แผ่นเสียงเพลงพื้นบ้านสมัยแรกเริ่ม  ตอนที่1

          ในเรื่องเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านนั้น  ทุกวันนี้เยาวชนคนไทยน้อยรายนักที่จะได้สัมผัสความงามและความเป็นศิลปะของไทยแท้แขนงนี้  คุณเอนก  นาวิกมูล  แห่งศูนย์สังคีตศิลป์  ธนาคารกรุงเทพฯ ได้มานะพยายามค้นคว้าออกสืบเสาะหาไปจนทั่วภาคกลางตลอดจนพาตัวพ่อเพลงแม่เพลงเข้ามาบันทึกเสียงและภาพการละเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ไว้เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน

          ก็ได้พบว่า  เรามีเพลงพื้นบ้านอยู่มากมายหลายสิบประเภท  จนถึงคุณเอนกนำมาเขียนหนังสือได้รับรางวัลพระราชทานไปเรียบร้อยแล้ว

          แต่ในเบื้องหลังนั้น  เรายังค้นกันไม่พบว่าเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่าโบราณจริงๆสมัยรัชกาลที่ 5 และต้นรัชกาลที่ 6 นั้น ที่ว่าดี ดีอย่างไร ฟังแต่เล่าก็ไม่ได้รู้รส  ดังนั้นจึงมีผู้พยายามค้นคว้าหาเพลงพื้นบ้านที่บันทึกแผ่นเสียงไว้แต่สมัยเก่าก่อนมาเปิดฟัง

          โชคดีเป็นอย่างยิ่งที่ครั้งหนึ่งคุณจำนง   รังสิกุล  แห่งโทรทัศน์(ขาวดำ)  ช่อง 4  บางขุนพรหม  เคยเปิดให้มีการประกวดแผ่นเสียงโบราณขึ้นในราวปี พ.ศ.2502-2503 มีผู้นำแผ่นโบราณมาส่งเข้าประกวดมากมาย เสร็จการประกวดแล้วก็ไม่มีผู้มารับกลับ  คุณจำนงจึงส่งแผ่นโบราณทั้งหมดไปมอบให้หอสมุดแห่งชาติ  ทางหอสมุดท่านก็เอาเก็บเข้าไว้ในตู้  ใส่กุญแจ  ไม่ได้นำมาเปิดฟัง  (เพราะไม่มีเครื่องแบบโบราณ) โชคดีที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปช่วยก่อตั้งห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมบริพัตรในปี พ.ศ.2524 จึงได้เห็นแผ่นเสียงโบราณเหล่านั้น

          ดีใจแทนคุณเอนกที่ได้พบแผ่นเสียงโบราณที่บันทึกเพลงพื้นบ้านไว้หลายแผ่น  จึงได้ถ่ายรูปมาให้ชมกัน  เป็นแผ่นเสียงทำด้วยครั่งสีดำ  ทั้งหนาและทั้งหนัก  ทำที่ประเทศเบลเยี่ยม  เชื่อว่าได้มีการบันทึกในสมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่าง พ.ศ. 2437  ถึง พ.ศ. 2450  ไม่ทราบชื่อบริษัทผู้ผลิต  และที่น่าสนใจที่สุดก็คือเป็นแผ่นเสียงร่องกลับทางกับแผ่นเสียง  ปัจจุบันเวลาเล่นนั้นจะต้องเอาเข็มวางที่ใกล้ขอบกระดาษวงกลมเกือบกลางแผ่น  แล้วเพลงก็จะมาจบที่ขอบแผ่น  ตามประวัติจากหนังสือเรื่องแผ่นเสียง  ซึ่งคุณพิพัฒน์ คคะนาท ได้มอบให้หลายปีมาแล้ว  บอกไว้ว่าแผ่นอย่างที่ว่านี้เป็นการเริ่มต้นผลิตแผ่นเสียงชนิดแบนครั้งต้นๆของชาวเยอรมัน  ชื่ออีมิล  เบอร์-ไลเนอร์  ดังนั้นผู้ขียนจึงเรียกแผ่นพวกนี้ว่า  แผ่นโบราณร่องกลับทางแบบเบอร์-ไลเนอร์

         สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับแผ่นเสียงชุดที่ว่านี้ก็คือ  ภาษาไทยที่เขียนบอกชื่อเพลงและนักร้องบนแผ่นซึ่งเขียนด้วยมือ  ไม่ใช่ตัวพิมพ์ จัดว่าลายมือค่อนข้างงาม แต่มีสะกดการันต์ผิดไปจากภาษาไทยปัจจุบัน  รวมทั้งวางรูปวรรณยุกต์ผิดที่หลายตอน

          อย่างชื่อเพลงเป๋ นั้น บางแผ่นเขียนถูก บางแผ่นใช้ ไม้เอกแทนไม้จัตวาจึงเพลงเพลงเป๋ ชื่อเพลงนี้ก็คือเพลงเพลงฉ่อยนั่นเอง  แต่สมัยรัชกาลที่ 5  ท่านเรียกชื่อว่าเพลงเป๋ เพราะคนที่ร้องเก่งมากเป็นคนขาเป๋  จึงเรียกว่าเพลงตาเป๋  หรือเพลงเป๋ ไปโดยอัตโนมัติ  ด้วยอักษรบางตัวมีวิบัติ  เช่นเขียนกลับหัวบ้าง เช่น ด เด็ก เขียนเป็น ค ควาย หรือบางทีสระอุเขียนเป็นสระอูแทนก็มี  อย่างคำว่า หน้าหนึ่ง  หน้าสอง  ท่านก็เขียนอย่างโบราณว่า " น่าหนึ่ง  หรือ น่าสอง " เป็นต้น นอกจากเพลงเป๋แล้ว ก็ยังมีเพลงปรบไก่แก้กัน  (แปลว่าร้องแก้กันชายหญิง) มีเพลงทรงเครื่อง  ร้องเป็นเรื่องใช้บทจากเรื่องพระสมุทร  เป็นต้น เพลงทรงเครื่องนั้นมีดนตรีประกอบด้วย

          สำหรับชื่อนักร้องนั้น  ได้ความชัดเจนทีเดียวว่า เป็นดาราเพลงพื้นบ้านยุคนั้นแน่นอน อันได้แก่ นายพัน  แม่อิน  นายป่วน  นายชุ่ม ( ชุม ) แม่ละม่อม เป็นอาทิ  ซึ่งนักร้องเหล่านี้ได้แต่ชื่อแต่ไม่สามารถจะค้นประวัติชีวิต  หรือนามสกุลได้เลยในการร้องนั้นมีทั้งต้นเสียงและลูกคู่  การร้องต้องมีลูกคู่  " ร้องกระทุ้งจังหวะ " ให้เกิดอารมณ์สนุก  ท่านจึงเขียนไว้ว่า " มีลูกคู่แลกทุ้ง " แปลว่า " ร้องมีลูกคู่กระทุ้ง"

          สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือมีชื่อบ้านศิลปินที่ขับร้องด้วย  คือ " บ้านมหาราชวงศ์กรุงเก่า " แสดงว่า  เพลงพื้นบ้านที่มาอัดแผ่นเสียงนี้เป็นฝีมือชาวบ้านเก่าแก่ตกทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นเลยทีเดียว

                                                         

          ในแผ่นเสียงแผ่นสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น เป็นการบันทึกที่ทันสมัยกว่าใช้แผ่นเบาบาง  และขนาดเล็กกว่าชุดแรก  มีชื่อบริษัทเป็นเครื่องหมายการค้าอย่างเรียบร้อย  คือบริษัท ไลโรโฟน  คอนเสิร์ทเรคคอร์ด  มีตรารูปลำโพงสีเหลืองตรงกลางและตัวหนังสือที่บอกชื่อเพลงกับนักร้องก็เป็นตัวพิมพ์ขนาดใหญ่ชัดเจน  สวยงาม ในแผ่นที่กล่าวนี้นอกจากจะมีชื่อนายอิน  แม่พัน  นักร้องมีชื่อจากชุดเก่าแล้ว  ยังติดชื่อแม่ผิวมาอีกชื่อหนึ่ง  เราจึงได้เรียนรู้เรื่องศิลปินมากขึ้นอีกคนหนึ่ง  และได้รู้ว่าเคยมีการบันทึกเพลงฉ่อยเรื่องไกรทองด้วย  ที่น่าคิดคือไม่เรียกว่าเพลงเป๋อีกต่อไปมาเรียกเป็นเพลงฉ่อยแทน  หรือตอนที่อักเสียงนี้ตาเป๋อาจจะตายไปแล้วก็ได้

          ถ้าจะถามเรื่องสุ้มสียง  บอกได้ว่าอู้อี้เต็มที  พอฟังเป็นคำได้ว่าร้องอย่างไร  และได้เค้าเรื่องพอสมควร  แต่ไม่เสนาะหูเลย  เสียงรบกวนซู่ซ่ามากเกินไป

          เป็นอันว่าได้พบแผ่นเสียงเพลงพื้นบ้าน  เป็นการช่วยเสริมงานคุณเอนก  นาวิกมูล อีกจำนวนหนึ่ง จึงบรรยายไว้ในที่นี้ให้ทราบกัน

                                                      นายแพทย์พูนพิศ   อมาตยกุล