เครือข่ายความเร็วสูง
|
SDH เป็นคำศัพท์ที่กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมากทางหน้าหนังสือพิมพ์
หลายคนคงอยากรู้ถึงเทคโนโลยีเครือข่าย
SDH ว่ามีลักษณะอย่างไร มีความเป็นมาหรือแนวโน้มที่น่าสนใจอะไรบ้าง
SDH ย่อมาจาก
Synchronous Digital Heirarchy SDH เป็นคำศัพท์ที่มีความหมายถึงการวางลำดับการสื่อสารแบบซิงโครนัสในตัวกลางความเร็วสูง
ซึ่งโดยปกติใช้สายใยแก้วเป็นตัวนำสัญญาณ
การสื่อสารภายในเป็นแบบซิงโครนัส คือส่งเป็นเฟรม
และมีการซิงค์บอกตำแหน่ง เริ่มต้นเฟรมเพื่อให้อุปกรณ์รับตรวจสอบสัญญาณข้อมูลได้ถูกต้อง
มีการรวมเฟรมเป็นช่องสัญญาณที่แถบกว้างความเร็วสูงขึ้น
และจัดรวมกันเป็นลำดับ เพื่อใช้ช่องสื่อสารบนเส้นใยแก้วนำแสง
ความเป็นมาของ SDH มีมายาวนานแล้ว
เริ่มจากการจัดการโครงข่ายสายโทรศัพท์
ซึ่งสัญญาณโทรศัพท์ได้เปลี่ยนเป็นดิจิตอล โดยช่องสัญญาณเสียงหนึ่งช่องใช้สัญญาณแถบกว้าง
64 กิโลบิต แต่ในอดีตการจัดมาตรฐานลำดับชั้นของเครือข่ายสัญญาณเสียงยังแตกต่างกัน
เช่นในสหรัฐอเมริกา มีการจัดกลุ่มสัญญาณเสียง
24 ช่อง เป็น 1.54 เมกะบิต หรือที่เรารู้จักกันในนาม
T1 และระดับต่อไปเป็น 63.1, 447.3 เมกะบิต แต่ทางกลุ่มยุโรปใช้
64 กิโลบิตต่อหนึ่งสัญญาณเสียง และจัดกลุ่มต่อไปเป็น
32 ช่องเสียงคือ 2.048 เมกะบิต ที่รู้จักกันในนาม
E1 และจัดกลุ่มใหญ่ขึ้นเป็น 8.44, 34.36 เมกะบิต
การวางมาตรฐานใหม่สำหรับเครือข่ายความเร็วสูงจะต้องรองรับการใช้งานต่าง
ๆ ทั้งเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณมัลติมีเดียอื่น
ๆ เช่น สัญญาณโทรทัศน์ ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกได้
คณะกรรมการจัดการมาตรฐาน SDH จึงรวมแนวทางต่าง
ๆ ในลักษณะให้ยอมรับกันได้ โดยที่สหรัฐอเมริกา
เรียกว่า SONET ดังนั้นจึงอาจรวมเรียกว่า
SDH/SONET การเน้น SDH/SONET ให้เป็นกลางที่ทำให้เครือข่ายประยุกต์ใช้งานต่าง
ๆ วิ่งลงตัวได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
เนื่องจากโครงข่ายของ SDH/SONET
ใช้เส้นใยแก้วนำแสงเป็นหลัก โดยวางแถบกว้าง
พื้นฐานระดับต่ำสุดไว้ที่ 51.84 เมกะบิต โดยที่ภายในแถบกว้างนี้จะเป็นเฟรมข้อมูลที่สามารถนำช่องสัญญาณเสียงโทรศัพท์
หรือการประยุกต์อื่นใดเข้าไปรวมได้ และยังรวมระดับช่องสัญญาณต่ำสุด
51.84 เมกะบิตนี้ให้สูงขึ้น เช่นถ้าเพิ่มเป็นสามเท่าของ
51.84 ก็จะได้ 155.52 ซึ่งเป็นแถบกว้างของเครือข่าย
ATM
โมเดลของ SDH แบ่งออกเป็นสี่ชั้น
เพื่อให้มีการออกแบบและประยุกต์เชื่อมต่อได้ตาม
มาตรฐานหลัก
ชั้นแรกเรียกว่าโฟโตนิก
เป็นชั้นทางฟิสิคัลที่เกี่ยวกับการเชื่อมเส้นใยแก้วนำแสง
และอุปกรณ์ประกอบทางด้านแสง
ชั้นที่สอง เป็นชั้นของการแปลงสัญญาณแสง
เป็นสัญญาณไฟฟ้า หรือในทางกลับกัน เมื่อแปลงแล้วจะส่งสัญญาณไฟฟ้าเชื่อมกับอุปกรณ์สื่อสารอื่น
ๆ ชั้นนี้ยังรวมถึงการจัดรูปแบบเฟรมข้อมูล
ซึ่งเป็นเฟรมมาตรฐาน แต่ละเฟรมมีลักษณะชัดเจนที่ให้อุปกรณ์ตัวรับและตัวส่งสามารถซิงโครไนซ์เวลากันได้
เราจึงเรียกระบบนี้ว่า ซิงโครนัส
ชั้นที่สามเป็นชั้นที่ว่าด้วยการรวมและการแยกสัญญาณ
ซึ่งได้แก่วิธีการมัลติเพล็กซ์ และดีมัลติเพล็กซ์
เพราะข้อมูลที่เป็นเฟรมนั้นจะนำเข้ามารวมกัน
หรือต้องแยกออกจากกัน การกระทำต้องมีระบบซิงโครไนซ์ระหว่างกันด้วย
ชั้นที่สี่
เป็นชั้นเชื่อมโยงขนส่งข้อมูลระหว่างปลายทางด้านหนึ่งไปยังปลายทางอีกด้านหนึ่ง
เพื่อทำให้เกิดวงจรการสื่อสารที่สมบูรณ์
ในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่งจึงเสมือนเชื่อมโยงถึงกันในระดับนี้
เพื่อให้การรับส่งระหว่างปลายทางด้านหนึ่งไปยังอีกปลายทางด้านหนึ่งมีลักษณะสื่อสารไปกลับได้สมบูรณ์
การรับส่งจึงมีการกำหนดแอดเดรสของเฟรมเพื่อให้การรับส่งเป็นไปอย่างถูกต้อง
กำหนดโมดูลการรับส่งแบบซิงโครนัส ที่เรียกว่า STM
- Synchronous Transmission Module โดย เฟรมของ STM พื้นฐาน มีขนาด
2430 ไบต์ โดยส่วนกำหนดหัวเฟรม 81 ไบต์ ขนาดแถบกว้างของการรับส่งตามรูปแบบ
STM จึงเริ่มจาก 155.52 เมกะบิตต่อวินาที ไปเป็น 622.08
และ 2488.32 เมกะบิตต่อวินาที จะเห็นว่า STM ระดับแรกมีความเร็ว
155.52 เมกะบิตต่อวินาที ซึ่งเป็น 3 เท่าของแถบกว้างพื้นฐานของ
SDH ที่ 51.84 เมกะบิตต่อวินาที STM จึงเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใน
SDH ด้วย
เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า
ผู้ออกแบบมาตรฐาน SDH ต้องการให้เป็นทางด่วนข้อมูลข่าวสาร
ที่จะรองรับระบบเครือข่ายโทรศัพท์ที่มีอัตราการส่งสัญญาณกันเป็น
T1, T3, หรือ E1, E3 ขณะเดียวกันก็รองรับเครือข่าย
ATM (Asynchronous Transfer Mode) ที่ใช้ความเร็วตามมาตรฐาน
STM ดังที่กล่าวแล้ว โดยที่ SDH สามารถเป็นเส้นทางให้กับเครือข่าย
ATM ได้หลาย ๆ ช่องของ ATM ในขณะเดียวกัน
SDH จึงเสมือนถนนของข้อมูลที่ใช้เส้นใยแก้วนำแสงเพื่อรองรับแถบกว้างของสัญญาณสูง
ขณะเดียวกันก็ใช้งานโดยการรวมสัญญาณข้อมูลต่าง
ๆ เข้ามาร่วมใช้ทางวิ่งเดียวกันได้
SDH จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐาน
เสมือนหนึ่งเป็นถนนเชื่อมโยงที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
ที่สำคัญคือ ถนนเหล่านี้จะเป็นทางด่วนที่รองรับการประยุกต์ใช้งานในอนาคต
SDH
หรือทางด่วนข้อมูล
จะเกิดได้หรือไม่ คงต้องคอยดูกันต่อไป
