คอร์เดต

CHORDATES

PHYLUM  CHORDATA

                                                   

 

        คอร์เดตเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงสุดในอาณาจักรสัตว์  กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่าง ๆ ของร่างกาย  ตลอดจนการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง  ลักษณะสำคัญที่พบในคอร์เดต  คือ

                   1. โนโตคอร์ด  (notochord)  เป็นแท่งแกนค้ำจุนร่างกายให้คงรูปร่าง  ส่วนใหญ่จะอยู่กึ่งกลางหรือยาวตลอดลำตัว  แท่งโนโตคอร์ดเกิดขึ้นในระยะตัวอ่อน แต่เมื่อเจริญเติบโตขึ้นจะมีกระดูกอ่อนและกระดูกแข็งเข้ามาแทนที่  โดยเฉพาะคอร์เดตชั้นสูง  จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นกระดูกสันหลัง  ส่วนคอร์เดตพวกแรก ๆ จะมีโนโตคอร์อยู่ตลอดชีวิต

                   2. ระบบประสาทส่วนกลาง  ประกอบด้วย  สมอง  และไขสันหลังซึ่งมีตำแหน่งอยู่เหนือโนโตคอร์ดและท่อทางเดินอาหาร  แตกต่างจากสัตว์ไมีมีกระดูกสันหลังที่มีเส้นประสาทอยู่ทางด้านท้องใต้ท่องทางเดินอาหาร

                   3. ช่องเหงือก  (gill  slits)  เป็นโครงสร้างที่ปรากฏในระยะตัวอ่อน  โดยมากมักมีอยู่เป็นคู่บริเวณคอหอยซึ่งใช้ในการหายใจในระยะตัวเจริญเต็มวัย  ช่องเหงือกอาจเป็นช่องหูที่ติดต่อกับโพรงหาก  ส่วนคอร์เดตพวกแรก ๆ ยังคงปรากฏเห็นได้ชัดเจน  เช่น  ปลา  เป็นตัน

                   นอกจากลักษณะสำคัญ  3  ประการดังกล่าวแล้ว  คอร์เดตยังมีลักษณะอื่น ๆ ที่เห็นได้ชัดคือ  มีหัวใจอยู่ทางด้านท้อง  (ventral)  และแบ่งเป็นห้อง ๆ มีกล้ามเนื้อเป็นมัด  ร่างกายมีสมมาตรแบบซีกซ้ายขวาเหมือนกัน  เป็นสัตว์มีเนื้อเยื่อสามชั้นและมีทางเดินอาหารแบบสมบูรณ์

                   คอร์เดตแบ่งออกเป็น  3  กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

                            1. ยูโรคอร์ดาตา  (Subphylum  Urochordata)  เป็นสัตว์ทะเลที่เกาะอยู่กับที่  สัตว์พวกนี้มีชื่อสามัญว่า  “ Sea  squirt “  ลักษณะรูปร่างคล้ายถังเหล้าองุ่นสมัยโบราณ  บางชนิดมีลำตัวใสและมีสีต่าง ๆ กัน  ตัวอย่างเช่น  เพรียงหัวหอม

                            2. เซพฟาโลคอร์ดาตา  (Subphylum  Cephalochordate)  เป็นสัตว์ทะเลรูปร่างคล้ายปลา  ลำตัวแบนทางด้านข้าง  และโปร่งใส  สามารถมองเป็นโครงสร้างภายในได้  ชอบฝังตัวอยู่ตามพื้นทะเลและโผล่หัวขึ้นมาเพื่อกินอาหาร  ตัวอย่างเช่น  แอมฟิออกซัส  (Amphioxus)

                            3. เวอร์เตบราตา  (Subphylum  Vertebrata)  เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง  มีกระโหลกหุ้มสมอง  สามารถจำแนกออกไปได้อีกหลายกลุ่มด้วยกัน  ได้แก่

                                         3.1 ปลาปากกลม  (Cyclostomata)  เป็นปลาที่ไม่มีขากรรไกร  ปลาชนิดนี้ไม่พบในประเทศไทย

                                         3.2 ปลากระดูกอ่อน  (Chondrichthyes)  มีโครงร่างเป็นกระดูกอ่อน  ได้แก่   ฉลาม   กระเบน  โรนิน  โรนัน  และฉนาก

                                         3.3 ปลากระดูกแข็ง  (Osteichthyes)  มีโครงร่างเป็นกระดูกแข็ง ได้แก่   ปลากระดูกแข็งชนิดต่าง ๆ

                                         3.4 สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ  (Amphibia)  เป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังที่ดัดแปลงครีบคู่ไปเพื่อการเคลื่อนที่บนบก  ระยะตัวอ่อนหายใจด้วยเหงือก  แต่ตัวเต็มวัยมีปอด  ได้แก่  กบ  คางคก  เขียด  ปาด  ซา  ลามานเดอร งูดิน

                                         3.5 สัตว์เลื้อยคลาน  (Reptilia)  เป็นสัตว์ที่สามารถสืบพันธุ์วางไข่บนบก   โดยไม่ต้องอาศัยแหล่งน้ำเป็นที่เจริญของตัวอ่อน  เป็นสัตว์เลือดเย็น  มีผิวหนังหยาบแห้งมีเกล็ด  และหายใจด้วยปอด   ตัวอย่างเช่น  เต่า  จระเข้  จิ้งจก   กิ้งก่า  เป็นต้น

                                         3.6 สัตว์ปีก  (Aves)  วิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลาน  มีลักษณะที่ดัดแปลงให้ดีขึ้นหลายอย่าง   เช่น  มีขน  (feather) ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย  เป็นสัตว์เลือดอุ่น  กระดูกพรุนมีน้ำหนักเบาและส่วนใหญ่สามารถบินได้ ตัวอย่างเช่น นกชนิดต่างๆ

                                         3.7 สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  (Mammalia)  เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงสุดลักษณะสำคัญของสัตว์กลุ่มนี้  คือ  มีต่อมน้ำนมมีขน(hair) ปกคลุมลำตัว  หัวใจมี  4  ห้อง  มีกล่องเสียงในลำคอ  ฟันมีอยู่  2 ชุด  ตัวอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล  เช่น  โลมา  พะยูน  ปลาวาฬ  แมวน้ำ  เป็นต้น