รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู หรือตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดนเบิร์ก ( Heidenberg ) ประเทศเยอรมันนี ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์โตใน สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กลมหลวงสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ ตะละภัฎ(ภายหลังทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไทยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี) เมื่อแรกประสูตรทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น หม่อมเจ้าชายอานันทมหิดล ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระเชษฐภคินี หนึ่งพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และทรงมีพระอนุชาอีกหนึ่งพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
เมื่อพระชนมายุได้ ๓ เดือน ได้เสด็จฯไปประทับ ณ ประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา ๓ ปี จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จฯสมเด็จพระบรมราชชนกนิวัติประเทศไทย และทรงพำนักอยู่ ณ วังสระปทุมกับสมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จนในปีถัดมาคือพุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมชนกนาถก็เสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี เป็นเวลา ๒ ปี แต่ต่อมาทรงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์
ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ แล้ว บ้านเมืองเกิดความสับสน ประกอบกับพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ จึงในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้เสด็จฯไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระอนุชา เพื่อการศึกษาและเพื่อบำรุงพระพลานามัย
และที่เมืองโลซานน์นี้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลได้ทรงเข้าศึกษาในระดับชั้นประถมที่โรงเรียนเมียร์มองค์ ซึ่งนอกจากจะทรงศึกษาวิชาการในโรงเรียนแล้ว ยังทรงมีพระอาจารย์ถวายพระอักษรไทย ณ พระตำหนักที่ประทับอีกด้วย
แต่แล้วเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นเสด็จประทับรักษาพระเนตรอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ได้ทรงประกาศสละราชสมบัติพร้อมกับสละพระราชสิทธิ์ในการแต่งตั้งผู้สืบราชสันตติวงศ์ และเนื่องจากไม่ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาเลย การสืบสันตติวงศ์จึงเป็นไปตามกฏมณเฑียรบาล ฉบับพุทธศักราช ๒๔๖๗ โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงได้กราบทูนอันเชิญ พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งทรงอยู่ในลำดับที่ ๑ แห่งการสืบราชสันตติงวศ์ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๘ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนมหา อานันทมหิดลสกลไพศาลมหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ศกนั้นเอง และเนื่องจากในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา จึงต้องทรงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้แก่ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทพยอาภา และเจ้าพระยายมราช ทำการบริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์จนกว่าจะทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ
ในระหว่างนี้ได้ทรงย้ายไปศึกษาที่โณงเรียนเอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์ และยังคงมีพระอาจารย์ถวายพระอักษรไทย ณ พระตำหนักที่ประทับอยู่เช่นเคย ในครั้งนี้นอกจากจะทรงศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่ของพระมหากษัตริย์แล้วยังทรงศึกษาภาษาต่างประเทศอีกถึง ๔ ภาษาคือ ภาษาฝรั่งเศส เยอรมันและเสปน ยิ่งไปกว่านั้นสมเด็จพระราชชนนีทรงส่งเสริมให้โปรดการกีฬา อาทิ ว่ายน้ำ ฮ๊อกกี้ สกี สเกตน้ำแข็ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงสนพระทัยในงานอดิเรกต่างๆ เช่น การช่างและ งานฝีมือต่างๆ การปลูกพืชสวนครัว การสะสมแสตมป์และรูปเรือรบ ทั้งยังโปรดศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่างๆ โดยไม่ทรงปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้ทรงเป็นที่รักใคร่ของบุคคลทั่วไปที่ได้มีโอกาสพบเห็น
พระบาทสมเด็จะพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษจิกายนพุทธศักราช ๒๔๘๑ ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๑๓ พระชัญษา การเสด็จนิวัติครั้งนี้ เป็นการเสด็จฯ โดยทางเรือชื่อ มีโอเนีย พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอและสมเด็จพระอนุชา ซึ่งเมื่อเสด็จฯถึงปีนังได้พระราชทานสัมภาษณ์ แก่หนังสือพิมพ์สเตรทเอคโค ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่จะได้เดินทางกลับสู่ประเทศอันเป็นที่รักของข้าพเจ้าและในอันที่จะได้เห็นประชาราษฎร์ของข้าพเจ้าเอง" ตลอดระยะเวลา ๒ เดือนที่เสด็จประทับอยู่ในเมืองไทยได้ทรงออกเยี่ยมราษฎรในที่ต่างๆ หลายแห่ง เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเฝ้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดจากนั้นได้ทรงเสด็จฯกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แสนด์
หลังจากเสด็จฯนิวัติเมืองไทยครั้งแรกแล้วได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ สถานการณ์ของโลกอยู่ในขั้นวิกฤต การคมนาคมติดต่อระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศขัดข้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมิได้เสด็จฯนิวัติประเทศไทยอีกเป็นเวลานานแต่ก็ได้ทรงศึกษาวิชาการอยู่โดยตลอดจนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง เหตุการณ์ต่างๆ เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์และเหลือเวลาอีกประมาณ ๓ ปี ก็จะทรงได้รับปริญญาเอก ก็ได้เสด็จนิวัติฯ กลับประเทศไทยอีกครั้ง โดยทางเครื่องบินที่กองทัพอากาศของรัฐบาลอังกฤษจัดถวาย เสด็จฯถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา ซึ่งทรงบรรลุพระราชนิติภาวะแล้ว
ในการเสด็จนิวัติฯ ประเทศไทยครั้งนี้ เดิมทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะประทับอยู่ในเมืองไทยแค่ ๑ เดือน จากนั้นจะเสด็จพระราชดำเนินกลับสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อให้ทันการเปิดภาคเรียนใหม่ในกลางเดือนมกราคม ๒๔๘๙ แต่เนื่องจากทรงมีพระราชกรณียกิจในฐานะองค์พระประมุขของประเทสไทยมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นของประเทศชาติและพสกนิกร ทำให้ทรงเลื่อนหมายกำหนดการที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับสวิสเซอร์แลนด์ออกไปเป็นวันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