ประเพณีให้ทานไฟ (อ.กะปง จ.สงขลา)

เนื่องจากจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งอยู่ในทิศทางที่ลมมรสุมพัดผ่านจึงสะดวกแก่การเดินเรือ ประกอบกับบริเวณนี้มีทรัพยกรธรรมชาติหลายอย่างซึ่งเป็นที่ต้องการของพ่อค้าจากทางอินเดียและอาหรับมาก นครศรีธรรมราชจึงกลายเป็นสถานีการค้าทางทะเลในสมัยโบราณโดยปริยาย ทำให้อิทธิพลและวัฒนธรรมจากอินเดียได้ส่งผลมายังชีวิตผู้คนในนครศรีธรรมราชหลายด้าน เช่น ด้านปัจจัยสี่ ด้านจิตใจ ด้านความเชื่อ ด้านศาสนา และด้านประเพณี อิทธิพลเหล่านี้คงจะแพร่หลายเข้ามาหลายยุคหลายสมัยและสะสมกันจนกลายเป็นรูปแบบวัฒนธรรมไปในที่สุด ดังเช่น

“ประเพณีให้ทานไฟ” ซึ่งเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งที่มีมาแต่สมัยพุทธกาล อันหมายถึง การถวายความอบอุ่นแก่พระภิกษุสงฆ์ด้วยไฟในฤดูหนาวและนิยมทำกันจนกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดนครศรธรรมราช ประเพณีให้ทานไฟนี้มีปรากฏในสมัยพุทธกาล ณ เมืองสาวัตถีหรือนครหลวงแห่งแคว้นโกศล ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ และเป็นศาสนูปถัมภก อีกทั้งยังเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษามากที่สุดคือ 25 พรรษา

ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่บนปราสาทชั้นบน ทอดพระเนตรไปทางถนนในพระนคร เห็นภิกษุจำนวนนับร้อยนับพันไปยังบ้านของอนาถปิณฑิกเศรษฐีบ้าง บ้านนางวิสาขาบ้าง และบ้านคนอื่นๆบ้าง เพื่อรับบิณฑบาตบ้าง เป็นต้นพอเห็นดังนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงโปรดให้ภัตตาหารอันประณีต เพื่อภิกษุประมาณ 500 รูป แต่ปรากฏว่าไม่มีพระมารับสักรูป คงมีแต่พระอานนท์เพียงรูปเดียวเท่านั้น พอพระอานนท์กลับไปแล้ว จึงตรัสถามมหาดเล็ก ได้รับคำกราบบังคมทูลว่า ไม่มีพระมา คงมีแต่พระอานนท์เพียงรูปเดียวเท่านั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกริ้วภิกษุทั้งหลาย จึงได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลว่าได้ให้ห้องเครื่องจัดภัตตาหาร แต่ไม่มีพระมารับภัตตาหารกันเลย เหตุใดภิกษุไม่เห็นความสำคัญในพระราชวังเลย นี่เรื่องอะไรกัน

พระพุทธเจ้าได้ทรงฟังพระดำรัสดังนั้นก็เข้าพระทัยตลอด ไม่ตรัสตำหนิโทษภิกษุทั้งหลาย และถวายพระพรว่า “สาวกของอาตมภาพไม่มีความคุ้นเคยกับมหาบพิตรเพราะเหตุที่ไม่มีความคุ้นเคยกันนั่นเองจึงไม่พากันไป”

เมื่อเรื่องนี้ได้ผ่านไปแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลกลับเอามาทรงครุ่นคิดอยู่ว่า พระพุทธองค์ตรัสแต่ว่าสาวกของพระองค์ไม่มีความคุ้นเคยในราชสำนักทรงดำริต่อไปว่า ถ้าภิกษุและสามเณรมีความคุ้นเคยในราชสำนักแล้ว ก็คงจะพากันเข้ามากันวันละมากๆ เหมือนกับไปบ้านของนางวิสาขา เป็นต้น และทรงคิดอยู่ว่าทำอย่างไรพระเณรจะมีความคุ้นเคยแก่เราได้

พระองค์ทรงพิจารณาถึงสภาพในฤดูหนาวในเมืองสาวัตถี พระภิกษุสามเณรคงหนาวเย็นกว่าผู้ครองเรือนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้าตรู่ที่ออกบิณฑบาต ความหนาวคงเป็นอุปสรรคมาก เพราะพระภิกษุถือผ้ากาสาวพัสตร์เพียง 3 ผืนเท่านั้น นอกจากนี้ยังทำให้ภิกษุที่ทำหน้าที่เผยแพร่พระพุทธศาสนาอยู่ตามวัดและสถานที่ต่างๆ บางรูปร่างกายอ่อนแอถึงกับอาพาธได้พระเจ้าปเสนธิโกศลจึงเกิดความเวทนาและก่อไฟถวายพระให้ได้ผิงได้ในยามใกล้รุ่ง

ต่อมาชาวเมืองเห็นว่าการให้ทานไฟในตอนใกล้รุ่ง อีกไม่นานฟ้าก็จะสว่าง จึงได้เสาะหาหัวเผือกหัวมันมาเผา และนำแป้งมาปรุงแต่งเป็นภัตตาหารถวายพระภิกษุสงฆ์ เป็นการทำบุญจะได้อานิสงส์มาขึ้น

เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเพณีให้ทานไฟพลอยตกทอดมาถึงนครศรีธรรมราชด้วย ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันทำขนมต่างๆ เพิ่มขึ้นในวันให้ทานไฟ เช่น ขนมครก ขนมเบื้อง ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมกรอก และขนมพื้นเมืองอีกหลายอย่าง ผู้ที่อยู่ใกล้วัดก็เตรียมนำเครื่องประกอบในการปรุงขนมไปยังวัดตั้งแต่ยังไม่รุ่งสาง ภายในลานวัดจะมองเห็นกองไฟแดงไปหมดเกือบทั้งวัด พอสว่างดีแล้วก็นิมนต์พระมารวมกันที่ใกล้กองไฟ เมื่อพระฉันเสร็จและยถาสัพพีแล้ว เป็นอันเสร็จพิธี