โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


การตั้งคลังออมสินและสร้างความเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน


  • พระราชดำริในการตั้งธนาคารแห่งชาติและการกอบกู้ธนาคารไทยให้พ้นวิกฤติ

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าความก้าวหน้าและมั่นคงของกิจการธนาคารในประเทศ จะเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทั้งด้านการลงทุน การค้าและด้านอื่น ๆ ที่สำคัญทางเศรษฐกิจต่อไป และทรงมีพระราชประสงค์จะส่งเสริมกิจการธนาคารที่เป็นของคนไทยขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหากับแบงก์สยามกัมมาจล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นธนาคารของคนไทยแห่งเดียวในยุคนั้น จึงทรงพระราชทรัพย์เข้าพยุงฐานะของธนาคารแห่งนั้นไว้ เพราะมิฉะนั้นแบงก์สยามกัมมาจลก็อาจจะต้องล้มละลายไป อันจะยิ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในระบบธนาคารมากยิ่งขึ้น

การที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติ และมุ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ชนชาติของตนเป็นสำคัญ ทำให้คนไทยต้องเสียเปรียบในการทำธุรกรรมกับธนาคารเหล่านี้เรื่อยมา เช่นต้องเสียดอกเบี้ยสูงกว่า และต้องเสียค่านายหน้าในการกู้เงิน เป็นต้น ดังปรากฏในรายงานเสนาบดีสภาว่า

“…อีกเรื่องหนึ่งเรื่องแบงก์ที่ทำกันอยู่เวลานี้ ถ้าขายดราฟท์ให้แก่คนไทยแล้ว เรียกดอกเบี้ยแรงกว่าที่ขายให้ฝรั่ง แม้แต่แบงก์ไทยเองคือแบงก์สยามกัมมาจลก็ทำเช่นนี้ แลถ้าฝรั่งจะกู้เงินไม่ต้องเสียนายหน้าถ้าไทยต้องเสีย ดังนี้เป็นการเสียเปรียบกันมาก พ่อค้าไทยทุนก็น้อยอยู่แล้ว ยังซ้ำถูกบีบคั้นต่าง ๆ อีกเช่นนี้”

การที่แบงก์สยามกัมมาจลก็ดำเนินนโยบายการกู้เงินเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ต่างชาตินั้น เป็นเพราะผู้ถือหุ้นชาวไทยไม่ค่อยมีบทบาท แม้จะมีหุ้นมากกว่าก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากการฉ้อโกงของผู้บริหารชาวไทย ทำให้การบริหารเป็นไปตามนโยบายของผู้ถือหุ้นต่างชาติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชประสงค์จะให้คนไทยมีบทบาทในการบริหารกิจการธนาคารมากยิ่งขึ้น ดังพระราชดำรัสในการประชุมเสนาบดีสภา วันที่ 12 ธันวาคมพ.ศ.2453 ความว่า

“เรื่องแบงก์ได้ลองคิดแก้ไขอยู่บ้างแล้วตามการที่เป็นมา เมื่อพระสรรพการออกจากผู้จัดการแบงก์สยามกัมมาจลแล้ว คงมีแต่มิสเตอร์สวาชเป็นผู้จัดการผู้เดียว เมื่อเป็นเช่นนี้เขาก็เดินปอลิซีที่จะให้เป็นของฝรั่งไปอย่างเดียว……ควรจะมีผู้จัดการฝ่ายไดไทยด้วยพอจะได้กำกับกัน แลอย่างต่ำก็พอรู้ว่าเขาจะทำอย่างไร…”

ปัญหาการทุจริตของแบงก์สยามกัมมาจลที่สำคัญเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกนั้นเป็นเพราะพระสรรพการหิรัญกิจ(เชย) ผู้อำนวยการฝ่ายไทยถอนเงินไปจนเกิดความเสียหายขึ้นในปี ร.ศ.129 (พ.ศ.2453) ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติเข้ากำกับดูแลนโยบายของธนาคารเสียเองเป็นส่วนใหญ่ ดังข้อความในรายงานเสนาบดีสภาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ร.ศ.129 ว่า

“….กรมหลวงดำรงรับสั่งว่า บริษัทนี้ตามพระบรมราชานุญาตมีกำหนดเงินทุนไว้ว่า ฝรั่งจะเข้าหุ้นส่วนเกินกว่าส่วนหนึ่งในสามไม่ได้ แต่ที่จริงทุนฝรั่งที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ส่วนหนึ่งในห้าเท่านั้น แลในข้อบังคับของแบงก์มีอยู่ว่าต้องมีผู้อำนวยการไทย 1 ฝรั่ง 1 และถ้าผู้อำนวยการจะถอนเงินมีกำหนดตั้งแต่เท่านั้นเท่านี้ขึ้นไปต้องบอกกรรมการ แต่ก่อนก็มีผู้อำนวยการไทย 1 ฝรั่ง 1 แต่ต่างคนต่างทำการไปไม่รู้ถึงการ พระสรรพการจึงถอนเงินโดยไม่บอกกรรมการได้ จนต้องออกจากผู้อำนวยการ การที่ต่างคนต่างทำไม่มีใครกำกับใครเช่นนี้จึงเกิดการเสียหายขึ้น เมื่อเกิดการเสียหายขึ้นแล้วไทยต้องเสีย 4 ส่วนฝรั่งเสียส่วนเดียว…”

ต่อมาในปีพ.ศ.2457 นายยู่เสงเฮง ฉลองไนยนารถได้ยักยอกเงินไปจากแบงก์สยามกัมมาจลถึง 1,681,000 บาท ทั้งยังจ่ายเงินเกินให้แก่แบงก์จีนสยาม และซื้อตั๋วเงินปลอมอีกเป็นจำนวนมาก จนถึงกับถ้าไม่มีการช่วยเหลือแล้วแบงก์สยามกัมมาจลก็จะล้มละลายไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ช่วยเหลือให้แบงก์สยามกัมมาจลคงดำเนินการต่อไปได้

“ตามเหตุการณ์ที่นายยู่เสงเฮง ฉลองไนยนารถ ได้ยักยอกเงินของแบงก์สยามกัมมาจลไป แลแบงก์จีนต้องล้มละลายลงคราวนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลด้วยวาจาในชั้นต้นว่าแบงก์สยามคงจะเสียหายไปประมาณเงินราว 2,000,000 บาทเศษ แลถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำรุงแบงก์สยามกัมมาจลให้คงที่ดำเนินการได้ต่อไป ประมาณจะต้องเรียกทุนเติมอีก 1,000,000 บาทนั้น …. ข้อความที่ได้กราบบังคมทูลมาแล้วในชั้นต้นนั้น ได้คิดแต่จำนวนเงินที่จ่ายเกินให้แก่แบงก์จีนสยาม 400,000 บาท แลที่นายยู่เสงเฮง ฉลองไนยนารถได้ยักยอกไป 1,681,000 บาท จึงรวมเป็นจำนวนเงินแต่เพียง 2,081,000 บาท ยังหาได้คิดถึงจำนวนเงินที่จะสูญเสียไปเพราะตั๋วเก๊ตั๋วปลอมที่แบงก์สยามกัมมาจลได้รับซื้อไว้ไปรับเงินทางเมืองต่างประเทศ กับทั้งลูกหนี้ลูกสินของแบงก์สยามที่จะต้องสูญเสียไปด้วยไม่ ในบัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้มิสเตอร์ อี โฟลริโอ ไปตรวจสอบกับบาญชีของแบงก์มาอย่างถี่ถ้วนแล้ว คงได้ความว่าเงินที่แบงก์สยามต้องขาดทุนไปเพราะนายยู่เสงเฮง ฉลองไนยนารถยักยอก และแบงก์จีนถูกล้มละลายคราวนี้ รวมเป็นจำนวนเงินถึง 5,347,000 บาท มีรายการละเอียดแจ้งอยู่ในบาญชีที่ทูลเกล้าฯ ถวายมาพร้อมกับหนังสือฉบับนี้แล้ว นับว่าเงินทุนของแบงก์ซึ่งมีมาแต่เดิมแลที่ได้สะสมไว้ได้สูญสิ้นไปหมดแล้ว ยังมิหนำเงินที่กระทรวงพระคลังฯ ได้ออกช่วยให้แบงก์กู้เพื่อให้แบงก์คงดำเนินการได้ก็พลอยสูญเข้าไปอีกเกือบเต็มจำนวน เพราะฉะนั้นทางการที่จะดำเนินการของแบงก์สยามกัมมาจลนี้ จะดำเนินการต่อไปโดยไม่มีทุนทางใดมาอุดหนุนขึ้นอีกนั้น คงจะทรงการอย่างนี้ไปไม่ได้”

    หน้า 19   

    หน้า 21