ฟองน้ำ

Sponges

PHYLUM PORIFERA

 

            นับตั้งแต่สมัยกรีกและโรมันกำลังรุ่งเรืองนั้น  มนุษย์รู้จักนำเอาฟองน้ำถูตัวจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาใช้ภายในราชสำนักอย่างแพร่หลายแล้ว  โดยที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าฟองน้ำเป็นพืชหรือสัตว์  ต่อมาเมื่อได้มีการศึกษาถึงโครงสร้างภายในร่างกายของฟองน้ำ  จึงทราบว่าฟองน้ำเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ร่างกายประกอบ ด้วยเซลล์สองชั้นจัดเรียงตัวกันเป็นผนังลำตัว  โดยมีช่องน้ำเล็ก ๆ เป็นรูพรุนให้น้ำไหลเข้าไปในโพรงลำตัว  และมีท่อให้น้ำไหลออกจากลำตัว  ขณะที่น้ำไหลผ่านช่องในลำตัวนี้เอง  เซลล์ที่บุอยู่รอบโพรงลำตัวจะจับแพลงค์ตอนในน้ำกินเป็นอาหาร  ขณะเดียวกันเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายจะได้รับออกซิเจนที่ละลายอยู่ใน น้ำเพื่อหายใจด้วย

                  เท่าที่มีการสำรวจมาจนถึงปัจจุบันพบว่ามีฟองน้ำประมาณ  5,000  ชนิด  ส่วนใหญ่อยู่ในทะเลโดยเกาะอยู่ตามโขดหิน  วัตถุแข็งในน้ำ  ปะการัง  และตามพื้นทะเลตั้งแต่เขตน้ำขึ้นน้ำลงจนถึงท้องทะเลลึก  มีอยู่ไม่กี่ชนิดที่พบในน้ำจืด  ฟองน้ำแต่ละชนิดมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  5  มิลลิเมตร  จนถึง  1  เมตร  รูปร่างเป็นทรงกระบอก  รูปแจกัน  รูปครก  แตกกิ่งก้านสาขาหรือแผ่คลุมวัตถุในน้ำ  ตลอดจนมีสีสันแตกต่างกันมากมายทั้งสีขาว  เหลือง  ส้ม  แดง  ม่วง เขียว น้ำเงิน น้ำตาล  เป็นต้น

                  ฟองน้ำส่วนใหญ่อาศัยอยู่รวมกันเป็นโคโลนี (colony) และบางชนิดอาศัยอยู่แบบเดี่ยวโดยมีเซลล์ที่ประกอบกันเป็นร่างกายจัดเรียงตัวกันอย่างหลวม ๆ ฟองน้ำจึงมีโครงสร้างที่ช่วยค้ำจุนร่างกายให้คงรูปร่างอยู่ได้  ได้แก่  หนามฟองน้ำ  (spicules)  มีลักษณะเป็นแท่งรูปเข็ม  หรือเป็นแฉก  บางชนิดเป็นสารประกอบของหินปูน  และบางชนิดเป็นซิลิกา  โครงค้ำจุนอีกชนิดหนึ่ง  คือ  เส้นใยฟองน้ำ  (spongin) มีลักษณะเป็นเส้นใยอ่อนนุ่มประสานกันไปมา ฟองน้ำแต่ละชนิดมีโครงสร้างค้ำจุนร่างกายไม่เหมือนกัน  บางชนิดมีแต่หนามฟองน้ำอย่างเดียวและมีรูปร่างแบบต่าง ๆ กัน  โดยอาจเป็นแท่ง  เป็นแฉก  หรือมีเส้นใยฟองน้ำอย่างเดียว

                  อาหารของฟองน้ำ ได้แก่  พืช และสัตว์เล็ก ๆ ที่ล่องลอยอยู่ในน้ำทะเล  ถูกพัดพาเข้าไปในโพรงลำตัวและถูกเซลล์ที่มีแส้  (choanocytes)  จับไว้  เพื่อนำไปย่อยภายในเซลล์

                  ฟองน้ำสืบพันธุ์ได้  2  วิธีคือ  แบบอาศัยเพศ  โดยฟองน้ำแต่ละเพศสร้างเซลล์สืบพันธุ์ปล่อยออกไป ผสมพันธุ์กันในน้ำทะเล หรือบางชนิดปล่อยเสปิร์มว่ายเข้าไปผสมกับไข่ของอีกตัวหนึ่งไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะเจริญเป็นตัวอ่อนที่มีขนสั้นว่ายน้ำได้  ดำรงชีวิตเป็นแพลงค์ตอนชั่วคราว  แล้วจึงจะจมลงเกาะวัตถุใน น้ำเจริญเป็นฟองน้ำตัวใหม่ที่เกราะกับที่ตลอดไป  อีกวิธีหนึ่ง  เป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ  โดยการแตกหน่งอกออกไปเป็นตัวใหม่ที่ยังคงติดอยู่กับตัวเดิมทำให้ได้ฟองน้ำที่อยู่รวมกันเป็นโคโลนี

                  สัตว์ทะเลหลายชนิดชอบอาศัยอยู่ร่วมกับฟองน้ำ  ได้แก่  กุ้ง  ปู  ไส้เดือนทะเล  และดาวเปราะ  โดยอาศัยฟองน้ำเป็นแหล่งหาอาหารและป้องกันตัว  

                  การศึกษาด้านอนุกรมวิธานของฟองน้ำในประเทศไทย  ยังมีผู้ทำการศึกษากันน้อยมาก  เพราะการจำแนกชนิดชองฟองน้ำส่วนใหญ่ไม่อาจพิจารณาจากรูปร่างและสีสันภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวได้  จำเป็น ต้องมีการศึกษาทางเนื้อเยื่อวิทยาประกอบด้วย  ได้แก่  การศึกษาถึงรูปร่างของหนามฟองน้ำแบบต่าง ๆ ที่ เป็นโครงค้ำจุน  เป็นต้น

                  ตัวอย่างของฟองน้ำที่นำมาแนะนำนี้  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟองน้ำที่พบในทะเลไทยเท่านั้น