ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2542

บทความพิเศษ "นิพพานเป็นอัตตา" จากหนังสือเถรบัญญัติ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

อัตตานุทิฏฐิ ความเห็นว่ามีตัวตน

อัตตานุทิฏฐิ คำนี้แปลว่าความ ตามเห็นว่าอัตตามี หมายเอา ความเห็นที่ชุ่มแช่อยู่ใน ขันธ์ ๕ อันเป็น สังขตธรรมว่า เป็นตัวตน คือขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นอัตตาตัวตน จัดเป็นความเห็นผิดนอกอริยสัจจธรรม ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ความเข้าใจของนักรู้เป็นส่วนใหญ่ ในทาง พระนิพพาน เห็นกันว่า เราหรือตนนั้นไม่มีจริงๆ ในที่ทั้งปวง ยึดข้อความและคำต่างๆ ตามที่ได้พบเห็น เช่นคำว่า อนัตตา ซึ่งแปลว่า ไม่ใช่ตน นั้น ไว้เป็นหลักฐานและเชื่อตามกันบ้าง ซ้ำตำราโดยมากก็ออกจะฟั่นเฝืออยู่ด้วย

ก็เนื่องด้วยความเห็นผิดนั้นเอง ตามที่ได้สังเกตมานาน เรื่องนี้ อยู่ข้างจะร้ายแรง ถ้าผู้ใดใครเห็นว่าเรามี ตนมี ขึ้นแล้ว ผู้นั้นจะต้องถูกสาป เพราะทิฏฐิอย่างนั้นเทียว ขาดการสมาคมคบค้า เพราะต่างความเห็น ให้รับฉายาว่า มิจฉาทิฏฐิ นอกพระศาสนา จึงจำเป็นต้องพูดไปตามกันว่า เราไม่มี ตนไม่มี เช่นนี้ ก็ในหนังสือฉบับนี้ ได้พูดประกาศความเห็นไว้ว่า เรามี ตนมีเรื่อยมา อย่างที่พูดว่า เมื่อได้ความบริสุทธิ์เป็นวิราคธรรมแล้ว ก็นับว่าได้เรา หรืออัตตาตัวตนที่แท้จริงเช่นนี้ มิต้องถูกติว่าอุตริ บัญญัติเรา หรืออัตตาขึ้นแล้วหรือ เพราะย่อมพูดสอนกันอยู่ว่า ให้ถอนเราถอนตน ออกเสีย อย่าทำความเข้าใจว่า เรามีตนมี จึงจะเห็นถูกตรงแท้ แม้แต่ พระนิพพานซึ่งเป็นวิสังขาร ก็เป็นเราหรืออัตตา ไม่ได้ทั้งนั้น แปลว่าไม่มีในที่ ทั้งปวง ฯ

ก็ความเห็นที่ว่าตนไม่มีนั้น ถูกอย่างไรฟังไม่เข้าใจ เห็นยึดอะไรเป็นหลักไม่ได้ พูดวนเป็นน้ำในอ่าง ฟังเหมือนพูดเล่นลวงคนต่อหน้าต่อตา พูดว่า เราไม่มีตนไม่มีอย่างนี้อย่างนั้นแล้ว ก็หนีเราหรือตนไปไม่พ้น กลับวนเข้ามาหาเราหาตนอีก ช่างเกลียดเราเกลียดตนเสียนี่กระไร แต่ก็ไปพึ่ง ใครที่ไหนไม่ได้ ก็กลับเข้ามาพึ่งเราพึ่งตนอีก นี่เป็นทิฏฐิ ถ้าหากว่าเป็นคนเขาก็ว่าคนไม่ดี นักเทศน์แสดงธรรมกล่าวปฏิเสธ เราหรือตน โดย ประการต่างๆ เราตนย่อมไม่มีเพราะเหตุนี้ๆ พอเผลอเข้า กลับกล่าวว่าเรา ไปตู่เอาเข้าเอง ที่แท้เราตนนั้นไม่มี   มีแต่เหตุเหลวไหลทั้งนั้น ก็ว่าเรา ตนไม่มีแล้ว เอาเราที่ไหน ไปตู่เราอีกเล่า ในที่สุดแห่งเทศนา กล่าวว่า เราจะได้รับผลอันพึงพอใจ เพราะความเห็นถูกว่าเราตนไม่มีนั้น ตนย่อม เป็นสุขสำราญ ทุกทิพาราตรีกาล ดังรับประทานวิสัชชนา มาด้วยประการฉะนี้ ช่างฟังยากเสียนี่กระไร

บางคนท่วงทีเป็นเจ้าฉลาด สามารถชักเอาหนวดเต่าเขากระต่ายเ ข้ามาเปรียบเทียบให้เห็นว่า การหาเราหรือตนนั้น เหมือนคนที่เที่ยวหา หนวดเต่าเขากระต่าย ย่อมไม่ได้สมความประสงค์ แปลว่า เซ่อ ความจริงเรื่องนี้คงไม่มีใครเถียง ก็ปากเต่าธรรมชาติสร้างมาไม่มีหนวด ศีรษะ กระต่าย ธรรมชาติสร้างมาก็ไม่มีเขา เหมือนกัน     ข้อนั้นเป็นความจริง จะเอาอะไรเล่า ใครๆ ที่เคยเห็น ปากเต่าศีรษะกระต่ายแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ไม่มีจริงๆ แล แต่ทว่า เพียงหาหนวดที่ปากเต่า หรือเขาที่ศีรษะกระต่ายไม่ได้เท่านั้น จะด่วนพูดปฏิเสธได้ทีเดียวหรือว่า หนวดและเขา ไม่มีในที่ ทั้งปวง

