ความใฝ่ฝันของนักกีต้าร์ทุกคนทั้งมือใหม่และมือเก่า ย่อมต้องการมีอาวุธคู่กายที่ดี
สามารถบุกตะลุยฝ่าฝันสถานการณ์ต่างๆของทุกประเภทดนตรี ได้อย่างมีประสิทธิภาพตอบสนองการเล่นอย่างเหมาะสม
มีมาตรฐาน ดังนั้นการเลือกซื้อและดูแลจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมองข้ามไปไม่ได้เลย.....
ข้อแนะนำและเล่าสู่กันฟัง
ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นข้อคิด เสนอแนะและช่วยปรึกษาสำหรับผู้ที่คิดจะเลือกซื้อกีต้าร์ตัวใหม่สักตัวในงบประมาณที่จ่ายไปแล้วคุ้มค่าที่สุด
1.เลือกตามใจฉัน (Choose the best from your performance style)
นักกีต้าร์ทุกคนย่อมจะมีรสนิยม และแนวดนตรีการเล่นที่หลากหลายออกไป ก่อนซื้อต้องถามตัวเองว่า
จะปักหลักกับแนวใดแนวหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ ชอบรูปลักษณ์ หรือ โทนเสียงเป็นอย่างไร
บางท่านก็อาจจะเจาะจงว่าจะคิดต้องการเพียงตัวเดียว ก็สามารถครอบคลุมทุกสไตล์ และบางท่านก็อาจจะเจาะจงว่าจะเล่นแนวร็อค
พ๊อพ แจ๊ส บูลล์ หรือ คลาสิค ฯลฯ
การที่ตั้งเป้าหมาย ดังกล่าวก็จะช่วยทำให้หาข้อมูลเบื้องต้นพื้นฐาน ของแนวดังกล่าวได้ว่ามียี่ห้อใดบ้าง
รุ่นใดบ้าง ผลิตจากประเทศใด วัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนประกอบด้วยไม้ชนิดใด จุกบิด
สะพานสาย และปิกอัพรับเสียงเป็นอย่างไร
ผู้ที่เล่นร็อคก็อาจต้องการเสียงที่พุ่งแหลม หนักแน่น ไปในทางการเล่นโซโล รูปทรงที่สวยงามแบบหวือหวา
มีที่ล็อคสายและคันโยกแบบอิสระ หรือร็อคที่ต้องการความลุ่มลึก งดงาม และสละสลวยแบบรุ่นใหญ่
(ผู้มีประสบการณ์อย่างโชกโชน) อาจต้องการรูปลักษณ์และเสียงอีกแบบ นั่นขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้เล่นเป็นหลัก
นักกีต้าร์แจ๊สส่วนใหญ่อาจต้องการกีต้าร์กึ่งโปร่ง (Semi Acoustic) แบบโปร่ง(Hollow
body) มีรู f-hole คล้ายไวโอลิน ด้านหน้าเป็นการปั๊มหรือชุดไม้แบบนูนโค้ง
(Adrch Top)
หรือบางท่านอาจต้องการแบบสมัยใหม่โดยใช้กีต้าร์ลำตัวตัน ( Solid body) แบบทั่วไปแล้วนำมาปรับเสียงอาจจะผ่านหรือไม่ผ่านเอฟเฟคแปลงเสียง
หรือสร้างเสียงเฉพาะตัวขึ้นมาก็ได้
ดั้งนั้นการเลือกกีต้าร์ตามใจฉัน ก็คือการตั้งเป้าหมายของแนวทางดนตรี , เสียง
, รูปทรง รูปแบบของกีต้าร์ งบประมาณที่ตั้งไว้แล้วจึงค่อยๆศึกษาข้อมูล เดินดู และทดลองโดยไม่ต้องใจร้อน
เพราะบางครั้งกีต้าร์ที่เราต้องการอาจไม่ใช่บุพเพสันนิวาสเจอกันโดยบังเอิญ หรือ
ง่ายแค่เพียงเดินตามแหล่งใหญ่ๆ แล้วปิ๊งในทันที แต่ต้องอาศัยความพยายามหลายๆครั้ง
รู้จักเปรียบเทียบโดยไม่สนใจแรงชักจูงทางโฆษณา หรือชื่อเสียงของสินค้า อันจะช่วยให้เราตัดสินใจ
และทบทวนความรู้สึกความต้องการที่แท้จริงออกมา บรรลุขั้นแรกไปได้อย่างไม่มีข้อสงสัย
ลังเลหรือไม่แน่ใจในการตัดสินใจนี่เป็นคำตอบสุดท้าย
2. เลือกสรรฝันที่มีสาย ( Create wonderdreams come true )
เมื่อตั้งเป้าหมายได้ชัดเจนถึงความต้องการในเบื้องต้น ขั้นต่อไป คือสังเกต สัมผัส และทดลอง
กีต้าร์ที่ดีควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
สังเกต ( sight)
- ความปราณีตในการผลิต ไม่มีรอยขูดขีด จนทำำให้อากาศเข้าไปสัมผัสกับไม่ได้โดยตรง อันจะมีผลต่อเรื่องความชื้น
หรือสภาพที่เปลี่ยนไป
- รอยต่อระหว่างลำตัวกับคอดูคล้ายจะเป็นชิ้้นเดียวกัน
- ไม้ที่ใช้ควรมีลายละเอียด แสดงอายุและความพร้อมที่นำมาผลิต
- ปุ่มปรับต่างๆไม่ควรโยกคลอน ไม่มีสนิมหรืือคราบอื่นๆ
- เมื่อส่องคอ ไม่ปรากฎอาการโค้งงอ หรือแอ่่นมากจนเกินไป ตำแหน่งของสายผิดปกติและแก้ไขยาก
- มีเหล็กดัดคอกีต้าร์ฝังอยู่ในคอ และปรับแต่งได้จริง
- การพ่นสีและเคลือบแลคเกอร์มีความสม่ำเสมอไม่บางหรือหนาจนเกินไป
- สัดส่วนต้องดูแล้วมีมาตรฐานมุมและรอยเว้าาโค้งเท่ากัน
- ลูกบิดมีเกลียวแน่นหนืด ไม่คลายออกง่าย
สัมผัส ( Touching ) ทดลอง ( Playing )
เมื่อสำรวจรูปลักษณ์และความเรียบร้อย ตามมาตรฐานที่กล่าวไปตามข้อสังเกตข้างต้นแล้ว
กีต้าร์ที่ดีควรตอบสนองต่อการเล่นที่ให้ความรู้สึกเป็นกันเองง่ายต่อการสัมผัสเปลี่ยนคอร์ด
หรือไล้โน้ตบนฟิงเกอร์บอร์ด ลักษณะกายวิภาคของคนไทยก็มีส่วนที่ควรจะเลือกกีต้าร์ที่มีคอไม่หนาหรือใหญ่จนเกินไป
ถ้ากีต้าร์รู้สึกเป็นมิตรแล้วเราก็อาจจะตัดสินใจได้ไม่ยาก ที่จะเลือกมาเป็นอาวุธคู่กาย
เพราะจะช่วยพัฒนาฝีมือจากความง่ายในการเล่น ความรู้สึกอยากจะหยิบขึ้นมาฝึกซ้อม
และเพลิดเพลิน สนุกสนานในการที่จะได้เล่นกีต้าร์ตัวนั้นๆ
การดูแลรักษาหลังจากที่เลือกกีต้าร์คู่ใจได้แล้วนั้นคือ
-หลังจากเล่นให้ทำความสะอาดตัวกีต้าร์(Body) ,คอกีต้าร์ (Fingerboard) ,สายกีต้าร์
(Strings)
-ถ้ากีต้าร์ที่มีคันโยกควรเช็ดทำความสะอาดเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นให้กระดาษมีความหนาพอประมาณ
สามารถสอดด้านหลังเพื่อเป็นฐานช่วยค้ำไม่ให้คันโยก(Tremolo) ทำงานการทำเช่นนี้เป็นการป้องกันผลที่เราไม่คาดคิดหลายอย่าง.
-หาครีมหรือน้ำมันที่ใช้ทำความสะอาดสายกีต้าร์และตัวกีต้าร์ เพราะน้ำยาพวกนี้มีส่วนช่วยในการ ให้เครื่องมือหา
กิน หรือของรักของเรา ใหม่และดูดีตลอดเวลาที่เรายังคงดูแลเอาใจใส่.
-อีกประการคือการเก็บรักษา ต้องเป็นที่สะอาดแข็งแรง ไม่เก็บให้ที่ร้อนมากๆ หรือที่ๆมีความเย็นมากๆ
การใส่ในกล่องกันกระแทกนั้น นับได้ว่าเป็น ผลดีช่วยรักษาอุปกรณ์ราคาแพงของเราได้ดีมากๆ
ดั้งนั้นข้อสุดท้ายนี้จึงถือเป็นบรรทัดฐานที่นักกีต้าร์ควรจดจำและนำไปประมวลใช้ในการเลือกสรรอาวุธ
เพิ่มเติมการเลือกซื้อกีต้าร์
ก่อนที่คุณจะไปเดินหาซื้อกีต้าร์ คุณต้องตั้งมั่นในใจเสียก่อนว่า อยากเล่นกีต้าร์ชนิดไหน ไม่ใช่ว่าซื้อกีต้าร์คลาสสิค เพื่อไปเล่นเบส หรือซื้อกีต้าร์โฟล์คเพื่อนำไปเล่นคลาสสิค รับรองว่าไม่มีวันหัดได้ผลแน่ ๆ
ร้านขายกีต้าร์ในกรุงเทพฯ ที่คนนิยมไปเลือกซื้อ ส่วนใหญ่อยู่แถวเวิ้งนครเขษม ซึ่งคุณคงจะเลือกได้อย่างจุใจ เพราะมีหลายร้าน แถวหลังกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีทั้งของใหม่และของเก่าปะปนกัน เวลาซื้อต้องพิจารณาให้ดี เดี๋ยวโดนย้อมแมวแล้วจะเสียใจภายหลัง ตลอดจนร้านขายเครื่องดนตรีอื่น ๆ ที่ตั้งเดี่ยว ๆ ไม่ได้อยู่รวมกลุ่ม สำหรับต่างจังหวัดผมก็ไม่ทราบว่าจะแนะนำอย่างไรดี เพียงแต่คุณพบร้านขายเครื่องดนตรี ก็ลองเข้าไปเลือกซื้อตามวิธีที่จะนำต่อไปนี้แล้วกัน
เมื่อไปถึงร้านให้บอกชนิดของกีต้าร์และประมาณราคา ที่คุณร้องการให้เจ้าของร้านทราบเสียก่อน ว่าเป็นกีต้าร์คลาสสิค โฟล์ค หรือกีต้าร์ไฟฟ้า ในกรณีแบบเรียนที่เราจะเริ่มฝึกหัดกันนี้ ผมคิดว่าควรซื้อจำพวกกีต้าร์โฟล์ค หรือกีต้าร์สายเหล็กธรรมดา ๆ มาใช้เสียก่อน เพราะจะตรงเป้ากับหลักสูตรของเรามากกว่าอย่างอื่น
จากนั้นเราเริ่มต้นสำรวจดูโครงสร้างภายนอกของกีต้าร์เสียก่อนว่า ชำรุดเสียหายตรงไหนบ้าง เช่น คอมีรอยร้าว ลำตัวมีรอยขีดข่วน การเคลือบเงาไม่เรียบ ฯลฯ ดูจนคุณพอใจแล้วค่อยเริ่มฟังเสียง ให้คนขายในร้านขึ้นสายกีต้าร์กับ หลอดเทียบเสียง หรือเปียโน จนได้เสียงที่มาตรฐานเสียก่อน กีต้าร์บางตัว อาจขึ้นเสียงมาตรฐานไม่ได้สายจะขาดหมด ก็ขอให้เซย์กู๊ดบายกับเจ้ากีต้าร์ตัวนั้นเสียเถอะ พอขึ้นสายเรียบร้อย คุณลองดีดแรง ๆ ไปที่สาย 6 เส้นพร้อมกัน แล้วฟังดูว่าเสียงมันก้องหรือไม่ ถ้าเสียงก้องกังวานแสดงว่ากีต้าร์ตัวนี้สอบผ่านไปอีกข้อหนึ่งแล้ว ลองเปรียบเทียบกีต้าร์ในราคาเดียวกันหลายยี่ห้อ ว่าตัวไหนเสียงก้อง เสียงแตกพร่า เสียงแห้ง ๆ เหมือนลังไม้ หรือเสียงแน่นทึบ ตัวที่เสียงก้องและหนักแน่นที่สุด จะเป็นกีต้าร์ที่ดีที่สุดในอัตราราคาขนาดนั้น
