ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ ประจำวันอาทิตย์ที่ 8 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542

พิเศษ 3 ความจริงทางวิชาการ

โดย ดร.เบญจ์ บาระกุล

ฆราวาสไม่มีสิทธิฟ้องพระ จะไปรับฟังคำฟ้องทำไม?

ความชอบธรรมของหลวงพ่อธัมมชโยในกรณีนิคหกรรม

ตามที่เป็นที่ทราบโดยสาธารณะเป็นอย่างดี แล้วว่า เมื่อวานนี้พระธัมมชโยหรือหลวงพ่อธัมมชโย ของศิษยานุศิษย์แห่งวัดพระธรรมกาย ไม่ได้ไปรับฟังข้อกล่าวหา ที่วัด มูลจินดาราม เพียงแต่มอบหมายให้ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เข้าไปกราบเรียน ท่านเจ้าคณะจังหวัด ในฐานะผู้พิจารณา ดังรายละเอียดที่ทุกท่าน ได้ทราบตามสื่อต่างๆ แล้วนั้น

วันนี้ผมจึงจะขอวิเคราะห์กฎนิคหกรรมว่า กฎนิคหกรรมคืออะไร มีลักษณะและขั้นตอนอย่างไร เหมือนกับศาลทางโลกหรือไม่ ซึ่งหลายๆ ท่าน อาจจะไม่เข้าใจ ผมจึงอยาก จะขอโอกาส   อธิบายกฎนิคหกรรม โดยสังเขป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ผมได้ใช้เวลาและหน้ากระดาษของ หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยนี้ ในบทวิเคราะห์เกี่ยวกับร่าง พรบ. 2 ฉบับ ที่จะทำลาย พระพุทธศาสนา เพื่อที่พวกเราชาวพุทธจะได้ใช้เป็นข้อมูล ในการตัดสินใจ เชื่อ หรือไม่เชื่อ ตามคำบอกเล่าตามๆ กันมา และอันจะเป็นข้อความรู้พื้นฐาน และจะได้เป็นข้อกฎหมาย ในการยืนยัน ความชอบธรรมของ หลวงพ่อธัมมชโย และหลวงพ่อทัตตชีโว ที่ไม่ไปรับฟังข้อกล่าวหา ที่วัดมูลจินดาราม และเพื่อชาวพุทธทั้งหลาย จะได้ไม่หลงตามกระแสสื่อ ที่โหม กระหน่ำอย่างบ้าคลั่งในขณะนี้

กฎนิคหกรรมนั้น เป็นขบวนการยุติธรรม ของการคณะสงฆ์ไทย (เถรวาท) ในการพิจารณาความผิดของพระภิกษุ ที่ถูกกล่าวหาว่า ได้กระทำความผิด ตามพระธรรมวินัย โดยมีหลักว่า พระภิกษุต้อง ฟ้องร้องพระภิกษุด้วยกันเองเท่านั้น และถ้าหากความเสียหาย เกิดกับบุคคล ที่มิใช่พระภิกษุ ให้มีการตั้ง พระภิกษุเป็นโจทก์ กล่าวโทษแทน (นี่คือความสุขุม รอบคอบของ พระเถรานุเถระทุกรูป ที่รัดกุมในการออก กฎนิคหกรรมนี้ เพราะถ้าหากอนุญาตให้ คฤหัสถ์สามารถฟ้องร้องพระภิกษุได้โดยตรง ต่อไปนี้ คงได้มีคนศาสนาอื่น แอบแฝง มาฟ้องร้อง พระเรากันยกใหญ่ เพราะในปัจจุบันเราไม่สามารถระบุได้ว่าใครนับถือศาสนาอะไรแล้ว (เพราะอดีตอธิบดีกรมการปกครองท่านหนึ่ง ได้ทำการยกเลิก การระบุการนับถือ ศาสนา ออกจากทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชนแล้ว) โดยที่กฎนิคหกรรมนั้น ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 โดยแบ่งเป็น 3 ลักษณะและ 6 หมวด ดังแผนภูมิข้างล่างนี้

ผังแผนภูมิที่1

และถึงวันนี้ขบวนการดำเนินทางนิคหกรรมไปถึงขั้นตอนไหน ผมจึงขออนุญาตอธิบายเป็นแผนภูมิ เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจยิ่งขึ้นดังนี้

ผังภูมิที่ 2

(แผนภูมิที่ 2)

ใครมีสิทธิ์ฟ้องร้อง?

ผู้มีสิทธิ์ในการกล่าวโทษตามกฎนิคหกรรมในข้อ 4 ได้แก่บุคคล 3 ลักษณะดังนี้ (แผนภูมิที่ 2 ขั้นที่ 1 รับคำฟ้อง)

1.โจทก์    2.ผู้กล่าวหา หรือผู้เสียหาย 3.ผู้แจ้งความผิด

1.โจทก์

4(6) โจทก์ หมายถึง

ก.ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เสียหาย ซึ่งฟ้องพระภิกษุต่อพระภิกษุผู้พิจารณา ในข้อหาว่า ได้กระทำความผิด หรือ

ข.พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ ในชั้นพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมเกี่ยวกับความผิดของพระภิกษุ ผู้ถูกกล่าวหา

2.ผู้กล่าวหา

4(8) ผู้กล่าวหา หมายถึง ผู้บอกกล่าวการกระทำความผิดของพระภิกษุต่อพระภิกษุผู้พิจารณา โดยที่ตนมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือมิได้เป็นผู้เสียหาย และประกอบด้วย คุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

ก.เป็นพระภิกษุปกตัตตะหรือสามเณร ซึ่งถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระและมีสังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง

ข.เป็นคฤหัสถ์ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีความประพฤติเรียบร้อย มีวาจาเป็นที่เชื่อถือได้ และมีอาชีพ เป็นหลักฐาน (นายมาณพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา อาศัยความในข้อนี้ในการตั้งตนเป็นผู้กล่าวหาฟ้องร้องพระธัมมชโย แต่ก็เป็น แค่ผู้กล่าวหา มิใช่เป็นโจทก์แต่อย่างใด)

3.ผู้แจ้งความผิด

4(9) ผู้แจ้งความผิด หมายถึงพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ ซึ่งไม่มีอำนาจลงนิคหกรรมแจ้งการกระทำความผิด หรือพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัย ในความผิดของ พระภิกษุ ซึ่งได้พบเห็นต่อพระภิกษุ พิจารณา

สังเกตได้ว่า บุคคลที่มีสิทธิ์ในการกล่าวโทษตามกฎนิคหกรรม อันได้แก่บุคคลใน 3 ลักษณะ คือ โจทก์, ผู้ถูกกล่าวหา และผู้แจ้งความผิด ล้วนแล้วแต่เป็นพระภิกษุเท่านั้น (เว้น 4(8) ข. เพียงกรณี เดียว) ส่วนผู้เสียหายนั้นให้อนุโลมอยู่ในข้อของผู้กล่าวหา

เมื่อผ่านจากขั้นตอนที่ 1 คือรับคำฟ้องแล้ว

ทางพระภิกษุผู้พิจารณาจะต้องแยกประเภทของลักษณะบุคคล และลักษณะคำฟ้องที่รับไว้นั้น ว่าเข้ากับกฎในข้อใด ดังนี้ (ตามแผนผังที่ 2 ขั้นที่ 2 ตรวจสอบบุคคล และ ข้อกล่าวหา)

1.ถ้าลักษณะบุคคลและคำฟ้องนั้น เข้าลักษณะของผู้เป็นโจทก์ ตามกฎข้อ 4(6) ให้ใช้กฎข้อที่ 12 พิจารณา ว่าจะยกคำฟ้องหรือไม่

2.ถ้าลักษณะบุคคลและคำฟ้องนั้น เข้าในลักษณะผู้กล่าวหา ตามกฎข้อ 4(8) ให้ใช้กฎข้อที่ 15 พิจารณา ว่าจะยกคำฟ้องนั้นหรือไม่

3.ถ้าลักษณะบุคคลและคำฟ้องนั้น เข้าในลักษณะผู้แจ้งความผิด ตามกฎข้อ 4(9) ให้ใช้กฎข้อที่ 16 พิจารณา ว่าจะยกคำฟ้องนั้นหรือไม่

แต่เนื่องจากในกรณีของนายสมพร เทพสิทธาและนายมาณพ พลไพรินทร์ เป็นคฤหัสถ์ จึงเข้าข่ายในลักษณะของผู้กล่าวหา ตามกฎข้อที่ 4(8) ข. ความว่า เป็นคฤหัสถ์ผู้นับถือ พระพุทธศาสนา...   จึงทำให้พระภิกษุผู้พิจารณาต้องใช้กฎข้อ 15 ในการพิจารณาคำฟ้องว่า ถูกต้องตามกฎหรือไม่ ดังนี้

ข้อ 15 เมื่อมีผู้กล่าวหาบอกกล่าวการกระทำความผิดของพระภิกษุ โดยยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือด้วยตนเอง ต่อเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะสังกัด หรือเจ้าคณะเจ้าของเขต ในเขต ที่ความผิดนั้นเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผู้พิจารณามีอำนาจลงนิคหกรรมตามที่กำหนดไว้ในลักษณะ 2 แล้วแต่กรณี

ในกรณีดังกล่าวข้างต้น ให้พระภิกษุผู้พิจารณาตรวจลักษณะ ของผู้กล่าวหาตามข้อ 4(8) ก. และลักษณะของคำกล่าวหาโดยอนุโลม ตามลักษณะของคำฟ้อง ดังที่กำหนดไว้ใน ข้อ 12(1) ก่อน

(1) ถ้าปรากฏว่าผู้กล่าวหาและคำกล่าวหานั้น ต้องด้วยลักษณะ ดังกล่าวในวรรคต้น ให้สั่งรับคำกล่าวหาไว้...

(2) ถ้าปรากฏว่า ผู้กล่าวหาหรือคำกล่าวหานั้น บกพร่องจากลักษณะดังกล่าวในวรรคต้น ให้สั่งไม่รับคำกล่าวหานั้น โดยระบุข้อบกพร่องไว้ในคำสั่ง และแจ้งให้ผู้กล่าวหาทราบ แต่ถ้าเป็นกรณีความผิด ครุกาบัติ ให้สั่งไม่รับคำกล่าวหานั้น โดยความเห็นชอบของ คณะผู้พิจารณาชั้นต้น ตามที่กำหนดไว้ในลักษณะ 2 แล้วแต่กรณี คำสั่งไม่รับคำกล่าวหา ดังกล่าว นั้น ให้เป็นอันถึงที่สุด

จะเห็นได้ว่า กฎนิคหกรรมข้อ 15 นั้น โยงไปที่ลักษณะของ ผู้กล่าวหา ว่าต้องเป็นตามข้อ 4(8) ก. ที่ว่า เป็น พระภิกษุปกตัตตะ หรือสามเณร... แต่นายมาณพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา เป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่พระภิกษุหรือสามเณร จึงไม่เข้ากฎเกณฑ์ในการฟ้องร้อง ดังนั้น ทางพระภิกษุผู้พิจารณา จะต้องนำข้อความของกฎข้อที่ 15(2) มาพิจารณา ไม่รับฟ้องตามคำกล่าวหานั้น

ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดพระธัมมชโย และพระทัตตชีโว จึงไม่ไปวัดมูลจินดาราม เพื่อรับฟังข้อกล่าวหา เพราะคำฟ้องร้องของ นายมาณพและนายสมพร ผิดกฎข้อ 15(2) ทำให้คำฟ้องร้องนั้น เป็นอันตกไปทันที

แต่เหตุใดทางเจ้าหน้าที่ของกรมการศาสนา และ รมต. สมศักดิ์ ถึงได้ละเลย และไม่ถวายความรู้ในแง่ทางข้อกฎหมาย แก่พระภิกษุผู้พิจารณาในครั้งนี้ ทำให้เกิดความผิดพลาด เสียหายแก่พระพุทธศาสนา อย่างไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งยังเสียกำลังตำรวจ 300 นาย เสียเวลาเด็กนักเรียน ที่ต้องปิดเรียน และสิ่งที่ไม่ควรให้อภัยเสียเลย คือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปล่อยให้ คนทำการตัดเศียรรูปเหมือน พระภิกษุ   อันเป็นความผิดทางกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดซึ่งหน้า มาตรา 80 จะต้องกระทำการจับกุม แต่ทำไมจึงละเลย ท่านพุทธศาสนิกชน สามารถร้องเรียน การละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีนี้ได้ทันที โดยตรงที่ นายชวน หลีกภัย ในฐานะผู้บังคับบัญชา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และร้องเรียนทาง สำนักงานข้าราชการพลเรือนได้ทันที ให้พิจารณาโทษทางวินัย กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยอมจับกุม คนที่ทำลายรูปเคารพ ทางศาสนา เพื่อให้พระพุทธศาสนา ของเรา อยู่รอดปลอดภัยจากเหล่าภัยพาล ทันที

หมายเหตุ ยิ่งเป็นการสนับสนุนหลวงพ่อธัมมชโย และหลวงพ่อทัตตชีโว เป็นอย่างยิ่งในการปฏิเสธ การไปรับฟังข้อกล่าวหา ที่วัดมูลจินดาราม คำยืนยันจาก นายมาณพ พลไพรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษกรมการศาสนา ที่ให้สัมภาษณ์ลงใน นสพ.พิมพ์ไทย เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 42 ดังนี้

...ทางด้านนายมาณพ พลไพรินทร์ ผู้เชี่ยว ชาญพิเศษกรมการศาสนา กล่าวถึงกรณีที่วัดพระธรรมกายมีหนังสือทัดทานกฎนิคหกรรมข้อที่ 4(8)ก.ข. ว่า หากมีผู้สงสัย ทางเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี มีสิทธิ์สอบถามไปยังเจ้าคณะภาค เพื่อพิจารณาตามหลักฐาน ที่มีผู้ถูกกล่าวหาไว้ จากนั้น จะมีการตั้งโจทก์ที่เป็นพระภิกษุเป็นผู้ถูกกล่าวหาแทนตน ตนไม่สามารถทำหน้าที่เป็นโจทก์ได้ เนื่องจากเป็น การพิจารณาระหว่างพระด้วยกัน สำหรับพระที่จะทำหน้าที่เป็นโจทก์นั้น จะต้องมีทั้งความรู้ ความสามารถ และเป็นกลาง...