คำชี้แจง
เรื่อง การถือครองที่ดินของพระราชภาวนาวิสุทธิ์
อาทิตย์ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๒
เจริญพร กัลยาณมิตรวัดพระธรรมกาย ทุกท่าน
กว่า ๗ เดือนแล้ว ที่ได้มีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีวัดพระธรรมกายทางสื่อมวลชนในประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องเจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย ถือสัญชาติอเมริกัน มีกรีนการ์ด เรื่องสีกา และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเมื่อได้มีการตรวจสอบก็พบว่า ข้อกล่าวหาตามกระแสเหล่านั้น ไม่มีมูลความจริง แต่ก็ได้มีการจุดประเด็นอื่นๆ ขึ้นมาอีก เช่น ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมในเวลานี้คือ เรื่องที่ดิน ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ กรณี คือ
ก. กรณีการถือครองที่ดินของพระราชภาวนาวิสุทธิ์
ข. กรณีที่ดินของมูลนิธิธรรมกาย ซึ่งซื้อจากนางสาลี่ เพ็ชรชูดี จังหวัดสุพรรณบุรี
จึงขอนำคำชี้แจงของคณะกรรมการจัดการที่ดินฯ และคำชี้แจงของคณะทำงาน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิธรรมกาย เรียนให้ท่าน กัลยาณมิตร ได้ทราบถึงที่มา และความเป็นไปของเรื่องราวกรณีที่ดินดังกล่าว ตามลำดับ
คำชี้แจงกรณีการถือครองที่ดินของพระราชภาวนาวิสุทธิ์
๑. ที่ดินของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้มาอย่างไร นำเงินบริจาคของวัดไปซื้อหรือเปล่า?
ที่ดินที่อยู่ในการถือครองของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ มีทั้งสิ้น ๑๖ จังหวัด มีเนื้อที่รวมประมาณ ๑,๗๐๐ ไร่ ที่ดินเหล่านี้ ญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา ได้ถวายที่ดินของตน หรือซื้อที่ดินถวายแด่ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เป็นการส่วนตัว โดยไม่ได้มีการนำเงินของวัดพระธรรมกาย ไปซื้อหรือโอน แต่ประการใด ญาติโยมผู้ถวายหลายราย มิใช่ผู้มีฐานะรํ่ารวยเลย แต่ตั้งใจถวายที่ดินของตน แด่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เพราะเลื่อมใสในปฏิปทา และเห็นถึงความตั้งใจจริง ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่าน
พระราชภาวนาวิสุทธิ์ท่านรับไว้ เพราะมีความตั้งใจจะสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมตามจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ญาติโยม สามารถเดินทางไปปฏิบัติ ธรรมได้โดยสะดวกในท้องถิ่นของตน ไม่ต้องเดินทางไกลมาถึงวัดพระธรรมกาย ที่ได้ดำเนินการไปแล้วก็มี เช่น ธุดงคสถานล้านนา จังหวัด เชียงใหม่ ธุดงคสถานพิษณุโลก ธุดงคสถานจันทปุระ จังหวัดจันทบุรี ธุดงคสถานปราจีนบุรี เป็นต้น จะสังเกตเห็นว่า ที่ดินที่ได้รับมา จะกระจายอยู่ ตามจังหวัดต่างๆ
๒ เมื่อญาติโยมถวาย ทำไมบางแปลงจึงมีชื่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์เป็นผู้ซื้อ?
ที่ดินที่ญาติโยมถวายนั้น บางแปลงก็เป็นการถวายที่ดิน ที่ตนเองเป็นเจ้าของ บางแปลงญาติโยม ก็เป็นเจ้าภาพซื้อที่ดินถวาย ซึ่งเมื่อเจ้าภาพ ได้ซื้อที่ดินแล้ว ก็ถวายโดยใส่ชื่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์เป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นกระบวนการทางนิติกรรม จึงปรากฏชื่อ พระราชภาวนาวิสุทธิ์เป็นผู้ซื้อ ทั้งนี้ก็เพื่อลดขั้นตอน การดำเนินการทางนิติกรรมกับที่ดินนั้นๆ
๓ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ตั้งใจจะนำที่ดินเหล่านี้ไปทำอะไร?
