ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2542

กรณีธรรมกาย "จริงหรือที่นิพพานเป็นอนัตตา"

ท่ามกลางกระแสการวิพากษ์วิจารณ์วัดพระธรรมกายอย่างรุนแรงในสังคมไทยขณะนี้ หัวข้อหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญตลอดมาคือ วัดพระธรรมกาย สอนว่า นิพพานเป็นอัตตา ซึ่งถูกตัดสินว่า ผิดโดยหนังสือ กรณีธรรมกาย ของพระธรรมปิฎก แล้วนำไปสู่การโจมตีที่ลุกลาม ใหญ่โต ถึงกับจะต้องกำจัดวัดพระธรรมกายออกจากพระพุทธศาสนาให้ได้

ในเรื่องนี้ ดร.สมภาร พรมทา บรรณาธิการวารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในวารสาร พุทธศาสน์ศึกษา ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๑ สรุปได้ดังนี้

๑. เรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา เป็นประเด็นทางวิชาการระดับสูง ที่ต้องการผู้รู้ในทางพระพุทธศาสนาและปรัชญา มาร่วมกันแสดง ความเห็น ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินได้ด้วยมติมหาชน และต้องแลกเปลี่ยนความรู้อย่างจริงจัง เปิดเผย และเป็นมิตร ไม่ควรสรุปเพียงจากแง่มุม ของตน เท่านั้น

๒. ในพระไตรปิฎก มีข้อความที่ระบุว่านิพพานเป็นอนัตตาอยู่จังๆ เพียงแห่งเดียวคือ คัมภีร์ปริวาร และข้อความตรงนั้น ไม่ได้อยู่ในรูปของ พุทธวจนะโดยตรง (พระธรรมปิฎกเองก็ยอมรับว่า คัมภีร์ปริวารเป็นของแต่งใหม่หลังพุทธกาล และข้อความตรงที่บอกว่านิพพานเป็นอนัตตานี้ ก็เป็นของพระรุ่นหลังพุทธกาลแต่งใส่เข้าไป) ดังนั้น เป็นไปได้หรือที่จะบอกว่า นิพพานเป็นอนัตตาโดยไม่ต้องตีความ?

๓. ในเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน เพียงแค่ในระดับการตีความ ก็ไม่อาจอยู่ด้วยกันได้หรือ? นี่คือคำถามที่เราควรคิดกันนานๆ และคิดให้ รอบคอบ

เกณฑ์ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ

การเทียบเคียงหลักฐานในพระไตรปิฎก กรณีที่มีความสงสัยว่า ข้อความใดมีน้ำหนัก ควรแก่การเชื่อถือมากกว่ากันนั้น พระพุทธองค์ได้ ประทานเกณฑ์ในการตรวจสอบไว้ ๔ ข้อ เรียกว่า มหาปเทส ๔ โดยเรียงลำดับความน่าเชื่อถือจากมากไปน้อย คือ

๑. พุทธาปเทส - อ้างพระพุทธเจ้า

๒. สังฆาปเทส - อ้างหมู่สงฆ์ทั้งหมด

๓. สัมพหุลัตเถราปเทส - อ้างพระเถระจำนวนมาก

๔. เอกเถราปเทส - อ้างพระเถระรูปหนึ่ง

(ที.ม. ๑๐/๑๑๓/๑๐๔)

หลักฐานนิพพานเป็นอัตตา

เนื้อหาในพระไตรปิฎกที่บ่งความหมายว่า นิพพานเป็นอัตตา คือตัวตนที่แท้จริง ที่ต้องปฏิบัติให้เข้าถึง มีอยู่หลายแห่ง เช่น

๑. โลกนี้และโลกหน้า เราผู้รู้อยู่ประกาศไว้ดีแล้ว เราเป็นผู้ตรัสรู้เอง ทราบชัดซึ่งโลกทั้งปวง ทั้งที่เป็นโลกอันมารถึงได้ ทั้งที่เป็นโลกอัน มัจจุถึงไม่ได้ ด้วยความรู้ยิ่ง จึงได้เปิดประตูแห่งอมตะ เพื่อให้ถึงนิพพานอันเป็นแดนเกษม กระแสแห่งมารผู้ลามก เราตัดขาดแล้ว กำจัดแล้ว ทำให้ ไม่เหิมขึ้นแล้ว ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้มาด้วยความปราโมทย์แล้ว ปรารถนาถึงนิพพาน อันเป็นแดนเกษมเถิด

