ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ ประจำวันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2542
เสวนาเชิงวิชาการ ... แก่นธรรมของพระพุทธศาสนา
โดย...อาจารย์แสวง อุดมศรี
คุณวิรพงศ์ : ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา เป็นระยะเวลาที่มีหนังสือพิมพ์ มีสื่อต่างๆ พูดกันถึงเรื่องของความขัดแย้งในพุทธศาสนา ซึ่งผมคิดว่าทุกๆ คนในทีนี้ไม่สบายใจ วันนี้ก็เลยต้องเรียนเชิญอาจารย์แสวง มาเล่าเรื่องอะไรให้เราฟัง ผมยิงคำถามแรกเลย ในฐานะที่อาจารย์ เคยอยู่ในวงการของพุทธศาสนามานาน ในอดีตเคยมีความขัดแย้งแบบนี้ไหมครับ?
อ.แสวง : จริงๆ แล้วกระแสปัญหาในสมัยพระพุทธเจ้าก็เกิดขึ้นมาตลอด แต่ว่า พระพุทธเจ้าท่านเป็นองค์พุทธะ ที่สามารถแก้ปัญหาได้ ทุกขั้นทุกตอน ปัญหาที่เกิดทำท่าจะยืดเยื้อก็สงบลงได้ แม้จะสิ้นยุคนั้นมาแล้วก็ตาม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น คณะสงฆ์ท่านก็แก้ปัญหา มาเป็นระยะๆ แม้กระทั่งในยุคของกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีปัญหาเกิดขึ้นมาตลอด
อย่างในช่วงยุคประมาณปี 2372 ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์ก็คือว่า เมื่อก่อนนี้สงฆ์มีกลุ่มเดียว มีคณะเดียว แต่ว่ามาถึงช่วงนั้น เกิดแยก เป็น 2 กลุ่ม 2 คณะขึ้นมา ก็เป็นที่รู้กันว่านั่นคือธรรมยุติกนิกาย แล้ว ก็เกิดมหานิกายขึ้น จนกลายเป็นอนาสังวาส ไม่สามารถ จะทำสังฆกรรม ร่วมกันได้จนถึงทุกวันนี้ มีหลายท่าน พูดกันด้วยความเป็นห่วง หรืออาจจะไม่เข้าใจก็ไม่ทราบ โดยเฉพาะสื่อ ก็คือว่า เกรงว่า สถานการณ์ของพุทธ ศาสนาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จะนำไปสู่ความแตกแยก จะทำให้สงฆ์เกิดความแตกแยกบ้าง จะทำให้ชาวพุทธเกิดความแตกแยกบ้าง แท้จริงแล้ว ความแตกแยก แม้จะไม่มีพูดกันแบบตรงๆ แม้จะไม่มีธรรมกายมา มันก็แตกกันมาแล้ว นั่นคือในช่วงประมาณปี 2372 แตกกันมาแล้ว
คราวนี้ของถ้ามันจะแตก บางทีมันก็ห้ามไม่ได้ บทมันจะแตก แต่ว่าอะไรคือตัวเหตุที่ทำให้แตก อันนั้น เป็นปมเงื่อนที่เราจะต้องใช้สติให้ มากกว่าปัญญา เพราะว่าปัจจุบันนี้ นักวิชาการที่คลั่งไคล้ในทฤษฎี หรือยึด มั่นทฤษฎี ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมาก จนทำให้เกิดความสับสน ไขว้เขว จริงๆ แล้วก็มีอยู่ประมาณสัก 3-4-5 ท่านเท่านั้นเอง บังเอิญว่า สื่อก็เกาะกุมบุคคลเหล่านั้น จนไม่สามารถจะหาที่ลงได้ นั่นก็คือพยายาม ป้อนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เหตุการณ์ที่มันน่าจะลง มันก็ไม่ลง
แม้สื่อเองก็มองไม่ออกว่า เขาต้องการอะไรในการเสนอประเด็นปัญหาเหล่านี้ บางครั้งผมก็พูดกับสื่อ ทั้งสื่อประเภทหนังสือพิมพ์และ โทรทัศน์ ผมบอก เราคุยเอาความรู้กันดีกว่า ว่าจริงๆ คุณทำเรื่องนี้ติดต่อกันมายาวนาน ต้องการอะไร ซึ่งเขาก็พูดได้ไม่ชัดนัก ว่าเขารักพระศาสนา ผมก็ถามว่าคุณสมาทานศีล 5 แน่วแน่ตลอดหรือเปล่า เขาก็บอกไม่ได้สมาทาน แล้วคุณรักศาสนา คุณจะปกป้องพุทธศาสนาได้อย่างไร เขาก็อ้ำๆ อึ้งๆ อยู่
เขาก็บอกว่า หัวหน้าสั่งให้ติดตามข่าวเหล่านี้ ไม่ให้มันตกข่าว ก็พูดกันง่ายๆ คือ ข่าวนี้มันสามารถจะเลี้ยงได้ หรือขายได้
ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ย้อนยุคไป ผมว่ามันคล้ายๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 2503 นั่นคือกรณีของวัดมหาธาตุ ในช่วง นั้นต้องยอมรับว่า โด่งดังมาก ภายใต้การนำของ ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถระ) โด่งดังจนกระทั่งต่างประเทศ นิมนต์ท่าน เดินทางไป เพื่อประกาศพุทธศาสนา ท่านเป็นพระสงฆ์ไทยองค์แรก ที่นำพุทธศาสนาออกไปประกาศในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เอเซีย ยุโรป หรือ อเมริกาก็ตาม ท่ามกลางการคัดค้านของพระเถระผู้ใหญ่ว่า ไปได้อย่างไร ไปพบกับพวกนอกรีตนอกรอย ผิดจารีตประเพณี
เพราะฉะนั้น อันนี้จึงนำไปสู่ความไม่ชอบใจ แล้ว เกิดความขัดแย้งขึ้น กรณีที่เกิดขึ้น มันก็มองดูคล้ายกันมาก ก็คือว่า มีพระลิขิตจากสมเด็จ พระสังฆราชฯ ลงมาถึงท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ข้อความในลิขิตนั้น ลงเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2503 บอกว่า ท่านถูกกล่าวหาว่า ต้องอันติมวัตถุ (อัน-ติ-มะ-วัต-ถุ) ขาดจาก ความเป็นพระ เขาเรียก ปาราชิก ปาราชิกก็มีอยู่ 4 ประเด็น แต่ท่านถูกกล่าวหาในแง่ปฐมปาราชิก พูดกันแบบตรงๆ ก็คือร่วมเพศกับเด็กผู้ชาย นั่นคือข้อกล่าวหาว่า เสพเมถุนธรรม จึงขอให้ท่านหลบหนีหายตัวไป ภายใน 15 วัน เมื่อได้รับท่านก็เก็บอันนั้นไว้ จนถึงวันที่ 15 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย จึงบอกลูกศิษย์ให้ทราบ ว่ามีพระลิขิตมาอย่างนี้ พร้อมกันนั้นท่านก็มีหนังสือกราบทูล กราบขอบพระคุณใน ความเมตตานุเคราะห์ที่เสนอมา แต่ไม่สามารถจะน้อมรับปฏิบัติได้ เพราะได้ตรวจสอบตัวเองแล้วว่า ไม่ได้เป็นอย่างนั้น
แต่ว่าถ้าจะให้ดี ก็ขอได้โปรดตั้งกรรมการขึ้นมา สอบทวนความ เพื่อจะได้มีโอกาสแถลงข้อเท็จจริง ถ้าเป็นจริงอย่างนั้น แก้ไม่หลุด ก็ยอมรับโทษทัณฑ์ทุกกรณี
ก็สรุปว่า คณะสงฆ์ก็ไม่ได้พิจารณา แล้วก็มีคำสั่งตามมาว่า ขัดบัญชาบ้าง จนกระทั่งนำไปสู่การถอดยศปลดตำแหน่ง เหลือมาเป็นพระอาจ อาสโภ จากพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ ถอดจากเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุก่อน แล้วก็ถอดยศตามมา
แต่ถึงขนาดนั้นก็ไม่รู้จะเล่นท่านยังไง เรื่องคารา คาซัง ญาติโยมก็วิจารณ์กันมากมาย ในที่สุดคณะสงฆ์ ระดับสูง ก็แลกเปลี่ยนความคิดกับ จอมพลสฤษดิ์ นายกฯ สมัยนั้น นั่นก็คือเอาข้อหาคอมมิวนิสต์ให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ ช่วงนั้นได้ยินคำว่า คอมมิวนิสต์ที่ไหน หูผึ่งที่นั่น
จอมพลสฤษดิ์ ก็ไปดำเนินการให้ตำรวจไปจับกุม ตำรวจก็ไปล้อมวัดมหาธาตุหมด เหมือนไปปราบจราจล เพราะพระที่วัดมหาธาตุตอนนั้น มีพระมากที่สุดในประเทศไทย พระลูกวัดก็ไปล้อมท่านไว้ แต่ท่านก็บอกว่าปล่อยเขา หลวงพ่อรอสิ่งนี้มานานแล้ว จะได้พิสูจน์ว่าอะไรมันคืออะไร ตำรวจก็เอาตัวท่านไป เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2505
เมื่อจับไปแล้ว หลังจากนั้นอีกสักเดือนเศษ จอมพลสฤษดิ์ ท่านก็เริ่มเอะใจ กล่าวคือเมื่อไปขอหลักฐานต่างๆ ไม่ได้ คณะสงฆ์ผู้ใหญ่ที่ บอกว่า มีหลักฐานพร้อมมูล จับเมื่อไหร่ให้เมื่อนั้น สรุปแล้วไม่มีให้ เมื่อไม่มีให้ ท่านก็ตำหนิพระผู้ใหญ่ ตำหนิคล้ายๆ ว่า พระหลอกท่าน พระ หลอกให้จับพระ คือตอนจับไปในคืนนั้น ต่อรองกันอยู่ตลอด ต่อรองไม่ลง คือท่านเจ้าคุณบอกว่า จะขอสู้คดีในเพศบรรพชิต แต่ทางเจ้าหน้าที่ ตำรวจ และพระที่เขานิมนต์ไปไม่ยอม พระผู้ใหญ่ก็สั่งการให้ดำเนินการสึกให้ได้ เมื่อต่อรองไม่ได้ผล ท่านก็เลยเขียนหนังสือปฏิญาณตัวเอง ความ โดยสรุปก็คือว่า จะขอปฏิญาณตัวเอง เป็นภิกษุในพุทธศาสนาตลอดไป จะประพฤติยึดมั่นในหลักคำสอน โดยไม่ยอมลาสิกขา หากจะมีผู้หนึ่งผู้ใด ลุแก่อำนาจ มาแย่งชิงเอาผ้ากาสาวพัสตร์ ก็จะถือว่าผู้นั้นใช้กิริยาเยี่ยงโจร และก็จะขออาศัยสิทธิ์ ตามพระวินัย ที่อนุญาตไว้ก็คือว่า ใช้เครื่องนุ่งห่ม ชุดอื่นแทน จนกว่าจะสามารถหาผ้ากาสาวพัสตร์มาใช้
แล้วเขียนคำยืนยันไว้แผ่นหนึ่ง ก็คือมอบให้ท่านเจ้าคุณวัดสามพระยา ตอนหลังก็เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มรณภาพไปแล้ว เผื่อ วันหน้า จำเป็นจะต้องใช้เอกสารแผ่นนี้ แล้วตัวท่านเก็บไว้แผ่นหนึ่ง หลังจากนั้น ท่านก็นั่งสมาธิ ไม่รับรู้อะไรจะเกิดขึ้น ตำรวจก็ต้องช่วยกัน ดึงจีวร ออก เพราะว่า นั่งทับแล้วมันเอาผ้าออกไม่ได้ จนกระทั่งตัวท่านลอยขึ้น เปลื้องผ้าออก แล้วไปหาชุดเก่าๆ ของตำรวจเหลืออยู่แถวนั้น มาให้ท่าน เพราะ ฉะนั้นอันนี้คือ เหตุการณ์ที่มันสร้างความเศร้าสลด แม้กระทั่งพระสงฆ์ต่างประเทศ ที่รู้จักคุ้นเคยกับท่าน ก็อุตส่าห์เดินทางมาเยี่ยมที่คุมขัง
ในระหว่างนั้นท่านก็ประพฤติวัตรปฏิบัติเป็นพระ ถึงเวลาเช้าสวดมนต์เช้า ถึงเวลาเพล ท่านก็เรียกตำรวจมาประเคน บางคนก็บอก ไอ้อาจ สึกไปแล้ว ยังจะมาเรียกให้ประเคนอีก ท่านก็บอก ประเคนหน่อยน่ะ เขาคงจะรำคาญ มาประเคนก็สักแต่ว่ายื่นให้ ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร ตอนบ่าย มีเวลาก็แปลหนังสือ นั่งสมาธ ิแล้วก็เตรียมแก้คดีด้วยตัวท่านเอง เพราะข้อหาคอมมิวนิสต์ไม่มีทนายให้ ต้องแก้คดีด้วยตัวเอง
ต่อมาเหตุการณ์นี้เริ่มอ่อนลง ตำรวจเริ่มลดการดูหมิ่นดูแคลนลง และพันตำรวจตรีสุพันธ์ แรมวัลย์ ในขณะที่ไปสร้างพยานหลักฐาน ที่ จังหวัดตรังกลับมา รถคว่ำชนคอสะพาน พลิกไม่รู้กี่ตลบ ตัวนายพันตำรวจ คนนั้นคอหักตาย จากนั้นจึงลือกันทั้งกรมตำรวจ แล้วตำรวจที่เคยพูดจา ถากถางก็เริ่มอ่อนลง
ท่านอยู่ในนั้นจาก พ.ศ.2505 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2509 ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ไม่มีมูล แม้กระทั่ง ท่าน ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งทาง คณะสงฆ์ อ้างเป็นพยานของฝ่ายโจทก์ แต่ว่าพอไปสืบพยาน กลับให้การเป็นประโยชน์ต่อจำเลย ท่านบอกว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ก็เห็นแต่จำเลย ทำคุณงามความดีมาตลอด ไม่เชื่อว่าจำเลยจะมีพฤติกรรมตามที่กล่าวหา
เพราะฉะนั้น คำลงท้ายของคำพิพากษาจึงสรุปว่า ขอให้พยานที่ประพฤติยึดมั่น ในหลักธรรมทางพุทธศาสนามายาวนาน จงหนักแน่น จงประพฤติยึดมั่นในหลักธรรมต่อไป ความผิดที่เกิดขึ้นในคราวครั้งนี้ ถือเป็นความผิดของวัฏฏะ ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้ผิด
เมื่อศาลพิพากษาเสร็จ ลูกศิษย์เจ้าคุณที่วัดมหาธาตุก็เตรียมไตรจีวรไป ถ้าตัดสินว่าผิด ก็หาชุดฆราวาสให้ เพราะว่าตอนนั้น ศาลเดียว ตัดสินแล้วยุติเลย ถ้ายกฟ้องก็ถวายผ้าไตร บังเอิญว่าศาลยกฟ้อง พอยกฟ้อง ลงจากที่นั้นก็ถวายผ้าไตร แล้วท่านก็ครองผ้าไตรเลย
คุณวิชชุดา : มันเป็นแผลลึกนะคะอาจารย์ แผลลึกในพระพุทธศาสนา งานการที่ท่านจะดำเนินต่อไปใน ช่วงนั้น ก็คงต้องหยุดชะงักลง หลายๆ อย่าง
อ.แสวง : ผมว่าพระเถระ 2 ท่าน หลวงพ่อวัดมหาธาตุก็ตาม หลวงพ่อที่วัดพระธรรมกายมีลักษณะ ทำงานศาสนาเชิงรุก ไม่ใช่นอนนิ่ง อยู่ในกุฏิ เบื้องต้นก็รุกภายในประเทศ จากนั้นก็รุกขยายไปต่างประเทศ พระสงฆ์ไทยที่มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศได้ทุกวันนี้ เพราะท่าน เป็นผู้บุกเบิก และเดินทางไปก่อน ไม่ว่าจะ เป็นเอเซีย ยุโรป อเมริกาก็ตาม แต่ว่าการไปนั้น ท่านไปท่ามกลางคำถากถางว่า ไปพบกับพวกนอกรีต นอกศาสนาได้อย่างไร ท่านคงจะไปเห็นอะไรมามาก จึงต้องการทำให้ศาสนาเป็นสถาบัน หรือองค์กรที่เข้มแข็ง มีหน่วยงานที่เป็นหลักเป็นฐาน ที่คนจะติดต่อเป็นชิ้นเป็นอันได้
โดยสรุปก็คือ กลับมา ท่านก็มาเสนอแนวคิดให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น เสนอแนวคิดว่า ควรจะหาที่ถวายเวนคืน เป็นพุทธบูชา เป็นอนุสรณ์ 25 ศตวรรษ เพราะประเทศอื่นเขาสร้างอนุสรณ์หมด ประเทศพม่าจัดฉัตรสังคายนา รัฐบาลลงทุนสร้างจำลองถ้ำ สัตตปนิ เป็นสถานที่ทำสังคายนา ใหญ่โตมาก ประเทศอินเดียแม้จะไม่นับถือพุทธศาสนา รัฐบาล ยวาหระลาล เนห์รู ก็เวนคืนที่รอบพุทธคยา แล้วก็ เชิญประเทศนับถือพุทธศาสนา ไปสร้างวัดที่นั่น ทั้งมหายาน และหินยาน ประเทศศรีลังกาก็จัดพุทธยันตี เสนอแนวคิดอันนี้
สรุปว่าจอมพล ป. ก็เวนคืนที่แถวพุทธมณฑล เพื่อให้เป็นศูนย์ศาสนา โดยมีความมุ่งหมายว่า สมเด็จพระสังฆราชจะประทับทรงงานที่นั่น เป็นครั้งเป็นคราว ทำเนียบของคณะสังฆมนตรีก็จัดอยู่ที่นั่น คณะสงฆ์จะไปทำงานที่นั่น นั่นคือเป้าหมาย ไม่ใช่ไปห้อยเป็นติ่งอันหนึ่ง อยู่ที่กรมการ ศาสนา
วัดพระธรรมกายก็มีลักษณะคล้ายกัน ที่ว่าคล้ายกันนั้น ไม่ได้หมายความว่า มักใหญ่ใฝ่โต แต่ว่ามันตามบีบมาเป็นระยะๆ สมมุติว่าบ้านนี้ สร้างไว้เพื่อให้คนอยู่สัก 10 คน ต่อมามันมา 15 คน ก็ขยายตามไปเรื่อย ที่พุทธมณฑลก็มีลักษณะนั้น ทีนี้สงฆ์ผู้ใหญ่ก็คงจะเกรงว่า เจ้าคุณพิมลฯ คงจะไปนั่งหัวแถว แล้วไปบัญชางานที่นั่น เพราะฉะนั้นจึงหาทางเอาลง
จริงๆ แล้วมีปมเงื่อนลึกกว่านั้น ธรรมกายนี่ผมมองแบบภายนอกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป บทบาทของคณะสงฆ์จะอ่อนตัวลง จะมีสถานะ เหมือนกับเสือกระดาษ เพราะบังเอิญว่าเขามีพื้นที่ มีการจัดทำงานทำการ คนที่ไปทำงานอยู่ที่นั่น รักษาศีล 8
อันนี้ที่วัดพระธรรมกายเขาจัดฝึกฝนคนได้ดี แล้ว ต่อไปคนจะไปดูศาสนา คนจะปฏิบัติธรรม ก็ไปที่นั่น เมื่อคนไปที่นั่น มันก็ดึงให้วัดอื่น เกิดสภาพเบาบาง นี้เป็นไปได้หรือไม่ ที่นำไปสู่การตัดทอนบ่อนแซะให้มันเบาลง
คุณวิชชุดา : ในฐานะที่อาจารย์เป็นคณะกรรมการ จัดทำพระไตรปิฎก มีคนเอาพระไตรปิฎกของอาจารย์ มาวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะแยะ อาจารย์มีความรู้สึกยังไง มีความคิดเห็นยังไงครับ
อ.แสวง : ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบงานส่วนนี้ เราก็นั่งวิเคราะห์กันอยู่ในหลายๆ แง่ บางทีก็มานั่งนึกตลกกัน ตลก ในแง่อย่างเช่นว่า มีท่านเจ้าคุณองค์หนึ่ง แถวจังหวัดนนทบุรีกล่าวว่า วัดพระธรรมกายทำไม่ถูกธรรมวินัย แล้วก็ออกข่าวมาเป็นระยะๆ วันดีคืนดี เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ท่านก็ชวนพวกไปลงปัพพาชนียกรรม คือการขับไล่ท่านอาจารย์ ธัมมชโย โดยท่านเองนั้น ขาดความแม่นยำในวินัยกรรม ส่วนนี้ เมื่อท่านกล่าวหาว่า เขาทำผิดวินัย แต่ตัวท่านเอง ก็ทำผิดพระวินัย
ปัพพาชนียกรรมคือการขับไล่ เป็นนิคหกรรม หรือว่าบทลงโทษอันหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์ลงโทษกันได้ แต่ผู้ที่จะทำ ปัพพาชนียกรรม เบื้องต้น ต้องมีผู้บังคับบัญชามอบหมาย ไม่ใช่ว่า ไม่ชอบคนนั้นแล้วก็รวมพวก 4-5 องค์ ทำปัพพาชนียกรรมขับไล่เขาเรื่อย มันก็วุ่นนะฮะ
ประการที่ 2 ปัพพาชนียกรรมนั้น เป็นสังฆกรรมประเภทที่เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรม คือตั้งญัตติ 1 ครั้ง สวด 3 ครั้ง แล้วสรุปมติ 1 ครั้ง เหมือนบวชพระ ถือว่าเป็นสังฆกรรมที่ทำลำบาก แล้วเมื่อเป็นสังฆกรรมแล้ว จะต้องสมมุติสถานที่นั้นเป็นเสมา หรือทำในโรงอุโบสถ ถึงจะได้
นอกจากนั้น การจะลงปัพพาชนียกรรม จะต้องทำในที่เกิดเหตุ และต่อหน้าบุคคลที่จะลงปัพพาชนียกรรม ภิกษุรูปใดไม่ทำตามนี้ อาบัติ ทุกกฏ คือเมื่อกล่าวหาเขาอย่างนั้น เราจะต้องไม่เป็นอย่างนั้น
ถ้าไม่แม่นอย่าเพิ่งพูด หรืออย่าเพิ่งทำ อันนี้ท่านเล่นทั้งพระ ทั้งฆราวาส ชวนกันไปเหมือนเปิดไฮปาร์ค ทำกันลานวัด แล้วก็บอกว่า เรา ปัพพาชนียกรรม ปัพพาชนียกรรม เขาต้องให้โอกาสผู้ที่ถูกกล่าวหา และ ต้องไปทำที่วัดพระธรรมกาย แล้วต้องทำต่อหน้าท่านอาจารย์ธัมมชโย ถ้าทำลับหลัง ผู้ทำเป็นอาบัติทุกกฏ
แล้วถ้าทำโดยไม่ตั้งญัตติ ไม่ทำในเสมา หรือสถานที่สมมุติว่าเป็นเสมา อาบัติทุกกฏ ถ้าทำโดยไม่ได้รับมอบหมาย อาบัติทุกกฏ ไม่รู้ทุกกฏ กี่ครั้งแล้ว ผมถึงบอกว่า เจ้าคุณองค์นี้ไม่ไหวแล้วนะ
ทุกวันนี้เราใช้ปากแก้ปัญหา สมมุติว่าเรื่องที่มันเกิดขึ้น ท่านทางวัดพระธรรมกายจะได้คุณธรรมชั้นใด อย่างผมนี่ ผมไม่กล้าที่จะไป วิเคราะห์วินิจฉัยว่า ท่านได้ หรือไม่ได้ เพราะผมรู้ตัวผมเองว่า ผมยังเป็นสามัญชน ยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมชั้นใดชั้นหนึ่ง การจะไปตรวจสอบว่า ผู้นั้นได้โสดาบันหรือไม่ อย่างน้อย ตัวผู้ตรวจสอบจะต้องได้โสดาบันเป็นอย่างต่ำ ถ้าผู้นั้นบอกว่าได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ผู้จะไปตรวจสอบต้อง เป็นพระอรหันต์ แล้วพระอรหันต์ต้องไม่ใช่อรหันต์ธรรมดา ต้องปฏิสัมภิทา ต้องมีอภิญญา ถึงจะตรวจสอบกันได้
เราจะมากางคัมภีร์ตรวจสอบคุณธรรม อย่างที่เขาปฏิบัติอยู่ ผมว่ามันลำบาก ถ้าอย่างนั้น เราก็บ้าคัมภีร์กันอยู่อย่างนี้ ไม่ต้องไปถึงไหน หอบแต่คัมภีร์อยู่นี่ มันก็เป็นอุปสรรคเป็นตัวขัดขวาง จริงอยู่นะครับ ปริยัติและปฏิบัติ ต้องอิงอาศัยกันและกัน มันเป็นบ่าเป็นฐานของกันและกัน โดยไม่สามารถจะทิ้งอันใดอันหนึ่งได้ ถ้าสามารถทำให้สมบูรณ์ทั้งสองด้านได้ ยิ่งวิเศษ แต่ถ้ามันสมบูรณ์ไม่ได้ ต้องเน้นแนวทางของการปฏิบัติ หลวงพ่อพิมลธรรม วัดมหาธาตุ ที่ถูกคดีอย่างที่กล่าว ท่านบอกว่า ท่องพระไตรปิฎกแม่นยำ จบได้พันครั้ง สองพันครั้งก็ตาม โดยไม่มีผิดพลาด ไปนิพพานไม่ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติ ให้ท่องได้เป็นต่อยหอยเลย เป็นพันเที่ยว แต่ว่าถ้าไม่ปฏิบัติ ไปนิพพานก็ไม่ได้
คุณวิรพงศ์ : ในพระไตรปิฎกนี้มีคำว่า ธรรมกาย มากมายยังไงครับ
อ.แสวง : ในพระไตรปิฎก เท่าที่พบตอนนี้ มีอยู่ในเล่มที่ 11 เรื่องของอัคคัญญสูตร คือมีกล่าวถึงคำว่า ธรรมกาย มีกล่าวถึงคำว่า พรหม กาย ธรรมภูต
แต่คำว่า ธรรมกาย อรรถกถารุ่นหลัง ก็มาขยายความว่า หมายถึงคำที่พระพุทธเจ้าท่านทรงคิดถึงพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก แล้วก็นำ ออกมาเผยแพร่ กระจายเข้าไปสู่การประพฤติปฏิบัติ ดังนั้น จึงกลายเป็นคำว่า ธรรมกาย ส่วนคำว่า พรหมกาย นั้นก็หมายถึงว่า พระพรหม สังคม อินเดียสมัยนั้น ยกย่องกันว่าสูงสุด เพราะฉะนั้นเป็นสภาวะที่นำมาเปรียบเทียบกัน
คุณวิชชุดา : อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ ใน แง่ของนักปริยัติ อาจารย์รู้สึกยังไงคะกับการปฏิบัติ
อ.แสวง : การจะวิจารณ์ใครก็ตาม ภูมิมันจะต้องทัดเทียมกัน แต่นี้ว่านักปริยัติก็อาจจะเสียเปรียบ อยู่ เพราะนักปริยัตินั้น มักวิจารณ์ตาม กรอบที่เขาขีดเส้นไว้ สมมุติอย่างคำๆ นี้ อรรถกถาว่าไปอย่างนี้ ก็ต้องพยายามวนอยู่ในกรอบนั้น ถ้าใครก็ตามล้ำกรอบนั้นออกไป ก็จะถูกกล่าวหา ว่า บิดเบือนบ้าง หรือว่าคลาดเคลื่อนบ้าง ในขณะที่ปฏิบัตินั้น วงมันกว้าง เพราะปฏิบัติไปแล้วมันไปพบ ไปประสบด้วยตัวของตัวเอง บางครั้ง นำมาพูดให้คนอื่นฟัง ผู้ฟังจะมึน
ก็อย่างเช่น ผมไม่ได้ปฏิบัติธรรมกายนี้ หรือไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ผมฟังอาจารย์ว่า เหมือนมีวสี มีความชำนาญ แต่ใน ขณะเดียวกัน ผมก็มองภาพไม่ออกว่า จุดกึ่งกลางกาย หรือเกิดแสงสว่าง หรือเกิดอะไรต่ออะไรขึ้น คือมันเป็นสัญญาเท่านั้นเอง แต่มันไม่ได้เกิด ปัญญา เพราะฉะนั้นตรงนี้คือจุดด้อยของนักปริยัติ
แต่ถ้าสมมุติว่าไปจับปริยัติก่อน แล้วต่อมาก็ปฏิบัติ ทำให้มองกลับไปปริยัติชัดเจนขึ้น แล้วปฏิบัติก็เดินได้เร็วขึ้น หรือจะไปเริ่มต้นที่ปฏิบัติ ก่อน แล้วมองกลับมาปริยัติ มันก็สว่างมันชัดขึ้น
เพราะฉะนั้นรูปแบบการปฏิบัติมันก็มีหลายอย่าง เหมือนกับ มาเซ็นทรัล เราก็สามารถจะมาได้หลายทาง บางคนยึดติดว่า ต้องมาพหลโยธิน สายเดียว ไม่ใช่อย่าง ผมมาจากสนามหลวง ผมก็ต้องมาทางนี้ หรืออาจจะเสียเวลาหน่อย ผมก็จะอาจจะต้องโค้งไปแล้วมาทางนี้
ผมเคยศึกษาประวัติของท่านอาจารย์ธัมมชโย สมัยที่เรียนอยู่ที่เกษตร ท่านเป็นนักปฏิบัติที่ทดลองอยู่ หลายสำนัก แม้แต่วัดมหาธาตุ ท่าน ก็ไป แล้วเอาจริงเอาจังด้วย แต่ท่านบอกว่า มันไม่ถูกจริต จึงตรงไปที่วัดปากน้ำ แต่ว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำมรณภาพไปนานแล้ว
เพราะฉะนั้น นักปริยัติจะไปตีความนักปฏิบัติลำบาก อย่างดีที่สุดก็จะตีอยู่ในกรอบของนักปริยัติว่า อันนี้เลยกรอบ ล้นขอบไปแล้ว แต่ว่า จริงๆ แล้วนักปฏิบัติ เขาจะรู้ว่า มันล้นหรือไม่ล้น หรือกรอบ เขาควรจะอยู่ตรงไหนอย่างไร
คุณวิชชุดา : จริงๆ แล้วนักปฏิบัติและนักปริยัติ มีประโยชน์ด้วยกัน เกื้อกูล อุดหนุนพระศาสนาอยู่ด้วยกันทั้งคู่ แทนที่เราจะเอามา ทะเลาะกันจริงไหมค่ะ
อ.แสวง : คือจริงๆ แล้วมันต้องอาศัยกัน เมื่อก่อนนี้ วัดพระธรรมกายก็เน้นภาคปฏิบัติอย่างเดียว ภายหลังเมื่อปฏิบัติได้ที่ หรือตั้งหลักได้ ก็ย้อนกลับมา ฟื้นฟูปริยัติ ก็กล่าวกันว่ าเป็นสำนักปริยัติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพราะฉะนั้น 2 อันนี่ มันจะต้องเป็น สิ่งเกื้อกูลอาศัยกันและกัน ถ้าหากว่า มันมีเพียงอันใดอันหนึ่ง มันก็เหมือนคนขาด้วนไปข้างหนึ่ง แต่นี้ถ้าเรา มี 2 อัน มันก็เหมือนกับเรามีขา 2 ข้าง ปัญหาว่า อันไหนมันจะ ดีกว่ากัน ขาซ้ายขาขวา ใครจะถนัดกว่ากันก็แล้วแต่
อย่างไรก็ตาม ผมไม่เห็นด้วย ในผู้ช่ำชองทั้ง 2 ด้าน ด้านใดด้านหนึ่ง แล้วจะนำจุดนั้นมาทะเลาะมาขัดมาแย้งกัน จนเป็นเหตุให้เกิดรอยด่าง ขึ้นในพุทธศาสนา ในวงการคณะสงฆ์ไทย
ผมว่าในฐานะเราเป็นนักการศาสนาหรือพระด้วยกัน จะมาไล่บี้อะไรกันมากมาย แล้วจะเข่นฆ่ากันไปถึงไหน
คุณวิรพงศ์ : อย่างที่เขาเผาหุ่น เป็นอย่างไรครับ
อ.แสวง : คือดูหุ่นแล้ว ก็ไม่น่าจะเชื่อว่าเขาเป็นคนที่เคารพนับถือพุทธศาสนา หรือเป็นนักปฏิบัติเคร่งครัด มันก็เหมือนกับคนเมาเหล้า มาอวยพรเรา เป๋ไปเป๋มา ขอให้คุณเจริญมั่นคง หรือว่าอยู่ดีมีสุข มันเป็นไปไม่ได้ ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกันว่า เขาคิดอะไร หรือเขาคิดอย่างไร หรือ ใครคิดอะไรให้ อันนั้นเราไม่ทราบ แต่ผมว่ามันน่าจะหาทางคุยกันได้ ไม่ใช่เรื่องเกินวิสัย เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า เรามีสติตั้งได้ อดทนได้ ถึงที่สุด แล้วผมว่า ปัญหามันจะเริ่มเบา เพราะว่ากระแสต่างๆ มันจะไปชั่วระยะหนึ่ง เมื่อต่อไปมันทนพิสูจน์จริงๆ ในตัวของมันแล้ว มันก็มันจะยุบของมัน เอง ปัญหาว่าเราจะทนถึงจุดนั้นได้หรือไม่
คุณวิรพงศ์ : คือสื่อแรงเหลือเกินฮะอาจารย์ตอนนี้
อ.แสวง : สื่อแรงฮะ แต่ว่าตอนนี้เท่าที่สังเกต หัวข่าวก็เริ่มลดลง และพระหลายองค์ที่ออกมาพูดก็ชักเริ่มแผ่วเสียงลง อาจจะเป็นเพราะว่า มันจะกลายเป็นชนวน ที่นำไปสู่การแตกแยกมากขึ้นหรือไม่ เขาวิตกกันด้านนี้อยู่ พระผู้ใหญ่เองก็วิตก แล้วก็ระดับล่างเองก็วิตก แต่ผมก็บอกว่า เดี๋ยวมันก็พิสูจน์ตัวมันเอง แต่ว่า กว่าเราจะหลอมเป็นเนื้อทอง ผมว่าต้องใช้เวลา ต้องทนหน่อย ร้อนด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่ได้ทองมา
ถ้าเราหยุดพูดกันได้ ก็จะทำให้เรื่องเหล่านี้เบาลง เมื่อเช้าผมก็คุยกับพระผู้ใหญ่ว่า เอ๊ะ กรมการศาสนารู้สึกจะพูดมาก เดี๋ยวอย่างนั้น เดี๋ยว มาตรานี้ เดี๋ยวข้อนั้นฉบับนี้ อะไรเรื่อยเลย ผมก็บอกว่า กรมการศาสนามีหน้าที่มาไล่พระหรืออย่างไร
จริงๆ แล้วกรมการศาสนา มีหน้าที่สนองงานพระ มีหน้าที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับพระ ไม่ใช่อ้างมาตรา มาไล่จับพระจับเจ้าอยู่เรื่อย เพราะศีลไม่เท่ากัน อะไรหลายอย่างไม่เท่ากัน แล้วจะมาวินิจฉัยว่า พระเป็นปาราชิก เป็นสังฆาทิเสส ได้อย่างไร
ย้อนกลับไปเรื่องของหลวงพ่อวัดมหาธาตุ พอดีช่วงนั้นผมไปพบท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ เพื่อขอให้ท่านช่วย ดำเนินการเรื่องนี้ ให้ความเป็นธรรมกับท่าน ท่านบอกชัดเจนว่า ตัวท่านเองนั้น สมาทานศีล 5 ข้อ รักษาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางทียังไม่ทันออกจาก วัดหลุดไปหลายข้อแล้ว แล้วจะไปวินิจฉัย ไปตัดสินอธิกรณ์ของพระ 227 ข้อได้ยังไง
เพราะฉะนั้น ท่านสัญญาก็บอกผมว่า ให้ไปเรียนพระผู้ใหญ่ให้รีบตัดสินก็แล้วกัน แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นว่า ฆราวาสมาพิพากษาเรื่องของ พระหมดแล้ว ไปวินิจฉัยว่า พระองค์นั้นเป็นพระ ไม่เป็นพระ หมดแล้ว ประเด็นสำคัญว่า ตัวเองเป็นพระหรือไม่
คุณวิรพงศ์ : ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนของวัด เมื่อถึงที่สุด หมายถึงว่าเหตุการณ์สงบดีแล้ว เราหรือใครจะช่วยรักษา พระพุทธ ศาสนา ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องเจริญ ก้าวหน้าได้อย่างไร อาจารย์พอจะมีแนวความคิดเสนอแนะอย่างไรครับ
อ.แสวง : ก็คงต้องเป็นมือของพวกเราเอง เมื่อพวกเราทำลาย พวกเราก็ต้องมาบูรณะ จะไปเรียกร้องให้ใครช่วย เพราะว่า บางช่วง บางครั้ง ก็อาจจะเกิดโมหะครอบงำจนเสียหลัก จริงอยู่ เมื่อถึงจุดหนึ่งมันจะต้องคลี่คลาย เมื่อคลี่คลายปุ๊บ หน้าที่ของเรา ที่จะช่วยกันบูรณาการ ขึ้นมาใหม่ ถ้าหากว่าเราไม่ทำ มันก็เป็นภาพอัปลักษณ์อยู่อย่างนี้ตลอดไป และเราก็จะกลายเป็นผู้มีส่วนผสมโรงทำลายไปด้วย
คุณวิชชุดา : ขณะนี้ ไม่ว่ารัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ และผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาของกรมการศาสนาได้พูดว่า ถ้าไม่ได้โอนที่ดิน สามารถสึก เจ้าอาวาสได้ว่า ไม่ทำตามคำสั่งของพระผู้บังคับบัญชา ข่าวที่ออกมานี้เป็นความจริงได้แค่ไหน
อ.แสวง : ก็ได้ฟังแต่ข่าวเช่นเดียวกัน
ในความเป็นจริง ทานมีอยู่ 2 ลักษณะ คือประการที่ 1 สังฆทาน นั่นคือผู้มีจิตศรัทธาถวายสงฆ์องค์ใดก็ได้ โดยไม่ได้เจาะจง ประการที่ 2 ปาฏิปุคคลิกทาน เลื่อมใสเฉพาะคน แม้จะรู้ว่าท่านไม่ฉัน แต่ก็จะถวายทำนองนั้น คนที่เลื่อมใสเฉพาะคน มันก็พูดยากว่าเขาเลื่อมใสอะไร หลวงพ่อ บางองค์มีโยมนำปิ่นโตไปถวาย พอรู้ว่าท่านไม่อยู่ หิ้วปิ่นโตกลับเลย นั่นคือความเลื่อมใสเฉพาะคน แล้วในกรณีอย่างนี้ ผมว่า พระวินัยไม่ได้ บัญญัติว่า ต้องสละ ต้องบริจาค
เท่าที่ได้ทราบ ก็มอบหมายให้กับไวยาวัจกรไปแล้ว ไวยาวัจกรท่านก็รับหน้าที่ต่อไป แล้วกฎหมายก็ไม่ได้บังคับไว้ว่า พระต้องบริจาค ของในวัดให้หมด มีอะไรต้องบริจาคให้หมด พระผู้ใหญ่เขายังวิจารณ์กันอยู่ว่า เกิดวินัยใหม่ขึ้นมา ผู้ใดก็ตาม มีทรัพย์สินสิ่งของเกิดขึ้น ในขณะเป็น สมณะ เป็นพระ ถ้าไม่สละให้วัด รวม ค่าครบได้ 300 กว่าบาทนั้น ก็จะเป็นอาบัติปาราชิก สรุปว่า พระในประเทศไทย ผมว่าไม่เหลือ
สบงจีวร อาหารบิณฑบาตได้เท่าไหร่ ไม่ต้องฉัน บริจาคให้เป็นของวัดหมด แล้วจีวรผืนหนึ่งมันหลายร้อย สบงผืนหนึ่งเท่าไหร่ เพราะนั้น ต่อไปก็ต้องไปถือศาสนา เช่น นุ่งลมห่มฟ้ากัน เพราะว่ามันมีไม่ได้ อาบัติปาราชิกกันหมด
สุดท้าย ผมขอนำคำโคลงสี่สุภาพของหลวงพ่อพิมลธรรมมาเป็นบรรทัดฐานก็แล้วกัน ในฐานะที่ท่านเคยต่อสู้ หรือผจญปัญหาในลักษณะนี้ แล้วก็ในที่สุดท่านก็ชนะมา คือท่านเขียนเป็นโคลงสี่สุภาพ สอนประจำใจท่านมาว่า
ความร้ายในโลกล้วน เหลือหลาย
รุมรอบรบใจกาย เกลื่อนแท้
สิ่งอื่นจักหักหาย หาวห่อน มีฤา
เว้นแต่ความดีแก้ กลับร้ายกลายดี
โดย...อาจารย์แสวง อุดมศรี
ปริญญาตรี พุทธศาสตร์บัณฑิต มหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท มหาวิทยาลัยไมซอร์ ประเทศอินเดีย
ณ ห้องแกรนตด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทรัลแกรนพลาซ่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2542