คณะนิกายธรรมยุต เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 160 ปีก่อน โดยพระวชิรญาณ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น แยกตัวออกจากคณะสงฆ์ไทย โดยข้ออ้างว่า พระไทยมีวัตรปฏิบัติที่ย่อหย่อน น่าจะไม่เป็นพระแล้ว สู้พระมอญไม่ได้ จึงไปบวชซ้ำกับ พระมอญ อยู่หลายหน แล้วเปลี่ยนการห่มจีวร เป็นแบบพระมอญ คือห่มแหวก คณะสงฆ์ไทยแต่เดิมจึงได้ชื่อว่า มหานิกาย เพราะเป็นสงฆ์ส่วนใหญ่ของสังคมไทย เมื่อรัชกาลที่ 3 สวรรคต พระวชิรญาณได้ลาสิกขา ขึ้นครองราช สมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระธรรมยุตในขณะนั้น มีเพียงประมาณ 200 รูป แต่อาศัยการที่ใกล้ชิดพระราชวงศ์ จึงเป็นธรรมเนียมที่เชื้อพระวงศ์ และอำมาตย์ราชบริพาร จะนิยมบวชเป็น พระธรรมยุต การอิงอำนาจฝ่ายปกครองเช่นนี้ ทำให้พระธรรมยุต ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ปกครองคณะสงฆ์ไทย ต่อเนื่องมา ยาวนาน จึงได้ค่อยๆ แผ่อิทธิพลมากขึ้น จนกระทั่งปัจจุบัน มีจำนวนพระธรรมยุต เพิ่มจาก 200 รูป เป็นประมาณ สามหมื่นรูป เท่ากับ 1 ใน 10 ของพระมหานิกาย ซึ่งมีประมาณสามแสนรูป
พระธรรมยุตลูกเมียหลวง - พระมหานิกายลูกเมียน้อย
ความใกล้ชิดศูนย์กลางอำนาจ ทำให้พระธรรมยุตมีอำนาจ มีสิทธิพิเศษหลายอย่าง เช่น ทั้งที่พระมหานิกายมีจำนวนมากกว่า 10 เท่า แต่ตำแหน่งพระราชาคณะ, พระครูต่างๆ กลับมีพอๆ กัน คือเป็นพระธรรมยุต จะเป็นเจ้าคุณ ง่ายกว่าพระมหานิกาย 10 เท่า และพระธรรมยุตจะดูถูกพระมหานิกาย ถือว่าพระมหานิกายไม่ใช่พระ เป็นแค่เณรเท่านั้น จะไปลงโบสถ์ทำสังฆกรรม กับพระธรรมยุตไม่ได้ อวดว่าพระธรรมยุตเคร่งกว่า ไม่จับต้องเงินทอง (แต่ใส่ซองรับได้) รับซองปัจจัยจากญาติโยมมา ก็ใช้ก้านธูปเขี่ยดูว่ามีตังค์เท่าไรแล้วเอาใส่ย่าม พระธรรมยุตบางรูปมรณภาพแล้ว พบว่า ใต้เตียงมีซองปัจจัยมากมาย คิดเป็นเงินหลายล้านบาท
เล่ากันว่า มีอยู่คราวหนึ่ง
เจ้าภาพทำบุญขึ้นบ้านใหม่
นิมนต์พระทั้งธรรมยุตและมหานิกาย
ไปประกอบพิธี เจริญพระพุทธมนต์
ถึงเวลาทุกรูป
ก็ขึ้นนั่งบนอาสนะหนัง
ที่เจ้าภาพเตรียมไว้
แต่พระธรรมยุตรูปหนึ่ง
ไม่ยอมขึ้นนั่ง
เจ้าภาพแปลกใจถามดู ท่านบอกว่า
ไม่ทราบว่า อาสนะหนังผืนนี้
ทำจากหนังควายตัวผู้หรือหนังควายตัวเมีย
จึงไม่กล้านั่ง
เพราะถ้าเป็นหนังควายตัวเมีย
เดี๋ยวจะอาบัติ
เจ้าภาพฟังแล้วรู้สึกเลื่อมใส
ในความเคร่งเป็นอันมาก
จึงเปลี่ยนเป็นอาสนะผ้า
ให้ท่านนั่งแทน พอสวดมนต์เสร็จ
เจ้าภาพก็ประเคนภัตตาหาร
เป็นแกงไตปลารสดี
ทุกรูปก็ฉันกันเอร็ดอร่อย
พระธรรมยุตนั้น ซดดังโฮกทีเดียว
พระมหานิกายที่นั่งข้างๆ
ก็เลยเปรยลอยลมขึ้นว่า "อาสนะ!
บอก
ไม่รู้เป็นหนังควายตัวผู้หรือตัวเมีย
ทำเป็นไม่กล้านั่ง
แต่พอทีเนื้อปลา
ไม่เห็นกลัวเลยว่า
เป็นปลาตัวผู้หรือตัวเมีย
ทั้งเนื้อทั้งไข่ซดเรียบ"
พระธรรมยุตก็เลย ยกช้อนน้ำแกง
ค้างที่ปากตรงนั้นเอง
พระมหานิกายทนอยู่อย่าง
ลูกเมียน้อย ถูกเหยียดหยามรังแก
อย่างไม่ยุติธรรม ถูกใช้เล่ห์กล
ยึดวัดไปเป็นวัดธรรมยุตบ้าง
บีบให้พระมหานิกาย
ทิ้งวัดหนีบ้าง ก็อดทนมาตลอด
จุดระเบิดศึกธรรมยุต-มหานิกาย ครั้งที่ 1
จุดระเบิดของพระมหานิกาย เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อพ.ศ.2494 ซึ่งในขณะนั้นการปกครองสงฆ์ใช้ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2484 พระสังฆราชจะเป็นคล้ายๆ กษัตริย์ ไม่บริหาร คณะสงฆ์ โดยตรง แต่จะตั้งสังฆนายก ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร คล้าย นายกรัฐมนตรี ปกครองสงฆ์ มีวาระคราวละ 4 ปี ตั้งสังฆสภา ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และตั้งคณะ พระวินัยธร ทำหน้าที่ตุลาการศาลสงฆ์
เมื่อพ.ศ.2494 สังฆนายกคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) มรณภาพ สมเด็จพระสังฆราช ขณะนั้นเป็นพระธรรมยุต คือ สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศฯ จึงต้องตั้งสังฆนายกใหม่ แทนที่จะตั้งสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร พระมหาเถระ ฝ่ายมหานิกาย ซึ่งมีอาวุโส และความเหมาะสมสูงสุด แต่กลับไปตั้ง พระศาสนโศภณ (จวน อุฏฺฐายี) ซึ่งมีอาวุโสตํ่ากว่า เป็นเพียงรองสมเด็จ แต่เป็นพระธรรมยุต เหมือนสมเด็จพระสังฆราช ขึ้นมาข้ามหัว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2494 ทันทีที่พระบัญชาตั้งสังฆนายก ถูกประกาศออกมา อย่างเป็นทางการ ทำให้พระมหาเถรานุเถระ ฝ่าย มหานิกาย ต่างตกอยู่ในภาวะตะลึงงัน คาดไม่ถึงว่า สมเด็จพระสังฆราชจะตัดสินพระทัย โดยมองได้ว่า เล่นพรรคเล่นพวกเช่นนั้น พระเถระผู้ใหญ่ของมหานิกาย 47 รูป จึงได้เคลื่อนไหว ทำหนังสือคัดค้าน การตั้งสังฆนายก มีเนื้อหาในจดหมายดังนี้
15 มิถุนายน 2494
ขอประทานกราบทูล แด่สมเด็จสกลมหาสังฆปริณายกทรงทราบ
เกล้ากระหม่อมพระเถรมหานิกาย ซึ่งมีนามข้างท้ายนี้ ขอวโรกาสกราบทูลแด่ สกลมหาสังฆปริณายกทรงทราบ ด้วยตามที่ฝ่าพระบาท ทรงกรุณาโปรดแต่งตั้งให้ พระศาสน โศภณ (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายกแทน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ไปแล้วนั้น ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นเหตุให้กระเทือนใจ คณะสงฆ์มหานิกาย อย่าง สุดวิสัย ที่จะสงบนิ่งอยู่ได้ และถ้าไม่หาทางแก้ไข ระบายความขัดแค้นเสียได้ อาจบังเกิดผลอันไม่งดงาม และไม่พึงปรารถนาขึ้น ในสังฆมณฑล ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มพระบารมี ของ ฝ่าพระบาทผู้เป็น พระสังฆบิดรของคณะสงฆ์ไทยเวลานี้ อย่างคาดไม่ถึง
ความจริง พระศาสนโศภณ (จวน อุฏฺฐายี) นั้น เมื่อว่าโดยคุณวุฒิและสมรรถภาพแล้ว ก็เป็นที่เชื่อได้ว่า จักเป็นผู้บริหารกิจการ ในตำแหน่งสังฆนายก ได้ดีองค์หนึ่ง แต่เมื่อนำเข้า เทียบกับ สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) ซึ่งเป็นพระเถระ ที่ดำรงตำแหน่ง สมณฐานันดรศักดิ์สูงกว่า และเจริญวัยวุฒิกว่า เมื่อยึดพระธรรมวินัยของ สมเด็จพระบรม ศาสดา เป็นมาตรฐานแล้ว สมเด็จพระวันรัต ควรที่จะได้ดำรงตำแหน่ง สังฆนายก ยิ่งกว่าพระศาสนโศภณ นี้ว่าด้วยส่วนที่เกี่ยวกับบุคคล
เมื่อว่าโดยเหตุแวดล้อมแล้ว พระสงฆ์ 2 คณะ ซึ่งต่างก็อยู่ภายใต้ร่มพระบารมี ของฝ่าพระบาท ขณะนี้ภาวะฉันใด ฝ่าพระบาททรง ตระหนักพระทัยอยู่แล้ว เมื่อเป็นดังนี้ การที่ ฝ่าพระบาททรง พระกรุณาโปรด พระศาสนโศภณ ซึ่งตํ่าศักดิ์กว่า เด็กกว่า แต่เป็นพระธรรมยุต เหมือนฝ่าพระบาทนั้น ย่อมเป็นชนวนชวนให้จิตใจของ พระมหานิกาย ซึ่ง เร่าร้อน อยู่แล้ว เพิ่มดีกรีมีความไวไฟขึ้นอีก อาจถึงขนาดไหม้ สังฆมณฑล ให้มอดมิดก็ได้
เมื่อว่าโดยหลักการบริหาร โดยพฤตินัยในเวลานี้แล้ว อันตำแหน่งสังฆนายกนั้น ควรที่จะเป็นของ พระมหานิกาย โดยเฉพาะด้วยแท้ ไม่ควรจะสาธารณะแก่ พระธรรมยุตเลย ด้วยเป็นตำแหน่ง หัวหน้าบริหาร โดยถ่ายเดียว ก็การบริหารคณะสงฆ์ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ในเวลานี้จำกัดอยู่เฉพาะในวง พระมหานิกายเท่านั้น ด้วย พระธรรมยุต นั้น เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้มีบัญชาให้แตกแยกจาก พระมหานิกาย ไปขึ้นอยู่เฉพาะ ธรรมยุติกนิกาย แต่เมื่อ พ.ศ.2492 แล้ว การที่ฝ่าพระบาท โปรด ให้พระเถระฝ่ายธรรมยุต มีอำนาจเหนือ พระมหานิกายนั้น คณะมหานิกาย สิ้นทั้งผอง ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต ไม่สามารถที่จะ สงบระงับกิเลสไว้ได้ ข้อนี้เป็นเหตุประการสำคัญ
ครั้นมาถึงวาระนี้ ฝ่าพระบาทมาทรงพระกรุณา โปรดแต่งตั้ง พระศาสนโศภณ ซึ่งเป็นพระธรรมยุต ให้ทับเศียร สมเด็จพระวันรัต ซึ่งเป็นพระมหาเถระ ที่คณะสงฆ์มหานิกาย ยกเป็นปูชนียะอย่างสูง ในเวลานี้ จึงเห็นเป็นการเหยียดหยาม และลดเกียรติ พระมหานิกาย อย่างมาก
เพื่อความสันติแห่งสังฆมณฑล และเพื่อขออัญเชิญให้ฝ่าพระบาท ยังทรงพระเมตตา ในอันที่จะให้คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ได้พึ่งพระบารมี ยึดถือเป็นร่มโพธิ์ทอง เสมอเหมือน และเท่าเทียม คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตแล้ว เกล้ากระหม่อมทั้งปวง ขอพระวโรกาส ขอให้ฝ่าพระบาท ได้ทรงพระกรุณาให้ สมเด็จพระวันรัต ดำรงตำแหน่ง สังฆนายก เพื่อเป็น มิ่งขวัญมงคล แก่คณะสงฆ์มหานิกาย สืบไป
จะทรงพระกรุณาโปรดได้หรือไม่ประการใด เกล้ากระหม่อมทั้งหลาย ขอพระวโรกาส ได้โปรดประทานพระเมตตา ให้ได้ทราบในเวลาอันควร
ควรมิควรประการใดสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรด
(ลงชื่อพระเถระฝ่ายมหานิกาย 47 รูป)
(จากหนังสือ "ศึกสมเด็จ" หน้า 130-133)
ในวันที่ยื่นจดหมายนั้นเอง พระศาสนโศภณก็ได้ลาออกจากตำแหน่งสังฆนายกที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง เกิดความปั่นป่วนใน สังฆมณฑลครั้งใหญ่ ด้วยมีการยื่นจดหมาย คัดค้าน พระบัญชา สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และในวันที่ 12 กรกฎาคม สมเด็จพระสังฆราช ก็ได้ให้กระทรวงศึกษาธิการ อาราธนาพระเถระผู้ใหญ่ ทั้งฝ่ายมหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย มาประชุมกันที่ ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร ผลการประชุมกันในวันนั้น พระเถระผู้ใหญ่ทั้ง 2 นิกาย ได้ทำข้อตกลง ในด้านหลักการ ดังต่อไปนี้
ข้อตกลงนี้เรียกกันว่า "ข้อตกลงตำหนักเพชร 2494" ที่พระเถระผู้ใหญ่ทั้ง 2 นิกาย ได้ทำความตกลงกันไว้ และรัฐบาลในสมัยนั้น ได้รับรองข้อตกลงนี้ อย่างเป็นทางการด้วย จากนั้น ก็ได้แต่งตั้ง สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร ขึ้นเป็นสังฆนายกแทน
เพราะข้อตกลงตำหนักเพชร 2494 นี้เอง ทำให้มีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ของแต่ละนิกายแยกกัน เช่น เจ้าคณะภาค 1 ของมหานิกาย ก็จะ รับผิดชอบ การบริหารงานคณะสงฆ์ เฉพาะส่วนของมหานิกาย ส่วนเจ้าคณะภาค 1 ของธรรมยุต ก็รับผิดชอบพระธรรมยุตเป็นต้น ข้อตกลงตำหนักเพชร 2494 ที่พระเถระ ผู้ใหญ่ทั้ง 2 นิกาย ทำกันไว้ในครั้งนั้น ยังมีผลปฏิบัติสืบทอด มาถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้นจะเห็นว่า เมื่อมีอธิกรณ์สงฆ์เกิดขึ้น เช่น กรณีพระยันตระ ซึ่งเป็นพระธรรมยุต กรรมการ มหาเถรสมาคม ฝ่ายมหานิกาย ก็จะงดแสดงความคิดเห็น ให้กรรมการฝ่ายธรรมยุต เป็นผู้พิจารณา คณะสงฆ์ทั้ง 2 นิกาย ได้รักษาข้อตกลง ปฏิบัติอย่างนี้มา ตลอด 48 ปีแล้ว ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างนิกาย ที่เคยคุกรุ่นรุนแรง ก็ได้สงบลง
ปัจจุบันพระมหานิกาย พระธรรมยุต รุ่นใหม่ ได้คลายความกินแหนงแคลงใจกันไปมากแล้ว เรื่องพระธรรมยุต รังแกพระมหานิกาย แม้ยังมีอยู่ แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ พออดพอทน กันได้ พระธรรมยุตที่เป็นสายปฏิบัติ เช่น พระป่าทางอีสาน ก็ไม่สนใจเรื่องนิกาย มุ่งจะไปนิพพานกัน หรือพระนักทำงาน ก็จับมือกับ พระมหานิกาย ช่วยกันทำงาน เพื่อ พระพุทธศาสนา เพื่อประเทศชาต ิกันอย่างสมัครสมานสามัคคี น่าชื่นชม
ฤาจะเป็นศึกมหานิกาย-ธรรมยุต ภาค 2
ขณะนี้ในกรณีธรรมกาย ได้มีกลุ่มศิษย์ใกล้ชิด สมเด็จพระสังฆราช อาศัยช่วงที่พระองค์ทรงประชวร แอบอ้างจัดทำพระลิขิตขึ้นมา มากมายหลายฉบับ มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย และพระธรรมวินัย ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เมื่อมหาเถรสมาคม ไม่ปฏิบัติตาม ก็สร้างกระแสโจมตี พระมหาเถระ อันเป็นปูชนียของพระมหานิกาย อย่างรุนแรง เราพระ มหานิกาย มองว่า เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เป็นการวางแผนทำลาย พระมหาเถระผู้ใหญ่ ของมหานิกาย เพื่อปิดสกัด ไม่ให้ขึ้นเป็น พระสังฆราชองค์ต่อไป มุ่งหวังจะ สืบทอด อำนาจการเป็น สังฆราช ในหมู่พระธรรมยุต เป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรม หยามเหยียดพระมหานิกาย ความรู้สึกถูกรังแกของพวกเรา พระมหานิกายที่อดทน ระงับไว้ มาตลอด ได้คุกรุ่นมากขึ้นทุกขณะ อย่างสุดจะยับยั้ง ไว้ได้อีกต่อไป และอาจลุกลามแผดเผา สังฆมณฑล ให้ลุกเป็นไฟได้
ขณะนี้ประเทศไทยของเรา กำลังเผชิญหน้าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ครั้งร้ายแรง กำลังต้องการ ความสมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ ของชนในชาติ เราชาวไทยผู้รักชาติ รักผืนแผ่นดินไทย ไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้ เป็นนํ้าผึ้งหยดเดียว นำไปสู่การทะเลาะวิวาท บาดหมาง สร้างบาดแผลทางจิตใจ แก่คนในชาติ คนนับถือศาสนาอื่น เรายังสามารถ อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข บนแผ่นดินไทยนี้ แล้วทำไมชาวพุทธด้วยกันแท้ๆ เพียงแค่เป็นคนละนิกาย มีความเห็นบางอย่างต่างกันบ้าง ถึงกับจะต้องลุกขึ้นมา ฟาดฟันกันให้ ล้มตายกันไป ข้างหนึ่งเชียวหรือ หลักเมตตาธรรมในพระพุทธศาสนา หายไปไหนเสียหมด เราชาวพุทธ อย่าทำตัวให้เป็นที่ หัวเราะเยาะของคนต่างศาสนา ขอวอนสื่อ อย่าตก เป็นเครื่องมือ ของผู้ไม่หวังดีต่อ พระพุทธศาสนาเลย
ขออย่ารังแกกันจนเกินไป
พระมหานิกาย : 18 พฤษภาคม 2542
หมายเหตุ พระพิมลธรรม (อาส อาสโภ) ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ที่สุดของมหานิกาย ที่เซ็นชื่อทำหนังสือคัดค้าน การตั้งพระศาสนโศภณ (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายก ในปี พ.ศ. 2494 ต่อมาในปี พ.ศ.2503 พระศาสนโศภณ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆนายก พระพิมลธรรมถูกกล่าวหาว่า ปาราชิก โดยเสพ เมถุนกับเด็กวัด สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นประธานคณะวินัยธรสอบ บอกว่าเป็นจริง ให้จับสึก ตำรวจจึงจับพระพิมลธรรม ไปขังไว้ที่สันติบาลและสึก แต่ต่อมา ศาลพิพากษา ว่า ไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง พระพิมลธรรม จึงครองจีวรใหม่ ถูกขังฟรีไป 6 ปี พระวัดมหาธาตุเรามองว่า พระพิมลธรรมถูก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) แก้แค้น เพราะ เหตุนี้เอง ทุกคนจึงเห็นตรงกันว่า พ.ร.บ.สงฆ์ 2484 เป็น พ.ร.บ. เผด็จการ ในคราบ ประชาธิปไตย ทั้งการบริหารและตุลาการ อยู่ในอำนาจของพระเพียง 1-2 รูปเท่านั้น สามารถกลั่นแกล้งกันได้ง่าย จึงได้ยกเลิกหันมาใช้ พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 ปกครองโดยหมู่คณะ คือ มหาเถรสมาคม แทน ใครกำลังคิดจะรื้อฟื้น พ.ร.บ.สงฆ์ ฉบับเผด็จการ 2484 มาใช้ ขอให้เลิกเสีย