พระราชภาวนาวิสุทธิ์มิได้มีวัตถุประสงค์ จะนำที่ดินดังกล่าว ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว แต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะได้ตั้งใจแน่วแน่ ที่จะนำ ที่ดินทุกผืน มาทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา โดยเมื่อมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และทุนทรัพย์ ก็จะได้พัฒนาจัดสร้างเป็นวัด ธุดงคสถาน สถานที่ปฏิบัติธรรม หรือสถาบันการศึกษา ที่เน้นการอบรมศีลธรรม ตามความเหมาะสม ของพื้นที่แต่ละแห่งต่อไป นอกจากนั้น ก็จะได้ดำเนินการ ยกกรรมสิทธิ์ให้วัด มูลนิธิ หรือนิติบุคคลทางการศึกษา ที่จะได้จัดตั้งขึ้นมาใหม่เมื่อโครงการแล้วเสร็จ
๔ ทำไม? พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ไม่ยกที่ดินให้วัดไปเลยแต่เบื้องต้น
ที่ดินเมื่อยกให้วัดเป็นธรณีสงฆ์แล้ว จะมีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์หลายประการ เช่น หากต้องการนำที่ดินนั้นไปสร้างวัดใหม่ ก็ไม่ สามารถทำได้ เพราะจะกลายเป็นวัดซ้อนวัด ซึ่งพระธรรมวินัยห้ามกระทำ หรือหากจะนำ ที่ดินนั้นไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ด้านสถาบัน การศึกษา ก็ไม่สามารถทำได้ ที่ดินบางแปลงก็เป็นที่ตาบอด ยกให้วัด ก็ไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ เจ้าของเดิมก็ยินยอม ให้มีการนำออกขาย เพื่อนำเงิน มาบำรุงพระพุทธศาสนา ตามที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์เห็นสมควร ที่ดินบางแปลง เช่น ที่ดินที่จังหวัด นครปฐม ญาติโยมรวบรวมปัจจัยกัน ซื้อตึก แถวเล็กๆ เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม และตั้งใจว่า ในอนาคตเมื่อรวบรวมปัจจัยได้มากขึ้น ก็จะขายที่เดิม แล้วนำปัจจัยไปซื้อที่ใหม่ ที่กว้างขวางขึ้น ดังนั้น จึงขอนำมาถวายพระราชภาวนาวิสุทธิ์ เป็นการส่วนตัว ซึ่งต่อไปสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนา ผู้บริจาคได้ เป็นต้น
๕ พระภิกษุสงฆ์สามารถถือครองที่ดินได้หรือไม่ ถ้าไม่ยกที่ดินให้วัดต้องอาบัติปาราชิกไหม?
พระภิกษุสงฆ์สามารถถือครองที่ดินได้ กฎหมายรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้รับรองสิทธิอันชอบธรรมนี้ การที่ พระภิกษุสงฆ์ถือครองที่ดิน อันเป็นส่วนตัว ไม่ยกให้วัด ไม่ต้องอาบัติปาราชิกแน่นอน และ ความจริงก็มีพระภิกษุสงฆ์ถือครองที่ดิน อันเป็นส่วนตัว มากมาย
ความผิดจะมีได้ในกรณีต่อไปนี้คือ ยักยอกเอาที่ดินของวัดไปเป็นของส่วนตัว หรือนำเงินบริจาคของวัดไปซื้อ ที่ดินเป็นของตัวเอง ซึ่งจะ เห็นได้ว่า เป็นคนละกรณีกับที่ดินของ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ดังได้กล่าวแล้วแต่ต้น เพราะ ที่ดินดังกล่าวนั้น เป็นที่ดินที่เจ้าภาพตั้งใจถวายเจาะจง เป็นส่วนตัวให้แด่ พระราชภาวนาวิสุทธิ์
๖ เมื่อมีข่าวคราวโจมตีเรื่องที่ดินเกิดขึ้น ได้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง?
แม้ที่ดินเหล่านี้จะได้มาด้วยความถูกต้องชอบธรรม แต่เมื่อมีการโจมตีจนเรื่องราวลุกลามบานปลายมากขึ้น ได้มี ผู้ใหญ่ให้คำแนะนำมา ขอให้ พระราชภาวนาวิสุทธิ์บริจาค ที่ดินดังกล่าวให้แก่วัดพระธรรมกายเสีย เพื่อตัดปัญหา พระราชภาวนาวิสุทธิ์ก็ได้ตอบตกลง และทำหนังสือ แสดงเจตนารมณ์ในการยกที่ดินให้วัด โดย
๑. ให้เป็นไปตามความยินยอมและวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคแต่ละราย
๒. ดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่งานพระพุทธศาสนา
และได้มอบหนังสือแสดงเจตนา ให้แก่อธิบดีกรมการศาสนา นำกราบเรียนเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อทราบ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
แต่ในขณะที่อยู่ระหว่างการดำเนินการนั้นเอง ปรากฏว่า นายมาณพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา ก็ได้กล่าวหานิคหกรรม (นิคหกรรม คือการฟ้องศาลสงฆ์) พระราชภาวนาวิสุทธิ์ต่อเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีว่า ฉ้อโกงที่ดิน ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ยกให้วัด พระธรรมกาย
ยิ่งกว่านั้น ยังมีผู้ออกมาแสดงความเห็นชี้นำทางสื่อมวลชนว่า เมื่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์โอนที่ดินยกให้วัด ก็เท่ากับเป็นการยอมรับ โดย ปริยายว่าได้ฉ้อโกงและยักยอก ที่ดินของวัดไปจริง ถือว่าความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว แม้โอนที่ดินให้วัด ก็ไม่อาจลบล้างความผิดนั้นได้ เพราะถ้าไม่ใช่ ที่ดินของวัด เป็นที่ดินส่วนตัวของ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ แล้วจะไปโอนให้วัดทำไม ซึ่งเป็นการไม่ยุติธรรม ต่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์เป็นอย่างยิ่ง
เดิมคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า เมื่อมีการกล่าวหาเกิดขึ้น ก็ถือว่าเรื่องนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของศาลสงฆ์แล้ว การดำเนินการทุกอย่าง จึงควรรอการพิจารณาของศาลสงฆ์ ให้ถึงที่สุดก่อน เพื่อป้องกันมิให้ส่งผลกระทบต่อรูปคดี ในการพิจารณานิคหกรรม
แต่ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ กรมการศาสนาได้มีหนังสือถึงพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ขอให้ดำเนินการยกที่ดินให้ ตามเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้น โดยไม่จำเป็น ต้องรอการพิจารณาของศาลสงฆ์สิ้นสุดก่อน เพราะเป็นคนละเรื่องกัน
คณะกรรมการฯ ได้ประชุมแล้ว มีความเห็นว่า เมื่อกรมการศาสนาได้ยืนยันรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรอย่าง แจ้งชัดว่า การยกที่ดินให้วัดนี้ จะไม่เป็นเหตุให้ถูกนำมาอ้างว่า เป็นการยอมรับว่า ได้กระทำความผิดจริง ในการพิจารณานิคหกรรม เพราะเป็นคนละเรื่องกัน คณะกรรมการฯ จึงได้กราบถวายขอคำแนะนำจาก พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เมื่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้ทราบเรื่อง ก็ ได้สั่งการให้คณะกรรมการฯ ประสานงานกับ กรมการศาสนา และเร่งดำเนินการ เรื่องการยกที่ดินให้วัดพระธรรมกาย ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
