ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ ประจำวันอาทิตย์ที่ 18 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2542

วิพากษ์บทบาทสื่อ

ทำงานหนังสือพิมพ์มานานกว่าครึ่งชีวิต ตั้งแต่ยังไม่มี ใครบัญญัติคำว่า สื่อสารมวลชน ขึ้นมาใช้

ใครทำหนังสือพิมพ์ก็เรียก นักหนังสือพิมพ์

ใครทำวิทยุก็เรียก นักวิทยุ ทำโทรทัศน์ก็เรียก นักโทรทัศน์

เพิ่งมาไม่นานนี้เองที่เรียกงานสามประเภทนี้รวมกันว่าสื่อสารมวลชน และเรียกผู้ทำงานด้านนี้ว่า สื่อมวลชน บางทีก็เรียกสั้นๆ ว่า สื่อ

ว่ากันว่า สื่อมวลชน คือผู้ทำหน้าที่เป็นปากเสียง แทนประชาชน แต่ขณะที่ทำหน้าที่นั้น บางยุคบางสมัย ก็ทะเลาะเบาะแว้งกันเอง (กรณีของสื่อหนังสือพิมพ์) บางครั้ง ก็หนีอิทธิพลอำนาจมืดกัน หัวซุกหัวซุน

มาถึงปัจจุบันนี้เริ่มมีเสียงค่อนขอด และมองด้วยสายตาเคลือบแคลงว่า สื่อทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลเสียเอง

บ้างก็ว่าสื่อทำตัวเป็นผู้ชี้นำกระแสหรือไม่ก็สร้างกระแส

สื่อใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์ใครหรือสถาบันไหนก็ได้ แต่ถ้าสื่อถูกวิจารณ์ก็โกรธ

จะว่านี่คือมุมมองของเราเองก็ได้ หรือจะว่าเป็นการประมวลความเห็นจากสายตาคนนอก ที่จับจ้องมองสื่ออยู่ก็ได้

มีจดหมายฉบับหนึ่ง (ในจำนวนหลายฉบับ) วิพากษ์วิจารณ์สื่อมาที่นี่ ลองช่วยกันพิจารณาหน่อยดีไหม เขาว่ามาถูกหรือผิด

ขอวิพากษ์สังคมไทยวันนี้ด้วยความไม่สบายใจ สังคมไทยวันนี้ใช้เหตุผลน้อยลง แต่ตามกระแสชี้นำมากขึ้นทุกที นับว่าอันตรายมาก

พุทธของเราสอนให้มีสติและปัญญาในการคิดและการกระทำ ทุกวันนี้สื่อ (โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์) มีส่วนช่วยสร้างกระแสมากกว่า 50%

สื่อมักจะประชดประชันว่าอะไรๆ ก็มาลงที่สื่อ สื่อมีแหล่ง ข่าวมากมาย ผิดบ้างถูกบ้าง เวลาผิดไม่เคยขอโทษหรือแก้ข่าว (ยกเว้นมีการฟ้องร้อง) การเสนอข่าว ของสื่อก็ดี การเขียนบทความประจำก็ดี มักมีอารมณ์ของผู้เขียนเจือปนอยู่ด้วย

ลองปักใจเชื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้ว เหตุผลอื่นๆ ก็แทบไม่มีความหมาย

ยกตัวอย่างเรื่องโกงกินคอรัปชั่น ถ้าสื่อเชื่อว่าคนนี้คนนั้นผิด ก็อยากจะให้นำมาตัดคอในวันรุ่งขึ้น รัฐบาลมีเรื่องส่งให้กฤษฎีกาตีความ ถ้าตรงกับที่สื่อคิด ก็จะ ยกย่องสรรเสริญ

ถ้าไม่ตรงก็จะบอกว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหน้าแตก

ถ้าเห็นด้วยกับการตัดสินของสถาบัน ที่ทำหน้าที่วินิจฉัย ชี้ขาด ก็จะยกย่องสรรเสริญว่า ช่างยุติธรรมเสียกระไร ถ้าตรงข้าม ก็จะวิจารณ์ให้เสียหาย นี่มันอะไรกัน
จรรยาบรรณของฐานันดร 4 คืออะไร จะให้จำกัดความ ก็จะยาวเกินไป ผมว่าทุกอาชีพมีจรรยาเดียวกัน

ผมมีลูกเป็นแพทย์ ผมก็บอกลูกว่า จรรยาแพทย์ก็คือ คนไข้ทุกคนเป็นญาติสนิทของเรา แค่นี้ก็จบ เราเอาใจใส่รักษา พ่อแม่พี่น้องของเราอย่างไร ก็ต้องเอาใจใส่ รักษาผู้อื่นอย่างเดียว กัน อาชีพอื่นๆ ก็เช่นกัน วิศวกร นักกฎหมาย ทนายความ ครู ผู้รับเหมา สื่อมวลชน ฯลฯ

ถ้าคิดได้ดังนี้ สังคมก็จะได้สติกลับคืนมา

วกกลับมาเรื่องสื่อมวลชน อีกด้านหนึ่งของท่าน ย่อมมีญาติพี่น้องมิตรสหาย ถ้าญาติพี่น้องมิตรสหาย หรือแม้แต่ตัวท่านเอง ถูกกล่าวหาว่า ทุจริตโกงกิน ท่านจะช่วย กระหน่ำซ้ำเติม หรือให้มีการสอบสวนจนความจริงปรากฏเสียก่อน

หรือท่านจะชี้นำเหมือนที่กำลังทำอยู่ตลอดเวลา คือถ้า ผลการสอบสวนผิดจากที่ท่านคิดไว้ แสดงว่า ไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม

เพราะความยุติธรรมคือ สิ่งที่ท่านคิดและพิพากษาเอาไว้นั่นเอง

กำแหง ภริตานนท์

(คอลัมน์ ปลายนิ้ว "นายกำแหง"

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์   วันที่15 กรกฎาคม 2542)


วิวาทะกรณีธรรมกาย

...บทบาทของสื่อมวลชนต่อกรณีวัดพระธรรมกาย นับเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ จะว่าไปแล้ว หน้าที่ของสื่อมวลชน เปรียบเสมือนกับ หมาเฝ้าบ้าน ที่หากพบ เห็นอะไรผิดปกติ ก็จะเห่าดังๆ เพื่อเตือนภัยให้เจ้าของบ้าน คือคนไทยทุกคนได้รับรู้ กรณีของวัดดังนี่ สื่อมวลชนสามารถคุ้ยเขี่ยข้อมูลต่างๆ ออกมาตีแผ่ ได้อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานวันเข้า ข้อมูลส่วนใหญ่ กลับไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นเรื่องจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรีนการ์ด ของเจ้าอาวาส เรื่อง 6 สีกา หรือข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โทษฐานตัดต้นไม้ของเจ้านาย ฯลฯ ที่ดูเหมือน จะเป็นเรื่องของการขายข่าว เสียมากกว่า

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การนำเสนอข่าววัดพระธรรมกายของ เพื่อนสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่องยาวนานนี้ ได้ส่งผลกระทบในเชิงลบ ต่อศรัทธาของชาวพุทธ อย่างรุนแรง คนส่วนใหญ่ เกิดความคลางแคลงใจ ในการทำบุญทำทาน เนื่องจากเกรงว่า จะถูกหลอกลวง ไม่น่าเชื่อว่า ข้อกล่าวหาที่มีต่อวัดๆ หนึ่ง จะส่งผลกระทบไปสู่วัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ด้วย เพราะเมื่อญาติโยม มีศรัทธาถดถอยลง ผู้ที่ลำบาก ก็คงหนีไม่พ้นบรรดา พระเณรทั้งหลาย นั่นเอง เนื่องจาก สมณะนั้น มิได้ทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็ต้องพึ่งพา ข้าวปลาอาหาร และปัจจัย จากพุทธศาสนิกชน เป็นหลัก หากวันใด ญาติโยมเลิกทำบุญตักบาตร เมื่อนั้นพระพุทธศาสนา ก็มิอาจดำรงอยู่ต่อไปได้

ณ วันนี้ น่าจะถึงเวลาที่ทุกฝ่าย จะยอมละทิฏฐิมานะ เพื่อยุติความขัดแย้ง เกี่ยวกับกรณีธรรมกาย เอาไว้แต่เพียงเท่านี้ เพราะพระพุทธศาสนาของเรา บอบช้ำมา มากพอแล้ว อย่าดึงดันปลุกกระแสให้ชาวพุทธ จงเกลียดจงชังกันเอง อีกต่อไปเลย แต่ขอให้ทุกฝ่าย หันมาทบทวนบทบาทของตน ด้วยจิตสำนึกแห่งความเป็นชาวพุทธ ที่แท้จริง จะดีกว่า ทั้งนี้เพื่อช่วยกันประคับประคอง พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทยของเรา ให้ฟันฝ่ามรสุมแห่งความขัดแย้งครั้งนี้ ไปให้ได้

(จากนิตยสาร SIAM SMILE หน้าที่ 26)