ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2542
คดีความสงฆ์ไทยในอดีต
ความอัปยศ ... ที่แท้รังแกผู้บริสุทธิ์
คดีความเกี่ยวกับพระสงฆ์ แม้จะเป็นที่สนใจของผู้คน แต่สิ่งที่ควรจะเข้าใจในเบื้องต้น ก็คือ คดีเกี่ยวกับ พระธรรมวินัยของพระสงฆ์ มิใช่เป็น คดีความ เช่นเดียวกับ อาชญากรแผ่นดิน มิใช่เป็นคดีเช่นดั่งจอมโจร ที่จะทำให้เกิด ความล่มสลาย ในบ้านเมือง แต่คดีใน พระธรรมวินัย เป็นเรื่องของ การทำดีให้ถูกดี ซึ่งแน่นอนว่า ความรู้สึกของ ประชาชนต่อพระสงฆ์ ถือว่า ท่านอยู่ในเพศสูงส่ง หากพบว่า มีความผิด ก็ย่อมอยู่ใน ความสนใจ แต่มิใช่การทับถมโจมตี หรือซ้ำเติมให้สะใจ เพราะในอดีต เราเคยพบกับ ความอัปยศมาแล้ว ที่มีการยกคดีความ กล่าวร้าย พระสงฆ์ ผู้บริสุทธิ์ กว่าจะมีการพิสูจน์ ให้เห็นความถูกต้อง ก็ใช้เวลายาวนาน แต่ใครจะรู้บ้างว่า เมื่อโดนคดีกล่าวร้ายให้โทษ ใครจะไม่รู้สึกเจ็บบ้าง นอกจากว่า ท่านจะประสบกับตัวเองบ้างแล้ว จึงจะเข้าใจได้ดี
ครูบาศรีวิไชย
เมื่อครั้งยุคสมัยแห่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ที่มี สมเด็จกรมพระวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ที่ดินแดนล้านนา ก็มีพระภิกษุ ผู้เป็นศูนย์รวมศรัทธาประชาชน นาม ครูบาศรีวิไชย ผู้ได้รับการขนานนามว่า นักบุญแห่ง ล้านนาไทย โดยท่านเกิดมา สร้างแต่ความดี แต่ถูกใส่ความ ถูกสอบสวนนาน เป็นเวลาหลายเดือน หลายครั้ง หลายที่ แม้กระทั่ง ถูกส่งตัวเข้าเฝ้า สมเด็จพระสังฆราช ด้วยข้อหามากมาย แต่ท่านได้พิสูจน์ ความบริสุทธิ์ของตน พ้นมลทิน สร้างผลงานไว้ ประทับใจ คนทั้งแผ่นดิน แต่ก็สิ้น ละสังขาร เพียงอายุ 60 ปี เราไม่อยากให้พระดีอย่างนี้ รวมทั้งพระดีที่ จะมีตามมาอีก ต้องพบกับ ความอยุติธรรม ครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะคนดี เจออย่างนี้เข้า ใครเขาอยากจะมีกำลังใจ สร้างความดีให้กับสังคม
ครูบาศรีวิไชย นักบุญแห่งล้านนาไทย สละเพศฆราวาส ออกบวชแต่เยาว์วัย รักการปฏิบัติธรรม ตั้งใจแน่วแน่ ที่จะเดินตามรอยพระอริยเจ้า นั่งสมาธิ จนเสื่อรองนั่ง ขาดไปหลายผืน ต่อมา ท่านเป็นผู้นำในการพัฒนา สร้างวัด สร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ จนมีชื่อเสียงโดดเด่น ชาวบ้าน ชาวเขาเผ่าต่างๆ เคารพนับถือ หันเข้า หาพระพุทธศาสนา เลิกประพฤติสิ่งชั่วช้า ด้วยความศรัทธาในคำสอน
แต่มารก็ไม่ปล่อยให้ลอยนวล ครูบาศรีวิไชยถูกใส่ความ และถูกจับสอบสวน ทั้งในระดับพระผู้ปกครองท้องถิ่น จนถึงระดับ สมเด็จ พระสังฆราช ด้วยข้อกล่าวหาสรุปได้ 8 ข้อ คือ
1.พระศรีวิไชยเดินไปฝนตกไม่เปียก แต่ผู้ควบคุมไปเปียกโชก
2.พระศรีวิไชยได้ดาบกายสิทธิ์ จากแท่นเทวดาทั้งสี่
3.พระศรีวิไชยเดินสูงกว่าดินสองศอก
4.พระศรีวิไชยเป็นอุปัชฌาย์ด้วยตนเอง
5.พระศรีวิไชยไม่ตีฆ้อง จุดโคมไฟ เฉลิมฉลองในวันเปลี่ยนผู้ครองแผ่นดิน
6.พระศรีวิไชยไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าคณะแขวง
7.พระศรีวิไชย ขาดประชุมที่แขวง เพราะเอาแต่ทำสมถวิปัสสนา
8.พระศรีวิไชยเดินบนผิวน้ำได้
จากการถูกกล่าวหาหลายครั้ง ทำให้ครูบาศรีวิไชยถูกสอบสวนหลายครั้ง จนถูกตัดสินกักบริเวณ (ถูกขัง) ทั้งในเขตลำพูน และในเชียงใหม่ บ้างก็เป็นเวลาหลายเดือน บ้างก็ถูกกักบริเวณเป็นปี
