รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า ด้วง เป็นบุตรคนที่ ๔ จากทั้งหมด ๕ คน ของนายทองดี หรือต่อมาได้เป็นหลวงพินิจอักษร เสมียนตราในกรมมหาดไทยกับนางหยก หลานสาวของเจ้าพระยาอภัยราชา ซึ่งดำรงตำแหน่งสมุหนายก ประสูติเมื่อวันพุธที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๒๗๙
เมื่อเด็กชายด้วง มีอายุครบ ๑๓ ปี บิดามารดาได้ทำพิธีตัดจุกให้ จากนั้นจึงได้ถวายตัวให้เป็นมหาดเล็กของเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต รัชทายาทแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กระทั่งนายด้วงมีอายุครบ ๒๒ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดมหาทลาย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๐๐
ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ พระภิกษุด้วงได้มีโอกาสรู้จักเป็นมิตรกับพระภิกษุหยง(หรือนายหยง แซ่แต้ บุตรจีนไหหง และนางนกเอี้ยง ซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ) ซึ่งได้บวชจำพรรษาอยู่ที่วัดโกษาวาสน์ ก่อนที่นายด้วงจะอุปสมบทประมาณ ๓ พรรษา
ต่อมาเมื่อลาสิกขาบทแล้ว นายหยงและนายด้วงก็ได้มีโอกาสเข้ารับราชการ ต่อมาในตอนปลายแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา โดยนายหยงได้เป็นตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองตาก และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น"นายสิน" ส่วนนายด้วงก็รับราชการด้วยดีจนได้เป็น หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
บิดามารดาเมื่อเห็นว่านายด้วงได้บวชเรียนและมีงานทำเป็นหลักฐานแล้วจึงได้ไปสู่ขอ ลูกสาวเศรษฐีใหญ่ชาวอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ชื่อ นางสาวนาค ให้สมรสกับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียทีถูกพม่ายึด หลวงยกกระบัตรเมืองตากซึ่งตอนนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ได้ทำการรวบรวมผู้คนซึ่งแตกกระจายกันเป็นก๊กเป็นเหล่าต่างๆ มากมายแล้วพากันมาตั่งมั่นอยู่ที่จันทบุรี เพื่อคอยหาโอกาสกอบกู้เอกราชของชาติไทยกลับคืนมา และเมื่อรวบรวมกำลังพลได้พอสมควรแล้ว พระยาวชิรปราการ หรือพระยาตากจึงได้ยกกองทัพซึ่งมีกำลังพลประมาณ ๕,๐๐๐ คน โดยทางเรือจากจันทบุรีมายังกรุงธนบุรี และสามารถยึดกรุงธนบุรีกลับคืนมาได้ จากนั้นจึงเคลื่อนทัพขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยา แล้วเข้าตีพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นแตก จนนายทัพพม่า ที่เรียกกันว่า สุคยี (ภาษาพม่าหมายถึงนายกอง แต่คนไทยเอามาเรียกเป็นชื่อว่าสุกี้) ตายในที่ราบ ส่วนพวกพม่าที่เหลือหนีเตลิดไป จึงเป็นอันกอบกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาได้เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๑๐ จากนั้นพระยาตากจึงทำการอพยพผู้คนมายังกรุงธนบุรี ด้วยเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลายจนเสียหายยากแก่การบูรณะซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ประกอบกับกรุงธนบุรีมีชัยภูมิที่ดีกว่าและพอเหมาะกับกำลังไพร่พลที่มีอยู่ที่จะสามารถรักษาเมืองไว้ได้ จึงทรงประกาศตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่ของไทย พร้อมกับประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไทยทรงพระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ ๔ ขึ้นเมื่อวันพุธที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๑ แต่ประชาชนทั่วไปมักเรียกพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน บ้างก็เรียกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ได้ทรงรวบรวมญาติพี่น้อง เพื่อสถาปนาขึ้นเป็นพระบรมราชวงศ์ รวมทั้งปูนบำเหน็จให้แก่บรรดาแม่ทัพนายกอง และ ผู้ร่วมกอบกู้ชาติจนได้รับเอกราชในครั้งนี้อย่างถ้วนหน้า ซึ่งก็รวมไปถึงหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี เพื่อนเก่าที่ชอบพอ และ ร่วมเป็นร่วมตายในการศึกนี้ด้วย โดยโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจขวานอก แล้วให้เข้ามารับราชการใกล้ชิด พระราชวรินทร์ได้รับราชการสนองพระบรมราชโองการสมเด็จพระเจ้าตากสินด้วยความเข้มแข็ง ซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง จนได้รับอาญาสิทธิ์และเลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้นหลังจากที่ได้ออกไปในการศึกสงคราม ตามลำดับดังนี้
ครั้งที่ ๑ เป็นแม่ทัพออกไปรบและสามารตีด่านขุนทด เมืองนครราชสีมาและนครเสียมราชได้สำเร็จ จึงได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ
ครั้งที่ ๒ เป็นแม่ทัพยกกำลังไปตีเขมรได้เมืองพระตะบอง และเมืองเสียมราช แต่ต้องเลิกทัพกลับมาก่อนเพราะได้รับข่าวลือที่ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตแล้ว
ครั้งที่ ๓ เมื่อพระชนมายได้ ๓๔ พรรษาได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินไปปราบปรามพระเจ้าฝาง จนได้รับชัยชนะ และได้รับเลื่อนยศเป็น พระยายมราช ว่าที่สมุหนายก
ครั้งที่ ๔ ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๒ ขณะที่มีพระชันษาได้ ๓๕ พรรษาทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าพระยาจักรี สืบแทนเจ้าพระยาจักรี(แขก) ที่ถึงแก่อสัญกรรมไป พร้อมกับได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพไปตีเขมรจนได้เมืองบันทายเพชร และเมืองบาพนม
ครั้งที่ ๕ เป็นแม่ทัพหน้าของสมเเด็จพระเจ้าตากสิน ยกกำลังไปตีเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน และเมืองน่าน
ครั้งที่ ๖ เป็นแม่ทัพยกกำลังจากนครเชียงใหม่ลงมา ช่วยทัพหลวงรบกับพม่าที่ยกทัพมาตีเมืองราชบุรี จนไทยได้รับชัยชนะ
ครั้งที่ ๗ เป็นแม่ทัพยกกำลังขึ้นไปรบกับพม่าที่ยกกำลังมาตีเมืองนครเชียงใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๗
ครั้งที่ ๘ เป็นแม่ทัพยกไพร่พลไปรบกับ อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพใหญ่ของพม่าที่ยกกำลังเข้ามาตีหัวเมืองทางเหนือในช่วงพุทธศักราช ๒๓๑๘ - ๒๓๑๙ เจ้าพระยาจักรีได้นำทัพไทยเข้าต่อสู้ป้องกันอย่างเข้าแข็ง จนอะแซหวุ่นกี้ต้องเจรจาขอดูพระองค์ และเมื่อได้พบแล้วก็ออกปากยกย่องสรรเสริญว่า"ท่านนี้รูปก็งาม ฝีมือก็เข้มแข็ง อาจสู้รบกับเราเป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแน่แท้"
ครั้งที่ ๙ ขณะพระชนมายุได้ ๔๑ พรรษาเป็นแม่ทัพออกไปตีหัวเมืองของลาวและเขมร ได้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองสีทันดร เมืองอัตปือ เมืองตะลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังข์ เมืองขุขันธ์ มาเป็นเมืองขึ้นของไทย ในการนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนให้เป็น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหิมา ทุกนคราระย่อเดช นเรศราชสุริยวงศ์ องค์บาทมุลิกากร บวงรัตนปรินายก โดยโปรดเกล้าฯให้มีเครื่องยศดุจเดียวกันกับเจ้านายต่างกรม
ครั้งที่ ๑๐ เป็นแม่ทัพยกกำลังทหารไปตีอาณาจักรล้านช้าง ได้เมืองเวียงจันทร์ และได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตลงมาประดิษฐานไว้ที่ ณ กรุงธนบุรีด้วย
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชอัธยาศัยผิดไปจากพระองค์เดิมเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายขึ้นทั้งในหมู่ภิกษุสงฆ์ และ ประชาชนคนไทย ในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปราชการสงครามที่เขมร จึงเป็นโอกาสให้พระยาสรรค์กับพวกคิดกบฏแย่งชิงราชสมบัติ โดยได้วางแผนขับไล่ให้สมเด็จพระเจ้าตากสินไปทรงผนวชที่วัดแจ้ง แล้วประกาศตนเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบข่าวว่าเกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีจึงรีบยกทัพกลับมา พระยาสรรค์เกิดความเกรงกลัวจึงยอมลดตนเองกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม ในส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เห็นว่าหากละไว้อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากขึ้นได้อีกในภายหลัง จึงเห็นชอบให้นำไปสำเร็จโทษเสียเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ แล้วอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นดำรงสิริราชสมบัติ ประกอบพระราชพิธิปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชฎวิสุทธิ์ รัตนมงกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว หรือต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายพระนามใหม่ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นับเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ โดยขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ ๔๖ พรรษา
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสถาปนาพระราชธิดาขึ้นเป็นองค์ปฐมบรมราชชนกและเจ้าพระยาสุรสีห์ (นายบุญมา) ผู้เป็นน้องชายขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชตลอดรวมทั้งพระญาติพระวงศ์ที่ร่วมพระชนกเดียวกันขึ้นเป็นพระราชวงศ์จักรี ซึ่งต่อมาก็คือต้นราชสกุลต่าง ๆ ที่นับเนื่องมาจนในปัจจุบันนี้ เช่น ราชสกุล นรินทรางกูร ณ อยุธยา, เทพหัสดิน ณ อยุธยา, มนตรีกุล ณ อยุธยา, อิศรางกูร ณ อยุธยา และเจษฎางกูร ณ อยุธยา เป็นต้น