ภ.ญ.สุขุมาล นลินพิเชฐ
สวัสดีค่ะ...คุณผู้อ่านที่รักสุขภาพทั้งหลาย พบเภสัชกรฉบับนี้ ขอแนะนำให้รู้จักกับยาลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งใช้รักษาโรคเบาหวานคะ
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่พบกันมากมาย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ โดยพบว่ามีอัตราความชุกประมาณ 2.5 - 7 % ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ และในผู้สูงอายุมีอัตราความชุกประมาณ 13 - 15 % ซึ่งก็หมายความว่าในผู้สูงอายุ 100 คน จะมีผู้ป่วยเบาหวาน 13 ถึง 15 คนเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เราคงต้องเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุของเราโดยเฉพาะที่บ้าน ให้ปลอดภัยจากโรคเบาหวานแล้วละค่ะ สำหรับอาการที่สำคัญ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ น้ำหนักลด ปลายมือปลายเท้าชา ส่วนสาเหตุเสริมส่วนมากเกิดจากตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลง ทำให้อินซูลินทำงานไม่เต็มที่ หรือการได้รับยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ฯลฯ
เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด การรักษาให้ได้ผลดีจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับผู้ป่วยและญาติ หรือผู้ใกล้ชิด ในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ การรักษาเบาหวานมุ่งหวังที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติ เพื่อลดหรือชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ตาบอด ไตเสื่อม เส้นประสาทเสื่อม โรคหัวใจ อัมพฤกษ์อัมพาต เป็นต้น
สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ถ้าเป็นไม่มาก คือ มีอาการไม่ชัดเจน และการตรวจน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้า (โดยอดอาหารตั้งแต่หลังเที่ยงคืน) น้อยกว่า 250 มก./ดล. แพทย์จะแนะนำให้ควบคุมอาหารกับออกกำลังกาย 1 - 2 เดือน แต่ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ตามเกณฑ์ ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับยาลดน้ำตาลในเลือด
ยาเม็ดลดน้ำตาลมี 2 กลุ่ม
1. ซัลโฟไนล์ยูเรีย (Sulfonylureas) ออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ตัวยาแต่ละตัวมีประสิทธิภาพคล้ายกัน แต่ระยะเวลาออกฤทธิ์ต่างกัน ห้ามใช้ยาในกลุ่มซัลโฟไนล์ยูเรียร่วมกัน ควรรับประทานยาก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ยาที่ออกฤทธิ์นาน เช่น คลอโพรพาไมด์ ให้รับประทานวันละครั้งก่อนอาหารเช้า สำหรับตัวอื่นออกฤทธิ์ปานกลาง ถ้าใช้ไม่เกิน 2 เม็ดต่อวัน สามารถใช้วันละครั้ง เพื่อสะดวกแก่ผู้ป่วย ถ้ามากกว่านี้ควรแบ่งเป็น 2 มื้อ
ข้อห้ามใช้
- ภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- อยู่ระหว่างการผ่าตัดใหญ่
- ภาวะติดเชื้อ เครียด หรือ ได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรง
- ผู้ป่วยที่มีโรคตับ หรือโรคไต ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาในกลุ่มนี้และกลุ่มซัลฟา
ผลข้างเคียง
พบบ่อย
พบน้อย
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- คลื่นไส้อาเจียน
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ผื่นแพ้ยา
- ตัวตาเหลือง
- เม็ดเลือดขาวต่ำ
2. ไบกัวไนด์ (Biguanide) ตัวยาที่ใช้ในปัจจุบัน คือ เมทฟอร์มิน (Metformin) ชื่อการค้า คือ Glucophage ออกฤทธิ์ช่วยแก้ไขภาวะดื้อต่ออินซูลินที่ตับและเซลกล้ามเนื้อ ข้อดีของยานี้ คือ ช่วยลดไขมันโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
สำหรับข้อห้ามการใช้ยาในกลุ่มนี้ก็เหมือนกับกลุ่มที่ 1 แต่ไม่ห้ามในผู้ป่วยที่แพ้ซัลฟา
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ขมในปาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องเสีย ไม่ถือเป็นการแพ้ยา เมื่อใช้ยาอีกระยะหนึ่ง อาการมักดีขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว อาจรับประทานยาหลังอาหารทันที หรือรับประทานพร้อมอาหาร ผลข้างเคียงของยาที่อันตราย คือ การเกิดภาวะกรดแลคติกคั่ง (Lactic acidosis) คือการมีอาการหายใจเร็ว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึมผิดปกติ ให้หยุดยาแล้วมาพบแพทย์ทันที จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคตับ โรคไต โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบ
ขณะนี้โรงพยาบาลทุ่งสง ได้มีการให้ความรู้ พูดคุยกับผู้ป่วยเบาหวาน (โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 180 มก./ดล.) โดยทีมเภสัชกรได้ตระหนักถึงโรคแทรกซ้อนที่ตามมา ในกรณีผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสุงเป็นเวลานานๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้ และกำลังใจ ที่จะปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องในการที่จะควบคุมอาหาร (มีรายละเอียดในคอลัมน์ โภชนาการดี พาชีวีมีสุข) มีการออกกำลังกายตามความเหมาะสมแต่ละบุคคล และมีการกินยาสม่ำเสมอ(ไม่ขาดยา)
จากการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2544 - 30 พ.ย. 2544 ที่ห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอกมีจำนวนผู้ป่วยถึง 91 คนที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 180 มก./ดล. แบ่งเป็นชาย 24 คน หญิง 67 คน ทางทีมเภสัชกรมีความเป็นห่วงเป็นใยผู้ป่วยทุกท่าน ต้องการที่จะให้ท่านควบคุมน้ำตาลได้ ผู้เขียนจึงขอเอาใจช่วยทั้งผู้ปฏิบัติงาน (เภสัชกร) และผู้ป่วยเบาหวานทุกท่านให้บรรลุสมความตั้งใจ (คือควบคุมน้ำตาลในเลือดได้) เพื่อทุกท่านได้อยู่เป็นสุขกับเบาหวานค่ะ
เภสัชกรโรงพยาบาลทุ่งสง
(สายใยรักษ์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 9 เมษายน - กรกฎาคม 2545 หน้า 12-13)