การรับรู้ของประชาชน ต่อโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค
ศึกษากรณี: ตำบลมะบ้า กิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด
โดย นายบูชา บัวภา
สถานีอนามัยบ้านหวายหลึม
ตำบลมะบ้า กิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด 2544
================
กิตติกรรมประกาศ
การศึกษาวิจัยนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ด้วยความช่วยเหลือความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากผู้มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยทุกคน
ผู้วิจัยขอขอบคุณ นายสำราญ นามเดช สาธารณสุขกิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง และคณะเจ้าหน้าที่ ที่ให้กำลังใจ และการสนับสนุนทั้งด้าน วัสดุ/ครุภัณฑ์สำนักงาน และช่วยเหลือในการเก็บข้อมูลเพื่อทดสอบคุณภาพของเครื่องมือ
ขอขอบคุณพนักงานสัมภาษณ์ ที่จัดเก็บข้อมูลได้ถูกต้องครบถ้วน
ขอขอบคุณตัวแทนครัวเรือนกลุ่มตัวอย่างทุกท่าน ที่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงและครบถ้วน
สุดท้ายขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ซึ่งผู้วิจัยไม่สามารถกล่าวนามได้ครบถ้วน
ผู้วิจัย
17 กันยายน 2544
==================
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องกาทราบว่า ประชาชนในตำบลมะบ้ามีการรับรู้ต่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค อยู่ในระดับใด และการรับรู้แตกต่างกันตามปัจจัยลักษณะส่วนบุคคลใดบ้าง กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนในตำบลมะบ้า ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบมีระบบ จำนวน 129 คน เครื่องมือในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผลการวิจัยพบว่า
กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 70 ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จากหอกระจายข่าวสารประจำหมู่บ้าน, อสม, โทรทัศน์ และป้ายประชาสัมพันธ์ ประชาชนร้อยละ 86.8 ได้รับบัตรทองแล้ว และร้อยละ 98.2 ได้รับบัตรทองที่ถูกต้อง ประชาชนรับรู้โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับดี การรับรู้โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 กับลักษณะส่วนบุคคลของกลุ่มตัวอย่างทั้งในเรื่องเพศ อายุ สถานภาพสมรส อาชีพ ระดับการศึกษา สถานภาพในครอบครัวและชุมชน ประเภทบัตรสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล และการได้รับบัตรทองแล้ว
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 52 บัญญัติไว้ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับบริการด้านรักษาพยาบาล ที่ได้มาตรฐาน ผู้ยากไร้ได้รับบริการจากสถานพยาบาลของรัฐโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ..."
จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 52 นี้ มีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
1.การรับบริการด้านสุขภาพ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่บุคคลจะได้รับ ไม่ใช่สิ่งที่รัฐจัดให้หรือสงเคราะห์เกื้อกูล
2.ความเสมอภาคทุกคนย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับบริการด้านสุขภาพ ไม่ว่ายากดีมีจน
3.ผู้ยากไร้ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ยากจน คนพิการ ฯลฯ ได้รับบริการด้านรักษาพยาบาล จากสถานพยาบาลของรัฐ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
4.ประชาชนต้องได้รับสถานบริการด้านสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันว่า ประชาชนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานบริการด้านสุขภาพ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน และจัดให้มีการประเมินคุณภาพมาตรฐานของ
และเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2544 พรรคการเมือง ได้มีการนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 52 ไปกำหนดเป็นนโยบายของพรรค ตามที่ทราบกันโดยทั่วไป คือ "โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค" และพรรคก็ได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งต่อมานโยบาย โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เป็นภารกิจของรัฐบาล ที่จะต้องดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จ โดยรัฐบาลได้จัดงบประมาณสนับสนุนเป็นเงิน 1,202.40 บาท ต่อหัวประชากร เพื่อให้สถานพยาบาลสามารถจัดบริการแก่ประชาชนได้
ในการดำเนินงานโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค นอกจากจะส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาล ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ได้สะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ยังเน้นในเรื่อง การสร้างสุขภาพ (การส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค) ทั้งรายบุคคลและครอบครัว เช่น ผู้ที่ไปรับบริการ ฝากท้องตรวจครรภ์ การคุมกำเนิด การฉีดวัคซีนตามแผนการให้วัคซีนของชาติ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนไปรับบริการมากๆ เพื่อลดการเจ็บป่วยและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
จังหวัดร้อยเอ็ดได้เข้าร่วมโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นผลให้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง ต้องให้บริการแก่ประชาชน ตามโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค
สถานีอนามัยบ้านหวายหลึม เป็นสถานบริการด้านรักษาพยาบาลระดับต้น ซึ่งร่วมเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ตำบลมะบ้า กิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด
ในระยะเริ่มต้นของโครงการ ทางสถานีอนามัยบ้านหวายหลึม ซึ่งเป็นเครือข่ายสถานบริการที่ให้บริการในเขตพื้นที่ตำบลมะบ้า กิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนไปรับบริการได้ถูกต้องตามขั้นตอน
และเพื่อทราบว่า ประชาชนมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคในระดับใด และมีปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างไร ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาวิจัยเรื่อง "การรับรู้ของประชาชนต่อโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค" ขึ้น ซึ่งรูปแบบการศึกษาวิจัยเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อนำผลการศึกษามาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาการดำเนินงานโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคต่อไป
วัตถุประสงค์
1.เพื่อศึกษาการรับรู้ของประชาชนต่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค อยู่ในระดับใด
2.เพื่อศึกษ าความแตกต่างระดับการรับรู้ต่อโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคกับลักษณะบุคคลของประชาชนในตำบลหวายหลึม
ขอบเขตของการวิจัย
1.กลุ่มประชากรเป้าหมายของการวิจัย ได้แก่ ตัวแทนครัวเรือน ในเขตตำบลมะบ้า จำนวนทั้งสิ้น 850 ครัวเรือน (ข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ ณ 30 ส.ค. 2544)
2.ระยะเวลาในการทำวิจัย อยู่ระหว่างเดือน กันยายน 2544 การเก็บข้อมูลอยู่ระหว่าง 1-30 กันยายน 2544
รูปแบบการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Reseach) เก็บข้อมูลแบบ ณ จุดเวลาใด เวลาหนึ่ง (Cross-sectional at time) เพื่อต้องการทราบว่า ประชาชนมีการรับรู้ต่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอยู่ในระดับใด และมีความแตกต่างตามตัวแปรลักษณะบุคคลใดบ้าง
ประชากรกลุ่มเป้าหมาย/ กลุ่มตัวอย่าง
ในการวิจัยครั้งนี้ ประชากรเป้าหมายได้แก่ ประชาชนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ที่เป็นตัวแทนครัวเรือนในเขตพื้นที่ตำบล มะบ้า กิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด
การสุ่มตัวอย่าง
1.จัดทำบัญชีรายชื่อเลขที่หมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ จากฐานข้อมูลประชากร (โปรแกรมสำเร็จรูป HCIS)
2.สุ่มตัวอย่างบ้านเลขที่ จากจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 850 ครัวเรือน โดยกำหนดจำนวนตัวอย่างตามเกณฑ์ คือจำนวนประชากรเป็นหลักร้อย ใช้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15 โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 127 คน (เก็บข้อมูลได้ 129 คน)
3.จัดทำบัญชีรายชื่อหลังคาเรือนที่สุ่มได้แต่ละหมู่บ้าน
4.สุ่มตัวอย่าง สมาชิกในหลังคาเรือนที่สุ่มได้ โดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่ายโดยการจับสลาก
การเก็บรวบรวมข้อมูล
หลังจากกำหนดสิ่งต่างๆเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลตามขั้นตอนต่อไปนี้
1.เตรียมพร้อมเครื่องมือซึ่งในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสัมภาษณ์ ที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้น
2.ชี้แจงพนักงานเก็บข้อมูล จำนวน 1 คน ซึ่งพนักงานเก็บข้อมูลเป็นนักศึกษา หลักสูตรอนุปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต วิชาเอกการจัดการทั่วไป สถาบันราชภัฎร้อยเอ็ด
3.เก็บรวบรวมข้อมูล กลุ่มตัวอย่างและตัวอย่างที่สุ่มได้
4.ตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วน ของข้อมูล ลงรหัส
5.บันทึกข้อมูลแบบสัมภาษณ์ ในเครื่องคอมพิวเตอร์
สรุปผลการวิจัย
