ปีที่ 2 ฉบับที่ 692 ประจำวันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2542
รายงานพิเศษ
เมื่อคนไทยหลงทางตามกระแสสื่อ
เราพิมพ์ไทย เทอดทูนสมเด็จพระสังฆราช และคณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) มาโดยตลอด
โดยเฉพาะองค์สมเด็จพระสังฆราชนั้น กองบรรณาธิการพิมพ์ไทย ได้จัดทำบทความเทอดพระเกียรติ เป็นการเฉพาะ ก่อนที่จะมีบุคคล ผู้ขาดสัมมาคารวะ บังอาจกราบทูลให้ทรงลาออกจากสงฆ์ประมุข
เราคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อมีคนฉวยโอกาสอ้างตัวเองเป็นผู้ใกล้ชิด เป็นโยมอุปัฏฐาก เป็นศิษย์เอก เป็นผู้ถวายความอุปถัมภ์ สิ่งที่ ตามมาคือ เขาผู้นั้นแสดงความอหังการ
และก็จริงตามนั้น
สมเด็จพระสังฆราชนั้น ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งสังฆบิดร ควรที่ทุกคนจะเทอดไว้เหนือเศียร ให้พระองค์อยู่สูงสุดดุจพระจันทร์วัดเพ็ญ
พระองค์ทรงเป็นปูชนียบุคคล และทรงเป็นสมบัติของมวลมนุษย์ทั้งประเทศ
ไม่ควรมีใครคนใดคนหนึ่ง ตีกรอบหวงแหนไว้เป็นการเฉพาะตัวเฉพาะพวก เฉพาะกลุ่ม
นั่นคือมิจฉาทิฐิ นั่นคือความมืดบอด นั่นคือความเห็นแก่ตัว นั่นคือการปิดกั้นพระบารมี มิให้แผ่ไพศาล ไปยังหัวใจของมวลมนุษย์อื่นๆ
องค์สังฆประมุขและมส.นั้น จัดเป็นสุดยอดของพระพุทธศาสนาด้านศาสนบุคคล ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พุทธศาสนิกชนจะต้องเชิดชู ไว้เหนือเศียร มิบังควรแตะต้องไม่ว่ากรณีใดๆ
ปัจจุบัน ชาวพุทธบางคนรวมกันเข้าเป็นกลุ่ม อาศัยสถานะเป็นนักบวช และเคยเป็นนักบวชมาก่อน เคลื่อนไหวต่อต้านองค์กรสูงสุด คือ มส. ในด้านต่างๆ อย่างขาดความเคารพ
กรณีวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย พระทัตตชีโว กำลังอยู่ในขั้นตอนของศาลสงฆ์ โดยธรรมเนียมปฏิบัติ จะต้องยุติการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างเด็ดขาด
แต่คนกลุ่มนี้ มีพระพยอม พระมหาบุญถึง และเสฐียรพงษ์ รวมทั้ง ม.ล.จิตติ เป็นหัวหอก ไม่นำพาต่อกิริยามารยาทที่สาธุชนพึงกระทำ
สำหรับพวกเราชาว พิมพ์ไทย นั้น เมื่อทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการแล้ว ก็ขอยุติบทบาทส่วนนั้นไว้ และใจเย็นพอ ที่จะรอรับฟัง คำวินิจฉัย ของศาลสงฆ์ด้วยศรัทธา
ก่อนนี้ เราเคยแอบคิดอยู่ลึกๆ ว่า ลายพระหัตถ์ที่ออกมาติดๆ กัน 6 ฉบับ ชั่วระยะเวลา 10 วันนั้น มีอะไรเป็นมูลเหตุให้ทรงปฏิบัติเช่นนั้น ไฉนจึงออกมาถี่ยิบเป็นประวัติการณ์เช่นนั้น
เรามิบังอาจแม้แต่จะคิดว่าปลอม แต่กับกล้ายอมรับว่าจริง
เพียงแต่คิดถลำลึกไปกว่านั้นว่า ลายพระหัตถ์นั้น ผ่านขั้นตอนอย่างไร สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช รับปฏิบัติหรือไม่ ผ่านที่ ปรึกษากฎหมายหรือไม่ พระธัมมชโย ที่ตกเป็นจำเลยรับรู้มาตามลำดับหรือไม่
ให้ลายพระหัตถ์นั้นเป็นพระวินิจฉัยให้จงได้
เท่านั้นยังไม่พอ เพื่อให้เกิดผลทันทีคือให้ลายพระหัตถ์นั้นเป็นพระบัญชา
ถึงขั้นตอนเป็นพระวินิจฉัยและเป็นพระบัญชา
เกิดผลคือแพ้ชนะ นำมาโยงใยกับการประชุมของมส. ซึ่งตรงนี้มันทำท่าจะเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วมันต่างกันโดยสิ้นเชิง
มส.นั้น ประกอบด้วยพระเถระผู้อาวุโสในสังฆมณฑล 20 รูป โดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นองค์ประธาน
ในมส.นั้น ไม่มีฝ่ายค้าน มีเพียงฝ่ายเดียวคือ คณะบริหารเวลาประชุมกัน หากมีการอภิปราย ท่านก็จะพูดของท่านได้อย่างเต็มที่ แต่เวลา ลงมติ ท่านจะไม่ยกมือ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ท่านจะใช้วิธีโดยดุษฎี คือ นิ่ง เงียบ และ เฉย
ในเรื่องสำคัญจะรู้ได้ว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับมติมส. อยู่ที่การเขียน มส.ที่เป็นพระเถระรูปอื่น รวมทั้งสมเด็จพระราชาคณะเรียกว่า สมณลิขิต หรือเถรลิขิต เฉพาะสมเด็จพระสังฆราชเรียกว่า พระอักษร หรือพระลิขิต จะเรียกว่า ลายพระหัตถ์ตามที่ราชบัณฑิตแนะก็ไม่แปลก ซึ่งก็คือสิ่งเดียวกันนั่นแหละ
ลายพระหัตถ์ทั้ง 6 ฉบับ ดังกล่าวแม้จะไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุม มส. ครบถ้วนทุกฉบับก็ตามได้รับการตอบรับจากพระเถระในมส.ทุกรูป
สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ผู้อาวุโสสูงสุดฝ่ายมหานิกาย ได้กล่าวว่า จะสนองพระดำริที่ออกมาเป็นพระลิขิต
จะเห็นว่า ไม่มีรูปไหนคิดเป็นอย่างอื่น ล้วนแต่พร้อมที่จะสนองพระลิขิตกันทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม มส.นั้น ก่อเกิดขึ้นมาโดยกฎหมายปฏิบัติการไปตามตัวบทบัญญัติของกฎหมาย และพระธรรมวินัย ทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ปฏิบัติการใดๆ ของ มส. จะต้องปราศจากอคติโดยประการทั้งปวง นอกจากจะถูกต้องแน่นอนบนพื้นฐานแห่งความยุติธรรมแล้ว ทุกฝ่าย ต้องยอมรับได้ด้วย
คำสั่งใดๆ มติใดๆ จาก มส.ต่อวัดพระธรรมกายนั้น จะผิดพลาดไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว พระเถระทุกรูปในมส. ต่างประจักษ์อย่างแจ้งชัด คราวที่พระพิมลธรรม วัดมหาธาตุฯ ต้องคดี จุดด่างที่คณะสงฆ์ไทยได้รับคราวนั้น คอยสะกิดใจพระเถระในมส.วันนี้ ให้ระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ
ประการสุดท้าย คณะกรรมการมหาเถรสมาคม บริหารงานราชการคณะสงฆ์ในรูปแบบประชาธิปไตยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
ไม่ใช่เผด็จการ
พระเถระใน มส.ท่านใจเย็นสุขุมคัมภีรภาพ ไม่เต้นไปตามจังหวะเคาะหรือตารางของพวกใจร้อน กำหนดให้อย่างเด็ดขาด
พระระดับนี้แล้ว ท่านไม่ยอมเสียชื่อเมื่อแก่หรอก จริงไหม เถียน ไม่เชื่อจะบึ่งไปปรึกษาบุญถึงกับพยอมก็ได้เอ้า...