(จูฬโคปาลสูตร มัช. มูล. ๑๒/๓๙๐/๔๒๑)

พระสูตรนี้แสดงนิพพานว่า เป็นโลกที่ความตายไม่อาจกล้ำกรายได้ เป็นสุข ปลอดภัย และเป็นเป้าหมายสูงสุด ที่ทุกคนต้องปฏิบัติให้เขัาถึง

๒. ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่ง อายตนะนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการตาย เป็นการเกิด อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์

(ปฐมนิพพานสูตร ๒๕/๑๕๘/๒๐๖)

พระสูตรนี้บ่งบอกว่า นิพพานมีอยู่จริง และเป็นที่สุดแห่งทุกข์อันเป็นเป้าหมายสูงสุด ที่ทุกชีวิตปรารถนา ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัส เสมอว่า ธรรมที่พระองค์บรรลุ และนำมาถ่ายทอดนั้น นิพพานาย สังวัตตติ เป็นไปเพื่อนิพพาน

๓. ความเกิดขึ้นแห่งนิพพานใดย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มี ย่อมปรากฏอยู่โดยแท้ นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวน เป็นธรรมดา ฉะนั้น จึงชื่อว่า อันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ไม่กำเริบ

(ขุ.จูฬ. ๓๐/๖๕๙/๓๑๕)

บทนี้กล่าวถึงนิพพานว่า เที่ยงแท้ ยั่งยืน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย ขันธวรรค ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ควรถือว่าเป็นตัวตน  

(สํ.ข. ๑๗/๙๑/๕๖)

เมื่อมองในเชิงกลับกันว่า เพราะนิพพานเที่ยง ฉะนั้นนิพพานเป็นสุข (มีพุทธพจน์รับรองว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ในขุททกนิกาย คาถา ธรรมบท) และเพราะนิพพานเป็นสุข จึงควรถือว่า เป็นตัวตนที่แท้จริง ซึ่งก็คือ อัตตา นั่นเอง

๔. เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ จงมีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง

(ที.มหา. ๑๐/๙๓/๑๙๙)

นักศึกษาพระไตรปิฎกทุกคนย่อมทราบดีว่า ในพุทธดำรัสทุกแห่งที่ตรัสถึง เกาะ คู่กับ ที่พึ่ง นั้น ล้วนเป็นการกล่าวถึง ธรรมที่พ้นจาก ห้วงโอฆะ   คือวัฏฏสงสารทั้งสิ้น แล้ว ตน หรือ อัตตา ใดเล่าที่จะเป็นที่พึ่งที่พ้นจากวัฏฏสงสาร

ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ไม่มี ตน ใดอีกแล้ว นอกจาก นิพพาน มีแต่นิพพานเท่านั้นที่หลุดพ้นจากวัฏฏสงสารโดยสิ้นเชิง จึงควรกล่าวได้ว่า นิพพาน เป็นตัวตน ที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง

หลักฐานในพระไตรปิฎกที่บ่งความหมายว่า นิพพานเป็นอัตตา ที่ยกตัวอย่างมานี้ (ความจริงยังมีอีกมาก) บทที่ ๑,๒ และ ๔ จัดเป็นพุทธา ปเทส   เพราะเป็นพุทธพจน์โดยตรง ให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือได้ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนบทที่ ๓ มาใน ขุททกนิกาย จูฬนิเทส ซึ่งทราบกันว่า เป็น คัมภีร์ที่แต่งขึ้นในภายหลัง จึงมีน้ำหนักรองลงมา

หลักฐาน นิพพานเป็นอนัตตา

เนื้อหาในพระไตรปิฎกที่บ่งความหมายว่า นิพพานเป็นอนัตตา มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือในพระวินัยปิฎก คัมภีร์ปริวาร (๘/๘๒๖/๒๒๔) ในส่วนย่อหัวข้อสมุฏฐาน ว่า