คณะกรรมการฯ จึงจะนำเอกสารการยกที่ดิน ให้ วัดพระธรรมกายในแปลงที่ เจ้าภาพไม่คัดค้าน และเอกสารพร้อม ไปมอบให้ที่กรมการ ศาสนา ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๒ นี้ ในรายที่เจ้าภาพคัดค้านการโอนที่ดิน ให้วัดพระธรรมกาย คณะกรรมการฯ ก็จะได้ปรึกษากับเจ้าภาพ หาแนวทาง การดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพระศาสนา โดยพระราชภาวนาวิสุทธิ์ จะไม่ถือครองที่ดิน เพื่อประโยชน์ส่วนตนเลย แม้แต่แปลงเดียว
ที่ดินส่วนใหญ่ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ท่านยังไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไปว่าเป็นอย่างไร และขณะนี้ ท่านก็มอบอำนาจสิทธิ์ขาด ในการจัดการกับ ที่ดิน ดังกล่าว ให้กับคณะกรรมการจัดการที่ดินฯ เพื่อดำเนินการแล้ว
จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
คณะกรรมการจัดการที่ดินของพระราชภาวนาวิสุทธิ์
คำชี้แจงกรณีที่ดินของมูลนิธิธรรมกาย ที่ซื้อจากนางสาลี่ เพ็ชรชูดี จังหวัดสุพรรณบุรี
มูลนิธิธรรมกาย มีโครงการจัดสร้างอนุสรณ์สถานบ้านเกิดหลวงพ่อวัดปากนํ้าฯ ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัด สุพรรณบุรี และการดำเนินการ ดังกล่าวนี้ มีคณะกรรมการ ศูนย์กัลยาณมิตร สุวรรณภูมิแก้ว เป็นผู้รวบรวมเงิน จำนวนสี่ล้านบาทเศษ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินจากนางสาลี่ เพ็ชรชูดี จำนวน ๒ ไร่ ๓ งาน ๙๔ ตารางวา โดยชำระเป็นค่าที่ดิน ค่าซื้อที่ดินแปลงใหม่ ค่าถมดิน และค่ารื้อถอน เป็นงวดๆ ดังนี้
วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ รับเงินไปจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ บาท
วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ รับเงินไปจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท
วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙ รับเงินไปจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท
วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ รับเงินไปจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
หากคิดเป็นค่าที่ดินแล้ว เฉลี่ยตกไร่ละเกือบ ๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท สูงกว่าราคาที่ดินที่มีการซื้อขายโดยทั่วไป ในย่านนั้น
การจัดซื้อครั้งนี้มีการทำสัญญาซื้อขายถูกต้องเรียบร้อย มีหลักฐานการรับเงินทุกอย่างครบ ขณะนี้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ มูลนิธิธรรมกาย แต่ นางสาลี่ เพ็ชรชูดี กับพวก ก็ขอผัดผ่อนอยู่ในที่ดิน ไม่ยอมย้ายบ้านเรือนออกไป ตามที่ตกลงกันไว้ และขณะนี้เมื่อเห็นว่า วัดพระธรรมกายและ มูลนิธิธรรมกายกำลังถูกโจมตีในเรื่องต่างๆ จากสื่อมวลชน จึงได้มาเรียกร้องขอที่ดินคืน หรือมิฉะนั้นก็ขอเงินเพิ่ม ทั้งที่สัญญาซื้อขายทุกอย่าง ได้ ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยไปแล้วถึง ๓ ปี ซึ่งทางมูลนิธิฯ ไม่สามารถนำเงินบริจาคของประชาชน ไปมอบให้ใครอย่างไม่มีเหตุผลได้
การที่นางสาลี่ เพ็ชรชูดี ได้เข้าร้องเรียนกับสภาทนายความฯ และยื่นฟ้องร้องนิคหกรรมกับเจ้าคณะจังหวัด ปทุมธานี คณะทำงานฯ ขอเรียนว่า กรณีนี้ถ้ามีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว มูลนิธิธรรมกายเชื่อมั่นว่า ความจริงทั้งหมดก็จะปรากฏชัด เพราะมีพยานหลักฐานทุกอย่าง ชัดเจน ดังนั้นเรื่องทั้งหมด จึงต้องรอให้กระบวนการยุติธรรม พิสูจน์ความจริงออกมาให้ประชาชนได้ทราบ
จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
คณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิธรรมกาย
กิจกรรมการอบรมศีลธรรมในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา
แม้จะอยู่ในช่วงที่กระแสข่าวโหมกระหนํ่าโจมตีวัดพระธรรมกายอย่างรุนแรง แต่กิจกรรมการอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน เพื่อสร้างคนดี ให้สังคม ซึ่งเป็นงานหลักของวัดพระธรรมกาย ก็ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง
ในช่วงปิดภาคฤดูร้อนที่ผ่านมานั้น มีการจัดอบรมธรรมทายาทมากมายหลายรุ่น ทั้งธรรมทายาทและอุปสมบทหมู่ นิสิตนักศึกษาระดับ อุดมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ประถมศึกษา บรรพชาและอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทนานาชาติ มีการอบรมธรรมทายาทหญิง มีการอบรมยุวกัลยาณ มิตรชาย-หญิง อบรมค่ายวัยรุ่นคุณธรรม ฯลฯ รวมจำนวนผู้เข้ารับการอบรมระยะยาว ในช่วงปิดภาคฤดูร้อนนี้ ประมาณ ๓,๐๐๐ คน น่ายินดีที่สังคม ไทยมีเยาวชนผู้ใฝ่ธรรมะเป็นคนดี กตัญญูต่อพ่อแม่ เคารพผู้ใหญ่ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเพิ่มขึ้น อีกหลายพันคน ขณะเดียวกัน ก็น่าเสียดาย ที่กระแส ข่าว กระแสความไม่เข้าใจ ได้พรากโอกาสอันดีที่เยาวชนจาก อีกหลายๆ ครอบครัว หลายๆ โรงเรียน จะได้เข้ามาสัมผัส เรียนรู้สิ่งที่ดีงาม คือ พุทธธรรมคำสอนในศาสนาพุทธ ร่วมกับเพื่อนๆ เยาวชนอีกมากมาย ในบรรยากาศแห่งความ เป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้อง ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตลอดไป
ในวันคุ้มครองโลก ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ที่ผ่านมา ก็มีการจัดสอบตอบปัญหาธรรมะ "ทางก้าวหน้า" ประเภทพระภิกษุสามเณรขึ้น เป็นครั้งแรก มีพระภิกษุสามเณรเดินทาง มาร่วมสอบและปฏิบัติธรรม ที่วัดพระธรรมกายเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ รูป จากทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย หลังจากสอบเสร็จในช่วงบ่าย ก็ได้ไปอธิษฐานจิตกัน ที่ลานมหาธรรมกายเจดีย์ นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของพระพุทธศาสนา ใน ประเทศไทย เพราะเป็นครั้งแรก ที่พระภิกษุสามเณรมาปฏิบัติธรรม ประกอบพิธีพร้อมๆ กัน เป็นจำนวนมากอย่างนี้ ถือเป็นความสามัคคี ร่วมใจ กันครั้งใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย โดยเฉพาะในท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ นอกจากนี้ญาติโยมอีกร่วมแสนคนที่มาร่วมงาน ก็ได้มีโอกาสสร้าง ทานบารมี ครั้งใหญ่ รวมทั้งได้มีโอกาสถวายทุนการศึกษาแด่พระภิกษุสามเณรจากทั่วประเทศไปในขณะเดียวกัน นับเป็นอุบัติการณ์ที่น่าชื่นใจ ในสังคม ด้วยภาพแห่งความเคารพและการเกื้อกูลนี้
ความคืบหน้าของการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์
การก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์กำลังคืบหน้าไปตลอดเวลา โดยโครงสร้างคอนกรีตขององค์เจดีย์ทั้งหมดเสร็จแล้ว ตรงจุดเล็กๆ ที่เคยเป็น ที่ตั้งของเครน ทางด้านทิศเหนือ ก็จะสร้างเติมเต็มเสร็จบริบูรณ์ภายในเดือนมิถุนายนนี้
องค์พระธรรมกายประจำตัวบนโดมของมหาธรรมกายเจดีย์ ก็ได้มีการประดิษฐานเสร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ครบทุกองค์
องค์พระที่ประดิษฐานบนเชิงลาดในส่วนพุทธรัตนะขององค์เจดีย์ ก็อยู่ในช่วงทยอยติดตั้ง ขณะนี้ประดิษฐานไปได้ประมาณหนึ่งแสนองค์ คาดว่า จะติดตั้งองค์พระภายนอกครบทั้งหมดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
การปูหินแกรนิตบนโครงสร้างคอนกรีต ส่วนที่เป็นวงแหวนธรรมรัตนะ และบริเวณพื้นที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์ ๑๐,๐๐๐ รูป ในส่วน สังฆรัตนะ ก็กำลังคืบหน้าไปตลอดเวลา คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในเดือนธันวาคมปีนี้
ที่สุดแล้ว องค์เจดีย์จะเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดภายในวันมาฆบูชาปีหน้า ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓
อนึ่ง แม้การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ แต่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ได้มีการใช้ประโยชน์ เช่น ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา ฝึกฝนอบรม ธรรมปฏิบัติให้แก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ณ สถานที่แห่งนี้หลายครั้งหลายหน สมตามเจตนารมณ์ในการสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ เพื่อการปฏิบัติธรรมของมหาชนโดยแท้จริง
บุคคลพึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี
ในระหว่างนี้ พวกเราคงจะได้รับข่าวสารข้อมูลทางลบของวัดจากสื่อมวลชนมากมาย ขอให้อดทนอดกลั้นกับคำถาม จากความไม่เข้าใจของ บุคคลรอบข้าง อย่าได้ท้อถอยหมดกำลังใจไปเสียก่อน โลกยังต้องการคนดี ยังต้องการความเสียสละ ความสงบร่มเย็น ธรรมะขององค์ พระบรม ศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะดับร้อนผ่อนคลายทุกข์ภัยแก่ชาวโลกได้ โดยเฉพาะธรรมที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เป็นอย่างยิ่งคือ อนูปวาโท การไม่ว่าร้ายใคร เลือกใช้วาจาที่ไพเราะ ระวังไม่ให้มีการกระทบกระทั่งกัน ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเราก็ตาม
ขอให้ทุกคนเป็นคนดี เป็นคนรักธรรมะ รักความถูกต้องชอบธรรม ช่วยกันชี้นำสิ่งที่ดีงามแก่สังคม ด้วยกำลังใจที่เข้มแข็งต่อไป ขณะเดียวกัน จงใช้สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นบทเรียนชีวิต เป็นบทเรียนของการสร้างความดี แล้วก้าวเดินต่อไปด้วยความสำรวมระวัง อดทนและ เปี่ยมล้น ด้วยเมตตาจิตต่อทุกคน ตามแบบอย่างของพระมหาเถระ ในมหาเถรสมาคม โดยระลึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า
บุคคลพึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ
พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี
พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้
พึงชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยความสัตย์
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย ธรรมบท)
บุคคลผู้ถูกนินทาหรือสรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่มีในโลก สรรเสริญและนินทาเป็นโลกธรรมที่ใครๆ ก็หลีกไม่พ้น จงมาร่วมแรงร่วมใจกัน ในการฟื้นฟูศีลธรรมทั้งในสังคมไทย ตลอดจนเผยแผ่ธรรมะในพระพุทธศาสนาไปสู่ชาวโลก ให้สังคมไทยและสังคมโลก สงบร่มเย็นด้วย กระแส แห่งพุทธธรรม
เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่พวกเราทุกคนทุ่มเทช่วยกันทำ ก็จะส่งผลให้ผู้คนทั้งหลายได้ประจักษ์ถึง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับส่วนรวม เกิดการร่วม แรงร่วมใจกันทำงานพระศาสนาในวงกว้างมากกว่านี้
เราทุกคนต่างก็เป็นชาวไทย และมีความปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น
คณะกรรมการวัดพระธรรมกาย
๖ มิถุนายน ๒๕๔๒