มอลลัส

MOLLUSKS

PHYLUM  MOLLUSCA

 

              หอยและหมึก  หรือ  “ มอลลัส “  เป็นสัตว์ไม่มีกระดูสันหลังกลุ่มใหญ่รองลงมาจากพวกอาร์โทรปอด  มีสมาชิกรวมกันประมาณ  1  แสนชนิด  พบอาศัยอยู่ทั้งในทะเล  แหล่งน้ำจืด  และบนบกส่วนใหญ่ดำรงชีวิตอย่างอิสระโดยกรองกินแพลงค์ตอนเศษอินทรย์วัตถุหรือล่าสัตว์ชนิดอื่นเป็นอาหาร  นับเป็นสัตว์กลุ่มที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเพราะนำมาบริโภคเป็นอาหารได้  นอกจากนี้เปลือกยังสามารถน้ำมาทำเป็นเครื่องประดับอีกด้วย  มอลลัสส่วนใหญ่มีเปลือกเป็นโครงสร้างทางด้านนอกทำหน้าที่ป้องกันเนื้อเยื่อภายในที่อ่อนนุ่ม  ประกอบด้วยหินปูนเป็นส่วนใหญ่  ส่วนหมึกมีแกนภายในเพื่อค้ำจุนร่างกาย  และในพวกทากทะเลเป็นพวกทีไม่มีเปลือก

                   โครงสร้างสำคัญของมอลลัสมีอยู่  4  อย่างคือ

                   ก. หัว  มีตำแหน่งอยู่ทางด้านหน้าสุดที่มีปากและอวัยะรับสัมผัสต่าง ๆ เช่น  ตา  หนวด

                   ข. แมนเติล  (mantle)  เป็นเนื้อเยื่อที่เจริญมาจากทางด้านบนแล้วแผ่คลุมก้อนอวัยวะภายในเอาไว้  ทำหน้าที่สร้างเปลือกและอยู่ติดกับเปลือกรอบช่องแมนเติล

                   ค. ก้อนอวัยะภายใน  (visceral  mass)  ประกอบด้วยอวัยวะภายในของระบบต่าง ๆ ได้แก่  ท่อทางเดินอาหาร  เหงือก  ไต  ระบบประสาท   ระบบสืบพันธุ์  ตลอดจนกล้ามเนื้อต่าง ๆ ซึ่งเจริญดีในมอลลัสทุกกลุ่ม

                   ง. เท้า  เป็นมัดกล้ามเนื้อที่ใช้สำหรับการเคลื่อนที่โดยการคลานชอนไชไปในดิน แต่ในพวกหมึกได้เปลี่ยนแปลงเป็นหนวดที่มีปุ่มดูด ใช้สำหรับจับเหยื่อ

                   หอยและหมึกส่วนใหญ่มีเพศแยกกันเป็นตัวผู้ตัวเมีย  แต่หอยบางชนิดมีเพศรวมกันหรือบางชนิดมีการเปลี่ยนแปลงเพศตามฤดูกาลด้วยสัตว์จำพวกหอยหรือมอลลัส  แบ่งออกเป็น  6  กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

                   1. พวกหอยฝาชีโบราณ  (Monoplacophorans)

                   2. พวกลิ่นทะเล  (Polyplacophorans)

                   3. พวกหอยกาบเดี่ยว  (Gastropods)

                   4. พวกหอยกาบคู่  (Pelecypods)

                   5. พวกหอยงาช้าง  (Scaphopods)

                   6. พวกหมึกและหอยงวงช้าง  (Cephalopods)