้าไปที่เรื่องพระนิพพาน เป็นอนัตตา แต่วัดพระธรรมกายเห็นว่าเป็นอัตตา
ท่านจ้าคุณจะถกเถียงเรื่องนิพพานเพียงอย่างเดียว ผมเข้าใจว่าไม่มีวัน และไม่มีหนทางชนะได้อย่งแน่นอน เพราะคำว่าอัตตา และอนัตตา นั้น ไม่มีพระไตรปิฎกฉบับใดยืนยันแน่ชัดว่า พระนิพพานมีสภาพได้เป็นอะไร
นักปราชญ์แห่งพุทธ ควรหรือที่จะเป็นผู้ชี้นำว่า สภาพของพระนิพพานเป็นอย่างไร
....นิพพานก็คือนิพพาน.....
ส่วนตัวผมเห็นว่าเรื่องนิพพาน "คนพูดไม่รู้ คนรู้ไม่พูด"
เมื่อมีเจตนาเป็นเช่นนี้ การหยิบยกเรื่องคนสูบฝิ่นแล้วกลับตัวเป็นคนดี ก็เท่ากับคนที่เคยสัมมเรเทเมาไปฝึกจิตกับวัดพระธรรมกายแล้ว สามารถเลิกอบายมุขได้อย่างเด็ดเดี่ยว ตัดขาดจากอบายมุขทั้งหลายอย่างอัศจรรย์ใจยิ่ง
ตรงนี้ ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ยิ่งกว่าเทคโนโลยี ที่ท่านเจ้าคุณยกย่องให้มันเป็นสิ่งอัศจรรย์ของโลกเสียอีก
ท่านเจ้าคุณเองก็มีอคติอยู่มาก มิเช่นนั้นคงไม่หยิบยกเรื่องชั่วร้ายมาพูด ทำให้ไขว้เขว โดยเฉพาะคนสูบฝิ่นแล้วใจเย็น สุขุมเป็นคนดี มันคน ละเรื่องกับการเข้าไปปฏิบัติธรรม ถือศีล นั่งสมาธิ
ผมยืนยันว่า มันคนละเรื่อง และไม่ใช่เรื่องที่มองแต่ผิวแต่เปลือก
กลุ่มคนที่มองแต่ผิวแต่เปลือก คือคนที่ไม่ได้เข้าไปวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะสื่อมวลชน แลพวกแสดงหาทรัพย์จากวัดพระธรรมกาย
ผมพูดได้อย่างนี้ เพราะรู้ และเห็นมาด้วยตนเอง
สื่อมวลชนส่วนมากต่างหาก ที่ท่านเจ้าคุณเอาตัวไปเกลือกกลั้ว มองกันแต่ผิว เปลือก
จึงมีคำถามว่า สำนักสื่อนั้นๆ ได้อะไรจากการแตกแยกในหมู่สงฆ์
และก็ต้องถามด้วยว่า ท่านเจ้าคุณได้อะไรจากการพูดถึงเรื่องพระนิพพานเป็นอนัตตา
นี่แหละ "โยนิโสมนสิการ" แบบที่มองความเป็นไปได้อย่างอื่น ตามที่ท่านเจ้าคุณหยิบยกขึ้นมา เป็นเหตุผลประกอบความคิด ของท่าน เจ้าคุณ
ส่วนเรื่องที่ท่านแย้งว่า ทำให้ครอบครัวแตกแยกนั้น ผมก็ยอมรับว่ามีจริง แต่ต้องดูต้นสายปลายเหตุ โยนิโสมนสิการว่าคนจำนวนเกือบ 2 แสนคน มีปัญหาเรื่องครอบครัวจากการเข้าวัด เฉลี่ยมีกี่เปอร์เซ็นต์
ผมมีความเห็นที่ว่า ศีลเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะศีล 5 แต่คนไทยหรือคนพุทธอีกจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจว่า เราต้องถือศีลซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องการถือ แต่เป็นเรื่องของการทำให้มันปกติ
ในเมื่อวัดพระธรรมกาย เขาพยายามทำความรู้สึกนี้ให้กับคนในสังคม ทำไมจึงได้ตั้งข้อรังเกียจเขานักหนา
ถ้าคนไทย 50 % ของประเทศมีศีล 5 แล้ว เราคงไม่เห็นนักการเมืองโกงบ้านกินเมืองมโหฬารเพียงนี้ คดีข่าวฆ่า ปล้น ข่มขืน คงไม่ให้เห็น ดาษดื่นตาเช่นนี้
นี่อะไรท่านเจ้าคุณกลับนำเรื่องการถือศีลไปเปรียบเทียบกับคนสูบฝิ่น
ในฐานะที่พระธรรมปิฎก ได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์แห่งพุทธ ผมใคร่กราบนมัสการถามท่าน โดยเฉพาะเรื่องร้อนแรงอยู่ ในห้วงเวลา นี้ว่า...
