ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2542
บทความพิเศษ "นิพพานเป็นอัตตา" จากหนังสือเถรบัญญัติ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อัตตานุทิฏฐิ ความเห็นว่ามีตัวตน (ต่อ)
มีพระพุทธภาษิตสำคัญอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งทำให้ส่วนมากเข้าใจว่า เราหรืออัตตาตัวตนนั้นไม่มีในที่ทั้งปวง ชอบอ้างถึงทุกคราว ในเมื่อพูดกันถึง เรื่อง อัตตา-อนัตตา ถือกันว่า เป็นหลักฐานแข็งแรง แต่ดูก็ไม่น่าจะแข็งแรงอะไรเลย จะยกมากล่าวไว้ให้เห็น เฉพาะตรงที่ต้องการว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ดังนี้ จัดเป็น ๓ ทอด ต่างอาการกัน
ทอดต้นว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารธรรมทั้งสิ้นไม่เที่ยง
ทอดที่ ๒ สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารธรรมทั้งสิ้นเป็นทุกข์
ทอดที่ ๓ ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งสิ้นเป็นอนัตตา จัดเป็นข้อได้ ๓ ข้อ
ในข้อที่ ๓ ทอดที่สุดที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งสิ้นเป็นอนัตตานี้ และให้เข้าใจไปว่า พระนิพพานเป็นอนัตตาด้วย เพราะเพ่งคำว่า ธรรมทั้งหลาย หมดเป็นอนัตตา จึงเข้าใจว่า พระนิพพานหรือวิสังขาร และนิโรธ วิราคธรรมอะไรนั้น ก็เป็น อนัตตา ด้วยกันทั้งสิ้น เห็นกันว่า ถูกต้องดีแล้วกระมัง จึงยึดถือกันไว้เป็นหลักความเห็น จึงใช้พูดกันว่า พระนิพพานเป็นอนัตตา
ทอดที่ ๑ แสดงสังขารธรรม ชี้ลักษณะ ไม่เที่ยง
ตอนที่ ๒ แสดงสังขารธรรมชี้ ลักษณะ เป็นทุกข์
ทอดที่ ๓ กล่าวต่างออกไปว่าธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา
จึงพาให้เข้าใจกันว่า สังขารธรรมไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ครบทั้ง ๓ ลักษณะ ส่วนพระนิพพานนั้น ต้องเป็น ของเที่ยง ไม่มีทุกข์ จึงไม่มีเงาอันจะพาดพิงถึงใน ๒ ข้อข้างต้น แต่เป็นอนัตตาด้วยในข้อที่ ๓ เพราะคำว่า ธรรมทั้งสิ้นกินความกว้างครอบทั่วไป เพราะฉะนั้น พระนิพพานก็เป็นอนัตตา ฟังขัดหูอย่างไรอยู่ น่าจะว่าวินิจฉัยด่วนเกินไป คงเกิดแต่เรื่องหาอัตตาไม่พบ แลเห็นว่า อัตตาไม่มีในที่ทั้งปวง ตั้งลงเป็น พื้นใจอยู่แล้ว จึงรีบทำความเข้าใจเสียว่า พระนิพพานเป็นอนัตตาแน่ได้ ในพระพุทธภาษิตนี้เอง แต่ก็มีผู้สงสัยอยู่อีกมากเหมือนกัน ข้างฝ่ายที่หมด สงสัยแล้ว ชอบยกขึ้นอ้างทุกครั้ง และมีหน้าที่ตัดสินผู้ที่เห็นว่า อัตตามี ให้นั่งเฝ้าหัวตอประจำโลก ไปนิพพานไม่ได้
ก็ถ้าไม่รีบเกินไป เราต้องนึก ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ๓ ลักษณะนี้ ในที่มาทุกแห่งแสดงไว้ในฟากฝั่งสังขารธรรม หรืออยู่ในฟากฝั่งโลกีย์ ทั้งนั้น นี่ทำไม จึงปล่อยให้ไปเพ่นพ่านอยู่ในฟากโลกุตตร ก็ อนัตตา นี้เป็นประดุจตัวอุบาทว์ เข้าที่ไหนฉิบหายที่นั้น เป็นฝ่ายปัด เข้าไปใน พระนิพพาน ก็ไปปัดพระนิพพานอีก ก็เมื่อพระนิพพานถูกปัดเสียแล้ว อริยมรรค ๘ ประการซึ่งเป็นเหตุให้เกิดผล คือพระนิพพานนั้น จะถือเอา ประพฤติปฏิบัติทำอะไร พระพุทธภาษิตนี้แสดงว่า ธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา เท่านั้น ไม่ได้แสดงว่า พระนิพพานเป็นอนัตตาด้วยเลย
ถึงแม้ว่า คำว่าธรรมทั้งสิ้นนั้น กินความกว้างอาจถึงพระนิพพานด้วยก็ได้ ก็เพียงอนุมานยังไม่ควรจะรีบด่วน ก็คำว่าธรรมทั้งสิ้น ในพระพุทธ ภาษิตนี้ น่าจะเข้าใจว่า ได้แก่ อสังขตธาตุ ที่ยังไม่ได้ความบริสุทธิ์ เป็นวิราคธรรมหรือนิพพาน คืออสังขตธาตุของสามัญสัตว์ ดั่งได้พูดบ้างแล้ว ใน ตอนต้นแห่งหนังสือฉบับนี้ อสังขตธาตุของสามัญสัตว์ แม้จะวิเศษประเสริฐดีกว่าสังขารธรรม ก็ไม่สำเร็จผลประโยชน์ เพราะไม่หมดจดสะอาด เหมือนธาตุที่นิยม เช่น ทองเป็นต้นประสมกันอยู่กับธาตุต่างๆ อันไม่เป็นที่นิยม เมื่อไม่ทำการแยกล้างฟอกให้สะอาดก่อนแล้ว ก็หาสำเร็จประโยชน์ ในการใช้สอยอย่างใดได้ไม่ อสังขตธาตุของสามัญสัตวโลกก็เช่นนั้น ต้องทำให้ได้ความบริสุทธิ์ เป็นวิราคธรรมหรือนิพพานก่อน จึงจักสำเร็จเป็น ผลประโยชน์ได้
จะนำพระพุทธภาษิต ที่ได้ยกขึ้นตั้งเป็น กระทู้แห่งหนังสือฉบับนี้ข้างต้น มากล่าวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เทียบให้เห็นใน พระพุทธ ภาษิตว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา นั้น ยาวตา ภิกฺขเว สงฺขตา วา อสงฺขตา วา วิราโค เตสํ อคฺคมกฺขายติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคธรรม (แล) เรากล่าวว่า เป็นยอดเลิศของธรรม ๒ ประการนั้น
คราวนี้เราพิจารณาเห็นข้อธรรม ๓ ข้อ คือ สังขตธรรม ๑ อสังขตธรรม ๑ วิราคธรรม ๑ สิ่งที่เข้าไปประสม ทำให้มัวหมอง หรือของที่ แปรปรวน เกิดดับ เรียกว่า สังขารธรรม ข้อต้น ฯ สิ่งที่ยืนตัวเป็นประธานมั่นคงถาวร เรียกว่า อสังขตธรรม ข้อที่ ๒ ความบริสุทธิ์หมดจด ได้แก่ วิราคธรรม ข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นตัวพระนิพพาน พระพุทธภาษิตนี้ ต้องทำความเข้าใจว่า สังขตธรรมกับอสังขตธรรม รวมกัน ถึงแม้ว่า ได้ทรงแสดงแยก เป็นข้อๆ แล้วก็จริง ก็ต้องทำความเข้าใจอย่างนั้น เพราะวิราคธรรม อันเป็นตัวความบริสุทธิ์ ข้อที่ ๓ นั้น เป็นผลของอริยมรรค สังขตธรรมกับ อสังขตธรรม ก็ต้องเป็นกิจของอริยมรรค ถ้าสังขตธรรมกับอสังขตธรรม ไม่รวมกันแล้ว อริยมรรคก็ไม่มีกิจที่จะต้องทำ เพราะแยกกันเสียแล้ว ผลคือ วิราคธรรม ข้อที่ ๓ แสดงไว้ทำอะไรอีกเล่า
กิจที่อริยมรรคจะต้องกระทำก็คือ กำจัด สังขตธรรม ซึ่งเป็นประดุจมลทินให้หมดสิ้นจาก อสังขตธรรม ได้ความบริสุทธิ์เป็นสังขารคือ วิราคธรรมนั้นเอง
