ตำนานเรื่องหนีโรคห่า
เป็นตำนานเล่าถึงความเป็นมาของการเกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคในกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ผู้เล่าเรื่องนี้คือนายซ้อน ดอกกุหลาบ อยู่ตำบลบ้านรุน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ชายสองคนเป็นสหายกัน เมื่อเรียนวิชาจากสำนักพระเจ้าตาสำเร็จแล้วก็สัญญากันว่าจะช่วยเหลือกันแม้ชีวิต แล้วเดินทางกลับบ้านเมืองของตน ในระหว่างทางที่มาด้วยกันนั้นบังเอิญไปพบบ่อทองเข้า หลังจากตกลงวิธีการที่จะช่วยเลือกันแล้วชายผู้หนึ่งก็ได้กระโดดลงไปในบ่อทอง อีกคนหนึ่งก็ช่วยดึงขึ้นในบ่อทอง ปรากฏว่าชายคนที่อยู่ในบ่อทองมีร่างกายชุบทองสวยงามอร่ามตา แล้วอีกคนหนึ่งก็อยากมีร่างกายที่สวยงามอย่างเพื่อนบ้าง ก็กระโดดลงไปทันที
ชายผู้ที่มีร่างกายเป็นทองแล้วก็คิดว่า ถ้าเพื่อนจะมีร่างกายเหมือนตน คนทั้งหลายเห็นตัวเป็นทองทั้งสองคนก็จะไม่เห็นอัศจรรย์ จึงปล่อยให้เพื่อนจมอยู่ในบ่อทองนั้น ส่วนตัวเขาเมื่อกลับถึงเมืองก็ได้รับการยกย่องเป็นเจ้าแผ่นดินชื่อว่า
"พระเจ้าอู่ทอง"
ในละแวกบ่อทองนั้นมีฤาษีผู้วิเศษองค์หนึ่งเดินมายังบ่อทอง เห็นเป็นฟองผิดปกติจึงตรวจค้นดู ก็พบศพชายที่ถูกเพื่อนทิ้ง ด้วยความสงสารจึงชุบชีวิตขึ้นมาแล้วถามความเป็นไป พอทราบความจึงอนุญาตให้ขอเป็นอะไรก็ได้เพียงอย่างเดียวตามแต่จะปรารถนา ชายผู้ที่ถูกชุบชีวิตขึ้นมาก็บอกกับฤาษีด้วยความเครียดแค้นชิงชังว่า ขอเป็นห่าตามล้างเพื่อนให้จงได้
พระฤาษีจึงเนรมิตให้เป็นห่า แต่มีข้อแม้ว่าให้ติดตามเพื่อนไปได้เพียงวันละก้าวอย่างนกเขา ห่าตัวนี้ติดตามด้วยความพยาบาท ในที่สุดก็ทันจนได้ จึงเกิดโรคห่าลงเมืองอู่ทอง จนพระเจ้าอู่ทองต้องอพยพผู้คนหนีข้ามทุ่งไปสร้างเมืองใหม่ที่อยุธยา จวบจนกลายมาเป็นกรุงศรีอยุธยาด้วยประการฉะนี้