พระภิกษุสงฆ์ถือรองที่ดินที่ได้มาจากการบริจาค อาบัติปาราชิกข้อไหน เพราะผมเปิดพระธรรมวินัยแล้วไม่พบข้อกล่าวหาเรื่องที่ดิน อยู่ใน 4 อาบัติปาราชิก
ผู้ยึดมั่นพระธรรมวินัย ต้องเคารพในพระธรรมวินัย จะถือข้อหนึ่ง ทิ้งข้อหนึ่ง เพื่อให้พระธรรมวินัยปกป้องตนเองนั้น ผมเข้าใจว่า มันบาป อยู่พอสมควร ต้องมองกันด้วย "โยนิโนมนสิการ"....
วิจารณ์ต่อ พระธรรมปิฎกเน้นหนักให้พุทธบริษัทมองแบบ "โยนิโสมนสิการ" คือมองความเป็นไปได้อย่างอื่น ในสถานการณ์ที่ปรากฏ ไม่ใช่มองแต่ผิวเผิน หนังสือกรณีธรรมกาย ฉบับสมบูรณ์ ของ พระธรรมปิฎก เล่มล่าสุด นำมุมมองเกี่ยวกับความเชื่อ โดยเฉพาะหน้าที่ 171 "ประชาธิปไตย จะให้ศรัทธามากลากไป หรือให้สิกขามานำไป"
นำเป็นแง่มุมมองที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ท่านเจ้าคุณถาม-ตอบว่า
ตามหลักประชาธิปไตย เราถือเสียงมาก คือตัดสินกันด้วยเสียงข้างมาก เมื่อคนไปมาก หรือคนนิยมมาก ก็ต้องถูกต้องดีไม่ใช่หรือ?
ท่านเจ้าคุณเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า... จะให้หลัก จำไว้เลยว่า "เสียงมากตัดสินความต้องการได้ แต่ตัดสินความจริงไม่ได้"
ลองเอาไปคิดดู แล้วจะพิจารณาอะไรรอบคอบขึ้น ถอยหลังไปแค่สัก 500 ปี คนแทบทั้งโลก ไม่รู้กี่ล้านคน บอกว่า ดวงอาทิตย์หมุนรอบ โลก มีนายโคเปอร์นิคสคนเดียว มาบอกว่า ไม่ใช่ ที่จริงโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ก็อีกเป็นร้อยๆ ปี แล้วใครถูก กลายเป็นคนเดียวที่ว่า โลกหมุน รอบ ดวงอาทิตย์ถูกต้องไหม
อีกเรื่อง สมัยก่อนคนทั้งโลก เชื่อว่าโลกแบน ใครคนหนึ่งมาพูดว่า โลกกลม ก็ไม่มีใครเห็นด้วย
เรื่องความจริงนั้น ต้องใช้ปัญญา จะมามองผิดเผินแค่เห็นปุ๊บปั๊บไม่ได้ และจะเอาความต้องการของเขา เอาความอยาก เอาความปรารถนา ของตัวไปตัดสินก็ไม่ได้
ประชาธิปไตยที่ตัดสินด้วยเสียงข้างมากนั้น ก็คือเขาดูความต้องการของประชาชน ว่าคนส่วนมากจะเอาอย่างไร แต่ถ้าขืนปล่อยให้มนุษย์ เอาความต้องการดิบๆ ไม่นานก็คงวิบัติ
เขาจึงต้องให้มีการศึกษา เพื่อจะได้ให้คนส่วนมากนั้น มีปัญญารู้ว่า อะไรจริง อะไรดี ที่ควรจะเอา เพื่อให้ความต้องการของคน มาตรงกับ ธรรม คือจะได้เลือกเอาสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม เป็นประโยชน์ที่แท้จริง
เพราะเหตุนี้แหละ ประชาธิปไตยจึงได้เน้นการศึกษากันนัก จนพูดได้ว่าถ้าไม่มีการศึกษา ก็ไม่มีประชาธิปไตย
