รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏ ทรงพระราชสมภพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๔๗ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔๓ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินี
เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ ขณะสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏ ทรงเจริญพระชันษาได้เกือบ ๒๐ พรรษา โดยเสด็จออกผนวชตามโบราณราชประเพณีที่วัดสมอราย (หรือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน) ทรงได้รับพระนามฉายาว่า"วชิรญาโน" แต่โดยทั่วไปเรียกขานพระองค์ว่า "พระวชิรญาณเถระ"
หลังจากที่ทรงผนวชได้เพียง ๑๕ วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชบิดาก็เสด็จสวรรคต โดยมิได้ทรงตรัสมอบราชสมบัติให้แก่เจ้านายพระองค์ใด ซึ่งเมื่อที่ประชุมอันประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่มีมติให้ทูลเกล้าฯถวายราชสมบัต ิแด่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่พระสนมเอก เนื่องจากกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงเข้มแข็งและรอบรู้ในข้อราชการ ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง ที่ยังไม่สงบเรียบร้อยในขณะนั้น พระวชิรญาณเถระหรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏจึงตัดสินพระทัยดำรงอยู่ในสมณเพศต่อไปตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ ๓ นับเป็นเวลาได้ ๒๗ ปี ทั้งนี้เพื่อ เป็นการตัดสินปัญหาที่เกิดขึ้นจนเป็นสาเหตุให้เกิดข้อบาดหมางพระทัยกัน ระหว่างพระองค์และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
การที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏ ทรงผนวชอยู่เป็นเวลานานนี้เอง ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พระองค์เอง และประเทศชาติในหลายประการด้วยกัน กล่าวคือได้มีโอกาสศึกษาภาษาต่างประเทศซึ่งได้แก่ภาษาละตินและภาษอังกฤษจากบาทหลวง และมิชชั่นนารีที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาจนทรงสามารถตรัส ทอดพระเนตร และทรงพระอักษรในภาษาอังกฤษได้อย่างแตกฉานทำให้ทรงทราบถึงนิสัยใจคอของคนตะวันตกในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นโอกาสให้ได้ทรงทราบถึงวิทยาการความรู้สมัยใหม่ในตอนนั้น รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นภายนอกประเทศของเราได้อย่างกระจ่างชัด และในระหว่างผนวชได้เสด็จฯ ไปธุดงจาริกและนมัสการปูชนียสถานตามหัวเมืองไกลต่างๆทั่วประเทศ ทำให้ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร และเหตุการณ์บ้านเมืองรวมทั้งข้อบกพร่องและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดีด้วย ดังนั้นเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฏเสด็จขึ้นเถลิงวัลยราชสมบัติแล้วทำให้ทรงสามารถดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และกำหนดนโยบายการปกครองประเทศในด้านต่างๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ในเวลานั้นได้โดยทันที
ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคต ได้ตรัสเวนคืนราชสมบัติให้พระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เพื่อสถปนาพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ตามแต่ความคิดเห็นส่วนใหญ่ของที่ประชุม ซึ่งภายหลังจากที่รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคตแล้ว ที่ประชุมมีมติให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้างกุฏสมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ ๔๖ พรรษาเศษ และยังทรงผนวชอยู่โดยเวลานั้นทรงประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระบรมเชษฐา เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๔ ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฎิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัตินพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิตสรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นรัชกาลที่ ๔ แห่งราชจักรีวงศ์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯย ให้สถาปนาเจ้าฟ้าชายจุฑามณี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาบัย ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระชนนีโดยขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นเป็นพระสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรง พระราชอิสริยยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินทุกประการ ทำให้กล่าวกันว่าในรัชกาลที่ ๔ นี้มีพระมหากษัตริย์ถึง ๒ พระองค์