ปีที่ 2 ฉบับที่ 708 ประจำวันอาทิตย์ที่ 20 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542
ปุจฉา วิสัชนา
พระถูกดำเนินคดีอาญา
เจ้าหน้าที่ไม่ให้ประกันตัว จับสึกได้จริงหรือ???
ความเห็นทางวิชาการโดย ... เฉ่งอ้วน
ตามที่ตอนนี้ มีกระแสข่าวที่เรียกว่า Hot สุดๆ คนหนีไม่พ้นกรณีของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เมื่อถูกกล่าวหาดำเนินคดีอาญา แล้วหาก เจ้าหน้าที่สอบสวน ไม่ให้ประกันตัวนั้น สามารถให้สละสมณเพศ (สึก) ไดั้จริงหรือ???
แต่เมื่อเราได้มาลองเปิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2540 เราจะพบว่า
มาตรา 38 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพ ในการปฏิบัติ ตามศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรม ตาม ความเชื่อถือ ของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อ หน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัด แต่ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้ความคุ้มครอง มิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์ อันควรมิควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกาย ของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนาบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรม ตามความ เชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น
จะเห็นได้ว่า ในวรรคแรกนั้น ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายหรือพระภิกษุรูปใดก็ตาม ที่ผ่านการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธ ศาสนา โดยถูกต้องตามธรรมวินัย อันเป็นการ ปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ และมีกฎหมายรองรับว่า ท่านได้เป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์แล้วนั้น ตราบใด ก็ตาม ที่ยังมิได้มีการพิสูจน์ได้ชัดแจ้งจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องว่า
1. พระภิกษุรูปนั้น ต้องอาบัติปาราชิกหมด จากความเป็นพระภิกษุแล้ว
2. พระภิกษุรูปนั้น เกิดทำความผิดเฉพาะหน้า อันเป็นการขัดต่อความสงบ เรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น ดื่มสุราเมา อาละวาด เป็นต้น
3. พระภิกษุรูปนั้น ถูกตัดสินว่า ท่านได้กระทำความผิดจริง จากบุคคลที่มีอำนาจเต็มตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และมีคำสั่งให้ท่าน ต้องถูก จำคุกนั้น
ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีการผ่านขั้นตอนชี้ความผิด หรือลงโทษจำคุกตามขบวนการยุติธรรมแล้วข้างต้น ท่านจึงคงมีสิทธิอันชอบธรรม ตาม รัฐธรรมนูญที่ รัฐจะต้องให้ ความคุ้มครอง ที่จะปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ (ดำรงสมณเพศพระภิกษุ)
และในมาตราเดียวกันกับในวรรคสอง ระบุอย่างชัดเจนว่า "บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง มิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิ หรือเสียประโยชน์ อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา." นั้น ในวรรคนี้เอง แสดงให้เห็นกล่าวอ้างในมาตราที่ 29 ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไทยที่ว่า "พระภิกษุถูกจับโดยต้องหาว่า กระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ ไม่เห็นสมควรปล่อยตัวชั่วคราว ให้พนักงาน สอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการ ให้พระภิกษุรูปนั้น สละสมณเพศเสียได้ จึงเป็นการรอนสิทธิ (ในการดำรงสมณเพศ ของพระภิกษุ) ของภิกษุที่
1. ถูกกล่าวหาโดยที่ยังไม่มีคำตัดสินใดๆ ว่า ท่านได้กระทำความผิดจริง และ
2. มีคำสั่งให้ท่านต้องถูกจำคุกจากท่านผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง โดยการบังคับให้ภิกษุที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิด ต้องสละสมณเพศนั้น ทำให้ ท่านเสียประโยชน์อันควรมีควรได้คือ
1) ทำให้ท่านขาดอาจุพรรษาโดยที่ไม่สามารถแก้คืน หรือชดใช้คืนอายุพรรษาให้คืนดังเดิมได้ หากท่านถูกสั่งให้สละสมณเพศ โดยยังมิได้ ตัดสินความผิดนั้น
2) ทำให้ท่านถูกกระทำจากบุคคลอื่น โดยลักษณะที่เป็นการผิดปกติจากปกติวิสัย ที่บุคคลจะต้องปฏิบัติกับพระภิกษุ เช่น การถวาย และ การประเคน เป็นต้น
3) ทำให้ท่านต้องใช้คำพูดและกริยาอาการอื่นๆ อันมิใช่ปกติวิสัยของพระภิกษุ พึงใช้ปฏิบัติเช่น ไม่สามารถใช้คำพูดว่า อาตมา เจริญพร เป็นต้น อันเป็นเสรีภาพ อันชอบธรรม ที่พึง กระทำของพระภิกษุ