ถ้าหนวดและเขาไม่มีจริงๆ แล้ว คำบัญญัตินั้นก็ผิด เพราะสิ่งที่เรียกว่า หนวดและเขานั้นไม่มี แต่อันที่จริงหนวดและเขานั้นมี เฉพาะไม่มีก็ แต่ที่ปากเต่าและศีรษะกระต่ายเท่านั้น หาหนวดที่ปากเต่าไม่ได้ ก็ที่ปากแมวมี ที่ปากเราเองก็มีถมไป หาเขาที่ศีรษะกระต่ายไม่ได้ ที่ศีรษะวัวก็มีเขา กวางก็มีเขา

ถ้าหากว่า หนวดไม่มีในที่ทั้งปวงจริงๆ แล้ว เราก็ไม่รู้จักหนวด พูดได้อย่างไรว่า เต่าไม่มีหนวด ถ้าหากว่า เขาไม่มีในที่ทั้งปวงจริงๆ แล้ว เราก็ ไม่รู้จักเขา พูดได้อย่างไรว่ากระต่ายไม่มีเขา เพราะเรารู้จักหนวดและเขามิใช่หรือ จึงพูดออกมาได้ว่า หนวดเต่าเขากระต่ายไม่มี เพราะฉะนั้น หนวด และเขา ย่อมมีเป็นแท้ๆ แน่ๆ ทีเดียว จะปฏิเสธว่าไม่มีในที่ทั้งปวงนั้นไม่ได้ เพียงแต่คนหาไม่เป็นเท่านั้น

ข้อนี้ฉันใด เราหรืออัตตานั้นมีอยู่ พระองค์ทรงพบเห็น ทรงรู้จักแล้ว จึงตรัสสอนไม่ให้ยึดถือมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ ด้วย พระวาจา เช่นว่า นั่น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่อัตตาตัวตนของเราเช่นนี้ คำสอนอย่างนี้พระองค์ทรงสอนเรา สอนอัตตาตัวตน ก็ถ้าหากว่าเราไม่มี ตนไม่มีแล้ว คำสอนเช่นนั้น ก็ไร้ประโยชน์ ก็เพราะไม่มีเราไม่มีตนจะฟัง ไม่ได้ประโยชน์แก่ใคร เพราะฉะนั้นเราหรือตนนั้น ต้องมีเป็นแท้แน่ แต่จะหาใน ขันธ์ทั้ง ๕ หรือสังขตธรรมใดๆ นั้นไม่ได้ เหมือนการหาหนวดที่ปากเต่าและหาเขาที่ศีรษะกระต่าย ย่อมไม่ได้สมความประสงค์ เพราะสังขตธรรม ทั้งหลายเป็นฝ่ายปัด โดยความเป็นของไม่ดี มีทุกข์ เป็นสภาพไม่ถาวร ไม่ใช่เราไม่ใช่ตน ย่อมต้องได้ในพระนิพพาน พระนิพพานนั้นแหละ เป็นเรา เป็นตนดั่งนี้

เมื่อปัดฝ่ายสังขารอันเป็นฝั่งโลกีย์แล้ว ก็ต้องรับพระนิพพานอันเป็นฝั่งโลกุตตร เพราะข้างหนึ่งดีข้างหนึ่งชั่ว หรือข้างหนึ่งเที่ยง ข้างหนึ่ง ไม่เที่ยง ข้างหนึ่งไม่ตาย แต่อีกข้างหนึ่งตาย เช่นนี้ถ้าฝ่ายรับคือใช่ ไม่มีแล้ว ฝ่ายปัดคือไม่ใช่นั้น ก็มีไม่ได้ อัตตาตัวตนไม่มีแน่แล้ว อนัตตาไม่ใช่ตน นั้นก็มีไม่ได้เหมือนกัน

ประการหนึ่งเล่า ถ้าพระนิพพานไม่เป็นเราไม่เป็นตนแล้ว อริยมรรค ๘ ประการนั้นมีไว้ทำอะไร เพราะอริยมรรคเป็นเหตุ แห่งวิราคธรรม หรือนิพพาน เมื่ออุตส่าห์ทำเหตุคืออริยมรรค ให้เจริญแก่กล้า จนเกิดผลคือพระนิพพานนั้นขึ้นแล้ว ก็ปัดเสียอีกว่าไม่ใช่ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน เอาอะไรกันละ เหมือน น้ำและสบู่ อันเป็นเครื่องล้าง ฟอกเหงื่อไคลในร่างกาย ถ้าความบริสุทธิ์หมดจด ซึ่งเป็นผลแห่งการล้างฟอก ไม่เป็นเราแล้ว น้ำและสบู่ ก็หาประโยชน์ในเรื่องนั้นไม่ ฯ อัสมิมานะ แปลว่า ความถือว่าเราเป็น คือเราเป็นนั่นเป็นนี่ เช่นเป็นขันธ์ ๕ หรือ ภาวะที่แต่งตั้งขึ้น เป็น กิเลสร้ายแรง แต่ไปเข้าใจอัสมิมานะนั้นเสียว่า ความถือว่าเรามี จึงกล่าวสอนกันว่า เรามีไม่ได้ ต้องถอนเราออกเสีย จึงจักพ้นจากกิเลสตัวนี้ นั่นเป็น ความเข้าใจผิด ฯ