จึงต้องระวัง ไม่ให้มีสิ่งที่จะเป็นศัตรูของการศึกษา เช่น ความลุ่มหลง หมกมุ่น การอย่กันจูงกันเพียงด้วยความเชื่อ
ความเบื้องต้นปรากฏอยู่ในหนังสือกรณีธรรมกายของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
ผมพิจารณาแบบโยนิโสมนสิการแล้ว ยิ่งทำให้เพิ่มน้ำหนักในด้านความคิดเป็นอย่างอื่นยิ่งๆ ขึ้น โดยเฉพาะการยกยอดเรื่อง โลกหมุนตาม ดวงอาทิตย์ และโลกแบน ที่อ้างมานั้น
เปรียบเทียบให้ชัดลงไปที่กรณีวัดพระธรรมกาย ท่านเจ้าคุณคงไม่ปฏิเสธ หากนำจำนวนผู้คนที่ศรัทธาเข้าวัดแห่งนี้ กับจำนวนผู้ต่อต้าน ตามกระแสสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นคนหมู่มาก
คนที่ศรัทธาวัดพระธรรมกาย และพระราชภาวนาวิสุทธิ์ คิดจากชาวพุทธทั่วประเทศแล้ว มีไม่ถึงร้อยละ 3 ด้วยซ้ำไป ขณะที่คนเกลียดวัด แห่งนี้ มีจำนวนประมาณ ร้อยละ 90
ก็ย้อนกลับมาถึงเรื่องโลกกลม โลกแบน อะไรทำนองนั้น วัดพระธรรมกายกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่?
สื่อมวลชนประเคนคุก ตาราง ถวายสีกาให้เจ้าอาวาส พุ่งเป้าไปที่การคบชู้สู่ชาย ระหว่างสมณเพศกับสีกา เป็นอาบัติชั่วหยาบ ร้ายแรงถึง ขั้นประหารชีวิต (ปาราชิก)
สังคมหมู่มากก็เฮโลลากตามกันไป โดยที่ไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณา คำกล่าวหาดังกล่าวมีที่ไปที่มาอย่างไร เกิดจากปาก หรือความคิดของ ใครง่ายๆ เช่น เรื่องการถือสัญชาติอเมริกัน (กรีนการ์ด) 6-7 สีกา และการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง
เป็นความผิดทั้งทางโลก และทางธรรม วัดพระธรรมกายปล่อยให้สังคมตรวจสอบล่วงเลยมาถึง 6 เดือนเต็ม ก็ไม่ปรากฏคำกล่าวหาดังกล่าว จะมีข้อมูลหลักฐานใดให้ดำเนินการได้
ผมจึงเห็นด้วยกับท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเอามากๆ ทั้งเรื่องการมองอย่าง "โยนิโสมนสิการ" และต่อต้านระบบเผด็จการณ์ พวกมากลาก ไป ไร้ปัญญาแห่งตนที่จะนำไปคิด หรือตัดสินผิดถูกชั่วดี
นับเป็นเรื่องบัดซบ ตํ่าช้าที่อุบัติขึ้นในสังคมไทย ท่ามกลางความมืดบอดที่ว่า "ยุคคนกราบหมา ฆราวาสด่าพระ"
ผู้ที่ครองเพศบรรพชิต มีความรอบรู้สูงส่งอย่างท่าน หยิบยกธรรมะให้พุทธศาสนิกชน มาดำเนินชีวิตเป็นขั้นเป็นตอน จัดระเบียบ ทางความ คิดเป็นหนึ่ง แต่กลับหยิบยกธรรมะ มาประหัตประหาร ในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และมองข้ามความดีงามของ บุคคลอื่นไปอย่างน่าใจหาย
