ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ ประจำวันอาทิตย์ที่ 18 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2542

บทความพิเศษ

หากกล่าวโทษพระได้สำเร็จ ก็ไม่มีสิทธิ์จับสึก

สมบูรณ์ กิตติวิริยคุณ

หลังจากที่ผู้เขียนได้เขียนบทความทางวิชาการในคราวที่แล้ว ในหัวข้อ พระถูกดำเนินคดีอาญา เจ้าหน้าที่ไม่ให้ประกันตัว จับสึกได้จริงหรือ? ได้มีผู้ที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย แสดงความคิดเห็น กลับมาอย่างกว้างขวาง เมื่ออ่านจับใจความ โดยภาพรวมแล้ว พบว่า บุคคลที่คัดค้านว่า บทความเดิมนั้น ไม่ถูกต้อง ปรากฏว่า หลายท่าน ไม่ได้ศึกษากฎหมายมาก่อน แต่อย่างใด แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย คงต้องตีความ ตามนัยแห่งกฎหมาย ไม่สามารถตีความ เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

มาครั้งนี้ นอกจากมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ไทย ปี 2535 จะขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุด ของประเทศแล้ว ยังมีมาตรา 30 ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ อีกหนึ่งมาตรา ที่ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วยดังนี้

มาตรา 30 เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใด ตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการ ให้เป็นไปตาม คำ พิพากษา หรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการ ให้พระภิกษุรูปนั้น สละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาล ทราบถึง การสละสมณเพศนั้น

ซึ่งความในมาตรา 30 นี้ แยกได้เป็นประเด็นใหญ่ 2 ประเด็นคือ

1. ถูกพิพากษาจำคุก

2. มีคำสั่งศาลให้กักขัง หรือ ขัง

เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญดังนี้

1. เมื่อภิกษุถูกศาลพิพากษาจำคุก ความประโยคนี้ขัด กฏหมายรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 33 วรรคสอง ดังนี้

มาตรา 33     ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด   ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่า บุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อ บุคคลนั้น เสมือนเป็น ผู้กระทำความผิด มิได้

มาตรา 33 นี้เป็นการระบุโดยชัดแจ้งว่า ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แต่มาตรา 30 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ใช้คำว่า เมื่อภิกษุถูกศาลพิพากษาจำคุก ซึ่งอาจจะเป็น ศาล ชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ ที่ตัดสินให้จำคุก แต่ศาลฎีกาอันถือว่า เป็นคำพิพากษาอันสูงสุด อาจจะมีคำสั่งยกฟ้อง หรือลงโทษใดๆ โดยไม่ต้องจำคุกก็ได้ ดังนั้น การให้พระภิกษุ สละสมณเพศ ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุก จึงเป็นการขัดต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 33 วรรคสอง ดังกล่าวข้างต้น

นอกจากนี้ การใช้อำนาจ เจ้าหน้าที่พนักงานของรัฐ ให้พระภิกษุที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิด ให้สละสมณเพศ ก่อนพิสูจน์ข้อกล่าวหา ดังกล่าวนั้น เป็นการรอนสิทธิ์ ผิด รัฐธรรมนูญ ซึ่งพระภิกษุรูปนั้น ที่ถูกกล่าวหา ยังคงมีสิทธิ อันชอบด้วย พระธรรมวินัย ในการดำรงสมณเพศพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา อันเป็นการปฏิบัติตาม ศาสนบัญญัติ (การอุปสมบท) ที่ได้มีการรับรองว่าถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย และมีกฎหมายรับรอง ความเป็นพระภิกษุ ของท่าน ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพ ของชนชาวไทย อันชอบธรรม ตาม ที่กฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา 38 คุ้มครองดังนี้

มาตรา 38      บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมี เสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรม อันดีของประชาชน

ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง มิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการ รอนสิทธิ หรือเสียประโยชน์ อันควรมีควรได้ เพราะเหตุ ที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตาม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น

ดังนั้น การให้พระภิกษุสละสมณเพศ (ให้สึก) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไทยปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ที่ว่า เมื่อจะ ต้องจำคุก ตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล โดยมิใช่เป็นคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกนั้น จึงกระทำมิได้ เพราะเป็นการขัดบทบัญญัติ กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 ที่ว่า ไม่ให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็น การรอนสิทธิ เพราะเหตุที่ถือศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ

2. "มีคำสั่งให้กักขังหรือขัง ให้เจ้าพนักงาน จัดการให้ภิกษุนั้น สละสมณเพศ แล้วรายงานให้ศาลทราบ ก็ไม่สามารถกระทำได้เช่นกัน เนื่องจาก

2.1 โทษกักขัง เป็นการลงโทษแทนการจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน อันเป็นความผิดจาก ความประมาท หรือลหุโทษ ซึ่งศาลอาจจะเปลี่ยนเป็น โทษปรับแทนก็ได้ จึงไม่จำเป็น ต้องสละสมณเพศ แต่อย่างใด

2.2 ขัง หมายถึง ขังระหว่างการพิจารณา เมื่อศาลประทับรับฟ้อง ก็จะมีหมายขังจำเลยไว้ ซึ่งสามารถประกันตัวได้เช่นกัน หรือถ้าเจ้าพนักงาน ไม่ยอมให้ประกันตัว ก็ไม่สามารถบังคับ ให้สละสมณเพศได้ เพราะขัดต่อ มาตรา 33, 38 และมาตรา 6 กฎหมายรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

สรุปรวมความว่า สิ่งที่ควรกระทำของ เจ้าหน้าที่พนักงาน เมื่อพระภิกษุถูกดำเนินคดีอาญา ต้องพิจารณาดูว่า

1. ถ้าเป็นความผิดเฉพาะหน้า โดยพระภิกษุกระทำอย่างชัดแจ้ง ซึ่งหน้า อันเป็นการขัดต่อพระธรรมวินัย ถึงขั้นปาราชิกก็ดี หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรม อันดีของประชาชน เช่นพระภิกษุดื่มสุรา เล่นการพนัน หรือใช้อาวุธทำร้ายร่างกายผู้อื่น นอกเหนือจากการป้องกันตนเอง เป็นต้น สามารถให้ พระภิกษุรูปนั้น สละสมณเพศ ได้ทันที

2. หากเป็นข้อหาเบาหรือลหุโทษ มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษอันเล็กน้อย สามารถรอการลงอาญาได้ เช่น ความผิดทำร้ายร่างกาย โดยปราศจากอาวุธ เพราะเหตุ แห่งการทะเลาะวิวาท และต้องไม่มีผู้บาดเจ็บ หรือมีการด่าว่า สบประมาทกัน ก็ควรให้

2.1 เจ้าอาวาสช่วยควบคุมตัวเอาไว้และลงโทษ อันเป็นงานตามสายการปกคณะสงฆ์

2.2 ยอมให้เจ้าพนักงาน เปรียบเทียบปรับสินไหม ตามความผิด ที่กระทำ ถ้าหากภิกษุรูปนั้น ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้ง 2 ข้อดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงสมควรให้ สละสมณเพศได้

3. ข้อหาที่ถูกจับยังไม่เป็นความผิดชัดแจ้ง หรือเป็นเพียงถูกสงสัย ผู้ต้องหาปฏิเสธ แต่เจ้าพนักงานต้องจับ เพราะมีผู้แจ้งความ เจ้าอาวาส ควรถือเป็นหน้าที่ ที่จะรับตัว พระลูกวัด ไว้ควบคุม เพราะ

3.1 พระภิกษุรูปนั้นอาจไม่ได้ทำผิด หรือ

3.2 การกระทำของพระภิกษุรูปนั้นไม่เป็นความผิด แต่ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหา ถ้าหากเจ้าอาวาส ไม่ยอมรับไว้ควบคุม พระภิกษุผู้ต้องหา จะต้องสละสมณเพศ แต่ถ้า ภายหลัง ปรากฏว่า พระภิกษุรูปนั้น ไม่ได้กระทำความผิด จะเป็นการเสียหาย แก่พระรูปนั้น อย่างยิ่ง คือเสียฐานะความเป็นพระ และเสียชื่อเสียง ซึ่งในอดีต ก็ได้เคยมีตัวอย่าง พระถูกจับ ในข้อหาว่า มีการกระทำเป็น คอมมิวนิสต์ แต่เจ้าอาวาส ไม่รับตัวไว้ควบคุม ถูกบังคับให้ สละสมณเพศ แต่ผลสุดท้ายปรากฏว่า ศาลทหารที่ดำเนินการ พิจารณาคดี ในสมัยนั้น ตัดสินยกฟ้อง เนื่องจากคดีไม่มีมูล (คดีท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม)

การรับมอบตัวไว้ควบคุม ไม่ใช่รับรองว่า พระรูปนั้นไม่ได้กระทำผิด เพียงแต่รับตัวไว้ควบคุม ไม่ให้หลบหนี ในระหว่างสอบสวน ในฐานะ ผู้ปกครอง ผู้นั้นจะทำผิด จริงหรือไม่ เป็นหน้าที่ของศาล ที่จะพิจารณาพิพากษา ข้อที่ควรคำนึงจึงมีเพียงว่า

1. พระภิกษุรูปนั้น จะทำการหลบหนีหรือไม่ ถ้าหากเจ้าอาวาส รับตัวไว้ควบคุม เมื่อเชื่อได้แน่ ว่าไม่หลบหนี เพราะเชื่อในตัวพระภิกษุรูปนั้นเอง หรือเจ้าอาวาส ผู้ที่รับรอง ก็ควรรับมอบตัวไว้ และหากเจ้าหน้าที่ ต้องการพบตัว เมื่อใด ก็สามารถพบตัวได้เมื่อนั้น
            2. แต่ถ้าแน่ใจว่าพระภิกษุรูปนั้นจะทำการต้องหลบหนีแน่ ก็ไม่ควรรับมอบตัวไว้ควบคุม เพราะถ้าผู้ต้องหาหนี ย่อม เป็นที่เสียหายแก่เจ้าอาวาส ผู้รับมอบตัวไว้ควบคุม และเสียหายในการดำเนินคดี

มีปัญหาอีกว่า พระสังฆาธิการระดับสูงกว่าเจ้าอาวาส เช่น เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะจังหวัด จะรับตัวพระผู้ต้องหาไว้ควบคุม ได้หรือไม่ เพราะ มาตรา 29 ระบุให้ เจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระรูปนั้น สังกัดอยู่เท่านั้น เป็นผู้รับมอบตัวไว้ควบคุม ไม่ได้พูดถึง ผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งอื่น เห็นว่า เมื่อกฎหมายให้เจ้าอาวาส ซึ่งมี ตำแหน่ง ปกครองสงฆ์ชั้นต้น รับพระผู้ต้องหา ไว้ควบคุมได้ น่าจะตีความว่า พระสังฆาธิการระดับสูงขึ้นไป มีอำนาจรับมอบตัว พระผู้ต้องหา ซึ่งอยู่ในสังกัดไว้ควบคุม ได้ด้วย เป็นการตีความ ให้กฎหมาย มีผลทางปฏิบัติ (จะถือว่าเจ้าอาวาส ที่กฎหมายระบุเท่านั้น มีอำนาจ เป็นการตีความ ตามตัวหนังสือ มากเกินไป ไม่สมความมุ่งหมาย ของกฎหมาย)

สมมติว่า พระธรรมดาถูกจับ ในข้อหาคดีอาญา เจ้าคณะอำเภอ ยอมรับมอบตัว ไว้ควบคุม ก็น่าจะยอมให้ได้ จะยอมให้เฉพาะ เจ้าอาวาสควบคุมตัว อย่างเดียว แต่ไม่ยอมให้เจ้าคณะจังหวัดระดับสูงควบคุม ดูกระไรอยู่ สมมติว่า เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะตำบล ถูกจับในข้อหาคดีอาญา ใครจะเป็นผู้รับมอบตัว ผู้ต้องหาไว้ควบคุม ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่า เจ้าคณะระดับสูงกว่าเจ้าอาวาส มีอำนาจรับมอบตัว ผู้ต้องหา ไว้ควบคุมได้ด้วย เว้นแต่พระที่ไม่มีวัด เป็นสังกัด (พระเร่ร่อน) จึงจะสมควรให้ลาสิกขา

การมอบตัวพระผู้ต้องหาให้เจ้าอาวาสควบคุมนี้ กฎหมายให้อำนาจ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ ไว้อย่างกว้างๆ ผู้มีอำนาจ ต้องใช้ดุลพินิจ ให้ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ให้เกิดความเสียหาย อันไม่สมควร แก่พระผู้ต้องหา และหน้าที่ราชการ ยิ่งเมื่อข้อกล่าวหานั้น เกิดขึ้นกับ พระราชาคณะด้วยแล้ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ จะต้องรับฟังเจ้าอาวาส หรือเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ ด้วย เพื่อใช้ดุลพินิจ ดำเนินการ ได้ถูกต้อง และต้องใช้วิธีในการ ดำเนินการ อันเหมาะสม นุ่มนวล สมกับที่ประเทศไทย ที่ได้ชื่อว่า เป็น ประเทศที่มี พระพุทธศาสนา เจริญมั่นคงที่สุด มีพระภิกษุสามเณรถึงกว่า 300,000 รูป มีวัดและสำนักสงฆ์ รวมกันกว่า 30,000 แห่ง มีประชากรส่วนใหญ่ ของประเทศ เกินกว่า 60 ล้านคน ที่นับถือพระพุทธศาสนา

ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ตามกฎหมาย กับพระภิกษุรูปใดก็ตาม ที่ได้รับการอุปสมบท อย่างถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย แต่ ถูกกล่าวหาว่า การทำความผิด กฎหมาย บ้านเมือง โดยการบังคับให้ท่าน สละสมณเพศ ก่อนที่จะมีคำพิพากษาสูงสุด ให้จำคุกนั้น จะกระทำมิได้โดยเด็ดขาด เนื่องจาก เป็นการกระทำ ที่ขัดแย้งต่อ บทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ.2540 ในมาตราที่ 33, 38 และมาตรา 6 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ถึงแม้อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 27 และมาตรา 28 ยังได้ให้การรับรองสิทธิ และให้ความคุ้มครองเสรีภาพ ของประชาชนชาวไทย โดยห้าม มิให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรใดของรัฐ ทำการใดๆ ในการละเมิด สิทธิและเสรีภาพ ของบุคคล ในส่วนเฉพาะ ที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อ รัฐธรรมนูญ หรือไม่เป็นการ ขัดต่อศีลธรรมอันดี ของประชาชน

อีกทั้งที่รัฐธรรมนูญ ยังให้สิทธิแก่บุคคล ที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้น ยังสามารถยก บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 เพื่อใช้สิทธิในทางศาล หรือยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้คดีในศาลได้ จึงเป็นการจำ เป็นอย่างยิ่ง ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องใช้ความ ระมัดระวัง อย่างรอบคอบ เป็นพิเศษ ในการกระทำใดๆ ก็ตาม อันจะเป็นการ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการรักษาไว้ ซึ่งความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี ของประชาชน

หากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญ ให้การคุ้มครองเองเสียแล้ว ย่อมเป็นการแสดงให้เห็น โดยชัดแจ้งแล้วว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ ของรัฐผู้นั้น ไม่สนับสนุนการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข เนื่องจากไป ละเมิดล้มล้าง รัฐธรรมนูญ ด้วยตนเอง อันเป็นความผิดชัดแจ้ง ซึ่งถือว่า เป็นการผิดวินัยของ ข้าราชการพลเรือน อย่างร้ายแรง มีโทษถึงกับปลดออก ตามความในมาตรา 85 ของพระราชบัญญัติ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ด้วย