"รู้เท่าทันโพแทสเซียมคลอเรต"
ลักขณา เบ็ญจวรรณ์
นักวิจัย งานวิจัยสภาวะแวดล้อม
ฝ่ายปฎิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
นครปฐม 73140
ตามที่มีข่าวเรื่องการนำสารโพแทสเซียมคลอเรตมาใช้เพื่อกระตุ้นการออกดอกของลำไย ซึ่งชาวสวนและพ่อค้าคนกลางนิยมซื้อสารนี้มาเก็บไว้จำนวนมาก จนทำให้เกิดเหตุการณ์ระเบิดอย่างรุนแรงที่โรงงานอบลำไยในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น คงทำให้หลายท่านเกิดความหวั่นเกรงถึงพิษภัยของสารนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการระเบิดคือ การขาดความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของสาร วิธีการเก็บรักษาและการขาดมาตรการในการป้องกัน ดังนั้นหากผู้ปฏิบัติงานได้ทราบถึงคุณสมบัติ ประโยชน์ โทษหรืออันตรายของสารเคมีต่อร่างกาย ตลอดจนมาตรการในการป้องกันอันตรายก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
คุณสมบัติ
เป็นสารที่มีลักษณะเป็นผลึกใสหรือผงสีขาว ไม่มีกลิ่น เป็นตัวออกซิไดซ์ที่รุนแรง มีสูตรทางเคมี คือ KClO3เตรียมได้จากปฎิกริยาระหว่างก๊าซคลอรีนกับสารละลายเข้มข้นของโพแทสเซียไฮดรอกไซด์ (KOH) ดังสมการ
3Cl2+6KOH -------> 5KCl + KClO3 + 3H2O
มีน้ำหนักโมเลกุล (M.W.) = 122.55 ความถ่วงจำเพาะ 2.32 ละลายน้ำได้ปานกลางประมาณ 7 กรัมต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร ละลายน้ำได้ดีในด่างและแอลกอฮอล์ ไม่ละลายในอะซีโตน มีรสเค็มแบบเกลือ มีจุดหลมเหลวที่ 368 o C และสลายตัวให้ก๊าซพิษที่อุณหภูมิ 400 o C ขึ้นไป มีคุณสมบัติไม่ติดไฟ แต่จะช่วยให้สารอื่นเกิดการลุกไหม้ได้ดีขึ้น ซึ่งการเสียดสีหรือผสมกับสารอื่น เช่น กำมะถัน (ซัลเฟอร์) ผงถ่าน (คาร์บอน)ขี้เลื่อย (รำข้าวแกลบ) ปุ๋ยคอก ปุ๋ยยูเรีย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง ผ้า กระดาษ และเศษไม้แห้ง อาจทำให้เกิดลุกไหม้หรือระเบิดขึ้นได้
การใช้ประโยชน์
ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำหัวไม้ขีดไฟ พลุดินปืน วัตถุระเบิด รวมทั้งใช้ในการพิมพ์และการย้อมผ้า นอกจากนี้ในปัจจุบันเกษตรกรบางส่วนในเขตภาคเหนือได้นำมาใช้เป็นสารบังคับให้ต้นลำไยออกดอก (สำหรับการนำมาใช้ในการเกษตรกรรมนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากอาจเกิดการตกค้างของสารในเนื้อลำไย เกิดผลกระทบต่อความแข็งแรงของต้นลำไย และอาจเกิดผลกระทบต่าง ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการศึกษาอยู่)
วิธีการใช้และการเก็บรักษา
1. เวลาใช้สารควรสวมถุงมือ ใส่หน้ากากป้องกันสารเคมี และควรใช้สารนี้ในรูปสารละลายโดยผสมกับน้ำ
2. ควรเก็บสารนี้ไว้ในอาคารที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี มีอุณหภูมิไม่เกิน 50 o C และต้องมีพื้นที่ว่างเหลือไว้โดยรอบ ห้ามวางบนพื้นไม้และต้องจัดวางสารไม่ให้สูงเกิน 3 เมตร ให้หลีกเลี่ยงการบรรจุในถังโลหะที่ไม่มีถังพลาสติดรองชั้นใน ควรเก็บไว้ในถุงพลาสติดที่แข็งแรงและกันความชื้นได้
3. เก็บไว้ให้ห่างจากเด็ก อาหาร เครื่องดื่มและอาหารสัตว์
4. ห้ามจัดเก็บสารโพแทสเซียมคลอเรตร่วมกับสารกำมะถัน ผงถ่าน กรด สารอินทรีย์ สารไวไฟ น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ยคอก ปุ๋ยยูเรีย และยาฆ่าแมลง
การขนถ่ายและการขนส่ง
1. ไม่สูบบุหรี่ในขณะทำการขนถ่ายสารโพแทสเซียมคลอเรตขึ้นและลงจากยานพาหนะ ในระหว่างการขนถ่ายจะต้องอยู่ห่างจากไฟ และจะต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดประกายไฟ เช่น การสูบบุหรี่หรือจุดไม้ขีดไฟ
2.ต้องทำการผูกยึดภาชนะเพื่อป้องกันการเคลื่อนไหว และต้องไม่ให้สารยื่นออกมานอกรถ หากรถไม่มีหลังคาให้ปิดด้วยผ้าใบ อันตรายต่อร่างกาย
โพแทสเซียมคลอเรตอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์โดยจำแนกตามลักษณะการได้รับสารเข้าสู่ร่างกายได้ดังนี้.-
การสัมผัส : ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง อาจมีอาการคัน ผิวหนังเป็นผื่นแดงและมีอาการปวด)
การสูดดม : ทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ อาการอาจรวมถึงการไอ หายใจถี่
การกิน : การกลืนหรือกินสารนี้เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง อาจทำให้ปวดในช่องท้อง เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย ผิวหนังซีดเป็นสีน้ำเงินอันเกิดจากโลหิตขาดออกซิเจน ชัก อาจทำให้ตับและไตถูกทำลายและอาจถึงตายได้จากอาการไตวาย โดยทั่วไปแล้วจะตายภายใน 4 วัน ปริมาณสารโดยประมาณที่จะทำให้ตายได้คือ 15 - 30 กรัม
วิธีกำจัดกากของเสีย
เนื่องจากโพแทสเซียมคลอเรตจัดเป็นวัตถุอันตราย จึงไม่สามารถทำลายได้โดยการเผาหรือการทำปฏิกริยากับสารเคมีต่าง ๆ หรือกับกรดเข้มข้น ดังนั้นวิธีทำลายที่ดีที่สุดคือใช้สารรีดิวซ์ที่ไม่รุนแรง คือ โซเดียมไฮโดรเจนซัลไฟต์ (NaHSO3)หรือ เฟอร์รัสซัลเฟต (FeSO4) ในกรดกำมะถันเจือจาง โดยมีขั้นตอนในการกำจัดดังนี้.-
1. เติมสารละลายเข้มข้นของโซเดียมเจนซัลไฟต์ลงในของเสียและกวนให้เข้ากัน
2.เติมสารละลายกรดกำมะถันเจือจาง (ความเข้มข้น 3 โมลาร์หรือประมาณ 30 เปอร์เซนต์) ให้เกินพอ และตั้งทิ้งไว้ให้ปฏิกริยาสิ้นสุด
3. ทำให้เป็นกลางด้วยสารละลายโซเดียมคาร์บอเนต (Na2CO3)
การปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับการรั่วไหล
รีบแจ้งเหตุฉุกเฉินแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง (โทรเรียก 199) และให้ออกห่างจากบริเวณที่เกิดการรั่วไหลของสารในรัศมีอย่างน้อย 25 ถึง 50 เมตร ควรอยู่เหนือลม และกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุในทันที
1. กรณีเกิดอัคคีภัย
เมื่อเกิดไฟไหม้เล็กน้อยให้ใช้คาร์บอนไดออกไซด์สารดับไฟที่เป็นผงฮาลอน โฟม หรือน้ำ หากไฟไหม้มากให้ใช้น้ำและถ้าทำได้โดยไม่เสี่ยง อันตรายให้เคลื่อนย้ายภาชนะบรรจุออกจากบริเวณที่เกิดไฟไหม้ และให้ใช้น้ำปริมาณมากหล่อเลี้ยงภาชนะบรรจุสารให้เย็นจนกว่าไฟจะดับหมด อย่าทำให้สารที่ใช้ดับไฟกระจัดกระจาย ควรเก็บกักไว้เพื่อนำไปกำจัดภายหลัง
2. กรณีเพลิงไหม้ถังเก็บหรือรถขนส่ง
ให้ผู้ดับเพลิงผจญเพลิงในระยะไกลหรือใช้หัวฉีดอัตโนมัติและควรห่างจากถังเก็บสารเคมีหรือรถบรรทุกสารเสมอ
3. กรณีรั่วไหล
3.1 ให้กำจัดแหล่งที่ทำให้เกิดประกายไฟ (ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามทำให้เกิดประกายไฟในพื้นที่ที่เกิดการรั่วไหลของสาร) ห้ามสัมผัสกับภาชนะบรรจุสารที่ชำรุด หรือสารที่รั่วไหลโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม
3.2 ควรรีบหยุดการรั่วไหลในทันที (ถ้าทำได้โดยไม่สี่ยงอันตราย) และควรป้องกันไม่ให้สารเข้าสู่แหล่งน้ำ ท่อระบายน้ำ ชั้นใต้ดินหรือพื้นที่ต้องห้าม (confined area)
3.3 ให้เก็บกวาดสารที่หกหล่นเข้าด้วยกันอย่างระมัดระวังและเก็บไว้ในภาชนะปิด และจะต้องกำจัด ทำลายวัสดุ หรือภาชนะบรรจุในรูปของกากสารอันตราย
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับอันตรายจากสาร
1. หากสารสัมผัสผิดหนังหรือเข้าตา ให้ล้างออกทันทีด้วยน้ำสะอาดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที และรีบปรึกษาแพทย์
2. ถ้าหายใจเอาก๊าซพิษที่เกิดจากการสลายตัวของสารนี้เข้าไป ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ออกซิเจน และนำส่งแพทย์ทันที
ถ้าผู้ป่วยดื่ม/กินเอาสารนี้เข้าไปให้รีบทำให้อาเจียนทันที และให้ดื่มน้ำมาก ๆ และให้ถอดเสื้อผ้า รองเท้าของผู้ป่วยที่ปนเปื้อนสารออก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนักควรให้ออกซิเจน โดยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เหมาะสมตามแพทย์แนะนำ ห้าม ใช้วิธีผายปอดแบบปากต่อปาก เอกสารประกอบการเรียบเรียง
1. http://www.dss.moste.go.th/potassium.html
2. http://www.jtbaker.com/msds/p5620.html
2. กรมควบคุมมลพิษ ข่าวสารอันตรายและของเสีย ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 ตุลาคม 2542
ทำการคัดลอกจากวารสารข่าว
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2543
![]()
Top