ภควัทคีตา กับ มนุษย์ต่างดาว
ปี ค.ศ. 1956 วิศวกรชาวอเมริกันคนหนึ่งซึ่งทำงานในบริษัท อิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ในรัฐโอไฮโอ ได้ใช้เครื่องดักสัญญาณจากอวกาศ ที่บริษัทของเขาประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา เพื่อทดลองดูว่าจะรับสัญญาณจากอวกาศ หรือจากจักรวาลได้หรือไม่ และก็ปรากฏว่า เทปที่อัดไว้มีเสียงของคนสนทนากัน มาจากที่ไหนไม่ทราบ แต่แน่ชัดว่ามาจากอวกาศในตำแหน่งที่ไกลจากพื้นโลกหลายพันไมล์ "เจ้าของเสียงนั้นไม่ได้มาจากโลกนี้อย่างแน่นอน เจ้าของเสียงคนนั้นได้พูดกันเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ผมไม่อาจจำแนกเพศของผู้พูดได้ ครั้งพอเงี่ยหูตั้งใจฟังเนื้อหาที่สนทนากัน เท่าที่ผมจับได้ เป็นเนื้อหาที่ปรากฏในอุปนิษัทของลัทธิฮินดู บางตอนก็เป็นเหมือนบทสนทนาในภควัตคีตา" นี่คือข้อความตอนหนึ่งในหัวเรื่อง เสียงจากจักรวาล ในหนังสือเรื่อง Fellowship ของ Brad Steiger นักเขียนเกี่ยวกับ UFO (จานบิน) และมนุษย์ต่างดาวชื่อดังชาวอเมริกัน หากเรื่องราวที่อ้างมาเป็นความจริง ปี ค.ศ. 1956 ในขณะนั้นโลกเรายังไม่สามารถพัฒนาจรวด และดาวเทียมออกไปนอกโลกได้ เสียงจากจักรวาลนั้น คงเป็นเสียงจากมนุษย์ต่างดาวเป็นแน่ แต่ทำไมพวกเขาถึงต้องถ่ายทอดเนื้อหาในอุปนิษัทและภควัทคีตาด้วยเล่า พวกเขาต้องการจะบอกอะไรให้ชาวโลกรับรู้หรือ ?
(จาก หนังสือ มังกรจักรวาล ภาค 2 เรื่อง เทพอวตาร บทที่ว่าด้วย ทางรอดใน ภควัทคีตา โดย ดร.สุวินัย ภรณวลัย) |
คัมภีร์ภควัทคีตา เป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์ มหาภารตะ เป็นคัมภีร์ที่มีชื่อเสียง และมีอิทธิพลมากที่สุด ต่อวิถีชีวิตของชาวอินเดียส่วนใหญ่ในสมัยนั้น คัมภีร์นี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 200 ปี ก่อนคริสต์ศักราช คำสอนของภควัทคีตาประกอบด้วยปรัชญา ศาสนา และจริยศาสตร์ แต่คัมภีร์ภควัทคีตา ชาวอินเดียถือว่า ไม่เป็นศรุติเหมือนอย่างพระเวทและอุปนิษัท เพียงแต่ถือว่าเป็นสัมฤติ คือเรื่องที่เป็นประเพณี ที่นับถือสืบต่อกันมา
คำว่า "ภควัทคีตา" มาจากรากศัพท์ ภควา แปลว่า พระผู้เป็นเจ้า , พระผู้มีโชค และศัพท์ว่า คีตาแปลว่า เพลง เมื่อนำเอาศัพท์ทั้งสองมารวมกันเป็น "ภควัทคีตา" จึงแปลว่า เพลงของ พระผู้เป็นเจ้า ปรัชญาภควัทคีตาเน้นในเรื่องกรรม ซึ่งมีรากฐานตั้งอยู่บนชญาณหรือความรู้ และสนับสนุน ด้วยความภักดีที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด คือพระพรหม ปรัชญาภควัทคีตาเป็นปรัชญาที่ประสานความรู้ กรรม และความภักดีเข้าด้วยกัน โดยกล่าวว่า มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่ประกอบด้วยสติปัญญา เจตจำนงและอารมณ์ สติปัญญา ก่อให้เกิดความรู้ เจตจำนงก่อให้เกิดกรรม และอารมณ์ก่อให้เกิดความภักดี ปรัชญาภควัทคีตาเป็นปรัชญาที่สอนให้คนที่มีจิตใจฟุ้งซ่านให้สงบ ทำให้บุคคลที่โง่เขลาในเรื่องจิตให้ฉลาด เป็นประมวลความรู้อันสูงสุดของมนุษย์ แสดงหน้าที่และความรักบริสุทธิ์ให้แก่คนทุกคนโดยไม่จำกัดเพศและวัย คำสอนของภควัทคีตาทุกบททุกตอน ประกอบไปด้วย หลักเกณฑ์และมีเหตุมีผลควรแก่การพิจารณา กล่าวถึงการเสียสละในระดับสูง คือการขจัดตัณหา อุปาทาน ให้หมดสิ้นด้วยวิธีปฏิบัติตนเป็นโยคี ทำการบำเพ็ญเพียรเพื่อความรู้เท่าทันจิตอาตมัน โดยใช้หลักปรัชญาที่สำคัญ 3 ประการ คือ ความรู้ หน้าที่ และความภักดี บุคคลสามารถเข้าถึงโมกษะหรือการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ได้โดยวิธีที่แตกต่างกัน กล่าวคือ บางคนอาจเข้าถึงโมกษะด้วยความรู้ บางคนเข้าถึงด้วยกรรม และบางคน อาจเข้าถึงด้วยความภักดี คำสอนนี้เรียกว่า โยคะ" ซึ่งมี 3 ประการคือ 1. ชญาณโยคะ หมายถึง วิธีเข้าถึงอันติมะสัจจะด้วยความรู้ คือการรู้แจ้งความจริงว่า ชีวาตมัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรหมัน ผู้บำเพ็ญเพียรที่เรียกว่า "โยคี" จะต้องอาศัยความรู้เป็นแนวทางแห่งการเข้าถึง โดยการขจัดกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไป
2. กรรมโยคะ หมายถึง การกระทำ ปรัชญาภควัทคีตา ถือว่า เอกภพดำรงอยู่ได้โดยการกระทำกิจกรรมต่างๆ ที่มนุษย์กระทำจะเป็นเครื่องช่วยให้เอกภาพดำรงอยู่ได้ ภควัทคีตามีอุดมคติในเรื่องของกรรมว่า "การปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ ด้วยความรู้สึกปล่อยวาง" หมายถึง การกระทำที่ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนใดๆ โดยตระหนักว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ และเป็นการกระทำ เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นหรือเพื่อโลก 3. ภักติโยคะ หมายถึง การประกอบความภักดี คือการให้บริการแก่พระผู้เป็นเจ้า เป็นการกระทำด้วยความจงรักภักดีด้วยจิตใจบริสุทธิ์ โดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทนใดๆ ภควัทคีตากล่าวว่า เมื่อความจงรักภักดีสมบูรณ์เต็มที่แล้ว บุคคลที่มีความภักดี ก็จะเข้าไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า ตามทัศนะของภควัทคีตา ชญาณหรือความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนกรรมและความภักดีนั้น มีความสำคัญรองลงมา ทั้งสองอย่างนี้เป็นเพียงการแสดงออกของความรู้ ถ้าปราศจากความรู้แล้ว การหลุดพ้น (โมกษะ) การละความยึดมั่นถือมั่นในการกระทำ และการจงรักภักดีต่อพระเจ้า โดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน ก็ย่อมเกิดขึ้นมาไม่ได้ เกี่ยวกับที่มาหรือบ่อเกิดของความรู้ตามทัศนะของภควัทคีตานั้น พระกฤษณะทรงติเตียน ความรู้ทางประสาทสัมผัส และความรู้จากการคิดหาเหตุผล แต่ทรงยกย่องความรู้ที่เกิดจากการหยั่งรู้ภายในที่เรียกว่า "อัชฌัตติญาณ" และความรู้ชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเอาชนะประสาทสัมผัส คือการบำเพ็ญโยคะ ซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นปรมันได้ และเข้าไปรวมอยู่กับปรมาตมันได้ เกี่ยวกับอาตมันตามทัศนะคติของภควัทคีตา อาตมัน(ตัวตน) เป็นสิ่งที่อยู่ยงคงกระพัน เที่ยงแท้ไม่มีการเปลี่ยนแปร ไม่เสื่อมสลาย ไม่สามารถทำลายให้สูญสลายไปได้ ไม่มีเกิด ไม่มีดับ ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร ส่วนสิ่งที่ไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปร มีการเกิด ดำรงอยู่และเสื่อมสลายไปนั้นก็คือ ร่างกาย อาตมันอาศัยร่างกาย แต่เมื่อร่างกายเสื่อมสลาย หรือแตกดับไปด้วยมันจะเคลื่อนออกจากร่างกายเก่าที่แตกดับ ไปอาศัยอยู่กับร่างกายใหม่ เปรียบเสมือนคนเราถอดเสื้อผ้าชุดเก่าออก แล้วสวมใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ เมื่อใดบุคคลรู้แจ้ง ถึงสภาวะแห่งความเป็นจริงของพรหมัน ประจักษ์ถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างชีวาตมันกับพรหมัน เมื่อนั้น เขาก็จะบรรลุโมกษะ(หลุดพ้น)
(ดร.ทองหล่อ วงษ์ธรรมา,ปรัชญาอินเดีย,โอเดียนสโตร์ กรุงเทพฯ,พิมพ์ครั้งที่1 2535) |
วิจารณ์ ภควัทคีตา เกี่ยวกับภควัทคีตา เป็นปรัชญาที่เน้นไปถึงเรื่องของ การหลุดพ้น โดยไม่จำเป็นต้องออกบวช หรือตัดขาดจากทางโลก หรือสังคม เป็นการฝึกฝนจิตโดยวิธีการ ทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน โดยปล่อยวาง ไม่ยึดติด ผมเห็นว่า เป็นแนวปรัชญาที่ดีแนวทางหนึ่ง เพราะเป็น "ทาง" แห่งการหลุดพ้น ซึ่งยังสามารถทำประโยชน์ในสังคม และเพื่อสังคมได้ แต่หากจะนำมาเปรียบกับทางของพุทธศาสนา พุทธศาสนาดีตรงที่ว่า การแสวงหาการหลุดพ้นโดยออกบวชนั้น เป็นการปฏิบัติจิต โดยตัดกิเลสทางโลกออกไปก่อน เพื่อความสงบของจิต แต่หนทางของทั้งสอง(สาม ถ้ารวมมนุษย์ต่างดาว) ก็เพื่อแสวงหาสิ่งเดียวกัน คือ รวม "จิต" เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล |