แผ่นเสียงร่องกลับทาง ของขุนเสนาะดุริยางค์ ( แช่ม สุนทรวาทิน )
ฉบับที่แล้วมาได้เขียนถึงแผ่นเสียงร่องกลับทาง Berliner Lateral Disc อันเป็นแผ่นเสียงแผ่นแบบรุ่นแรกของโลก ที่เล่นจากกลางแผ่นโดยได้เล่าถึงสถานที่บันทึกเสียงเพลงไทยครั้งแรกคือวังบ้านหม้อ และเล่าถึงเพลงตับอาบูหะซัน (ตับอีแมน) แล้ว คราวนี้ก็จะเขียนถึงแผ่นเสียงร่องกลับทางต่อไปอีกตอนหนึ่ง
ในการสำรวจแผ่นเสียงโบราณชนิดร่องกลับทาง ที่หอสมุดแห่งชาติเมื่อครั้งที่คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ท่านยังเป็นผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติอยู่นั้น ท่านเล่าว่าได้รับแผ่นที่มีผู้บริจาคมามากมาย แต่ไม่มีความสันทัดในเรื่องนี้จึงเก็บเอาไว้เฉยๆ เพียงเพื่อการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งคราว เมื่อผู้เขียนทราบเรื่องนี้จึงขออนุญาตท่านเข้าไปสำรวจ ก็ได้รู้เรื่องมาเขียนไปคราวก่อน ในแผ่นเสียงรุ่นเดียวกันนี้ก็พบเพลงบันทึกด้วยวงดนตรีไทยในการควบคุมของขุนเสนาะดุริยางค์คือเพลงชุด "ตับพระลอคลั่ง" "เพลงบีฮูหยิน จากตับจูล่ง " สองชุดนี้บรรเลงด้วยวง "พิณพาทย์" ส่วนอีกชุดหนึ่งเป็นตับเพลง "พระอภัยเก้าทัพ" บรรเลงด้วยวงเครื่องสายไทย ซึ่งจะได้อธิบายขยายความต่อไป
ข้อแรกก็คือ ใครคือขุนเสนาะดุริยางค์
ตอบได้ว่า เป็นนักดนตรีเอก บุตรนายช้อย สุนทรวาทิน ( ยอดครูดนตรีไทยผู้มีจักษุพิการทั้งสองข้าง) นายช้อยเป็นบุตรของนายทั่ง นักดนตรีเอกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นต้นสกุล " สุนทรวาทิน" สกุลแห่งนักดนตรีไทยและในปี2533 ที่เขียนบทความนี้ ได้มีการสืบทอดเชื้อสายกันมากว่าหกชั่วคนแล้ว ขุนเสนาะดุริยางค์ผู้นี้ มีชื่อเดิมว่า "แช่ม" มีภรรยาสองคน คนแรกชื่อทรัพย์ มีลูกสองคน ชื่อนางช้าและนายเชื่อง ภรรยาคนที่สองคือคุณหญิงเรือนมีบุตรหลายคน ที่เป็นนักร้องและเป็นครูดนตรีไทยมีชื่อเสียงต่อมา คือคุณเลียบ สุนทรวาทิน คุณครูเลื่อน สุนทรวาทิน และที่เป็นศิลปินแห่งชาติคนหนึ่ง คือ อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน
นายแช่มรับราชการในกระทรวงวังสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปีพ.ศ.2422 มีหน้าที่บรรเลงเพลงปี่พาทย์ในพระราชพิธีต่างๆ ( อายุ 13 ปี )สมัยนั้นก็มีครูที่ใหญ่กว่าท่านคือ พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร) และพระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด)อีกคนหนึ่ง คนที่รับราชการเป็นนักดนตรีหลวงสมัยนั้นเขาเรียกกันว่า ประจำกรมพิณพาทย์หลวง ซึ่งบางครั้งจะต้องไปช่วยราชการกรมมหรสพด้วย ดังนั้น นายแช่ม สุนทรวาทิน จึงเข้าออกในวังบ้านหม้ออันเป็นที่ตั้งกรมมหรสพในสมัยนั้นด้วย
รับราชการมาจนอายุได้ 37 ปี ถึง วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2466 จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนเสนาะดุริยางค์" รั้งตำแหน่งเจ้ากรมพิณพาทย์หลวงแทนขุนเสนาะดุริยางค์(ขุนเณร) ได้เป็นหัวหน้านานถึงเจ็ดปี ถึงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2453 ปลายรัชกาลที่ 5 จึงได้เลื่อนเป็นหลวงเสนาะดุริยางค์ ในรัชกาลที่ 6 ตำแหน่งสุดท้ายของท่านคือพระยาเสนาะดุริยางค์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2468 นับเป็นปรมาจารย์ทางดนตรีไทยที่สำคัญยิ่งที่สุดคนหนึ่ง ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ 31 มกราคม 2492
ขุนเสนาะดุริยางค์ (แช่ม ) ที่ปรากฎนามในแผ่นเสียงโบราณชนิดร่องกลับทางนี้ เป็นทั้งนักดนตรีที่เป่าปี่และตีระนาดเอกฝีมือเลิศไม่มีใครสู้ ครองอันดับคนเก่งมาตลอด สมัยที่ยังมิได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ในปี จนถึง 2444 ท่านก็เริ่มมีคู่แข่งคนหนึ่งคือ จางวางศร ศิลปบรรเลง ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าท่านถึง 15 ปี และมีความเคารพนับถือในฝีมือท่านอยู่ของท่านแต่จำใจต้องแข่งฝีมือเพราะ " เจ้านาย "คือสมเด็จฯเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช แห่งวังบูรพาภิรมย์ ทรงหวังจะให้วังบูรพาของพระองค์ มีชื่อว่าเก่งที่สุด ชนะดนตรีทั่วทั้งพระราชอาณาจักร จึงพยายามจับคู่ แกมบังคับให้ทั้งสองท่านนี้ได้ประชันขันแข่งฝีมือกันครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งเดี่ยวปี่ เดี่ยวระนาด จนในที่สุดขุนเสนาะดุริยางค์เกิดความระอา และเห็นว่าอายุมากขึ้น กำลังไม่ดีเท่าเมื่อครั้งยังหนุ่ม จึงได้กราบทูลวังบูรพาว่าขอทูลลา ให้เลิกประชันกัน หลังจากนั้น ท่านก็หันมาทำเรื่องวิธีการขับร้อง ประสบความสำเร็จมาก จนได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ปฎิวัติวิธีการขับร้องเพลงไทยจากแนวคลาสสิคเดิม มาสู่แนวโรแมนติค ท่านควบคุมวงดนตรีบันทึกแผ่นเสียงไว้มากมายเหลือที่จะกล่าว
แต่ที่ปรากฎในแผ่นเสียงร่องกลับทางที่เล่ามานี้ ผู้เขียนเข้าใจว่าจะเป็นงานบันทึกเสียงลงในจานเสียงครั้งแรกของท่านที่มีชื่อ ท่านเป็นหัวหน้าวงควบคุมเองโดยตรง มีทั้งการบรรเลงเพลงพิธีกรรม เพลงโหมโรง และเพลงตับ
โปรดสังเกตภาษาที่เขียนบนแผ่นเสียงด้วยว่า " ตับพระลอคลั่ง "เป็น "ตับพระลอตลั่ง" ก็มี รวมทั้งเขียนตัว " ง งู " หัวกลับทางก็มี เพลงชุดนี้มาจากเรื่องพระลอ ตอนพระลอคลั่งหลงรักพระเพื่อนพระแพงด้วยโดนยาเสน่ห์ที่ลอยมาทางอากาศในรูปของหมากเสวย ที่ใช้เรียกว่า " สลาเหิน" ( สลา คือ หมาก เหิน คือการลอยมา) คนร้องคือนักร้องสังกัดวังบ้านหม้อ ชื่อแม่ปุ่ม กับแม่แป้น แม่ปุ่มนั้นยังสืบไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่แม่แป้นนั้นเป็นนักร้องและครูสอนขับร้องในวงดนตรีของสามัคยาจารย์ แม่แป้นเป็นภรรยาของขุนสมานประหาสกิจ (แคล้ว วัชโรบล) สามีภรรยาคู่นี้เป็นเจ้าของวงดนตรีไทย พิณพาทย์ มโหรี และแตรวงสมัยรัชกาลที่ 6-7 และเป็นบิดา มารดาของท่านศาสตราจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรบล เพลงตับพระลอคลั่งนี้ยาวมาก เป็นแผ่นเสียงมากมายหลายแผ่นทีเดียว
นางแป้น วัชโลบลนักร้องวังบ้านหม้อ กรมมหรสพ
อีกแผ่นหนึ่งเป็นวงเครื่องสายไทยบรรเลง ที่เขียนว่า " พระอะไภยเก้าทัพ" นั้นหมายถึงเพลงชุดออกภาษาต่างๆเก้าภาษาด้วยกัน จากเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ตอนที่เรียกว่าศึกเก้าทัพมีชาติต่างๆมาช่วยนางละเวงรบกับพระอภัยมณี เป็นทางเพลงออกภาษาที่เก่าแก่ที่สุดปัจจุบันตกมาถึงบ้านพาทยโกศล เป็นทางของฝั่งธนบุรีทุกวันนี้ ส่วนอีกแผ่นหนึ่งได้กล่าวมาแล้วว่า มาจากเรื่องสามก๊ก ตอนจู่ลงช่วยพาอาเต๊าลูกของเล่าปี่กับนางบีฮูหยินฝ่าดงข้าศึก เอามาคืนให้เล่าปี่ได้ ส่วนนางบีฮูหยินนั้น โดลงในบ่อน้ำฆ่าตัวตาย ซึ่งเพลงชุดนี้ ปัจจุบันเรียกว่า "ตับจู่ลง "
แผ่นเสียงรุ่นนี้หากนำมาเล่นจะได้ยินเสียงบ้าง ไม่สู้ชัดเจนนัก ที่เป็นเช่นนี้เพราะเครื่องเล่นกับแผ่นเสียงไม่สมดุลกัน ต้องใช้เครื่องไขลานแบบเก่ามากๆที่มีลำโพงยักษ์เป็นรูปปากแตรขนาดใหญ่ จึงจะฟังรู้เรื่องและจะต้องใช้เข็มที่มีขนาดโตมากๆ โตกว่าเข็มมุดนักหนา หรือถ้าจะว่ากันจริงๆแล้วเข็มแผ่นเสียงรุ่นนั้นขนาดโตพอๆ กับตะปูเข็มขนาดเล็กเรานี่เอง ปัจจุบันหายากมากทีเดียว ทราบว่าพอจะหาได้บ้างที่บ้านพันโทสมชาย หอมจิตร นักสะสมและแลกเปลี่ยนของเก่า ซึ่งมีบ้านอยู่ที่ตรอกวัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
หนังสือเล่มนี้มีรูปมาพิมพ์ให้ชมหลายรูป เป็นรูปที่หายากมากทีเดียว หวังว่าท่านที่อ่านคอลัมน์นี้ จะเห็นคุณค่าของแผ่นเสียงเก่าในเชิงอนุรักษ์และความรู้ทางประวัติศาสตร์การดนตรี มุมนี้เป็นมุมเดียวของหนังสือเล่มนี้ที่พาท่านย้อนอดีตไปสู่ความเป็น " สยาม " คือลำนำแห่งสยามจริงๆ
นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล