โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


การตั้งคลังออมสินและสร้างความเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน


  • การก่อตั้งคลังออมสิน

ต้นกำเนิดของคลังออมสินซึ่งได้พัฒนามาจนเป็นธนาคารออมสินในปัจจุบันนั้นมาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เนื่องจากขณะที่ทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษพระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรแบบอย่างและวิธีการคลังออมสินของประเทศอังกฤษที่ Edinburgh Savings Bank ทำให้ทรงสนพระทัยและทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้มีการออมสินขึ้นในประเทศไทยบ้าง เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว จึงได้ทรงทดลองตั้งธนาคารออมสินขึ้นเมื่อพ.ศ.2450 ณ พระตำหนักสวนจิตรลดาซึ่งเป็นวังที่ประทับในขณะนั้น โดยทรงพระราชทานนามธนาคารนี้ว่า “ลีฟอเทีย” กำหนดให้มหาดเล็กในพระองค์นำเงินเดือนที่ได้รับพระราชทานมาฝาก เพื่อฝึกฝนให้รู้จักวิธีการเก็บออมทรัพย์ และระเบียบแบบแผนข้อบังคับต่าง ๆ ของธนาคาร โดยที่สามารถถอนเงินนี้ได้เมื่อต้องการใช้

ที่มาของนาม “ลีฟอเทีย” นั้นก็คือ “ลี” แปลว่าใหญ่ หมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ส่วน “ฟอ” หมายถึง“เฟื้อ” (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา)ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยารามราฆพ และ”เทีย” หมายถึง “เทียบ” หรือพระยาคธาธรบดี (เทียบ อัศวรักษ์) ซึ่งเป็นกรรมการของธนาคารอีกผู้หนึ่ง

จากจุดกำเนิดนี้ ได้เป็นพื้นฐานนำไปสู่การจัดตั้งคลังออมสินหรือ Savings Bank เพื่อส่งเสริมการออมของประชาชนในเวลาต่อมา โดยที่เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ในปีพ.ศ.2453 ก็ได้มีพระราชดำริจะจัดตั้งคลังออมสินขึ้นสำหรับเป็นแหล่งการออมของราษฎรทั่วไป และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเรื่องที่จะจัดตั้งคลังออมสินเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของเสนาบดีสภาเมื่อ 20 มกราคม ร.ศ.131 (พ.ศ.2455) การประชุมครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นประธานที่ประชุมด้วยพระองค์เอง มติของที่ประชุมเสนาบดีสภาปรากฏดังรายงานประชุมต่อไปนี้

“มีพระราชดำรัสว่า ต่อจากเรื่องนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของราษฎรชาวนา ตามที่ได้ฟังเสียงของราษฎรเองนั้นว่า การรักษาทรัพย์เป็นการลำบากมาก เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปฝากที่ไหน บางคนที่กล้าเอามาฝากแบงก์ เมื่อมาถูกนายเชยสรรพการโกงเข้าก็เลยเข็ด เห็นว่าการรักษาทรัพย์ของราษฎรเป็นความลำบากจริง นอกจากถูกปล้นสดมภ์แล้ว ก็ยังมีการที่เที่ยวสุรุ่ยสุร่ายเสียเช่นเล่นการพนัน เป็นต้นได้ลองถามราษฎรดูว่าถ้ากระทรวงพระคลังตั้งแบงก์(คือเซฟวิงแบงก์)สำหรับรับฝากเงินขึ้น จะมีผู้ฝากฤาไม่ ราษฎรเหล่านั้นว่าถ้ามีที่ฝากเช่นนั้นแล้วดี ตามที่ได้ปรึกษาดูก็เห็นว่าพอจะทำได้ คือให้เทศาภิบาลแลผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ กรมหลวงจันทบุรีกราบบังคมทูลว่า จัดได้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิศนุโลกรับสั่งว่า ถ้าจัดขึ้นได้แล้วเป็นดีที่สุด ที่ประชุมเห็นชอบพร้อมกัน โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังจัดการ กรมหลวงจันทบุรีรับพระบรมราชโองการ”

จากมติที่ประชุมนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคลังออมสิน พุทธศักราช 2456 ขึ้นเมื่อ 20 มีนาคม 2455 และประกาศใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2456 เพื่อจัดตั้งคลังออมสินขึ้นสำหรับเป็นสถานที่เก็บรักษาทรัพย์สมบัติของราษฎรให้ปลอดภัย และส่งเสริมให้ราษฎรรู้จักการใช้จ่ายอย่างประหยัด และรู้จักเก็บออมอย่างถูกวิธี ดังปรากฏในคำปรารภของพระราชบัญญัติดังกล่าว ความว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภการรักษาทรัพย์สมบัติ ซึ่งประชาราษฎรได้อุตสาหะประกอบการทำมาค้าขายมีกำไรออมไว้เป็นทุนนอนได้แล้ว แต่การรักษาให้ปราศจากอันตรายยังเป็นการลำบาก เพราะไร้ที่ฝากฝังอันมั่นคง ส่วนการที่ประชาชนออมสินไว้เพื่อประโยชน์การยืดยาวข้างหน้า ไม่จับจ่ายเพื่อความเพลินใจชั่วขณะนั้น เป็นสิ่งควรอุดหนุนอย่างยิ่ง ทรงพระราชดำริว่า การรักษาสินซึ่งออมไว้เช่นนี้ มีทางที่จะทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ได้ ด้วยการตั้งคลังออมสินเพื่อประโยชน์การรับรักษาเงินที่ประชาชนจะนำมาฝากเป็นรายย่อย แลรับภาระจัดให้เงินนั้นเกิดผลแก่ผู้ฝากตามสมควร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไป”

ส่วนที่มีพระราชดำริที่จะให้ราษฎรคิดนำเงินมาเก็บออมด้วยการฝากธนาคารแทนที่จะใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายและเล่นการพนันนั้น นอกจากจะปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมเสนาบดีสภาแล้ว สิ่งที่ยืนยันถึงพระราชประสงค์ในเรื่องนี้ก็คือพระราชกระแสถึงเสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ เมื่อ 11 เมษายน พ.ศ.2459 ดังต่อไปนี้

“ด้วยบัดนี้ได้ยกเลิกหวย ก.ข. แล้ว เห็นควรเปิดขยายการคลังออมสินให้แพร่หลายออกไปให้มากที่สุดที่จะจัดได้ ให้เป็นการต่อเนื่องกับการที่เลิกหวย ก.ข.นั้น เพื่อบำรุงประชาราษฎร์ เป็นโอกาสได้ฝากฝังให้ทรัพย์นั้นงอกงาม และตั้งอยู่ในที่อันมั่นคง”

นอกจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสนับสนุนในเชิงนโยบายในการจัดตั้งคลังออมสินขึ้นแล้ว ยังทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเงินจำนวน 100,000 บาทสำหรับเป็นทุนสำรองดำเนินการ และเป็นทุนรอนหาผลประโยชน์เพื่อใช้สำหรับจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้นำเงินมาฝากในระยะแรก ๆ ที่คลังออมสินยังจัดการหารายได้มาเลี้ยงตัวได้ไม่เพียงพออีกด้วย เงินพระราชทานจำนวนนี้ทำให้กิจการคลังออมสินสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น

    หน้า 16   

    หน้า 18