ทีนี้ลองเล็งส่วนคอของกีต้าร์ว่า ตรงหรือโค้งงอบ้างหรือไม่ ปกติแล้วคอกีต้าร์จะโค้งอยู่นิดหน่อย ไม่ใช่ตรงเหมือนไม้บรรทัด มิฉะนั้นไม่ว่าคุณจะกดสายที่ตรงไหนสายก็จะแบนติดกับคอไปทั้งเส้น ดีดแล้วเกิดเสียงแผะ ๆ เพราะสายไปกระทบกับคอกีต้าร์ แต่มันจะโค้งจนถ้าไม่สังเกตก็ไม่เห็น สำหรับกีต้าร์ที่คอโค้งงอ จนคุณสังเกตเห็นนั้น ใช้ไม่ได้แน่ ! ไม่ว่าเขาจะไขคอให้ตรง ( คอกีต้าร์ถ้าโค้งงอจะไขด้วยกุญแจไขคอให้ตรงได้ ) ก็อย่ารับไว้เพราะคนที่จะไขคอให้ตรงแล้วเสียงไม่เพี้ยนนั้น ต้องเป็นคนที่มีความชำนาญจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ไขให้ตรงเป็นใช้ได้
ขั้นตอนต่อไปให้ลองดีดสายเปล่า ๆ ( Open String ) แล้วกดที่เฟร็ต 12 ของสายนั้น เทียบเสียงกันดู ปกติเสียงที่เฟร็ต 12 จะสูงกว่าเสียงจากสายเปล่านั้นอยู่ 1 เท่าเสียง ลองฟังเสียงว่า กลมกลืนกันหรือไม่ ถ้าคอดีเสียงจะกลมกลืนกันเพราะมันเป็นเสียงเดียวกัน เพียงแต่ต่างกันที่สูงต่ำเท่านั้น แต่ถ้าฟังแล้วมันกัดกันหรือทะแม่ง ๆ แสดงว่าเพี้ยนแน่ เลิกซื้อตัวนั้นดีกว่า ให้เขาหยิบตัวใหม่มาลองพอรู้ว่าเสียงไม่เพี้ยน คุณลองใช้นิ้วมือกดที่ fret (ช่องกดสาย) ทุกช่องและทุกสายจนสุดคอกีต้าร์ เพื่อตรวจดูว่า มีเสียงใดบอด (ไม่ดัง) อันเกิดจากการที่เฟร็ตนั้น ๆ ต่ำกว่าอันอื่น เมื่อกดไปแล้ว สายกลับไปโดนเฟร็ตถัดไป ทำให้เสียงบอด อย่างนี้ก็นับว่าใช้ไม่ได้อีกเช่นกัน
กีต้าร์โปร่ง ทั้งหลายแหล่นี้ แม้ว่าจะยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน แต่เสียงอาจต่างกันมาก ขอให้ตรวจดูให้ดี แล้วคุณอาจจะได้กีต้าร์เสียงดีแต่ราคาถูกมาใช้ แต่การเปรียบเทียบเสียงกรุณาอย่าไปเทียบกับกีต้าร์ที่ราคาต่างกันมาก ๆ เลย เช่น ตัวละหมื่นกับตัวละพัน เผลอ ๆ คุณจะพาลไม่ซื้อตัวละพันไปเลย เปรียบเทียบลักษณะภายนอกตามแบบที่คุณชอบเรียบร้อยแล้ว ค่อยมาเลือกกีต้าร์ยี่ห้อนั้น ๆ ทีละตัวจนพอใจ และจำไว้ด้วยว่า กีต้าร์แกะกล่องก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป ขอให้นำมาตรวจสภาพและเสียงดูอีกครั้งหนึ่งก่อน ถ้าไม่พอใจอย่าคิดซื้อง่าย ๆ เด็ดขาด ซื้อไปแล้วเสียงรกประสาทหูเปล่า ๆ
ส่วนกีต้าร์ชนิดอื่น เช่น กีต้าร์ไฟฟ้า ก็มีหลักการคัดเลือกเช่นเดียวกัน แต่คุณเลือกเฉพาะยี่ห้อ ตรวจดูเฉพาะคอ เสียงที่ไม่เพี้ยนและไม่บอดเท่านั้น ส่วนเสียงมักจะเหมือนกันหมดทุกตัว เพราะใช้อีเล็คโทรนิค ไม่ใช่เสียงที่ดังจากไม้ ยี่ห้อดี ๆ เช่น Gibson, Fender ฯลฯ ราคาจะค่อนข้างแพง แต่ก็คุ้มว่า คุณลองสอบถามราคาเอาเองจากหลาย ๆ ร้านให้แน่ใจว่าไม่โดนต้มจนแพงหูฉี่แล้วกัน