แม้จะมีเรื่องมีคดี แต่ท่านก็ยังคงเป็นศูนย์รวมศรัทธา ของประชาชน ท่านเป็นผู้นำในการพัฒนา ก่อสร้าง ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ล้วนแล้วแต่ มีมูลค่ามหาศาล ถ้าไม่ใช่ท่านก็ ไม่มีใครอยากจะร่วมลงมือ หรือร่วมบริจาคด้วย ท่านเป็นผู้นำในการซ่อมแซม พระบรมธาตุ สร้างเจดีย์ ดอยเกิ้ง สร้างวิหารที่พะเยาว์ ซ่อมแซมวัดพระสิงห์ ฯลฯ จนกระทั่ง เป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้น ดอยสุเทพ ในปี พ.ศ.2477 โดยใช้เวลาเพียง 5 เดือน 22 วัน แต่ไม่นาน ก็ถูกจับลงไปสอบสวน ที่กรุงเทพถึง 6 เดือน 17 วัน แม้สังขารจะเริ่มทรุดโทรม กว่าวัยอันควร เพราะท่านกรำงานหนักมาตลอด และแม้ร่างกาย กำลังกระเสาะกระแสะ ท่านยังรับเป็นผู้นำ สร้างสะพานเชื่อมระหว่าง เชียงใหม่กับลำพูน แต่ในที่สุดไม่นาน ท่านก็มรณภาพ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 รวมสิริอายุขัยเพียง 60 ปี
คดีพระพิมลธรรม
คนดี ทำความดี แต่กลับถูกตอบแทนด้วยการใส่ร้ายใส่ความ แล้วถูกจับดำเนินคดี ตัวอย่างเรื่องนี้ เราจะปล่อยให้คนดี พระดี ถูกความอยุติธรรม จากกระแสแห่งความเมามัว ป้ายสี ใส่ความ อย่างนั้นหรือ อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้น ในระยะต่อมา พระดีก็ถูกจับดำเนินคดีอีก เป็นที่ประหลาดใจ ของประชาชน อย่างกว้างขวาง นั่นคือ คดีความเกี่ยวกับ พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) อดีตเจ้าอาวาส วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฏิ์
ในอดีตช่วงยุคกึ่งพุทธกาล พระพิมลธรรม เป็นพระผู้ใหญ่ ที่มีความคิดก้าวหน้า ใฝ่ในการเผยแผ่และส่งเสริม ด้านวิปัสสนากรรมฐาน ท่านส่งพระไทย ไปศึกษาวิธีการจาก ประเทศพม่า จนวัดมหาธาตุฯ กลายเป็นแหล่ง ธรรมปฏิบัติที่มีชื่อเสียง ท่านเคยเป็นเจ้าคณะจังหวัด พระนครศรีอยุธยา เคยเป็นผู้มีส่วนในการปกครองสงฆ์ระดับสูง แต่ท่านกลับถูกกล่าวหา ดำเนินคดี ในข้อหาฉกรรจ์ กล่าวคือเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2503 ท่านถูกให้ออกจาก ตำแหน่งเจ้าอาวาส ด้วยข้อหา ศีลวิบัติขั้นต้น ปฐมปาราชิก ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2503 ได้ถูกถอดออกจาก สมณศักดิ์ตำแหน่ง พระพิมลธรรม ด้วยข้อหา ขัดพระบัญชา สมเด็จพระสังฆราช และถูกจับกุมด้วยข้อหา มีการกระทำ อันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำผิดต่อ ความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร และถูกฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพฯ ในขณะที่ท่านกำลังต่อสู้คดี ท่านอยู่ในผ้าขาว คือ นุ่งขาวห่มขาว อยู่ในคุก ยังไม่ได้กล่าวลาสิกขา แต่ประการใด และในที่สุดศาลฯได้พิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2509 ซึ่งแสดงว่า ท่านอยู่ในคุก เป็นระยะเวลาถึง 6 ปี ซึ่งถือเป็นเวลายาวนาน กว่าเรื่องราวต่างๆ จะปรากฏให้เห็นความบริสุทธิ์ของท่าน
ต่อมาเมื่อวันทื่ 30 มกราคม พ.ศ.2518 ก็มีประกาศชัดเจนว่า ท่านพ้นมลทิน และวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดคืนสมณศักดิ์ ตำแหน่งพระพิมลธรรมแก่ท่าน ในที่สุด และต่อมา ใครจะคาดคิดว่า พระพิมลธรรมรูปนี้ ได้รับการถวายเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เคยดำรงตำแหน่ง รักษาการ สมเด็จพระสังฆราช ของราชอาณาจักรไทยมาแล้ว
เรื่องราวที่ได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ผู้ไม่อยู่ในวงการ จะไม่รู้ว่าเจ็บปวดเพียงใด กรณีที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็น ความอัปยศของการใส่ความ และเร่งด่วนตัดสินลงไป อย่างไม่พิจารณาตามขั้นตอน แห่งกระบวนการอันชอบธรรม หากแต่ใช้อคติและอำนาจในมือ เป็นเครื่องริดรอน บั่นทอน สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรี ความเป็นคน
จึงขอฝากไว้ตอนท้ายว่า อย่าให้ความอัปยศนี้ เกิดขึ้นอีกกับวงการสงฆ์ เพราะปัจจุบันโลกนี้เจริญแล้ว ควรจะมีอารยธรรม และปฏิบัติต่อ พระสงฆ์ ด้วยความเคารพ ความลับย่อมไม่มีในโลก ความไม่ดีงามทั้งหลาย หากเกิดขึ้น ย่อมประจานผู้กระทำ ไปชั่วลูกชั่วหลาน กลายเป็น เรื่องกล่าวขาน หยามเหยียด วงศ์ตระกูลผู้กระทำ ไปอีกยาวนาน