บางคนกล่าวว่าพระนิพพานเป็นของกลางๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ถ้าเช่นนั้นก็เห็นว่า อยู่คนละส่วน เราอย่างหนึ่ง พระนิพพานอย่างหนึ่ง เรากับพระนิพพานต่างกัน พยายามบิดพลิ้วหลีกเลี่ยงไปให้ได้ แต่ก็เหลวบิดพลิ้วไปไม่รอด เห็นผิด ได้พูดมาแล้วข้างต้นว่า วิราคธรรมหรือนิพพานนั้น เป็นชื่อของความบริสุทธิ์ เพราะคำต่างๆ ซึ่งเป็นไวพจน์ของพระนิพพาน ชี้บอกอยู่เองแล้ว เช่น วิสังขารสิ้นสังขาร วิราคะสิ้นราคะ นิโรธ ดับ ตัวพระนิพพานเองนั้น ก็แปลว่า ดับ คือดับกิเลสและทุกข์หมดสิ้น เป็นอาทิ ถ้าไม่ใช่ตัวความบริสุทธิ์แล้ว เป็นอะไร

ความบริสุทธิ์นั้น ก็เป็นลักษณะอาการของวัตถุสิ่งหนึ่ง กล่าวคือเป็นคุณต้องมีนาม คือวัตถุสิ่งหนึ่ง เป็นที่จอด คุณคือความบริสุทธิ์นั้น จะอยู่ตาม ลำพังไม่ได้ ใครเคยเห็นที่ไหนบ้าง ว่าความบริสุทธิ์อยู่ตามลำพังได้ ต้องมีวัตถุที่จอดทั้งนั้น มิใช่หรือ เช่น ความบริสุทธิ์ของน้ำ ความ บริสุทธิ์ของ เครื่องนุ่งห่ม และความบริสุทธิ์ของภาชนะต่างๆ เป็นต้น อยู่โดยลำพังต่างจากวัตถุได้ที่ไหน ก็เมื่อเข้าใจชัดแล้วว่า พระนิพพาน เป็นชื่อ ของความบริสุทธิ์ เป็นคุณมีวัตถุที่จอดเช่นนั้นแล้ว เราหรือตนนั้น ต่างกับพระนิพพาน หรือวิราคธรรมอย่างไร เหมือนกันมิใช่หรือ

สมมติว่า เราอาบน้ำขัดสี มลทิน เหงื่อไคลในกายจนหมดจดสะอาดแล้ว นั่งนอนสบาย ผลแห่งการอาบน้ำก็คือ ได้ความบริสุทธิ์ ก็ถ้าเขา ถามว่า ความบริสุทธิ์นั้นอยู่ที่ไหน ถ้าเราไม่ชี้ลงที่ตัวเราแล้ว ก็จะไปชี้เอาที่ไหนเล่า ต้องชี้ลงที่ตัวเรานั้นแหละ จึงจักเห็นความบริสุทธิ์ คราวนี้ถ้าเขา ถามอีกว่า เรานั้นอยู่ที่ตรงไหนเล่า ถ้าไม่ชี้ลงที่ตรงความบริสุทธิ์ แล้วจะไปชี้ที่ไหน ก็ต้องชี้ลงที่ตรงความบริสุทธิ์นั้นอีกแล   ซ้ำกันลงไปใน ที่เดียว กัน ไปไหนไม่รอด

นี้เห็นได้ว่า เราหรือตนกับพระนิพพานมีในที่เดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้ เราก็คือพระนิพพานๆ ก็คือเรานั้นเอง เมื่อเป็นดั่งนั้น จะว่าเรา หรือตนนั้นไม่มี พระนิพพานเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนได้อย่างไร เหลวไหล อุตส่าห์พยายามอาบน้ำขัดล้างเหงื่อไคล จนหมดน้ำตั้งตุ่ม เหงื่อไคลของ ตน จะได้ร่วงสักนิดก็ไม่มี ยังสกปรกโสมมอยู่อย่างนั้นเอง แต่ไปได้ความบริสุทธิ์หมดจด อยู่ที่ต้นเสา ซึ่งไม่เป็นเรา เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน อนิจจา พวกเราชาวโลกผู้ไม่มีที่พึ่ง พากันตั้งหน้าไปพึ่งพระนิพพาน ตามพระพุทธบรรหาร แต่ถูกนักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญ คัดค้านศีรษะสลอนว่า พระนิพพาน เป็น อนัตตาไม่ใช่ตัวตนเสียอีก พากันงันไปตามกัน วินิจฉัยอย่างไร จึงกลายเป็นเรื่องขบขันไปเสียเช่นนี้

วิราคธรรมหรือนิพพาน ที่เป็นความบริสุทธิ์แห่งอสังขตธรรมหรืออมัตนามธาตุนั้น เป็นเราเป็นอัตตาตัวตน พูดฟังง่ายๆ จะว่าจิตต์นั้นแล เป็นเราเป็นอัตตาตัวตนก็ได้ แต่ต้องหมายเอาจิตต์บริสุทธิ์ เป็นจิตต์โลกุตตร สังขตธรรมที่ประสมแอบแนบอยู่กับอสังขตธาตุนั้น เป็นอนัตตา ไม่ใช่ ตัวตน อสังขตธาตุที่ได้รับความบริสุทธิ์ เป็นนิพพานหรือวิราคธรรมแล้ว นั้นแลเป็นเราเป็นอัตตาตัวตน เป็นผู้เสวยผลแห่งความบริสุทธิ์ พระองค์ จึงตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดั่งนี้ ถ้าเราหรือตนไม่มีแล้ว พระองค์ตรัสอย่างนั้นไม่ได้

อย่างเรา เมื่ออาบน้ำขัดสีมลทินทำร่างกายให้บริสุทธิ์สะอาดแล้วก็พูดว่า สบาย หรือเป็นสุขฉะนั้น ความบริสุทธิ์นั้นก็อยู่ที่ตัวเรานั่นเอง เรา นั่นเองเป็นตัวความบริสุทธิ์ และเป็นผู้เสวยผลแห่งความบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกคนบริสุทธิ์ว่าเป็นพราหมณ์ ดั่งพระพุทธบรรหาร นี้ว่า

อเนญฺชํ นหาตกํ พุทฺธํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ ดั่งนี้ความว่า เรากล่าวผู้ที่ไม่หวั่นไหว มีตัวอันอาบล้างแล้ว ผู้รู้นั้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ดั่งนี้

พราหมณ์ในที่นี้คือพระอรหัตตผล คนผู้ได้อัตตาแล้ว น่าจะกล่าวว่าผู้ไม่เห็นอัตตาตัวตนนั้นแหละ เป็นผู้อาภัพ แต่เขากลับกล่าวว่า คนที่ เห็นอัตตาตัวตนมีนั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิ ลงโทษให้นั่งเฝ้าหัวตอประจำโลก ไปนิพพานไม่ได้ ต้องเที่ยววนเวียนโดยสังสารวัฏฏ์ ก็เราหรือตนไม่มีแล้ว อะไรไปนั่งเฝ้าหัวตออยู่อีกเล่า และใครอีกเล่าเป็นผู้พ้นจาก การนั่งเฝ้าหัวตอไปได้ น่าจะว่าคนไม่มีตนนั้นและ นั่งเฝ้าหัวตอประจำโลก เป็นผู้วน เวียนความเห็นก็วนเวียน พูดออกมาก็วนเวียน ทำให้ผู้ฟังวนเวียนอีก เป็นจำนวนไม่น้อย ในที่สุดไปนั่งเฝ้าหัวตออยู่ด้วยกันหมดฯ

บางท่านอ้างว่าอัตตานั้น เป็นบัญญัติหรือสมมติถอนบัญญัติเสียแล้ว ไม่มีอะไร ข้อว่าเป็นบัญญัตินั้นถูก แต่ที่ว่าถอนบัญญัติเสียแล้ว ไม่มี อะไร เข้าใจว่าไม่ถูก ก็สิ่งต่างๆ ที่เราเห็น เราต้องเห็นได้ด้วยตา ๒ อย่าง คือตาเนื้อ ๒ ลูกนี้อย่างหนึ่ง ตาปัญญาที่เรียกว่าปัญญาจักษุนั้นอย่างหนึ่ง รูปต่างๆ ในภายนอกเราเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ๒ ลูกนี้ แต่สภาวธรรมต่างๆ ในภายในต้องเห็นได้ด้วยปัญญาจักษุ พระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ ทรงอาศัยพระปัญญาจักษุ สิ่งทั้งหลาย เพียงเท่าที่ปรากฏด้วยตา ๒ อย่างนั้น ยังไม่เป็นบัญญัติหรือสมมติ ต่อเมื่อได้คิดนึกแต่งตั้งขึ้น หรือได้เปล่ง เสียงประกาศชื่อสิ่งของนั้นๆ ให้ผู้อื่นรู้เห็น จึงเป็นบัญญัติหรือสมมติขึ้น วัตถุเกิดก่อน บัญญัติหรือสมมติเกิดทีหลัง ตัวอย่างเช่นถ้วย วัตถุมีขึ้นก่อน คนจึงคิดบัญญัติ เรียกสิ่งนั้นว่าถ้วย หากวัตถุสิ่งนั้นไม่มี คำที่เรียกว่าถ้วย ก็มีไม่ได้เหมือนกัน บัญญัติจะเกิดก่อนวัตถุไม่ได้เลยทีเดียว วัตถุยังไม่มี จะบัญญัติเรียกว่าอย่างไรก็ไม่ได้ แต่ถ้าหากวัตถุสิ่งนั้นมีอยู่แล แม้เราไม่ได้ใช้บัญญัติเรียกว่าอะไร วัตถุสิ่งนั้น ก็ย่อมมีอยู่โดยปกติธรรมดา

เพราะฉะนั้นจึงว่า คนที่เห็นว่าถอนบัญญัติหรือสมมติแล้ว ไม่มีอะไรนั้น ผิดหาถูกไม่ อัตตานั้นเป็นบัญญัติจริงแท้ แต่บัญญัติลงไปในวัตถุที่มี ถึงแม้ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นั้นก็บัญญัติเหมือนกัน ตลอดถึงธรรมคำสอนอื่นๆ ของสมเด็จพระพุทธเจ้า เช่นอริยสัจจ์ ๔ โพชฌงค์ ๗ เป็นต้น ก็เป็น บัญญัติทั้งนั้น รวมความว่าอะไรๆ ที่เราพูดจาเรียกใช้กันอยู่ เป็นบัญญัติทั้งนั้น สิ่งนั้นๆ เป็นแต่ประกาศลักษณะอาการให้เรารู้เห็นเฉพาะตนเท่านั้น เมื่อจะพูดจากัน ก็ต้องอาศัยบัญญัติ และสิ่งนั้นๆ ที่มีอยู่ คนจะตั้งบัญญัติขึ้นหรือจะเลิกถอนบัญญัติ เสียก็ตาม สิ่งนั้นๆ ก็มีอยู่โดยปกติธรรมดา หาสิ้นสูญ เพราะเลิกถอนบัญญัติของคนไม่ หากสิ้นสูญก็สูญไป เพราะสิ้นเหตุของสิ่งนั้นเองตามธรรมดา

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาเห็น ตาม ความเป็นจริงในสังขารธรรม โดยความเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นใน สังขารนั้นเท่านั้น ทำไมจึงต้องเลิกถอนบัญญัติ หรือ สมมติ และทำวัตถุที่ตั้งของบัญญัตินั้น ให้ละลายหายสูญไปด้วยเล่า แล้วก็หาเป็นจริง อย่างว่า นั้นไม่ โทษเพราะยึดถือต่างหาก หาเป็นโทษเพราะ สมมติไม่ ก็เมื่อทราบว่าเป็นบัญญัติด้วยกันทั้งนั้น เหตุใดจึงเลือกพูดเอาแต่ข้างว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาตัวตนเล่า ข้างเราข้างอัตตาตัวตนพูดไม่ได้ ปัดข้างสังขารธรรมด้วยคำว่า อนัตตาไม่ใช่ตนแล้ว แต่ก็ไม่กล้ารับพระนิพพานว่าเป็นอัตตา เมื่อเช่นนั้นก็ไม่มีโอกาสพบตัวของตัวเอง เฝ้าคลำแต่ สังขารธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวของตัวอยู่ร่ำไป จะปฏิบัติตามพระพุทธภาษิตว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนของตนเป็นที่พึ่งของตนได้อย่างไร ก็เพราะตัว ของตัวนั้นไม่มี หาไม่ได้จะเอาที่พึ่งมาจากไหน เพราะฉะนั้น จึงควรรับพระนิพพานว่า เป็นอัตตาตัวตนเสีย อย่าปัดเสียเลย พระนิพพานเป็นที่พึ่ง อันประเสริฐที่สุดแล้ว

แต่คำว่ารับนั้น มิได้หมายความว่ายึดถือในคำบัญญัติที่เรียกใช้ ถ้ายึดถือก็นับว่าติดคำบัญญัติที่ใช้เรียก อสังขตธาตุที่ได้ความบริสุทธิ์เป็น นิพพานแล้ว ไม่มีการยึดถือ บางคนพูดว่าปล่อยวางสิ่งอื่นๆ แล้ว ไปยึดถือพระนิพพานเข้าอีก พูดกันว่าปล่อยนอกติดใน ถ้ายึดถือพระนิพพาน เราก็ต้องเป็นขันธ์ ๕ เพราะเกิดเป็น ๒ ขึ้นแล้ว คือเราอย่างหนึ่ง พระนิพพานอย่างหนึ่ง เมื่อเราเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นเราแล้ว เราก็ปล่อยวางขันธ์ ๕ ไม่ได้ เพราะขันธ์ ๕ เป็นเราๆ เข้าไปยึดพระนิพพาน ครั้นขันธ์ ๕ แตกดับลงเราก็ตายตามขันธ์ ๕ แต่พระนิพพานไม่ยักตาย เมื่อเช่นนั้น เราก็หา พ้นตายไม่ จะพ้นตายได้ ก็เราต้องเป็นพระนิพพาน พระนิพพานเป็นเรา เป็นอัตตาตัวตน จึงจักปัดขันธ์ ๕ ปล่อยวางความยึดถือได้ ก็เมื่อเราเป็น พระนิพพานเสียแล้ว ไปยึดพระนิพพานอะไรอีกเล่า เพราะฉะนั้นที่พูดว่าไปยึดพระนิพพานเข้าอีก ฟังไม่เข้าใจคล้ายกับ คนที่ดึงหูยึดจมูกของตัวเอง จะให้เป็นคนบ้าเสียอีกแล้ว ฯ

ในศาสนาพราหมณ์ ถือจิตต์เป็นต้น จึงเรียกจิตต์นั้นว่าอาตมัน คืออัตตา ถึงคนโดยมากในเวลานี้ ที่ยังไม่สู้ชำนาญในธรรมสูง ก็ย่อมรู้สึกว่า จิตต์เป็นตนเหมือนกัน แต่เมื่อจิตต์ยังไม่ได้ความบริสุทธิ์ เป็นนิพพานหรือวิราคธรรม ความเห็นอย่างนั้น ควรนับว่า วิปลาสเคลื่อนคลาดอยู่บ้าง เพราะ จิตต์เป็นสังขารธรรม ของประสมไม่บริสุทธิ์ เหมือนทองคำธรรมชาติที่ประสม ด้วยวัตถุธาตุต่างๆ จนเสียพรรณสัณฐาน คุณประโยชน์ ไปแล้ว จะเรียกว่าทองคำธรรมชาติอย่างไรได้   ถึงดั่งนั้นก็ยังดีกว่า คนที่ตั้งอยู่ในภูมิธรรมชั้นสูง แล้วกล่าวปฏิเสธว่า เราหรือตัวตนไม่มี อันจิตต์ สามัญเช่นนั้น

หน้าที่พระองค์จะทรงปฏิเสธด้วยคำว่า อนัตตาไม่ใช่ตนได้ แต่ก็ไม่เคยพบเห็นอย่างจังๆ พบแต่ทรงแยกปฏิเสธ เฉพาะสังขารธรรม อย่างใน อนัตตลักขณสูตร ๖ คือทรงปฏิเสธขันธ์ ๕ ด้วยคำว่าอนัตตา ส่วนจิตต์นั้น รวมอยู่ ๒ ประการ คืออสังขตธาตุกับสังขารธรรม จึงควรบัญญัติ จิตต์ว่า อนัตตาตามศาสนาพราหมณ์ได้ พระอรรถกถาจารย์ก็ได้บัญญัติแล้วเหมือนกัน สำหรับใช้ชั้นต่ำอันจะก้าวไปหาสูงกว่า จะได้พบอัตตาตัวตน ที่จริง แท้ แม้สมเด็จพระพุทธเจ้า ก็ทรงเห็นว่า จิตต์สำคัญเหมือนกัน จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนา อันเนื่องด้วยจิตต์ไว้มากมาย ผู้ศึกษาทั้งหลาย ก็ย่อม ทราบกันอยู่แล้ว เช่น พระพุทธภาษิตว่า มโน ปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโน เสฏฺา มโน มยา ฯ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า ใจประเสริฐสำเร็จ แล้วด้วยใจ และว่า จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ จิตต์ที่ฝึกฝนแล้วนำความสุขมาให้ดังนี้ ถึงในหนังสือฉบับนี้ก็ได้พูดถึงความสำคัญของจิตต์มาแล้วข้างต้นๆ เหมือนกัน

อันที่จริงเราหรืออัตตาตัวตนนั้น ชาวโลกย่อมใช้เรียกกันอยู่ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ก่อนพระพุทธเจ้าของเราเกิดขึ้นในโลก ตลอดมาจนถึง ทุกวันนี้ แต่หมายบัญญัติลงที่อัตตภาพร่างกายอันนี้เท่านั้น ความเข้าใจของสามัญสัตวโลก จึงจัดว่าเข้าใจผิด ด้วยธรรมชาติที่ไม่ควรเป็นเราเป็นตน ก็มาบัญญัติหมายเรียกใช้ว่าเป็นเราเป็นตนเอาฝ่ายปัดมาเป็นฝ่ายรับ คือเข้าใจว่าเป็นอัตตาในธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ด้วยอำนาจอวิชชาความเขลา กำบังไว้ ก็เมื่อเข้าใจเช่นนั้นตั้งลงมั่นเสียแล้ว จะให้เห็นว่า ขันธ์ ๕ เหล่านั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนนั้น ย่อมไม่ได้ ในเมื่อเขาไม่ได้อัตตาอย่างอื่น เข้ามาแทนที่ แม้ว่าขันธ์ ๕ เหล่านั้นเกิดแล้ว แปรปรวนแตกดับไป ประกาศความ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ให้เห็นปรากฏอยู่ ก็หาเห็นว่า เป็นอนัตตาไม่ ก็เพราะไม่เห็นอัตตาอย่างอื่นว่า มีและดียิ่งกว่านั้น

ยิ่งไปทำความเข้าใจ ว่าอัตตานั้นไม่มีในที่ทั้งปวง ตามคนเห็นผิดเข้าอีก น่าที่จะยิ่งซ้ำร้าย คราวนี้เรรวนเคว้งคว้าง จับอะไรไม่ได้ ตกเข้า กระแสแห่งคนบ้า อะไรๆ ก็เป็นอนัตตาไปหมด จอดที่ไหนไม่ติด ธรรมดาย่อมต้องมีเป็นคู่กัน มีอนัตตาก็ต้องมีอัตตามาเป็นคู่เทียบกัน ในที่ทั้งปวง ย่อมเป็น ๒ ทั้งนั้น จะว่าอัตตาตัวตนไม่มีในที่ทั้งปวงนั้นไม่ได้ คนที่ไม่เห็นอัตตาในพระนิพพานโดยความเข้าใจของตนเองแล้ว แม้จะพูดว่าขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาก็ดี หรือพูดว่าอัตตาไม่มีในที่ทั้งปวงก็ดี เป็นความรู้ไม่เทียบคู่ คือรู้แต่ข้างเดียว ไม่รู้ทั้ง ๒ ส่วนทั้งนั้น รู้อย่างนั้นเป็นความรู้ไม่จริง ไม่ใช่ ความรู้ที่เกิดแต่ปัญญาของตนเอง เป็นแต่รู้ตามสัญญาที่จำได้ หรือรู้ตามตำราที่ว่าไว้เท่านั้น   คือได้เห็นตำราหรือเขาพูดว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา

เมื่อ คิดถึงขันธ์ ๕ พิจารณาลงไปเมื่อใด สัญญาที่จำไว้ได้ก็รีบออกมาชิงบอกทันทีว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เพียงเท่านั้น ก็อาจคุยได้ว่า ฉันเห็นอนัตตาแล้ว ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาจริงๆ แต่ใจก็ยังรวนเรลังเล เพราะเมื่อปฏิเสธขันธ์ ๕ เสียแล้ว ก็ไม่เห็นอะไรที่จะจับ ก็กลับ ไปจับขันธ์ ๕ นั้นเข้าอีก เป็นอัตตาอีกแล้ว

ครั้นพิจารณาเข้าอีก สัญญานั้นก็บอกว่าไม่เห็นอะไรในขันธ์ทั้ง ๕ ที่จะเป็นสาระได้เลยก็เป็นอนัตตาอีก แล้วก็วนเข้าไปเป็นอัตตาอีก คราวนี้ อัตตา-อนัตตา ก็นอนขลุกขลุ่ยกันอยู่ทั้ง ๒ ในขันธ์ ๕ นั้นเอง อย่างนี้ควรเรียกว่าอนัตตาสัญญา หรืออนัตตาตำรา

อย่างเราได้ยินใครเขาพูดว่า ไม่มี ซึ่งเป็นคำปัด เราก็พูดตามเขาด้วยว่าไม่มี แต่ครั้นใครอีกคนหนึ่ง ถามขึ้นว่าอะไรไม่มี เราก็ต้องตอบว่า ไม่รู้ได้ ได้ยินคนโน้นเขาพูด คนพูดก่อนรู้ แต่เราไม่รู้เช่นนี้ หรือ อย่างเรามีธนบัตรปลอม แต่เราไม่รู้จัก มีเพื่อนที่รู้จักคนหนึ่งเห็นเข้า ก็บอกเราว่า ธนบัตรใบนี้ปลอม แล้วเราก็จำธนบัตรใบนั้นไว้ แล้วบอกกับคนอื่นๆ ต่อไปว่า ธนบัตรใบนี้ปลอม แต่ครั้นใครอีกคนหนึ่ง เขาถามเราผู้เจ้าของว่า ก็ธนบัตรแท้นั้น เป็นอย่างไรเล่า เราก็จนละซิ ไม่รู้ว่าธนบัตรแท้เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น เราเองก็หารู้จักธนบัตรปลอมใบนั้นไม่  ก็เพราะไม่รู้จัก ธนบัตรแท้มาก่อน เป็นแต่รู้จักตามเขาบอก ก็แปลว่ารู้ตามสัญญาเท่านั้นเอง ไม่ใช่ความรู้ของเราจริงๆ

ความรู้ที่เกิดปัญญาของเราจริงๆ นั้น ควรต้องรู้ทั้ง ๒ อย่าง คือ รู้ทั้งฝ่ายรับและฝ่ายปัด รู้ทั้งของแท้และของเทียม จึงจัดเป็นความรู้จริง ฉะนั้น ฉันใด คนที่ไม่รู้จักอัตตาแล้ว จะรู้จักว่าขันธ์ ๕ เป็นอนัตตานั้นไม่ได้ ถึงเห็นและพูดอยู่ ก็เห็นและพูดตามสัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ความรู้ ความเห็นของ ตนเอง

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอริยชนพุทธสาวกของพระองค์ ผู้มีญาณจักษุอันเสร็จมาแต่อริยมรรค ท่านเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ ตัวตน เพราะท่านได้ธรรมอย่างอื่นคือ พระนิพพานเป็นอัตตา แล้ว ความรู้ของท่านจัดเป็น ความรู้จริงแท้ เพราะฉะนั้น แลพระองค์จึงตรัสกับพระ พวกเบ็ญจวัคคีย์ว่า อมตธรรมเราได้แล้ว ครั้นต่อมาพระองค์ก็ทรงแสดงขันธ์ ๕ เหล่านั้นว่าเป็นอนัตตา ให้พระพวกเบ็ญจวัคคีย์ฟังเช่นนี้ พิจารณาดู เถอะ คนที่ไม่ได้อัตตาจะพูดว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาอย่างไรได้

ก็สามัญสัตวโลก ที่ยึดถือขันธ์ ๕ เป็นอัตตา ไม่เห็นว่าเป็นอนัตตานั้น ก็เพราะไม่ได้ญาณจักษุ อันเสร็จมาแต่อริยมรรคอย่างพระอริยเจ้า เอาฝ่ายรับทับฝ่ายปัดไว้ เหมือนคนที่ใช้ทองปลอม เข้าใจว่าเป็นทองแท้ แม้อาการปลอมของทองนั้น ปรากฏให้เขาเห็นอยู่ก็ตาม แต่เพราะเขารู้ แต่ข้างเดียว ไม่ได้เห็นทองอย่างอื่นที่ดีกว่า เข้ามาเทียบ ก็เข้าใจว่า นี่แหละทองแท้ เอาฝ่ายรับทับฝ่ายปัดไว้ ก็เมื่อเขาเห็นว่า นี่แหละแท้เสียแล้ว จะเอาทองปลอมที่ไหนเล่า ต่อเมื่อไร เขาได้เห็นทองอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นของแท้จริงๆ มีพรรณสัณฐาน คุณประโยชน์ดีกว่าที่เขาใช้อยู่นั้น ได้กลับทำ ความเข้าใจเสียใหม่ว่า นี้แหละเป็นทองแท้ ที่เราใช้อยู่นั้นเป็นของปลอม คราวนี้อาการปลอมของทองเดิมก็ประกาศชัดเด่นขึ้น ปรากฏแก่เจ้าของ ทองปลอมก็เกิดขึ้น เพราะเขาได้เห็นทองแท้จริงๆ เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง อันจะเทียบให้เห็นได้ว่าต่างกัน ความรู้ของผู้นั้น จัดว่า เป็นความรู้จริง ไม่เคลื่อนคลาด เพราะได้ความฉลาด ทั้งฝ่ายรับและฝ่ายปัด ฉะนั้น

สามัญสัตวโลกผู้มีอวิชชาคลุมกำบัง เมื่อยังไม่ได้ญาณจักษุ อันเป็นประดุจแสงสว่างส่องธรรมทั้งปวง และอสังขตธาตุ ไม่ได้ความบริสุทธิ์ เป็นนิพพาน อันเป็นอัตตาตัวตนที่แท้จริงแล้ว ก็เข้าใจและยึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นอัตตาตัวตน อนัตตาในขันธ์ ๕ นั้น ก็หาปรากฏแก่ผู้โง่เขลานั้นไม่ ต่อเมื่อ อสังขตธาตุได้ความบริสุทธิ์เป็นนิพพาน ได้อัตตาอย่างอื่น อันประเสริฐพิเศษแล้ว ถอนอัตตาในขันธ์ ๕ ที่เข้าใจผิดนั้นออกเสีย ขันธ์ ๕ ก็เป็นอนัตตาทันที จึงนับว่า ได้เห็นอนัตตาจริงๆ ไม่ใช่อนัตตาสัญญา หรืออนัตตาตำรา ดั่งว่าแล้ว

เพราะเหตุดั่งพรรณนามานี้แล ในโลกจึงไม่มีใครรู้จัก คำว่าอนัตตาไม่ได้ใช้พูดกัน เฉพาะเป็นความรู้ความเห็นของพระพุทธเจ้า มีใน พระพุทธศาสนาเท่านั้น นักศึกษาธรรมชอบอ้างนักว่า อนัตตาเป็นธรรมอันสูงลิ่ว ชาวโลกไม่มีใครรู้จัก ในลัทธิศาสนาใดก็ไม่มี เป็นความรู้ของ พระพุทธเจ้าอย่างสูงสุด ก็เพราะว่า สามัญสัตวโลกก็ดี หรือแม้ศาสดาเจ้าคณาจารย์ใดๆ ก็ดี ไม่รู้จักอัตตานั้นเอง จึงไม่รู้จักอนัตตา ที่ไม่รู้จักอัตตา ก็เพราะไม่ได้อริยมรรค ๘ ประการ อริยมรรคนั้นเล่า ก็เฉพาะมี ในพระพุทธศาสนา เป็นความรู้ของ สมเด็จพระพุทธเจ้าเท่านั้น อีกแหละ เท่าที่ได้ กล่าวมาถึงเพียงนี้ เป็นอันได้แก้ความเข้าใจของส่วนมากที่ว่า เราหรืออัตตาตัวตน ไม่มีในที่ทั้งปวงได้แล้ว แต่นับว่ายังไม่สู้เรียบร้อยดี เพราะมีข้อ อะไรอยู่อีกหลายอย่าง ซึ่งจะเป็นหลักฐานให้ยกขึ้นอ้างคัดค้านอีกได้

(ยังมีต่อ)