กรณีโลกกลมโลกแบนนี้ยิ่งชัดเจน ท่านพูดเปรียบเทียบกับวัดพระธรรมกาย แต่ท่านก็กำลังตกเป็นเครื่องมือของสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นคน กลุ่มมาก ที่แสวงหาผลประโยชน์ จากการขายข่าว การดำเนินธุรกิจสิ่งพิมพ์ไปอย่างน่าเศร้าสลดใจยิ่ง
หากท่านเจ้าคุณคิดอย่างโยนิโสมนสิการแล้ว ท่านคงไม่ไปคบหากับสื่อมวลชนที่มีจิตอคติ ปฏิบัติการอย่างไร้คุณธรรม ต่อวัดพระธรรมกาย เช่นนี้
ท่านได้ชื่อเป็นปราชญ์แห่งพุทธ ย่อมมีสติปัญญาเพียงพอที่จะนำความสงบ และความร่มเย็น กลับมาสู่ในบวรพระพุทธศาสนาได้ ขอเพียงแต่ พิจารณาด้วยเหตุผลอย่างเที่ยงธรรม ไร้อคติเอนเอียง พิจารณาทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหา และผู้กล่าวหา
จะได้คำตอบที่ถูกต้องและชัดเจนที่สุดว่า...
อันพวกมากหรือสื่อมวลชนที่ท่านเข้าไปร่วมกิจกรรมปกป้องพระพุทธศาสนา และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆ ปริมหาณายก นั้น แท้จริงแล้วองค์กร หรือสำนักพิมพ์ที่ท่านร่วมดำเนินกิจกรรมอยู่นั้น มีความจริงใจ และจริงจังต่อสถาบันพระศาสนา และพระสังฆราช เพียงใด
หากจริงจังแล้ว บุคคลที่ท่านรู้จักมักคุ้นอย่างราชบัณฑิต เสฐียรพงษ์ วรรณปก คงไม่กล้าแม้แต่ที่จะคิดเรื่องต่ำทรามชั่วหยาบ บังอาจปลด สมเด็จพระสังฆราชฯ จากตำแหน่งประมุขสงฆ์ เพียงเพื่อเป็นแรงกดดันให้เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย "สึก"
พิจารณาอย่างนี้แล้ว คงพอรู้ว่า ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์นั้น หลีกเลี่ยงไม่พบคำว่า "พาณิชย์" มาดำเนินกิจกรรม เพื่อความอยู่รอดของสำนัก
ผมย้ำท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกอีกครั้งว่า ธุรกิจคือธุรกิจ ศาสนาคือศาสนา มองลงไปกับสิ่งที่ท่านเห็นดีเห็นงามเป็นอย่างอื่นบ้าง
อย่าด่วนสรุปอะไรแต่เพียงผิวเผิน แม้แต่พระลิขิตจะออกมาทำนองนั้น ก็ต้องนำหลักกฎหมาย และพระธรรมวินัยมาพิจารณา ท่านเจ้าคุณ ย่อมซาบซึ้งถึงพระเมตตาของพระสังฆราชฯ และเส้นทางของ "ห้องกระจก" ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร?
ตรงนี้ต่างหาก คือแสงนำทางไปสู่การแก้ปัญหา ไม่ใช่ตัดสินตามระบอบพวกมากลากไป จะขึ้นสวรรค์ หรือลงนรกกัน ก็คราวนี้แหละ พระคุณเจ้า...
ความจริงตั้งใจว่าจะวิจารณ์แค่ 3 วันก็คงจบ แต่ผมนำความเห็นเรื่อง "โยนิโสมนสิการ" มาขบคิดจึงลากมาถึง 9 วัน และขอกราบ นมัสการ ท่านเจ้าคุณมาด้วยความเคารพ หากข้อเขียนของกระผมเป็นการลบหลู่ ก็ให้ท่านเจ้าคุณอโหสิกรรมกระผมด้วยเถิด
โซตัส