4) นอกจากนี้ ภิกษุใดที่ท่านยังเป็นพระในระดับพระราชาคณะด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการหมิ่นเหม่ต่อ การหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ เป็นอย่างยิ่ง พึงควรสังวรให้มาก
ดังนั้น พ.ร.บ. มาตรา 29 จึงเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 38 ปี พ.ศ.2540 จึงเป็นอันต้องตกไป ไม่มีผลบังคับใช้
และนอกจากมาตรา 38 ที่กล่าวในข้างต้น มีอีกมาตราหนึ่งที่ยืนยันว่า ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งตัดสินว่า พระภิกษุรูปนั้น ได้กระทำความผิด จริง อันเป็นเหตุให้ต้องมีการ สละสมณเพศ แต่ได้มีการกระทำใดๆ อันเป็นการทำให้ภิกษุนั้น สละซึ่งสมณเพศ เป็นสิ่งที่กระทำมิได้ ตามมาตรา 33 ดังนี้
มาตรา 33 ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลย ไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่า บุคคลใดได้ กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือน เป็นผู้กระทำความผิดมิได้
ซึ่งความในมาตรานี้ วรรคสอง ย่อมเป็นการชัดแจ้งแล้วว่า "ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำ/ปฏิบัติ ต่อผู้ต้องหาเสมือนเป็น ผู้กระทำความผิด" ซึ่งการให้พระภิกษุใดที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดในคดีอาญา ต้องสละสมณเพศ เนื่องจากเหตุผล ที่เจ้าหน้าที่มิให้ประกันตัว ซึ่งยังมิได้มีการ ตัดสินอันถึงที่สุดว่า ท่านได้กระทำความผิดจริงแต่อย่างใด ดังนั้น ความในมาตรา 29 ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไทย ปี พ.ศ.2535 จึงเป็นการขัดกับ รัฐธรรมนูญ ราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 33 โดยชัดแจ้ง จึงทำให้มาตรา 29 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ไม่มีผล บังคับใช้ทันที
และเนื่องจากอาศัยความในมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย ที่ว่า
มาตรา 6 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใด ของกฎหมาย กฏ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้
จึงมีผลให้ มาตรา 29 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไทย ปี พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2535 ที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540 มาตรา 33 และ มาตรา 38 เป็นอัน ตกไป ไม่สามารถมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมยได้ โดยอาศัยความตามในมาตรา 6 นั่นเอง
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว มาตรา 29 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไทยนั้น ประกาศใช้ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยมี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนอง พระบรม ราชโองการ ในการประกาศใช้ ซึ่งในยุคนั้น นักวิชาการในปัจจุบัน และท่านผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ หลายๆ ท่าน ได้ให้ความเห็นว่า ในยุคนั้น ค่อนข้างจะเป็นการบริหารประเทศ โดย เผด็จการ ของรัฐบาลทหาร ดังมีตัวอย่างในกรณีของท่านพระพิมลธรรม ที่ถูกสั่ง ให้มีการสละสมณเพศ ก่อนมีคำตัดสินว่า ท่านได้กระทำความผิด ต่อมาภายหลัง ที่ศาลทหารตัดสินว่า ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ ทำให้ท่าน ต้องเสีย สิทธิ อันพึงมีพึงได้ ตามสิทธิมนุษยชน ขั้นพื้นฐน และทำให้งานคณะสงฆ์ และการเผยแพร่ พระพุทธศาสนา ในยุคนั้น ต้องได้รับความกระทบ กระเทือน ไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ
และสำหรับในปัจจุบัน หากว่า มีพระภิกษุใดถูกกล่าวหาว่า ได้กระทำความผิดในคดีอาญา เจ้าหน้าที่ของรัฐ ควรกระทำอย่างไร
1. ห้ามทำการใดๆ ให้พระภิกษุรูปนั้น ต้องสละสมณเพศ โดยเด็ดขาด ไว้แต่เป็นความผิดเฉพาะหน้า เพราะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ.2540 มาตราที่ 38,33 และมาตรา 6 หากมีความประสงค์ จะให้ภิกษุรูปนั้น สละสมณเพศ ก่อนมีการตัดสินใดๆ ต้อง แก้กฎหมายรัฐธรรมนูญก่อน
2. เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ไม่เห็นสมควรที่จะปล่อยตัวชั่วคราว พระภิกษุรูปใด ที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดในคดี อาญา ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดหา สถานที่ที่เหมาะสม ตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้ท่านสามารถอยู่ปฏิบัติศาสนกิจ ในสมณเพศต่อไป จนกว่าคดีจะถึงที่สุด