ลักษณะส่วนบุคคลและกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งเป็นเพศหญิง (ร้อยละ 58.1) อายุเฉลี่ย 45 ปี มากกว่า 4 ใน 5 มีสถานภาพสมรสคู่ (ร้อยละ 86.0) 3 ใน 4 มีการศึกษาระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 75.2) มากกว่า 4 ใน 5 มีอาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 83.7) สถานภาพในครอบครัวเกือบครึ่งเป็นคู่สมรสหัวหน้าครอบครัว (ร้อยละ 45.0) ส่วนสถานภาพในชุมชนนั้น มากกว่า 4 ใน 5 เป็นประชาชนทั่วไป (ร้อยละ 82.2) มากกว่าครึ่งมีบัตรทอง ยกเว้นค่าธรรมเนียม (ร้อยละ 56.6) ส่วนข้อมูลข่าวสารโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค มากกว่าร้อยละ 70 ได้รับข่าวสารจากหอกระจายข่าวสารประจำหมู่บ้าน, อสม., โทรทัศน์ และป้ายประชาสัมพันธ์ ชาวบ้านมากกว่า 4 ใน 5 ได้รับบัตรทองแล้ว (ร้อยละ 86.8) และเกือบทั้งหมดบัตรทองที่ได้รับมีความถูกต้อง (ร้อยละ 98.2)
การรับรู้ของประชาชนต่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
ประชาชนรับรู้โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับดี การรับรู้โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 กับลักษณะส่วนบุคคลของกลุ่มตัวอย่างทั้งในเรื่องเพศ อายุ สถานภาพสมรส อาชีพ ระดับการศึกษา สถานภาพในครอบครัว และชุมชน ประเภทบัตรสวัสดิภาพด้านการรักษาพยาบาล และการได้รับบัตรทองแล้ว
อภิปรายผลการวิจัย
จากการวิจัยครั้งนี้พบว่า ประชาชนในตำบลมะบ้า กิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด รับรู้เกี่ยวกับโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับดี แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อเปรียบเทียบกับลักษณะส่วนบุคคลที่แตกต่างกันของประชากรกลุ่มตัวอย่าง ทั้งทางด้านอายุ ระดับการศึกษา สถานภาพในครอบครัว เพศ สถานภาพสมรส อาชีพ ประเภทบัตรสวัสดิการด้านการรักษา และการได้รับบัตรทอง 30 บาทแล้ว ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า การประชาสัมพันธ์โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ได้มีการประชาสัมพันธ์ติดต่อกันมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับรู้กันทั่วหน้า มาระยะหลังพรรคการเมืองที่ชูประเด็นการรักษาพยาบาล 30 บาท รักษาทุกโรคได้เป็นรัฐบาล จึงได้ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ยิ่งมาระยะหลังได้มีการเผยแพร่ข่าวสารตามสื่อต่างๆกันมาก โดยเฉพาะมีป้านประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่กระจายอยู่ทุกหมู่บ้าน การประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายข่าวสารประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านกลุ่มที่มีสิทธิในการใช้บริการบัตรทอง 30 บาท ได้ไปขึ้นทะเบียนที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านกันถ้วนหน้า
โดยสรุปแล้ว การรับรู้ของประชาชนในตำบลมะบ้า ต่อโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค โดยเฉลี่ยอยู่ระดับดีนั้น เป็นเพราะการรักษาพยาบาลของประชาชนนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคน นอกจากนั้นยังเกี่ยวเนื่องกับงบประมาณจำนวนมากที่สถานบริการสาธารณสุขจะได้รับ การที่ประชาชนรับรู้เรื่องนี้ได้มาก จะเป็นผลดีกับสถานบริการสาธารณสุขผู้ให้บริการ ดังนั้น สถานบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทุกแห่งจึงได้เร่งระดมเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารเรื่องสิทธิประโยชน์ การเลือกใช้สถานบริการ ขั้นตอนการใช้บริการ แก่ประชาชน จึงทำให้การรับรู้ในเรื่องนี้อยู่ในระดับดีได้
ข้อเสนอแนะ
ถึงแม้ว่า จากการวิจัยจะพบว่า ประชาชนในเขตตำบลมะบ้า กิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด มีการรับรู้โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับดี แต่ก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ได้รับบัตรทอง 30 บาท หรือที่ได้รับแล้วแต่ยังไม่ถูกต้อง ตลอดทั้งการกระจายข่าวสารโครงการนี้ ส่วนมากจะผ่านทางสื่อที่ทางราชการส่งให้ เช่น หอกระจายข่าวสารประจำหมู่บ้าน ซึ่งจากการสังเกตของผู้วิจัยจะเห็นว่า การรับรู้ข่าวสารโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคของประชาชนนั้น ส่วนมากจะเป็นเพียงบอกให้ทราบ หรือการบอกให้ชาวบ้านไปลงทะเบียน ส่วนสิทธิประโยชน์ต่างๆ เงื่อนไขอื่นๆ ยังไม่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบมากนัก จากการวิจัยพบว่า ประชาชนร้อยละ 10.1 , 26.4 และ 27.9 เข้าใจว่า ข้าราชการ ผู้มีบัตรประกันสังคม และผู้ประสบภัยจากรถ สามารถใช้สิทธิตามโครงการนี้ได้ ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ถ้าประชาชนมารับบริการจริงๆ อาจะเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ ดังนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ปฏิบัติงานที่สถานีอนามัยตำบลมะบ้า กิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งในเรื่องสิทธิประโยชน์ของการใช้บัตร ขั้นตอนการใช้บัตร เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาในภายหลัง