นับถอยหลังจากนี้ไปอีกไม่กี่เดือน
โลกของเราก็จะหมุนเข้าสู่ปี ค.ศ. 2000 หรือปี พ.ศ. 2543 กันแล้ว
ซึ่งดูๆไปแล้ว ปีค.ศ.2000ก็น่าจะเหมือนปีทั่วๆไปที่จะทำให้ทุกคนมีอายุอานามแก่ขึ้นไปอีกคนละ
1 ปี แต่ทำไม้...ทำไม ก็ไม่อาจทราบได้...
( หรืออาจเพราะเลขของปี ค.ศ.
2000นี้มันดูสวยดี ? ) ผู้คนจึงมักอุปโลกน์ให้ปี ค.ศ. 2000
เป็นปีที่มีแต่เรื่องยุ่งๆเกิดขึ้น ซึ่งบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุเป็นผล
แต่บางเรื่องก็ยากที่จะหาเหตุผลใด ๆ มารองรับ อย่างเช่น
เรื่องโลกแตก น้ำท่วมโลก
หรืออะไรทำนองนี้
**********************
สำหรับเรื่องยุ่ง ๆ ที่มีข้อเท็จจริงเป็นเหตุเป็นผลมารองรับและคาดว่าจะทำให้ปี
ค.ศ. 2000 เป็นปีแห่งความปั่นป่วนอลวนอลเวง
นั่นก็คือ เรื่องของ Y2K
( วาย-ทู-เค : Y=Year , K=Kilo=1000 ) หรือที่บางคนอาจเรียกว่า
Year 2000 Problem
( ปัญหาปี 2000 ) หรือ Millennium Bug
( มิลเลนเนียมบั๊ค : แมลงร้ายแห่งสหัสวรรษ โดยในที่นี้คือ
ปัญหาจุดบอดของโปรแกรมในรอบพันปี
) ซึ่งเป็นปัญหาความเข้าใจผิดพลาดในข้อมูลตัวเลข วัน-เดือน-ปี
ของคอมพิวเตอร์ ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงระบบคอมพิวเตอร์ส่วนอื่นๆที่ใช้ข้อมูล
วัน-เดือน-ปี ด้วยจนหลายคนคาดว่าเรื่องนี้ อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย
และแน่นอนว่าปัญหานี้มีสิทธิกระทบถึงเรา ๆ ท่าน ๆ ด้วย ไม่มากก็น้อย
แม้กระทั่งคนที่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์สักเครื่องที่บ้าน หรือแม้คนที่ไม่รู้กระทั่งว่าคอมพิวเตอร์คืออะไรก็ตามที
และตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วจนถึงเวลานี้ ปัญหา Y2K
นับได้ว่าเป็นเรื่องเด่นข่าวเด็ดที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงจากผู้คนทั่วไปมากที่สุด
และจากการที่วันเวลาแห่งความอลเวงในปี ค.ศ. 2000 นี้กำลังเข้ามา
ๆ ทุกขณะ จึงนับเป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่า
ขณะนี้ปัญหา Y2K ได้รับการแก้ไขกันไปถึงไหนแล้วในแต่ละประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยของเรา
ในขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ แก้ไขปัญหา Y2K ไปถึงไหนแล้ว
และสำหรับพวกเราชาวบ้านตาดำ ๆ เราควรเย็นใจหรือควรจะเตรียมตัวรับมือกับปัญหานี้อย่างไรบ้าง
มาก-น้อยแค่ไหน
#############################
ปัญหาวันเวลากับระบบคอมพิวเตอร์
จากปัญหา Y2K ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในวันที่
1 มกราคม 2000 ทำให้ทั่วโลกเกิดความตื่นตัว
ในปัญหาความเข้าใจผิดในเรื่อง
วัน-เดือน-ปี ของคอมพิวเตอร์ที่จะเกิดขึ้นได้ในวันอื่น ๆ มากขึ้นด้วย
อาทิ
ในวันที่ 9 กันยายนของปีนี้
อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ส่วนหนึ่งที่มีการใช้รูปแบบ
วันที่ YY / MM / DD
( ปี-เดือน-วัน ) ซึ่งในที่นี้คือ 99/09/09
สำหรับการกำหนดวันหมดอายุของโปรแกรม
หรือสิ้นสุดรายการในฐานข้อมูลหรือกำหนดเป็นวันซ่อมบำรุงของอุปกรณ์ในคอมพิวเตอร์ชนิดฝังตัว
เป็นต้น
ปัญหาตัวเลข 99/09/09 นี้ เรียกกันว่าปัญหา เมจิก
นัมเบอร์ < Magic Number >
โดยเลขเจ้าปัญหานี้เกิดจากการที่ผู้เขียนโปรแกรม
ได้มีการกำหนดอายุการใช้โปรแกรมของตัวเองไว้ ในวันดังกล่าว ทั้งนี้ผู้เขียนโปรแกรมอาจเขียนโปรแกรมไว้เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
และคิดว่าระยะเวลาดังกล่าวนั้นนานพอแล้ว
สำหรับการใช้งานโปรแกรม จึงไม่ได้บอกใคร
ดังนั้น เมื่อโปรแกรมพบข้อมูลดังกล่าวในวันที่ 9 เดือน 9 ปี
99
ก็จะหยุดทำงานทันที
นอกจากนี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2000 ก็เป็นเดือนที่ควรระวัง
เนื่องจากปี 2000 เป็นปีอธิกสุรทิน
นั่นหมายความว่าเดือนกุมภาพันธ์ต้องมี 29 วัน แต่เนื่องการรูปแบบการคำนวณเวลาเพื่อสร้างปฏิทินของโปรแกรม
บางโปรแกรมนั้น ก็อาจมีข้อบกพร่อง
เพราะใช้สูตรคำนวณที่ผิด จึงอาจส่งผลให้โปรแกรมคำนวณผิดว่าปี
2000
เป็นปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี
28 วัน จนทำให้วันเวลาวันอื่น ๆ ถัดจากนั้นคาดเคลื่อนผิดไปหมด
ดังนั้น ในส่วนของจำนวนวันที่ถูกต้อง ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2000
จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการตรวจสอบด้วย
และถัดจากปี 2000 ไปแล้ว ปัญหาเรื่องวันเดือนปีก็ยังมีเหมือนเดิม
ไม่จบสิ้น
เนื่องจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระบบต่าง
ๆ มีการใชัข้อมูล วัน-เดือน-ปี แตกต่างกันไป
ซึ่งก็จะมีผลทำให้การทำงานผิดพลาด
ใน วัน-เดือน-ปี ที่ต่างกันไป อาทิ ปี 2005
( พ.ศ. 2548 )
ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์แบบ
16 บิต จะหมดอายุ ปี 2020 (
พ.ศ. 2563 ) ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ปี ค.ศ. 1920
( พ.ศ. 2463 ) เป็นเวลาเริ่มต้นจะใช้งานไม่ได้
หรือปี 10000 ( พ.ศ. 10543 ) จะเกิดปัญหา Y10K
( วาย-เท็น-เค )
ซึ่งเป็นปัญหาระบบเลข
ค.ศ. แบบ 4 หลักใช้การไม่ได้อีกต่อไป เป็นต้น