สังขารทั้งปวงอันปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา บัญญัติคือนิพพาน (บางแห่งแปลว่า นิพพานและบัญญัติ) ท่านวินิจฉัยว่า เป็นอนัตตา

ดังกล่าวแล้วข้างต้นว่า คัมภีร์ปริวารเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นชั้นหลัง อีกทั้งข้อความนี้ก็อยู่ในส่วนที่ไม่ใช่พุทธพจน์อีกด้วย เป็นของพระยุคหลัง แต่งใส่เข้ามา ความน่าเชื่อถือจึงอ่อนกว่าหลักฐานที่บ่งว่า นิพพานเป็นอัตตา ซึ่งเป็นพุทธดำรัสโดยตรง อย่างเทียบกันไม่ได้

คงไม่ต้องกล่าวถึงหลักฐานอื่นๆ ที่ผู้เขียน กรณีธรรมกาย อ้างว่า มีหลายแห่ง เพราะหลักฐานที่ว่านั้น ล้วนเป็นอรรถกถาทั้งสิ้น ย่อมไม่มี น้ำหนักเทียบเท่าพระไตรปิฎกได้ และหากจะกล่าวให้ชัดเจนยิ่งกว่านี้อีกต้องบอกว่า อรรถกถาที่ท่านยกมานั้น ล้วนเป็นอรรถกถาของ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งแม้ในส่วนพระไตรปิฎกเอง ก็จัดเป็นคัมภีร์ชั้นหลังอยู่แล้ว อรรถกถาของคัมภีร์ชั้นหลังดังกล่าว จึงย่อมไม่อาจนำมา เปรียบ เทียบ กับหลักฐานที่บ่งความหมายว่า นิพพานเป็นอัตตา ซึ่งเป็นพุทธดำรัสโดยตรงได้เลย

บทสรุป

หากจะสรุปจากหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนในพระไตรปิฎกดังกล่าวมาแล้ว คงไม่อาจสรุปเป็นอื่นได้นอกจาก ต้องบอกตรงๆ ว่า นิพพานเป็น อัตตา แน่นอน

แล้วเหตุไฉนผู้เขียน กรณีธรรมกาย จึงสรุปออกมาได้ว่า นิพพานเป็นอนัตตา?

อย่างไรก็ตาม เรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรนำมาถกเถียงกัน เพราะนิพพานนั้นจะเข้าถึงได้   ก็ด้วยการปฏิบัติ เท่านั้น ไม่อาจบรรลุได้ด้วยความคิด ด้วยทฤษฎี หรือด้วยการถกเถียงกันแต่อย่างใด แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงรู้แจ้งได้เพราะ การลงมือปฏิบัติ ด้วยพระองค์เอง และทรงสรรเสริญ ผู้ที่ขยันปฏิบัติมากกว่าผู้ที่ขยันพูดเสมอมา

ปัญหาของสังคมไทยเราปัจจุบันอยู่ที่ว่า คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจกับ การศึกษาเนื้อหาธรรมะในพระไตรปิฎก อย่างจริงจัง เมื่อไม่ศึกษาก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ต้องฟังเขาว่า แล้วจะฟังใครล่ะ ก็ต้องฟังผู้ที่มีชื่อเสียงว่า เป็น ปราชญ์แห่งยุคสิ

แล้วถ้าปราชญ์แห่งยุคพูดผิดล่ะ

ก็เชื่อผิดและพลอยพูดผิดๆ กันไปหมดน่ะสิ

นี่คือจุดอ่อนของสังคมไทย

เป็นความเปราะบางที่ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดี ฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ และบ่อนทำลายประเทศชาติและศาสนาได้ โดยที่เราไม่รู้ตัว

ลองหยุดคิดสักนิด ถามใจตัวเองดูสักหน่อยว่า เราได้ให้ความเป็นธรรมแก่วัดพระธรรมกายแล้วหรือ เราได้ให้ความเป็นธรรมแก่ พระเถรา นุเถระ ผู้ดูแลปกป้องพระพุทธศาสนา ให้สืบทอดมา เป็นที่พึ่งของเราจนถึงปัจจุบันแล้วหรือ