ถ้าไม่ทำความเข้าใจว่า รวมกันอย่างว่านั้นแล้ว อสังขตธรรม ในที่นี้ก็เป็นวิสังขาร ตรงกับวิราคธรรมข้อที่ ๓ นั่นเอง เมื่อเช่นนั้น พระธรรม เทศนา พุทธภาษิต ก็ไร้ประโยชน์ในการแสดง ผู้ไม่เข้าใจก็จะหาว่าไม่ใช่พุทธภาษิต แต่ก็เป็นธรรมมีที่มาเป็นหลักฐาน มีอยู่ใน อัคคัปปสาทสูตร และรัตตนสูตร ในพระไตรปิฎก ฯ ของที่รวมกัน แต่จะต้องแยกพูดเป็น ๓ เรื่องตามวัตถุที่ตรัสว่า สังขตธรรม ก็ดี อสังขตธรรมก็ดี เรากล่าวว่า วิราคธรรมเป็นยอดเยี่ยมนั้น ก็เปรียบความเหมือนเราพูดว่า ถ้วยอย่างหนึ่ง มลทินอย่างหนึ่ง ความบริสุทธิ์ของถ้วยอย่างหนึ่ง ๓ ข้อนี้ ข้อที่ ๓ เราต้อง เข้าใจว่า ถ้วยแยกออกจากมลทินแล้ว จึงพูดว่า บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ๒ ข้อข้างต้น ต้องเข้าใจว่า รวมกันก็คือ ถ้วยไม่บริสุทธิ์ ฉะนั้นที่ ทรงแสดง เช่นนี้ เข้าใจว่า มีพระประสงค์อยู่ที่ตรง อสังขตธรรม เพราะเป็นธรรมชาติที่ดี มีหลักฐาน แต่เมื่อระคนปนอยู่กับ สังขารธรรม ก็ไร้ประโยชน์ จึงต้อง ทรงแสดงชี้ผลคือ วิราคธรรม เป็นความบริสุทธิ์ในข้อที่ ๓
เมื่อทรงชี้ความบริสุทธิ์ในข้อที่ ๓ แล้ว ก็เป็นอันติสังขารธรรมในข้อต้นอยู่เอง เพราะสังขารธรรมเป็นประดุจมลทิน ทำอสังขตธรรม ให้ มัวหมอง เพราะฉะนั้น ในที่นี้จึงต้องเข้าใจว่า รวมกัน ก็เมื่อได้ความเข้าใจดั่งกล่าวมานั้นแล้ว ก็เอาพระพุทธภาษิต ๒ ประเภทนั้น เข้าเทียบกัน เป็น ดั่งนี้คือ
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา (สังขารธรรมทั้งหลาย สิ้นไม่เที่ยง สังขารธรรมทั้งหลายสิ้นเป็นทุกข์)
๒ ข้อนี้ลงในคำว่า สงฺขตา วา (สังขารธรรมก็ดี) สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา (ธรรม ทั้งหลายสิ้นเป็นอนัตตา) ข้อท้ายนี้ลงในคำว่า อสงฺขตา วา (อสังขตธรรมก็ดี)
จึงเห็นได้ว่า ที่ว่าธรรมทั้งหลายทั้งสิ้นเป็นอนัตตานั้น ก็คือ อสังขตธรรม ในคำว่า อสงฺขตา วา ที่ยังไม่ได้ความบริสุทธิ์ เป็นวิราคธรรมนั้นเอง อนัตตา นั้น หาได้ก้าวขึ้นไปถึง วิราคธรรมหรือนิพพาน ที่ทรงกล่าวว่า เป็นยอดเยี่ยมในข้อที่ ๓ นั้นไม่ ตามที่ได้กล่าวมานี้ นับว่า ได้กำจัดหลัก ความเห็นที่ว่า พระนิพพานเป็นอนัตตา นั้น ออกไปได้ส่วนหนึ่ง เป็นส่วนที่สำคัญ
ยังมีอีกที่ชอบยกขึ้นอ้างว่า อัตตา ตัวตน ไม่มีในที่ทั้งปวง คือพระพุทธภาษิตว่า
ปุตฺตมตฺถิ ธนมตฺถิ อิติ พาโล วิหญฺติ อตฺตา หิ อตฺตโน นตฺถิ กุโต ปุตฺตา กุโต ธนํ ดั่งนี้
แปลว่า คนพาลย่อมเดือดร้อน ด้วยความเข้าใจว่า บุตรของเรามี ทรัพย์ของเรามี ก็ตัวของตัวยังไม่มีแล้ว จะเอาบุตรเอาทรัพย์ที่ไหนเล่า ดั่งนี้
คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นตฺถิ ตนของตน ไม่มีนั้นแล ให้เข้าใจว่า อัตตาตัวตนไม่มีในที่ทั้งปวง คนฉลาดอาจคิดเห็นไปเช่นนั้นก็ได้ แต่คนโง่ คงไม่เห็นพ้องด้วย อนัตตาในพระพุทธภาษิตนี้ เข้าใจว่า ทรงหมายเอา สังขารธรรม ในฟากฝั่งโลกีย์ หาใช่พระนิพพาน อันเป็นฟากฝั่งโลกุตตรไม่ ที่กล่าว ยกบุตรและทรัพย์ ขึ้นเป็นต้นนั้น ก็บ่งชัดอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องสังขารธรรม ฝ่ายปัด เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ธรรมดา คนสามัญอันธการ ย่อม หลงหาแก่นสาร และความเที่ยงถาวร ในสังขารธรรม ก็ได้ความเดือดร้อน เพราะไม่สมหวังดังประสงค์ พระองค์จึงตรัสว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นตฺถิ ก็ตัวของตัวไม่มีแล้ว กุโต ปุตฺตา กุโต ธนํ จะเอาบุตรเอาทรัพย์ที่ไหนเล่า
การหาสาระหรืออัตตาตัวตน ในสังขารธรรมนั้น ก็เท่ากันกับการหาหนวด ที่ปากเต่า และหาเขาที่ศีรษะกระต่าย ย่อมไม่ได้สมความ ประสงค์ แต่ถึงแม้หาไม่ได้ในสังขารธรรม อัตตาก็ต้องหาได้ในพระนิพพาน อนัตตาในพระพุทธภาษิตนี้ ทรงหมายเอาสังขารธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายปัด นั้นเท่านั้น หาได้ยุ่มย่ามขึ้นไปถึงพระนิพพานไม่ ตามที่พูดมานี้ นับว่า ได้ล้มหลักฐานสำคัญ ที่จะยกขึ้นเป็นเครื่องคัดค้าน ได้อีกส่วนหนึ่ง ฯ
อนึ่ง นักธรรมผู้สนใจในเรื่องอนัตตา มักอ้างถึง ท่านอารกะศาสดาจารย์ ท่านผู้นี้มีภูมิธรรมสูง ถึงดังนั้น ก็หาเห็นอนัตตาไม่ มีเรื่องเล่าไว้ ในคัมภีร์ว่า
ในอดีตสมัยล่วงไปแล้วเป็นกาลไกล ก่อนพระพุทธเจ้าของเราเกิดขึ้นในโลก มีเจ้าคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่ง นามว่า อารกะ ศาสดาจารย์ อัธยาศัยน้อมไปในความสงบ ทรงภูมิธรรมในทางนั้น สั่งสอนประชุมชน ก็เพื่อความสงบ ลัทธิคล้ายคลึงกับพระพุทธศาสนา สรรเสริญ ว่า ท่านเป็นผู้มีกิเลสเบาบาง เห็น อนิจจํ ทุกขํ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แห่งสังขารธรรม แต่ท่านหาได้เห็นอนัตตาด้วยไม่ โดยใจความดังว่านั้น ก็เหตุใดเล่า ท่านอารกะศาสดาจารย์จึงไม่เห็นอนัตตาธรรม ที่ถูกควรทำความเข้าใจว่า เพราะ ท่านยังไม่พบเห็นอัตตาอย่างอื่น นอกจากขันธ์ ๕ เมื่อเช่นนั้น จะให้ท่านเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตานั้นไม่ได้ แปลเสียว่า อสังขตธาตุของท่านยังไม่ได้ความบริสุทธิ์ เป็นวิราคธรรมหรือนิพพาน ซึ่งเป็นอัตตาตัวตนที่แท้จริง อันเป็นเหตุให้ปัดขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตาได้ ก็ที่ท่านไม่ได้พบเห็นอัตตา คือพระนิพพานนั้นเล่า ก็เพราะไม่ได้ข้อปฏิบัติ ที่ถูก คืออริยมรรค ๘ ประการ อริยมรรคก็เฉพาะมีในพระพุทธศาสนาและพระปัจเจกโพธิ์เท่านั้น ลัทธิภายนอกพุทธศาสนา ไม่มีอริยมรรค ซึ่งจะให้ เกิดผล คือพระนิพพานได้
เพราะฉะนั้น ในโลกนอกจากพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่มีใครรู้จักอนัตตาธรรมได้ ส่วนความแปรปรวนแห่งสังขารธรรม ซึ่งเรียกว่า อนิจฺจํ ก็ดี ความพิบัติทำลายแยกสลายแห่งสังขารธรรมซึ่งเรียกว่า ทุกฺขํนั้นก็ดี ไม่จำเพาะ จะเห็นแต่ท่านอารกะศาสดาจารย์คนเดียว ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียง โด่งดัง เช่นนั้นเท่านั้น คนสามัญนี้ก็เห็นได้ เพราะปรากฏแก่ตาทุกคน เกิดมาแล้วก็เจริญขึ้นเป็นหนุ่มสาวแล้ว ก็แก่ตายถมแผ่นดินไป เห็นด้วยตา แล้ว จะไม่ใช้ความคิดทุกคนเทียวหรือ คงต้องใช้ความคิดเป็นจำนวนมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เรื่องท่านอารกะศาสดาจารย์ ไม่เห็นแปลกอะไร ฯ จะหาทางปฏิเสธว่า พระนิพพานเป็นอนัตตา หรือว่าอัตตา ตัวตนไม่มีในที่ทั้งปวงนั้น ไม่ได้เลยทีเดียว
เรื่องที่ควรจะใส่ใจ สำหรับวินิจฉัย มีอีกหลายประการ จะชักมาให้เห็นอีก เมื่อตอนใกล้กับเวลาที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน กล่าว ไว้ มีใน มหาปรินิพพานสูตร ว่า
ครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงประชวรหนัก ด้วยอำนาจพระโรคด้วย พระชราภาพด้วย ประกอบกัน ได้ทรงใช้ อนิมิตตเจโตสมาธิวิหาร แปลว่า ความตั้งมั่นแห่งจิตต์ โดยมิได้ถืออะไรๆ ไว้เป็นนิมิตต์ ที่หมายคือ ทรงทำพระหฤทัยเฉยมั่น โดยสภาพธรรมดาแห่งจิตต์เอง ไม่ยึดถืออารมณ์อะไรๆ ไว้ให้เป็น ๒ คงเหลือแต่ อสังขตธาตุแท้บริสุทธิ์หมดจด เป็นนิพพาน (ฌานที่ ๔) สำหรับระงับทุกขเวทนา เมื่อได้ทรงกระทำเช่นนี้ ทุกขเวทนา ก็สงบระงับไป ส่วนพระอานนท์เถระเจ้า พุทธอุปัฏฐาก ก็ตั้งหน้าแต่ตรอมจิตต์ คิดวิตกหนักไปว่า พระอาพาธของสมเด็จพระพุทธองค์ จะไม่คืน คลาย เวียนเฝ้าเยี่ยมทูลถามพระอาการบ่อยๆ ครั้งหนึ่งพระองค์ตรัสตอบแก่พระเถระว่า
ดูกรอานนท์ ก็เมื่อเราใช้ อนิมิตตเจโตสมาธิวิหาร ทุกขเวทนาได้สงบลง อาพาธนั้นก็ทุเลาไป นับว่า ไม่สู้กระไรนักในการป่วยของเรา แล้ว ก็ตรัสต่อไปว่า ตสฺมาตีหานนฺท อตฺตทีปา วิหรถอตฺตสรณา อนญฺญสรณา เป็นต้น ความว่า เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ท่านทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ ที่ยึด จงมีตนเป็นที่พึ่งอาศัย อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ดังนี้เป็นอาทิ ตามที่ได้ยกมาพูดนี้ ควรพิจารณาดูว่า อะไรเป็นเหตุให้พระองค์ ตรัสกับพระอานนท์ ว่า เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะที่ยึด จงมีตนเป็นสรณะที่พึ่ง เพ่งพินิจไปก็จะเห็นว่า เพราะได้ทรงใช้ อนิมิตตเจโตสมาธิ วิหาร สำหรับระงับทุกขเวทนา อนิมิตตเจโตสมาธิวิหาร นั้นเป็นอะไร ก็คือตัว อสังขตธาตุที่ได้ความบริสุทธิ์เป็นนิพพาน ซึ่งนับว่าเป็นตัว อัตตา ดังกล่าวมาแล้วนั้นแล เพราะฉะนั้น อัตตาในพระพุทธภาษิตนี้คือ พระนิพพาน ฯ
อีกเรื่องหนึ่งเล่าไว้ว่า พวกชายหนุ่ม ๓๐ คน เรียกกันว่า ภัททวัคคีย์พากันเที่ยวตามหาผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งได้หนีจากพวกเขาไป ลักเอาเครื่อง ประดับไปด้วย เขาเหล่านั้นได้พบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ใต้ต้นพฤกษาต้นหนึ่ง ที่ตำบลไร่ฝ้าย ชายผู้หัวหน้า เข้าไปเฝ้าแล้วทูล ถามว่า ภควา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นผู้หญิงคนหนึ่งมาทางนี้บ้างหรือไม่ พระองค์ตรัสถามถึงต้นเหตุของเรื่องราวว่า เป็นกันมาอย่างไร เขาได้ทูลเล่าถวายทุกประการแล้ว พระองค์ตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงตรองก่อนว่า เราจะหาผู้หญิงนั้นดีกว่า หรือว่าจะหาตนดีกว่าเล่า เขาตกลง ปลงใจ เห็นพ้องกันว่า หาตนนั้นแลดีกว่า แล้วจึงได้ทูลให้ทรงทราบ ตรัสตอบว่าดีแล้ว ถ้ากระนั้นจงนั่งลงตั้งใจคอยฟัง เราจะแสดงธรรมแก่ท่าน ทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงแสดง พระธรรมเทศนาแก่เขาเหล่านั้น ดังนี้ ฯ
เรื่องนี้ถ้าเราจะเดา ก็คงไม่ผิดมากนัก ด้วยตามธรรมดาคนสามัญ ย่อมเข้าใจและถือกันมาจนชิน ตั้งแต่เล็กจนโตแล้วว่า อัตตภาพร่างกาย อันนี้แหละ เป็นอัตตาตัวตน ก็เมื่อพระองค์ตรัสออกมาว่า แสวงหาผู้หญิงนั้นดีกว่า หรือแสวงหาตนดีกว่าเล่า เช่นนี้แล้ว เขาเหล่านั้น คงนึกแปลกใจ ว่า ตัวตนมีอยู่ด้วยกันทุกคนแล้ว เหตุไฉน พระองค์จึงตรัสถึงการแสวงหาตน ทำไมอีกเล่า ชะรอยตนนั้น คงจะมีอีกเป็นพิเศษ พระองค์คงจะรู้จัก อัตตานั้น เป็นแน่แท้ เขาจึงตอบว่า ต้องการหาตนแลดีกว่า ก็เพื่อว่าพระองค์จะทรงชี้ทางอัตตาให้
ตามเรื่องที่ยกมาให้เห็นนี้ นึกดูเถอะ ถ้าอัตตานอกจากขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่มีอีกแล้ว พระองค์ตรัสอย่างนั้นไม่ได้ อัตตามีแน่แท้ แต่เป็นสิ่งที่ลี้ลับ สำหรับคนสามัญย่อมไม่เห็น แต่ปราชญ์ผู้มีปัญญา ท่านเลือกเฟ้นจึงจะพบ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสเตือนสติแก่พวกภัททวัคคีย์ว่า แสวงหาตน และเพราะ คนสามัญไม่รู้จักอัตตานั้นแล จึงยึดถือเอาขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนว่า เป็นอัตตาตัวตน พระองค์จึงตรัสแก่พระพวกเบ็ญจวัคคีย์ ๕ รูปว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ดังมีแจ้งอยู่ใน อนัตตลักขณสูตร นั้นฯ
อนัตตานี้ บางท่านแปลว่า บังคับบัญชาไม่ได้ ว่าไม่ฟัง แปลอย่างนั้น ถึงความจะได้บ้างก็เสียศัพท์ กลับจะซ้ำร้ายหนักมากเข้าไปอีก เพราะ ใครๆ ก็ต้องทราบว่า ขันธ์ ๕ นั้นแลเป็นอนัตตา เมื่อเช่นนั้น ก็แปลว่า ขันธ์ ๕ บังคับบัญชาไม่ได้ว่าไม่ฟัง บังคับบัญชาไม่ได้จริงในสิ่งที่เหลือวิสัย เช่น แก่เจ็บตายเมื่อถึงคราว แต่ก็บังคับบัญชาได้ในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย จงตรองดูให้รอบคอบ ถ้าตั้งใจจะบังคับบัญชา ก็บังคับบัญชาได้จริงๆ คนไม่ได้ บังคับบัญชาดอก ขันธ์ ๕ จึงเหลวไหล ถ้าหากว่าขันธ์บังคับบัญชาไม่ได้จริงๆ แล้ว อัตตภาพร่างกายอันนี้ เราก็ปกครองไม่ได้ เพราะมือและเท้า ไม่อยู่ในความบังคับบัญชา หยูกยาต่างๆ สำหรับแก้โรคระงับทุกขเวทนาก็ไม่ต้องใช้
อนึ่ง คติของคนย่อมมีทั้งดีทั้งชั่ว เนื่องอยู่กับความประพฤติ ถ้าประพฤติดีก็มีคติดี ถ้าประพฤติชั่วก็มีคติชั่ว ก็ถ้าบังคับ บัญชาขันธ์ ๕ ไม่ได้ แล้ว คนเราก็หาความสุขความเจริญ ไปสวรรค์ไปนิพพานไม่ได้เลยทีเดียว เพราะขันธ์ ๕ เป็นประดุจเครื่องมือใช้ได้ทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว บุญก็ดี บาปก็ดี หรืออริยมรรค ๘ ประการนั้นก็ดี ก็ไม่นอกไปจากขันธ์ ความจริงขันธ์ ๕ นั้นเป็น อัพยากฤตธรรม เป็นของกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่เพราะ ขันธ์ บังคับ บัญชาได้ จึงเป็นดีเป็นชั่ว บังคับให้ดีก็ดี บังคับให้ชั่วก็ชั่ว ถ้าขันธ์ปราศจากการบังคับบัญชาแล้ว ก็เท่ากันกับ ท่อนไม้ก้อนดินหินแร่ต่างๆ หรือคน ที่ตายแล้ว จะทำดีทำชั่วอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การแปลอนัตตาอย่างนั้น ย่อมเป็นไปตามอำเภอใจ ไม่ได้อาศัยหลักฐานอรรถอย่างใดเลย น่าจะว่า ใช้ไม่ได้ ฯ
คนที่เห็นว่า เราหรืออัตตา ตัวตนไม่มีนั้น ยังชอบพูดอยู่ด้วยว่า พระพุทธศาสนาชั้นสูง ไม่มีผู้ทำ ไม่มีผู้รับ แต่เขากลับรับรองการกระทำว่า มี เช่น อุปาทานความยึดถือและมรรค ๘ ประการ ก็ถ้าเมื่อเห็นว่า เราหรืออัตตาไม่มีแล้ว ก็ต้องว่าไม่มีผู้ทำ ไม่มีผู้รับอยู่เอง เพราะเราหรืออัตตาไม่มี จะเอาผู้ทำผู้รับที่ไหนมาเล่า แต่ถ้าพระพุทธศาสนาเป็นเช่นนั้นจริงๆ แล้ว ก็ไม่น่าจะศึกษาเล่าเรียนทำอะไร เป็นศาสนาที่เหลวไหล ไม่มีหลักฐาน จะศึกษา ให้รู้ดีไปอย่างไร ก็ไม่มีผู้ได้รับประโยชน์ในการศึกษา
อุตส่าห์สละเรี่ยวแรงและชีวิตจิตต์ใจลงไป ประพฤติปฏิบัติทำอะไรกัน จะเป็น คนโง่คนชั่วอยู่สักเพียงไร ก็ไม่มีผู้รับโทษอันนั้นได้ จะเป็น พาลหรือบัณฑิต ในที่สุดก็เท่ากัน จะทำชั่วหรือจะทำดีก็เท่ากัน จะเอาใครที่ไหน มาเป็น ผู้ทำผู้รับและพ้นทุกข์ได้ ที่รับรองการกระทำนั้น ก็รับโดย ไม่มีเหตุผล ก็เมื่อผู้ทำไม่มีแล้ว การกระทำนั้นจะมีได้อย่างไร เพราะการกระทำ เป็นกิริยาของผู้ทำ ลักษณะก็เป็นอาการของวัตถุ ถ้าผู้ทำและวัตถุ ไม่มีแล้ว การกระทำและลักษณะ ก็มีไม่ได้เหมือนกัน ผู้ใคร่ในการศึกษา ต้องใช้ความพินิจ จงดี ขอยุติเรื่องไม่เป็นหลักฐานนี้เสียทีฯ
จากหนังสือ เถรบัญญัติ
ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