เป็นบทความที่ลงใน Performance Car Magazine เมื่อปี 1987 หนึ่งปีหลังจากที่ E30 M3
ออกขายในท้องตลาดโดยที่ทีมแข่งแห่งหนึ่งในอังกฤษนำมาลงแข่งแบบ Endurance
ยี่สิบสี่ชั่วโมงที่ Snetterton Motor Racing Circuit ที่ Norfolkในอังกฤษ
สนามนี้เมื่อก่อนเคยเป็นสนามบินเก่าสร้างมาหลายสิบปีแล้วและมีการพัฒนาจนกลายมาเป็นสนามแข่งมาตรฐาน
ปัจจุบันนี้ยังใช้เป็นสนามแข่งขันรายการต่างๆมากมาย ทั้งรถ Formula, รถ Touring,
และรถจักรยานยนต์ บทความนี้เขียนโดย Jesse Crosse
มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายในยุคของ BMW M3 กับ Ford RS Cosworth คู่ปรับของมัน
ในบทความนี้ ทีมของ Jesse Crosse นี้นำทั้ง BMW และ Ford มาลงแข่ง โดยที่ M3
ขับโดยผู้เขียน/McHale/Sands และ Ford RS Cosworth ขับโดย Morgan/Jeremy
(Walton)/Sean ลองอ่านดูครับ
..............................................................................................................................................................................................................................
หลังจากการแข่งขันอันแสนจะขลุกขลักจบลง
M3 ของทีมของเรา เข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่งใน Class B และเป็นที่สี่ของโอเวอร์ออล
แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สามอันดับก่อนหน้าเราเป็นรถ Ford RS Cosworth
หมดทั้งสามคัน แต่เป็นของทีมอื่นหมด ไม่มีเป็นของทีมเราเลย
สองสามอาทิตย์ก่อนการเปิดให้นำรถเข้าซ้อมในการแข่ง 24-hour Snetterton
เจ้าถังน้ำมันขนาดใหญ่ที่จะต้องติดเข้าไปในรถ M3 ของเราเพื่อใช้ในการแข่งทางไกลแบบ
Endurance สร้างความปวดหัวให้กับเราไม่เบา
เราเริ่มจากสมมติฐานที่ว่าน้ำมันหนึ่งแกลลอนหนัก 7.5 ปอนด์ (ประมาณ 3.4 kg -F/D)
และนำมันคำนวณกลับไปที่ตัวรถของเราว่าน้ำหนักสูงสุดที่จะเพิ่มเข้าไปที่ท้ายรถเท่าไหร่จึงจะไม่ทำให้การทรงตัวของรถเสียไป
ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำมันจำนวนประมาณ 25
แกลลอนซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดที่อนุญาติให้ใช้บรรทุกลงไปในสนามในแต่ละครั้งพอดี
เราจึงสร้างถังอลูมิเนียมที่มีความจุขนาด 25
แกลลอนขึ้นมาและติดตั้งลงไปที่ช่องเก็บของท้ายรถ
ซึ่งจากการทดสอบครั้งแรกพบว่ามีน้ำมันรั่วออกมาจากถัง Paddy Gibson
ช่างประจำทีมของเราต้องรื้อถังน้ำมันออกมาซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่า
และแนะนำว่าเราควรใช่ถังน้ำมันนิรภัยแบบที่มีถุงเก็บน้ำมันอยู่ด้านใน
หมายเหตุ: ถังน้ำมันนิรภัยแบบนี้
จะมีถุงใส่น้ำมันอยู่ข้างในโดยมีถังเหล็กหุ้มเป็นเปลือกนอกอีกที
เมื่อโดนชนมันจะสามารถให้ตัวเป็นไปตามรูปร่างที่ถังมันบุบได้โดยไม่แตก
และประโยชน์อีกอย่างก็คือเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำมันวิ่งเสียดสีไปบนผิวด้านในของถังน้ำมันเพราะอาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์ได้ซึ่งทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
ถังน้ำมันที่ปีกเครื่องบินบางรุ่นก็เป็นแบบนี้
เพื่อกันไฟฟ้าสถิตย์ซึ่งเป็นเหตุให้ฟ้าผ่าเครื่องบินได้ F/D
สำหรับรถ Ford RS Cosworth
ของทีมเราอีกคันหนึ่ง วันนี้เป็นวันที่สบายๆสำหรับพวกเขา
เพราะถังน้ำมันขนาดใหญ่ที่สำหรับใช้แข่ง Endurance
ถูกติดตั้งเข้าไปเรียบร้อยก่อนหน้านี้แล้วโดยไม่สร้างปัญหาหนักอกหนักใจให้กับทีมและคนขับแต่อย่างใด
วันนี้เป็นวันซ้อมที่เปิดให้ผู้สื่อข่าวเข้าชมได้ ทั้ง Morgan และ Jeremy
กำลังวาดลวดลายในสนามให้ผู้สื่อข่าวดูอาการพยศของเจ้า Ford ที่มักจะเริ่มมีอาการ
oversteering จากนั้นเมื่อกดคันเร่งอาการ understeering
จะเข้ามาแทนตามด้วยอาการที่เกิดจาก Turbo Lag ของมัน ปิดท้ายด้วยรถของ Jeremy
โชว์การหมุนเมื่อวิ่งเข้าไปในโค้งด้วยความเร็วสูง
ในขณะที่รถ Ford RS Cosworth กำลังสนุกสนานอยู่นั้น รถ M3
ของเราเพิ่งซ่อมการรั่วของถังน้ำมันเสร็จ เมื่อยางชุดใหม่ถูกเปลี่ยนเข้าไปเรียบร้อย
McHale และ Sands นักแข่งร่วมทีมของผมก็ผลัดกันนำรถลงไปซ้อมบ้าง
ในวันนี้รถทำเวลาได้ดีที่สุดแค่ 1.24 นาที/รอบในช่วงที่มีน้ำมันเหลืออยู่หนึ่งในสามของถัง
ส่วนผมขับได้ดีที่สุดแค่ 1.25 นาที/รอบ และไม่คิดว่าจะทำได้เร็วกว่านั้น
ถึงตรงนี้พวกเราเกิดความรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาหน่อยๆ
แต่พูดปลอบใจกันว่าถ้าเราใช้ประโยชน์จากความคล่องตัวของตัวรถบวกกับความทนทานของเครื่องยนต์
แล้วประคองไม่ให้รถพังโดยไม่ขับไม่ให้ปีนแบงค์ หรือไม่ไถลหลุดออกไปขอบสนาม
และไม่เบรกอย่างรุนแรงบ่อยๆ (เพื่อไม่ต้องเสียเวลาเข้ามาที่ Pit บ่อยๆ- F/D)
ตรงนี้น่าจะเป็นกลยุทธที่ได้เปรียบเหนือ Ford RS Cosworth ได้
หลังจากสิ้นสุดการซ้อมของวันนั้นแล้ว
เราสรุปกันว่าเราควรจะทำการดัดแปลงถังน้ำมันอีกครั้ง แต่ทางทีดี คิดใหม่ ทำใหม่
ออกแบบขึ้นมาใหม่ไปเลยก็ไม่เลว
และวางแผนเบื้องต้นกันเอาไว้ว่าเราจะกลับมาทดสอบเจ้าถังน้ำมันนี้อีกครั้งในวันศุกร์ที่
19 ในสัปดาห์หน้าซึ่งเป็นวันควอลิฟายเลย ส่วนรถ Ford
ของทีมเราในวันนี้กลับออกจากสนามไปอย่างมีความสุข รอขั้นตอนการ Final Set-up
ก่อนแข่งอย่างเดียว
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป Sands โทรมาหาผมบอกว่ารถทำถังน้ำมันเสร็จแล้ว
และพร้อมที่จะเอาไปทดสอบในวันพฤหัสที่ 18 ซึ่งเขาจองเวลาสนามเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งเขาบอกว่าเขาเอาไปลองวิ่งในบริเวณอู่ Machtech Tuning ของ McHale มารอบนึงแล้ว
เลยปรับโช๊คอัพให้นิ่มลงมานิดนึง กับเอายางไปบัฟหน้ายาง Pirelli P600
ออกให้เหลือดอกยางเหลือแค่ 3 mm ซึ่งน่าจะเป็นความลึกที่เหมาะสมสำหรับรถ Production
Car ในสนาม
เราสิ้นสุดการทดสอบในเย็นวันพฤหัสนั้นด้วยผลที่น่าพึงพอใจ
แต่จากการที่เราปรับหัวฉีดเพิ่มเติมในระหว่างการทดสอบทำให้เจ้า M3
ให้กินน้ำมันมากขึ้น จากที่ 14 mpg มาเป็น 8 mpg แต่อย่างไรก็ตาม
ไม่มีรถคันไหนของทีมไหนกินน้ำมันได้น้อยกว่าเราแน่นอน เจ้า Ford RS Cosworth
ก็ยังกินน้ำมันอยู่ระหว่าง 4-6 mpg ในสนาม ตอนนี้เราพร้อมแล้วสำหรับ Final Setup
ในวันพรุ่งนี้ เราจะทำการวิ่งเพื่อบันทึกอัตราเฉลี่ยการกินน้ำมันอีกครั้ง
เพื่อเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ของทีมแข่งของเราทำการคำนวณและวางแผนกลยุทธเพื่อกำหนดจำนวนครั้งของการเข้า
pit เป็นครั้งสุดท้าย
ส่วนกลยุทธในการขับของเราก็คือ เราจะไม่เบรกอย่างรุนแรง ในทางตรง
เราจะเริ่มเบารถที่ประมาณ 180 หลาก่อนถึงโค้ง
เพื่อให้เบรกสึกหรอน้อยที่สุดเพื่อที่จะได้ลดจำนวนครั้งของการที่จะต้องหยุดเข้า Pit
มาเปลี่ยนเบรก เราคาดการณ์เอาไว้ว่าทีม
Ford คงจะต้องมีจำนวนการหยุดเข้า Pit เพื่อเติมน้ำมันและเปลี่ยนเบรกบ่อยกว่าเราแน่
ซึ่งตรงนี้คือข้อได้เปรียบของเรา เราได้ยินมาว่าทีม TCCS Racing (อีกทีมหนึ่งที่ใช้
Ford RS Cosworth ลงแข่ง F/D) วางแผนที่จะเปลี่ยนเบรกหนึ่งครั้งเมื่อรถเข้า Pit
เติมน้ำมันทุกๆสองครั้ง แต่จะว่าไป ไม่มีใครคิดว่า Ford RS Cosworth
จะทนทานจนสามารถวิ่งได้จนจบการแข่งขันหรอก แต่ของแบบนี้เอาแน่ไม่ได้ ใครจะไปรู้?
ในวันศุกร์ที่ 19 ก็มาถึงซึ่งเป็นวันที่จะมีการควอลิฟายในตอนบ่าย
วันนั้นเป็นวันที่ฝนตกเปียกแฉะจนทางหลวงที่มาสนามน้ำท่วมเป็นบางส่วน
ท้องฟ้าเป็นสีเทาอึมครึม
ในขณะที่เจ้าหน้าที่สนามทำการกวาดน้ำที่ขังอยู่ที่ผิมสนามและใช้เครื่องดูดน้ำดูดเอาน้ำที่ขังอยู่รอบๆสนามทิ้งออกไป
ใน pit ก็มีน้ำฝนไหลเข้ามาเฉอะแฉะไปหมด ใครที่จะคิดมาทำ Final Setup
ในตอนเช้าวันนี้ก็ถือว่าโชคร้าย เพราะอากาศแบบนี้ไม่น่าจะเอารถออกไปทำอะไรได้มากนัก
ทีมของเราเอารถออกไปซ้อมได้นิดหน่อยก็กลับเข้ามา รู้สึกได้ชัดว่า ABS
ช่วยได้มากบนผิวถนนที่เปียกลื่น รถ Ford คันหนึ่งของทีมเรา
มีอาการเบรกติดเนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นที่ตัวปรับแรงดันเบรกในระหว่างการซ้อม
และรู้สึกว่ายาง BF Goodrich Comp TA2 ของ Ford
ทำงานบนถนนที่เปียกลื่นได้ดีเหมือนกันเมื่อเทียบกับ Pirelli P600 ของเรา
หมายกำหนดการที่จะควอลิฟายเวลา 4.30-6.00 ในตอนบ่ายในวันนี้ถูกประกาศยกเลิก
หลังจากเมฆฝนเริ่มตั้งเค้าดำทมึนขึ้นหนักกว่าเดิม
และคณะกรรมการประกาศว่าจะนำเอาการควอลิฟายช่วงบ่าย
ไปรวมกับการควอลิฟายช่วงกลางคืนเลย ในราวหนึ่งทุ่มก่อนควอลิฟาย
เราเอารถลงไปซ้อมเพื่อให้คุ้นกับการขับในเวลากลางคืนอีกครั้งหนึ่ง
ฝนยังคงตกพรำๆและรู้สึกว่าผิวสนามลื่นขึ้นกว่าเดิมมาก
ท่ามกลางสนามที่มืดสนิทเมื่อมองเข้ามาใน pit
มันดูเป็นภาพที่สว่างไสวตัดกับความมืดได้อย่างสวยงามมาก ท่อลม ท่อท่อน้ำมัน สายไฟ
ห้อยระโยงระยางจากเพดาน โดยมีเจ้าหน้าที่ pit crew
ที่ใส่ชุดกันไฟเต็มยศแบบเดียวกับที่นักแข่งใส่พร้อมหมวกกันน๊อควิ่งพล่านอยู่ในนั้น
เติมน้ำมัน เช็คโน่น เช็คนี่
ทุกคนพูดกันด้วยเสียงตะโกนแข่งกับเสียงเครื่องยนต์ที่นักแข่งนักกดคันเร่งเลี้ยงรอบรออย่างอดทนอยู่ในตัวรถที่กระหายจะกระโจนออกไป
แต่ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ อากาศแบบนี้คงไม่มีใครอยากจะขับรถออกไปแน่
หนึ่งในรถที่กำลังรออยู่ในนั้นคือรถ Ford RS Cosworth หนึ่งในเจ็ดคันของทีม TCCS
Racing
เมื่อเวลาราวสี่ทุ่มครึ่ง ถึงรอบควอลิฟายของทีมเราบ้าง
ผมเอารถออกไปเป็นคนแรกและพยายามขับด้วยความระมัดระวังที่สุดในชีวิตท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย
ถึงแม้ว่าทางสนามจะให้วิ่งควอลิฟายได้ถึงเที่ยงคืน
แต่เมื่อผมวิ่งได้แค่สี่รอบก็ตัดสินใจว่าพอแล้วเก็บแรงเอาไว้วันพรุ่งนี้ดีกว่า
เพราะคงไม่สามารถทำอะไรไปได้ดีกว่า 1.43 นาที
จึงเอารถกลับเข้ามาและเปลี่ยนให้เพื่อนร่วมทีมของผมเอารถออกไปบ้าง ซึ่ง McHale และ
Sands ลองอีกหลายรอบและทำเวลาลงมาดีที่สุดได้แค่ 1.38 นาที
ซึ่งเราตัดสินใจว่าจะจบการควอลิฟายกันด้วยเวลาแค่นี้ เวลา 1.38
นาทีอาจจะส่งรถเราให้ไปอยู่ค่อนไปทางกลางๆของ Grid Start
แต่ก็ยังดีกว่าที่จะเสี่ยงขับต่อไป
เพราะหากเกิดอะไรขึ้นในคืนนี้คงไม่น่าจะเป็นเรื่องสนุกแน่
รถคันที่เร็วที่สุดที่หัวแถวของ Grid Start
กับรถของเรามันก็ห่างกันแค่ไม่กี่หลาและนี่ไม่ใช่การแข่งแค่ห้ารอบสิบรอบ
วันพรุ่งนี้เรายังมีระยะทางที่จะต้องวิ่งอีกเกือบ 2000 ไมล์ในยี่สิบสี่ชั่วโมงเต็มๆ
ซึ่งอะไรมันก็เกิดขึ้นได้
เพราะฉนั้นถ้าจะต้องมาเสี่ยงเสียเวลาเอาเป็นเอาตายในคืนนี้เพียงเพื่อที่จะเลื่อนไปข้างหน้าแค่อีกไม่กี่หลา
มันออกจะเป็นอะไรที่ดูไร้สาระไปหน่อย
และแล้ววันเสาร์ที่ 20 ซึ่งเป็นวันแข่งจริงก็มาถึง
เราตื่นขึ้นมาแล้วรีบหาอาหารเช้าบรรจุใส่ท้อง ในขณะที่เดินสอดส่ายหาที่ยืนแห้งๆใน
pit ในบริเวณที่ไม่มีน้ำเจิ่งนอง ผมได้ยิน Jeremy Nightingale
ผู้จัดการทีมของเราพูดออกมาว่า
ผมไม่ชอบอากาศเย็น
..และผมไม่ชอบผิวสนามที่เปียกลื่นด้วย
ประโยคแบบนั้นจากปากของคนระดับผู้จัดการทีมแข่งที่มีประสพการณ์ คงจะมีความหมายว่า
อากาศเย็นมันจะเอื้ออำนวยต่อการทำงานของเครื่องยนต์แบบ Turbo
และถนนที่เปียกลื่นรถขับเคลื่อนล้อหน้าจะวิ่งได้ดีกว่ารถขับเคลื่อนล้อหลัง
ซึ่งทั้งหมดนั้นมันจะช่วยทำให้เป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้ Ford RS Cosworth
คู่แข่งของเราไปได้ตลอดรอดฝั่ง
ในขณะที่เราคาดการณ์ไว้ว่ามันน่าจะพังลงก่อนการแข่งขันจะจบลงเสียด้วยซ้ำไป
แต่เราก็ต้องยอมรับว่านี่คือความจริงที่เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันที่เราจะต้องยอมรับมัน
หลังจากที่เราประเมินจากผลจากการขับครั้งสุดท้ายเมื่อคืนนี้แล้ว เราตัดสินใจให้
Sands ลงขับเป็นมือแรก ผมเป็นคนถัดมา และจากนั้นก็จะเป็น McHale
ส่วนการขับในช่วงกลางคืนจะให้ Sands และ McHale จะสลับกันขับแค่สองคน
เวลาบ่ายสามโมงครึ่ง ใน Pit ดูคึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นมา เจ้าหน้าที่ Pit Crew
เริ่มเข้ายืนประจำที่
เจ้าหน้าที่เติมน้ำมันเดินไปยืนเตรียมพร้อมประจำที่อยู่ที่อุปกรณ์เติมน้ำมันของทีมตน
การแข่งขันพร้อมที่จะเริ่มขึ้นแล้ว
อีกสิบนาทีก่อนปล่อยตัว นักแข่งเริ่มเข้าไปนั่งประจำที่ในรถ
บ้างก็กำลังนั่งเอาขาพาด Roll Cage ที่ขวางประตูและพยายามเลื่อนตัวลงไปนั่งใน
Bucket Seat บ้างก็กำลังขยับสายรัดนิรภัยเข้าที่ไหล่และที่หน้าตัก
บ้างก็กำลังใส่หมวกนิรภัย ทุกอย่างถูกทำอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นเพียงไม่กี่นาที
นักแข่งทุกคนก็อยู่ในสภาพที่พร้อมอยู่ในที่นั่งของตน และพยายามปล่อยหัวให้ว่าง
เพื่อตั้งสมาธิและลำดับความคิดว่าจะมีอะไรที่ควรจะต้องทำในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้านี้
การแข่งขันเริ่มขึ้นโดยมีรถ Ford RS Cosworth
สีขาวคาดเขียวที่ติดไฟกระพริบสีส้มที่หลังคา ถูกนำมาจอดเพื่อที่จะเป็น Pace Car
นำขบวน หลังจากที่มันถูกเข้าเกียร์และปล่อยครัชกระโจนออกไป
เสียงเครื่องยนต์ก็เริ่มคำรามดังสนั่นไปทั้งสนามที่ห้อมล้อมไปด้วยผู้ที่เข้าชมอย่างมืดฟ้ามัวดิน
การแข่งขัน 24-hour Snetterton ถูกเริ่มขึ้นแล้ว
ในชั่วโมงแรกของการแข่งขัน M3 ของเราอยู่ในอันดับที่ 14 ในขณะที่อันดับที่ 1-4
เป็นรถ Ford RS Cosworth ทั้งหมด เมื่อเวลาหกโมงครึ่ง รถ Ford ของทีมเราที่ขับโดย
Morgan ถูกเรียกเข้ามาที่ Pit เพื่อเติมน้ำมันและตรวจสอบเบรกและยาง
และเพื่อเปลี่ยนตัวคนขับเป็น Jeremy Walton
ทุกอย่างเสร็จสิ้นภายในเวลาสามนาทีก่อนที่ Jeremy Walton จะควบรถกระโจนออกไป
เวลาก่อนหนึ่งทุ่มเล็กน้อย รถ M3 ของทีมเราวิ่งเข้ามาใน Pit
ด้วยควันที่โขมงออกมาจากเบรกเพื่อเติมน้ำมัน ทันทีที่รถจอด
ทีมเติมน้ำมันกรูกันไปที่ท้ายรถ คนหนึ่งแบกถังระบายไอน้ำมันวิ่งออกไป
อีกคนหนึ่งแบกเอาท่อเติมน้ำมันขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสี่นิ้วตามไปติดๆ
ในขณะที่อีกคนหนึ่งปิดฝากระโปรงท้าย
ถังระบายไอน้ำมันถูกเสียบเข้าไปที่รูข้างหนึ่งของถัง
และท่อน้ำมันถูกเสียบเข้าไปอีกข้างหนึ่ง น้ำมันจำนวน 25
แกลลอนพุ่งเข้าไปเต็มถังในเวลาแค่ไม่กี่วินาที
ในขณะที่ผมเข้าไปนั่งในตำแหน่งคนขับแทน Sands เป็นที่เรียบร้อย
และตอนนี้ฝนก็เริ่มตกลงมาพอดี
หมายเหตุ: ถังน้ำมันของรถแข่งแบบนี้ จะมีรูที่ถังน้ำมันสองรู
และจะใช้ห้วเติมแรงดันสูงขนาดใหญ่คล้ายๆแบบที่เติมน้ำมันเครื่องบิน
เนื่องจากน้ำมันจะเข้าไปในถังเร็วมากด้วยแรงดันสูง
เพราะฉนั้นจึงต้องมีรูอีกข้างหนึ่งที่ถังที่จะระบายลม/ไอน้ำมันในถังออกไปให้ทัน
มิฉนั้นแล้วลมจะอัดอยู่ในถังจะทำให้น้ำมันไม่สามารถลงไปในถังได้ F/D
ผมนำรถออกมาจาก pit lane
ช้าๆและใช้ความระมัดระวังในขณะที่นำรถเข้าไปในสนามเพราะในช่วงที่เข้า pit
ถึงแม้จะเป็นเวลาแค่แป๊บเดียว
แต่มันทำให้เบรกเย็นตัวลงจนรู้สึกได้ว่ามันจับไม่ค่อยอยู่
การขับเป็นไปได้อย่างยากเย็นเพราะที่ผิวสนามบางส่วนก็แห้ง บางส่วนก็เปียกมีน้ำขัง
และบางส่วนก็ลื่นราวกับว่ามีน้ำแข็งอยู่บนผิวของมัน ในรอบที่สองที่โค้งหนึ่ง
ผมมองเห็นแสงสะท้อนที่อยู่บนผิวสนามเข้ามาในสายตาแว๊บหนึ่งแต่มันช้าไปแล้ว
ผมวิ่งเหยียบลงไปบนแอ่งน้ำขังนั้นเต็มเหนี่ยว เจ้า M3
เผินขึ้นไปบนผิวน้ำจนเสียหลักและเอาด้านข้างไถลวิ่งเข้าไปในโค้งอย่าง
หมดปัญญาที่ผมจะดึงมันกลับคืนมาได้ต้องปล่อยให้มันไถลไปแบบนั้นจนตัวรถมันเบาลงไปเอง
เสียงล้อเสียดสีไปบนผิวสนามดังสนั่น เป็นเรื่องที่น่าอายมาก
ฝนหยุดตกและผิวสนามก็เริ่มแห้ง ผมเห็น Ford RS Cosworth ของทีมเราที่ Jeremy Walton
ขับ ถูกจอดนิ่งอยู่ที่ข้างทางตรงช่วงทางตรง ผมมารู้ตอนหลังว่ามีฟิวส์ตัวหนึ่งขาด
ทำให้เครื่องยนต์ดับลง หลังจากขับได้อีกสักพักดวงอาทิตย์ก็เริ่มลับขอบฟ้าไป
ผมหวังว่าสภาพอากาศในตอนกลางคืนน่าจะดีขึ้น ถึงตอนนี้ผมขับระมัดระวังมากขึ้น
ไม่พยายามปีนแบงค์ หรือขับหวือหวามากนัก เวลาที่ผมทำได้ในช่วงนี้ค่อนข้างดี
และค่อนข้างคงที่ ที่ 1.25-1.26 นาที/รอบ
และรู้สึกว่าที่ความเร็วขนาดนี้และภายใต้การขับแบบนี้น่าจะเหมาะสมและเป็นการถนอมตัวรถไม่ให้สึกหรอมากและสามารถเข้า
Pit ตามที่วางแผนเอาไว้ได้อย่างแน่นอน
ผมพยายามใจเย็นและบอกกับตัวเองว่านี่ไม่ใช่การขับแข่งกันสิบรอบจบที่จะใส่เข้าไปแบบไม่ยั้งได้
ยังเหลือหนทางอีกยาวไกล
ถึงตอนนี้ M3 ของเรานำอยู่เป็นอันดับหนึ่งของ Class B
และอยู่ในอันดับเจ็ดของโอเวอร์ออล
และข่าวดีก็คือรถเรายังอยู่ในสภาพปกติไม่มีอะไรบุบสลาย จากเวลาต่อรอบที่เราทำได้
คำนวณออกมาเป็นความเร็วเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 81 mph/รอบ ในขณะที่ Ford RS Cosworth
คันของทีมที่วิ่งนำอยู่ข้างหน้าวิ่งอยู่ที่ความเร็วเฉลี่ย 84 mph/รอบ
ซึ่งความแตกต่างที่ 4 mph/รอบ ไม่เปิดโอกาสให้เราทำอะไรผิดพลาดได้อีก
ผมพยายามขับอย่างคงเส้นคงวา ให้เหมือนกันทุกๆรอบ
ช่วงทางตรงผมลากเกียร์สี่ขึ้นไปและผ่อนคันเร่งลงเมื่อก่อนจะถึง 7000 rpm เล็กน้อย
และปล่อยให้รถวิ่งให้เข้าในโค้ง จากนั้นดึงรถเข้าไปที่ apex สองอันที่โค้งตัวเอส
และสไลด์ท้ายรถนิดๆเพื่อดึงรถเข้าไปที่โค้งหักศอกที่อยู่ถัดไป ตรงนี้น่ากลัวมาก
หากเบรกจนล้อล็อกอาจจะทำให้เกิด flat-spot บนหน้ายางได้ ABS ช่วยเราได้มากในโค้งนี้
จากนั้นก็ผ่อนคันเร่งนิดนึงเพื่อที่จะเข้าสู่โค้งถัดไป
เป็นโค้งธรรมดาๆแต่ผมรู้สึกว่าท้ายรถมีอาการ oversteer เล็กน้อย
อาจเป็นเพราะน้ำมันในถังเหลือน้อยลงทำให้ท้ายรถเบาทำให้ต้องออกจากโค้งได้ไม่เร็วนัก
รถออกมาจากโค้งเข้าสู่ทางตรงที่ยาวประมาณ 200 หลาก่อนที่พุ่งไปยังโค้งอีกโค้งหนึ่ง
ในทางตรงนี้เครื่องยนต์อยู่ที่ 6500 rpmที่เกียร์ห้า ก่อนถึงโค้งผมทำ heel & toe
และเปลี่ยนลงมาที่เกียร์สี่
รถวิ่งเข้าไปในโค้งไปสู่ไลน์ขวาแบบคงที่จนกระทั่งถึงปลายโค้งที่หักและบีบไปทางขวามากขึ้น
ผมจึงผ่อนคันเร่งและเปลี่ยนลงมาเป็นเกียร์สามอย่างรวดเร็วนำรถออกจากโค้งไป
โค้งนี้หากไม่เบารถที่ปลายโค้งอาจทำให้รถหลุดออกนอกสนามที่ปลายโค้งได้ ฯลฯ
ผมทำแบบนี้ซ้ำๆอีก 130 ครั้ง ในอีกสามชั่วโมงต่อมาก่อนที่จะเปลี่ยนคนขับขณะนี้ M3
ของทีมเรายังคงเป็นผู้นำของ Class B และอยู่ในอันดับ 7 ของโอเวอร์ออล
ผมนำรถเข้า Pit ส่งมอบหน้าที่ต่อให้ McHale จากการตรวจสอบที่เบรก
พบว่าเบรกของเรายังอยู่ในสภาพดี นี่คือผลของการวางแผนที่ดี
และเราสามารถขับได้ตามแผนที่วางไว้มาตั้งแต่แรก McHale
ขับได้อย่างสุดยอดและสามารถนำรถขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ของโอเวอร์ออล
ก่อนที่จะเปลี่ยนมือให้กับ Sands และ Sands
สามารถรักษาตำแหน่งนี้เอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นจนครบ 12 ชั่วโมงแรกของการแข่งขัน
มีอยู่ช่วงหนึ่ง M3 ของเราขึ้นไปอยู่ที่อันดับที่ 3 ของโอเวอร์ออล
ส่วนเจ้า Ford RS Cosworth คันของทีมเรามีปัญหามากมายทั้งเรื่องเครื่องยนต์
ช่วงล่าง และระบบไฟฟ้า Jeremy Walton เล่าถึงเหตุการณ์ให้ฟังว่า
เป็นความรู้สึกที่ดีขณะที่ผมใส่ชุดแข่งกันไฟสี่ชั้นนั่งอยู่หลังพวงมาลัยอยู่บนเบาะแบบ
bucket seat ที่กระชับของ Carbeau และถูกรัดแน่นด้วยเข็มขัดนิรภัยของ Sabelt
อย่างแน่นหนา ที่รอบๆตัวถูกหุ้มด้วยท่อเหล็กที่ถูกสร้างขึ้นเป็นกรงป้องกันเอาไว้
ในขณะที่มอง Ford RS Cosworth อีกคันหนึ่งที่วิ่งอยู่ข้างหน้า
พ่นเปลวไฟอันร้อนแรงผ่านท่อไอเสียที่อยู่ด้านข้างของรถมัน
จนกระทั่งเวลาประมาณทุ่มสี่สิบเครื่องยนต์ของรถผมดับลง
หลังจากที่ค่อยๆนำรถกลับมาที่ pit พบว่ามีฟิวส์ตัวหนึ่งขาด ทำให้ ECU ไม่ทำงาน
หลังจากเปลี่ยนฟิวส์แล้ว ผมเปลี่ยนให้ Sean ทำหน้าที่แทนผมเป็นคนถัดไป
9.30 pm: Sean ต้องนำรถกลับมาที่ pit อีกครั้งเพื่อซ่อมเฟืองพวงมาลัย
และระบบไฮดรอลิกของระบบบังคับเลี้ยว
4.00 am: มันถูกนำกลับเข้ามาที่ Pit อีกครั้งหนึ่ง
คราวนี้มันจอดอยู่ในนั้นราวหนึ่งชั่วโมงครึ่งเพื่อเปลี่ยนลูกปืนล้อที่แตก
และยางรองแท่นเครื่อง
มันถูกขับออกไปอีกครั้งเมื่อเวลาตีห้าครึ่งและตอนนี้เราเป็นตำแหน่งท้ายสุดในสนาม
7.50am: ผมเปลี่ยนเป็นคนขับอีกครั้ง และพบว่าเกียร์สี่ และเกียร์ห้าเข้ายากมาก
จึงนำรถเข้ามาที่ Pit อีกครั้งหนึ่ง
สุดท้ายแล้วถึงแม้ว่ามันจะสุดแสนจะทุลักทุเลและจบเป็นอันดับสุดท้ายของสนาม
และอยู่ห่างจาก Ford RS Cosworth ที่เข้าที่หนึ่งอยู่ถึง 144 รอบ
แต่เราก็ดีใจที่สามารถวิ่งได้จนครบ 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้เรามีโอกาสดีที่ได้ทดสอบมันในทุกรูปแบบและสถานะการณ์ ทั้งตอนเปียก/ตอนแห้ง
ตอนน้ำมันเต็มถัง/ตอนน้ำมันเกือบหมดถัง และการทำงานของเครื่องยนต์เมื่อปรับบูสของ
Turbo ที่ระดับต่างๆกันไป ถ้าไม่นับปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่ง
และอาการที่ค่อนข้างจะ Understeer ที่มีผลสืบเนื่องมาจากอาการ Turbo lag ของมัน
ผมคิดว่า Ford RS Cosworth เป็นรถที่เร็วมากคันหนึ่ง
หลังจากที่รถเกิดปัญหาขึ้นมาครั้งแรก มันยังสามารถวิ่งต่อไปได้ด้วยความเร็ว 41 รอบ/ชั่วโมงจนจบการแข่งขัน
และด้วยความเร็วที่สุดทางตรงขึ้นไปถึง 135 mph
เมื่อการแข่งขันจบลง
รถทั้งสองคันของเราให้ผลออกมาแตกต่างกันเหมือนหน้ามือกับหลังมือ
เรื่องที่น่ายินดีก็คือ M3 ของเราชนะเลิศใน Class B และได้ที่ 4 ของโอเวอร์ออล ชนะ
Mercedes 190E 2.3-16 ที่ตามมาเป็นอันดับ 5 เรื่องน่าเศร้าก็คือ Ford RS Cosworth
ของทีมเราได้ตำแหน่งสุดท้ายของสนาม
สำหรับ M3 ของเรา เราไม่คิดว่าเป็นการเพลี่ยงพล้ำให้กับ Ford RS Cosworth ของทีม
TCCS Racing
เราคิดว่าเราประสพความสำเร็จในแง่ที่สามารถขับได้จนจบการแข่งขันและทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่เราวางเอาไว้
จากการตรวจสอบผ้าเบรก Mintex M200 ที่เราใช้ พบว่ามันสึกไปแค่ 1 mm เท่านั้นเอง!
เมื่อเทียบกับทีมอื่นที่ใช้ผ้าเบรกไปมากกว่าสิบชุด ทั้งๆที่ใช้ Mintex M200
แบบเดียวกับที่เราใช้เปี๊ยบ
มองในแง่รวมระหว่าง BMW M3 กับ Ford RS Cosworth แล้ว
ก็คงจะยังสรุปไม่ได้ว่าใครแน่กว่าใคร ถึงแม้ว่าอันดับที่ 1-3 Ford RC Cosworth
จะกวาดรางวัลไปเรียบ แต่อย่างน้อยที่สุดมี Ford RC Cosworth
หนึ่งคันที่ไม่สามารถวิ่งจนจบการแข่งขัน ไม่ใช่เป็นเพราะรถ หรือเครื่องยนต์มีปัญหา
แต่เป็นเพราะมันคว่ำ!
สักวันหนึ่งเราจะขอเอา M3 กลับไปแก้มืออีกสักครั้ง
Flying Dutchman: October 2007
.................................................................................................................................................................................................................................
Flying Dutchman/October 2007
Back to main STORY Page
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
Copyright 2000-2008. The Flying Dutchman