ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ (เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ)

แต่เดิมบริเวณพระบรมมหาราชวังเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชาเศรษฐีและพวกคนจีน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสร้างราชธานีใหม่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้โปรดให้คนพวกนี้ถอยลงไปอยู่ในที่แห่งใหม่ตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ลงไปจนถึงคลองเหนือวัดสำเพ็ง (วัดปทุมคงคา) สมัยนั้นชาวจีนสองพี่น้องมีบทบาทมาก คนพี่ชื่อ นายเริก ส่วนคนน้องชื่อ นายอินเดิมทีนายเริกรับราชการในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ตำแหน่งเสมียนประจำกรมท่าซ้าย ซึ่งเป็นกรมที่ติดต่อกับชาวจีนโดยเฉพาะ จนในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาไกรโกษา ครั้นย้ายไปอยู่ตำบลสำเพ็ง บ้านของท่านผู้คนก็เรียกว่าบ้านพระยาไกรโกษา ปัจจุบันคือ "ตรอกพระยาไกร" ใกล้กับตรอกพระยาไกรนั้น มีอีกตรอกหนึ่งชื่อว่า "ตรอกโรงกระทะ" ที่มีชื่ออย่างนี้เพราะนายอินน้องชายของพระยาไกร ได้ค้าสำเภาไปเมืองจีนจนร่ำรวยเป็นเศรษฐี ที่บ้านนั้นจึงตั้งเตากระทะหุงข้าวเลี้ยงกะลาสีลูกเรือและจับกังขนของเป็นทิวแถว คนจึงนิยมเรียกท่านว่า "เจ้าสัวเตากระทะ" 
ต่อมาพระอภัยวานิช (จาค) นายอากรรับผูกขาดรังนกจนร่ำรวยเป็นเจ้าสัวอีกคนหนึ่ง ได้มาสร้างบ้านจีนโบราณแบบวังอยู่แถววัดปทุมคงคาชาวจีนจึงเรียกย่านนั้นว่า "ตั๊กลักเกี้ย" แปลว่า "ตลาดน้อย" ส่วนตลาดใหญ่นั้นหมายถึงตลาดสำเพ็ง ตามประวัติของพระอภัยวานิช เดิมเป็นขุนนางมาจากมลฑลเสฉวน จีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยเหตุนี้ที่ประตูบ้านได้แขวนโคมไฟทำด้วยกระดาษ และเขียนอักษรจีนขนาดใหญ่ 2 ตัวว่า " ฮั่ง ไถ่ " เป็นรูปสัญลักษณ์ เดิมทีพระยาอภัยวานิช มีที่ดินอยู่ในสำเพ็งมากมาย แต่ธรรมเนียมของคนจีนนิยมมีทายาทสืบสกุลหลายๆ คน จึงได้แบ่งที่ดินเหล่านั้นให้บุตรทุกคน ปัจจุบันทายาทคนที่ครองบ้านหลังเดิมที่เหลือเพียง 12 ไร่ คือ คุณดวงตะวัน โปษยะจินดา ภรรยาคุณเจงหลอง โปษยะจินดา (ผู้ครอบครองสืบต่อจากประอภัยวานิชรุ่นที่ 6 )
กรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยนั้นได้เกิดโรคระบาดจนผู้คนล้มตายมาหลายครั้งหลายครา จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งในช่วงนั้นเองก็ได้เกิดโรคอหิวาต์ ทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก บรรดาวิญญาณผู้ที่เสียชีวิตหรือผีคนที่ตายไปแล้วต่างมาเข้าฝันเจ้าสัวในสำเพ็งว่า "อดอยากเหลือเกิน ขอให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้างและจะช่วยคุ้มครองไม่ให้เป็นโรคห่า" ในฝันเจ้าสัวถามผีไปว่าจะให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปด้วยวิธีใดผีคนตายก็บอกว่า "ให้เอาอาหารที่จะส่งไปทำการเซ่นไหว้ แล้วเอาของใส่เรือ พร้อมกับเอาตุ๊กตาหักคอเสีย คือ ต้องทำเป็นตุ๊กตาเสียกบาลใส่เรือไปด้วย แล้วก็เอาเรือลอยไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา" เท่านี้ก็จะได้กิน หลังจากนั้นทุกปีบรรดาเจ้าสัวในสำเพ็งต่างๆก็พากันลอยเรือสะเดาะห์เคราะห์กันเป็นประจำ แต่เป็นแบบต่างคนต่างทำแต่กำลังศรัทธา และก็น่าประหลาดมากคนในสำเพ็งไม่มีใครป่วยเป็นอหิวาต์ตายแม้แต่คนเดียว 
ปัจจุบันพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์มีเหลือเพียงแห่งเดียวคือ ทายาทของพระอภัยวานิช ที่ยังปฏิบัติสืบต่อจากบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด สมัยก่อน เมื่อใกล้จะถึงงานพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ราว 1 เดือน บุตรหลานของพระอภัยวานิชจะซื้อหาไม้ไผ่ กระดาษและอุปกรณ์ต่างๆมาทำเรือไว้เพื่อที่จะประกอบเป็นเรือจำลองกระดาษประดับประดาอย่างประณีตสวยงาม ตัวเรือยาว 3.50 เมตร กว้าง 1.20 เมตร โดยทำเรือเป็นสองชั้น ในแต่ละปีชื่อเรือจะไม่ซ้ำกันขึ้นอยู่กับซินแสจะเป็นผู้กำหนดเช่น 
ปีชวด ตั้งชื่อว่า หนูอี้ด และ มุสิกขาว เป็นต้น และถือเอาวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 6 ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงต้นฝนเป็นวันประกอบพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์
ในวันทำพิธีเจ้าภาพจะจัดอาหารหวานคาว คือ หมี่ผัด ขนมจีนน้ำยา ข้าวเหนียว ถั่วดำ มะม่วงอกร่องสุก ทำการเซ่นไหว้บนฝั่งก่อนที่จะนำเรือลงน้ำ ส่วนในเรือก็จะใส่อาหารหวานคาวดังกล่าวด้วย นอกจากนั้นก็จะใส่พวกเครื่องครัว เช่น พริก กะปิ กระเทียม น้ำตาล น้ำปลา ข้าวสาร และถ่าน เพื่อให้เป็นเสบียงอาหาร เหมือนเรือจริงที่จะออกเดินทางในทะเล การทำพิธีสะเดาะเคราะห์นี้ ชาวบ้านต่างสกุลใครจะมาร่วมก็ได้ ดังนั้นในวันทำพิธีจึงมีผู้คนมาร่วมงานมากมายโดยจะใช้ตุ๊กตาตัวเล็กๆ สมมุติให้เป็นตัวของผู้ทำบุญเอง และฝากลงไปกับเรือใหัลอยไปด้วยอันหมายถึงฝากความทุกข์ความโศกให้ไหลไปด้วย พอถึงเวลาเที่ยงตรง ของวันทำพิธี เรือสะเดาะเคราะห์จะถูกนำไปวางบนแพ ซึ่งประกอบจากหยวกกล้วยตานีประมาณ 20 ต้น ระหว่างที่ทำการปล่อยเรือนั้นจะมีเสียงล่อโก๊ว ตีมุ่ยเอาฤกษ์เอาชัย เวลาเดียวกันจะมีการจุดประทัดให้ผีชั่วร้ายแตกตื่นและมีการซัดข้าวสารกับเกลือลงไปที่เรือ เพื่อขับไล่เสนียดจัญไรให้ลงเรือไปด้วย
ต่อจากนั้นจะให้เรือจ้างติดเครื่องลำหนึ่ง ลากจูงเรือสะเดาะเคราะห์ โดยมีชายฉกรรจ์ลอยคอในน้ำพยุงเรือไปส่งจนถึงปากคลองผดุงกรุงเกษม (คลองขุดใหม่) ที่สมมุติให้เป็นปากอ่าวหลังจากนั้นทั้งเรือและคนค่อยพากันกลับมาที่เดิม ส่วนรือสะเดาะเคราะห์ยังคงลอยตามกระแสน้ำไปอีกเรื่อยๆ
พิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์แพร่หลายในวงจำกัด และกำลังจะสูญหายไปทุกขณะ สาเหตุมาจากชาวบ้านที่มาอยู่ใหม่ไม่ทราบความเป็นมาจึงให้ความร่วมมือไม่มากเท่าที่ควร แต่ทางเจ้าภาพก็ยังคงดำเนินตามบรรพบุรุษปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง
อีกสาเหตุหนึ่ง ผู้ทำเรือสะเดาะเคราะห์เคยเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงในบ้านพระอภัยวานิช และเคยรับใช้กันมา 3 ชั่วอายุคนแล้ว ทายาทรุ่นที่ 3 คือ นายประสิทธิ์ ซุ่มสำราญ มีอายุ 53 ปี เปิดเผยว่าลูกหลานทำงานได้ดิบได้ดีไปหมดแล้ว วิชาทำเรือกระดาษที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาไม่มีใครสนใจที่จะมารับวิชานี้ไป คิดว่าประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ คงจะสิ้นสุดลงในรุ่นของผมอย่างแน่นอน