โบราณว่า สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง แทนที่จะมัวคอยฟังความเห็นของ ปราชญ์ แล้ววิพากษ์วิจารณ์ตามๆ กัน เราหันหน้ามาศึกษา พระพุทธศาสนา กันอย่างจริงจังดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะศาสนาพุทธของเรา เป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ แล้วเมื่อถึง วันนั้น เราจะรู้เห็นด้วยตนเองว่า ทำไม หลวงปู่หลวงตานักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ท่านจึงต่างพูดตรงกันว่า นิพพานเป็นอัตตา แล้วเราจะเข้าใจ พระพุทธดำรัสที่ว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ธรรมอันพระพุทธองค์ตรัสดีแล้วนั้น วิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน

เอหิปัสสิโก จงมาพิสูจน์เถิด

ภาคผนวก

บทบรรณาธิการวารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๑ มกราคม - เมษายน พ.ศ.๒๕๔๒ เรื่อง นิพพาน - อัตตา - อนัตตา หน้า ๒ กล่าวว่า

๑. ประเด็นเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา เป็นประเด็นทางวิชาการระดับสูง ที่ต้องการผู้รู้ในทางพระพุทธศาสนาและปรัชญา มาร่วม กัน แสดงความเห็น แต่เวลานี้ประเด็นดังกล่าว ได้ลงไปสู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่มีพื้นฐานความรู้พอ ที่จะวินิจฉัยปัญหานี้ เรื่องทางวิชาการ ไม่ใช่ เรื่องที่จะตัดสินได้ด้วยมติมหาชน แต่มหาชนก็มีสิทธิที่จะเชื่อ ในสิ่งที่ตนประสงค์จะเชื่อ ประเด็นเรื่อง นิพพาน-อัตตา-อนัตตา จึงควรที่สังคมเรา (จะโดยคณะสงฆ์หรือใครก็ตามแต่) จะต้องแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างจริงจัง เปิดเผย และเป็นมิตร ไม่ควรสรุปความเห็นของตน จากเพียงแง่มุม ของตนเท่านั้น

๒. ในกรณีที่หลังจากอภิปรายกันอย่างจริงจังแล้ว ปรากฏว่า ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องอาศัยการตีความพระพุทธพจน์เหมือนกัน เราจะสรุป กันว่าอย่างไร โดยความเห็นส่วนตัวของบรรณาธิการ เวลานี้ดูเหมือนว่า ทางฝ่ายสำนักธรรมกายจะยอมรับว่า แนวคิดเรื่องนิพพานเป็นอัตตา เป็น การตีความ แต่ฝ่ายที่เห็นว่า นิพพานเป็นอนัตตา ดูจะบอกว่า ไม่ต้องตีความ เพราะมีพุทธพจน์รับรองเอาไว้อย่างนั้นแล้ว ความเห็นที่บอกว่า นิพพานเป็นอนัตตาโดยไม่ต้องตีความนี้

บรรณาธิการขอตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เพราะในพระไตรปิฎก (เท่าที่บรรณาธิการศึกษาพบเวลานี้) นั้นมีข้อความ ที่ระบุว่า นิพพานเป็นอนัตตา อยู่จังๆ เพียงแห่งเดียวคือ ในคัมภีร์ปริวาร และข้อความตรงนั้น ไม่ได้อยู่ในรูปของพระพุทธวจนะโดยตรง (ท่าน เจ้าคุณ พระธรรมปิฎก ก็ยอมรับว่า คัมภีร์ปริวารเป็นของแต่งใหม่ หลังพุทธกาล และข้อความตรงที่บอกว่า นิพพานเป็นอนัตตานี้ ก็เป็นของพระ เถระรุ่นหลังพุทธกาล แต่งใส่เข้าไป) ประเด็นที่บรรณาธิการต้องการพูดก็คือ เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะบอกได้ไหมว่า นิพพานเป็นอนัตตา โดยไม่ต้อง ตีความ

สำหรับบรรณาธิการ ข้อความที่ไม่ต้องตีความในพระไตรปิฎก คือ ข้อความที่เราสามารถคัดมาอ้าง โดยไม่ต้องเสนอความเห็น ก็ยุติปัญหา ได้เลย เช่น ข้อความในอนัตตลักขณสูตรที่ว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา นี่คือข้อความที่ไม่ต้องตีความโดยแท้ เพราะพระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ชัดเจนแล้ว เรื่องนิพพาน เป็นเรื่องตรัสเอาไว้ชัดเจนหรือไม่ ขอฝากผู้รู้ช่วยกันวินิจฉัยด้วย

๓. ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่อง นิพพาน-อัตตา-อนัตตา ที่บรรณาธิการอยากแสดงความเห็นเอาไว้ตรงนี้คือ การอ่านพระไตรปิฎก โดย ไม่ต้องตีความ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ คำถามนี้เกี่ยวข้องไปถึง ปรัชญาภาษาและปรัชญาศาสนา ซึ่งผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด น่าจะได้แก่ นักปรัชญาภาษา และนักปรัชญาศาสนา

ท่านพุทธทาส ดูเหมือนจะเชื่อว่า การอ่านคือการตีความ ดังนั้น การอ่านจะเป็นประโยชน์อย่างไร หรือ เพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการตีความ ทฤษฎีภาษาคน-ภาษาธรรมของท่าน ว่าไปแล้วก็คือ ทฤษฎีว่าด้วยการตีความพระไตรปิฎกนั่นเอง ท่านพุทธทาส ไม่คิดว่า ไม่มีอะไรที่ไม่ต้องตีความ อย่างพระพุทธวจนะที่ว่า การเกิดเป็นทุกข์ ก็ยังต้องตีความ และประโยคนี้ท่านตีความว่า การเกิดหมายถึง การเกิดทางใจ (เช่นเกิดกิเลส) ในขณะที่ ผู้ศึกษาพุทธศาสนาแบบอื่น อาจตีความตามตัวอักษรว่า คือการเกิดจากครรภ์มารดา การตีความไม่ควร เข้าใจว่า เป็นการบิดเบือนพระพุทธวจนะ แต่ควรเข้าใจว่า เป็นการพยายามมองหาความหมายใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม และ การตีความใดๆ ก็ตามแต่ ไม่ควรที่ผู้ตีความ จะสรุปว่านั่นคือ ความจริงแท้แล้ว

การตีความหลายอย่างต่อเรื่องเดียวกัน อาจขัดแย้งกันได้ แต่นั่นควรเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล สังคมพุทธควรจะ เป็นสังคมที่เปิดกว้าง ให้เสรีภาพที่จะคิด จะเชื่อ จะตีความและปฏิบัติตามความเห็นของตน หรือว่าสังคมพุทธควรจะเป็นสังคมที่ประกาศชัดว่า นี่คือแนวทางที่ถูกต้อง ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ใครไม่ปฏิบัติก็ต้องออกไป ดูเหมือนว่า คติอย่างเถรวาท จะเลือกอย่างหลัง ดังที่ปรากฏในการสังคายนาครั้งที่ ๓ แต่แนวทาง นี้จะถูกต้องมีเหตุผลมากที่สุดหรือไม่

บรรณาธิการอยากฝากให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดด้วย จำได้ว่า เมื่อสมัยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทนั้น บรรณาธิการ ต้องศึกษาคัมภีร์กถาวัตถุอย่าง ละเอียด และพบว่า ความคิดของฝ่ายที่เราเห็นว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ บางความคิดนั้น มีเหตุผลมากเสียกว่าฝ่ายที่บอกว่า ตนคิดถูกต้องเสียอีก แต่แนวคิด เหล่านี้ ก็ไม่มีที่ให้อยู่ในคณะสงฆ์เถรวาท กระแสหลักสมัยนั้น เราจะเลือกแนวทางนี้หรือ ความเห็นไม่ตรงกัน ในระดับการตีความ ไม่อาจอยู่ ด้วยกันได้หรือ นี่คือ คำถามที่เราควรคิดกันนานๆ และรอบคอบ

ความเห็นทางวิชาการ โดย คุณชนิดา จันทราศรีไศล

ธรรมศึกษาเอก บาลีศึกษา ๘

ปริญญาตรี เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล