สถานที่น่าสนใจอื่นๆ
กุฏิสมเด็จ
     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าสมเด็จพระวันรัต ( ฑิต อุทโย ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งแก่วัดเบญจมบพิตร โดยเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ของภิกษุสามเณรวัดเบญจมบพิตรโดยมาก และรับสนองพระราชประสงค์ในการคัดเลือกภิกษุสามเณรไปอยู่วัดเบญจมบพิตรรุ่นแรก จำนวนทั้งสิ้น ๓๓ รูปแล้ว ยังได้ไปพักค้างแรมที่วัดเบญจมบพิตรเป็นประจำ เพื่อช่วยดูแลทั้งการปกครองและการศึกษาในระยะเริ่มแรกโดยพักอยู่ที่ “ พระที่นั่งทรงผนวช” ซึ่งเป็นที่คับแคบ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างกุฎีขึ้นหลังหนึ่งติดกับวิหารสมเด็จด้านใต้เป็นกุฎีที่ใหญ่ที่สุดในวัดเบญจมบพิตร ด้วยทุนทรัพย์ของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน เป็นกุฎี ๒ ชั้น ก่ออิฐถือปูน พื้นล่างยกปูไม้ทั้งหมด มี ๑๔ ห้อง มีมุขยื่นด้านทิศเหนือเป็น ๓ มุขเฉพาะมุขกลางเชื่อมต่อกับวิหารสมเด็จพระราชทานนามว่า “ กุฎีสมเด็จ” ตามพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นที่พักของสมเด็จพระวันรัต ทรงประกาศพระราชอุทิศถวายเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๔๖ ในคราวเดียวกับกุฎีวรรณอุทิศ แต่เป็นการนอกเหนือจากกุฎีที่ทรงสร้างสำหรับภิกษุสามเณรประจำปี งบประมาณค่าก่อสร้าง ๒๙,๕๙๒ บาท
     ในการก่อสร้าง “ กุฎิสมเด็จ” ขึ้นนี้ นอกจากพระราชประสงค์ให้เป็นที่พักของสมเด็จพระวันรัตแล้ว ยังมีพระราชประสงค์อื่นอีก คือ สำหรับเป็นที่พักของ “ อาคันตุกะ”หรือ “ พระบวชสึกออกพรรษา” คือ พระนวกะอีกด้วย
ศาลาบัณณรสภาค
     ตั้งอยู่ติดกำแพง ด้านตะวันออก เป็นศาลาจตุรมุขโถง ชั้นเดียว โดยมุขด้านทิศเหนือและใต้ขยายยาวพื้นหินอ่อนตลอดถึงบันได ผนังก่ออิฐถือปูนสร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ของพระโอรสธิดา เจ้าจอมและพระญาติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมและพระญาติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสิ้น ๑๕ ราย มี “ พระนางเจ้าสุขุมมาลมารศรี พระราชเทวี, สมเด็จพระลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต, พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา, เจ้าจอมมารดาอ่อน “ เป็นต้น
     เพราะเหตุที่สร้างด้วยทุนทรัพย์ ๑๕ ส่วน จึงพระราชทานนามว่า “ ศาลาบัณณรสภาค” สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ สำเร็จแล้วทรงประกาศพระบรมราชูทิศถวาย เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๔ เพื่อใช้เป็นหอฉัน สิ้นค่าก่อสร้าง ๑๓,๑๖๔ บาท
     เดิมศาลาหลังนี้ได้ใช้เป็นหอฉันของภิกษุสามเณรตามพระราชประสงค์ ทั้งเป็นพระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ ในวาระเสด็จพระราชดำเนิน ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในโอกาสต่าง ๆ ในวัดเบญจมบพิตร และเป็นที่ตั้งพระศพหม่อมเจ้าชายเกียรติกำจร และหม่อมเจ้าชายเกียรติกำจร และหม่อมเจ้าชายมาโนชมานพ ในพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ( พ.ศ. ๒๔๔๕ ) ด้วย นอกจากนี้ยังเคยใช้เป็นสถานศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณร
     ปัจจุบันใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลต่าง ๆ เป็นครั้งคราว ทั้งที่เป็นการกุศลภายในวัดและการกุศลสงเคราะห์พุทธศาสนิกชนทั่วไปและที่สำคัญที่สุดภายในมุขตะวันออก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณที่ไม่ได้ขนาดจะประดิษฐาน ณ พระระเบียงพระอุโบสถได้ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ศาลาบัณณรสภาคนี้ส่วนหนึ่ง จำนวน ๘ องค์ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ล้วนแต่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอย่างยิ่ง
ศาลาเบญจพิศภาค
     ตั้งอยู่ระหว่างกำแพงด้านตะวันออกกับแนวกุฎี เป็นตึกชั้นเดียวแบ่งเป็น ๒ ตอนช่วงในด้านทิศใต้ พื้นปูไม้ ผนังก่ออิฐถือปูน ช่วงนอกด้านทิศเหนือ พื้นปูกระเบื้อง ไม่มี ผนัง ( ปัจจุบันปรับปรุงใหม่ ก่อผนังรอบ ) สร้างด้วยทุนทรัพย์ของพระโอรสธิดา เจ้าจอม และพระญาติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม ๒๕ ส่วน มี “ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์, พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ, พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุ, หม่อมเจ้าเกียรติกำจร, หม่อมเจ้านักขัตรมงคล, พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า อุรุพงษ์รัชสมโภช” เป็นต้น
     ด้วยเหตุที่สร้างด้วยทุนทรัพย์ ๒๕ ส่วน จึงพระราชทานนามว่า “ ศาลาเบญจพิศภาค ” สร้างเสร็จทรงประกาศพระบรมราชูทิศถวาย เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๔๔ พร้อมกับศาลาบัณณรสภาค
     พระราชประสงค์ที่โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างศาลาเบญจพิศภาค คือ ใช้เป็นโรงเก็บของและโรงงานประจำวัด สิ้นค่าก่อสร้าง ๖,๒๒๖ บาท ปัจจุบันก็ยังใช้เป็นที่เก็บของสงฆ์ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งจัดเป็นที่อยู่ของภิกษุสามเณร
ถนนศิลาในวัด
     ภายในวัดเบญจมบพิตร โปรดเกล้า ฯ ให้วางแบบแปลนแผนผัง ตัดถนนเป็นเส้นตรงถึงเสนาสนะทุกแห่งอย่างเป็นระเบียบทั้งฝั่งพุทธาวาสและสังฆวาส และถนนเลียบกำแพงวัดด้านในโดยรอบเป็นถนนปูแผ่นศิลายาแนวทั้งหมดพร้อมก่อท่อทำรางน้ำข้างถนนให้ถ่ายเทได้ดี ปลูกต้นไม้สองข้างทางถนนให้ร่มรื่น เช่น ต้นพิกุล ต้นสารภี เป็นต้น
     บรรดาแผ่นศิลาที่ปูถนนในวัดเบญจมบพิตร เป็นแผ่นศิลาโบราณ ที่โปรดให้นำมาจากที่ต่าง ๆ ส่วนหนึ่งได้มาจากพระราชวังเดิม ตามรายการที่ปรากฏมีอย่างใหญ่หน้า ๑ ศอก ๔ นิ้ว ยาวศอกคืบ จำนวน ๗๐๐ แผ่น อย่างเล็ก หนา ๒๐ นิ้ว ยาว ๑ ศอก ๑๐๐ แผ่น
     อีกส่วนหนึ่งเป็นศิลาปูพื้นวังกรมพระพิพิธ อย่างใหญ่ หน้า ๑ ศอก ๔ นิ้ว ยาว ๑ ศอกคืบ จำนวน ๑๐๐ แผ่นอย่าง เล็ก หน้า ๒๐ นิ้วยาว ๑ ศอกจำนวน ๕๐ แผ่น
     นอกจากนี้ยังมีผู้ถวายอีก เช่น คุณปาน มารดาพระพรหมบริรักษ์ถวายศิลา หนานิ้วเศษ กว้าง ๑๙ นิ้ว สี่เหลี่ยม จำนวน ๒๒๕ แผ่น
     ร้อยโทพริ้งกับนายหั้นน้องชาย ถวายศิลากว้าง ๑ ศอก ๔ เหลี่ยม ๑๐๐ แผ่นหนา ๒ นิ้ว กว้าง ๒ ศอกคืบ ยาว ๔ ศอก ๑ แผ่น
     ส่วนศิลาปูถนนสองข้างพระอุโบสถนำมาจากพระราชวังบวร เป็นศิลาแก่อย่างดำ แต่มีจำนวนไม่พอใช้จึงโปรดเกล้า ฯ ให้นำมาจากบ้านพระยารัตนาธิเบศร ๔๑๐ แผ่น จากวัดอรุณหน้าโรงพระแก้วเดิม ๒๒๔ แผ่น เฉพาะศิลาที่วัดอรุณ โปรดเกล้า ฯ ให้แลกเปลี่ยน โดยทรงกำชับให้ “ แลกเปลี่ยนด้วยราคาเสมอกัน อย่าให้ราคาต่ำไป”
     เฉพาะที่บ้านพระยารัตนาธิเบศร ปรากฏว่าได้ขายให้ “ มหาดไทย” ไว้ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ไปติดต่อจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
     ปัจจุบันถนนในวัดเบญจมบพิตร คงได้รับการบำรุงรักษาไว้ ในสภาพเดิมเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพุทธาวาสทั้งหมดเป็นถนนปูแผ่นศิลายาแนวเช่นเดิม ในส่วนสังฆวาส มีบางสายที่ต้องเปลี่ยน เป็นผูกเหล็กเทคอนกรีตแบบสมัยใหม่ เพราะความจำเป็นบางประการ
กุฎิภาคต่าง ๆ
- กุฎิไตรภาค กุฎิเดี่ยว ด้านตะวันตกแห่งกุฎีแถว แถวหน้า ๒ ห้อง พระสงฆ์อยู่ได้รูปหนึ่ง
หมายเลข ๓๑ หลังหนึ่ง
- กุฎิเบญจภาค กุฎิเดี่ยว ด้านตะวันตกแห่งกุฎีแถว แถวกลาง ๒ ห้อง พระสงฆ์อยู่ได้หนึ่งรูป
หมายเลข ๓๒ หลังหนี่ง
- กุฎิสัตตภาค กุฎิแถว แถวหน้า ด้านตะวันตก ๑๐ ห้องพระสงฆ์สามเณรอยู่ได้ ๕ รูป
หมายเลข ๒๖,๒๗,๒๘,๒๙,๓๐ หลังหนึ่ง
- กุฎินพภาค กุฎิแถว แถวหน้า ด้านตะวันออก ๑๐ ห้อง พระสงฆ์สามเณรอยู่ได้ ๕ รูป
หมายเลข ๒๑,๒๒,๒๓,๒๔,๒๕ หลังหนึ่ง
- กุฎิทศภาค กุฎิแถว แถวกลาง ด้านตะวันตก ๑๐ ห้อง พระสงฆ์สามเณรอยู่ได้ ๕ รูป
หมายเลข ๑๖,๑๗,๑๘,๑๙,๒๐ หลังหนึ่ง
- กุฎิทวาทสภาค กุฎิแถว แถวกลาง ด้านตะวันออก ๑๐ พระสงฆ์สามเณรอยู่ได้ ๕ รูป
หมายเลข ๑๑,๑๒,๑๓,๑๔,๑๕ หลังหนึ่ง
- กุฎิจุททสภาค กุฎิแถว แถวหลัง ด้านตะวันตก ๑๐ ห้องพระสงฆ์สามเณรอยู่ได้ ๕ รูป
หมายเลข ๖,๗,๘,๙,๑๐ หลังหนึ่ง
- กุฎิโสฬสภาค กุฎิแถว แถวหน้า ด้านตะวันออก ๑๐ ห้อง พระสงฆ์สามเณรอยู่ได้ ๕ รูป
หมายเลข ๑,๒,๓,๔,๕ หลังหนึ่ง

กุฎิทั้งหมดมีรายพระนาม และ นามผู้บริจาคทรัพย์สร้าง แจ้งอยู่ในอักษรจารึกแผ่นศิลา
     กุฎิไตรภาค ผู้มีพระนามบริจาคสร้าง คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอัจฉพรรณีรัชกัญญา , พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่น ราชบุรีดิเรกฤทธ์ ,เจ้าจอมมารดาตลับ
     กุฎินพภาค สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี , สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวลัยอลงกรณ์, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช , สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร , สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ , กรมขุนพิษนุโลกประชานาถ
     กุฎิโสฬสภาค พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์
     กุฎิทศภาค พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี , สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพิตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนมไหสุริยสงขลา , พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าอาภากรเกียรติวงศ์

หมายเหตุ : พระภิกษุสามเณรประจำกุฏิและการปวารณา
     รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์สามเณรที่มาอยู่วัดนี้ เป็นที่ไกลจากโคจรบิณฑบาต สมควรมีผู้ปวารณารับอุปการะพระสงฆ์สามเณร เพื่อมิให้มีความลำบากเรื่องภัตตาหาร มีพระบรมราชโองการดำรัสบอกบุญในพระราชวงศ์ มีผู้ศรัทธารับอุปการะครบทั้งพระภิกษุและสามเณร ให้ผู้มีศรัทธารับอุปการะจับฉลากได้นามรูปใดก็อุปการะรูปนั้นจนครบ ๑ ปี มีรายนามดังต่อไปนี้
     - พระเทพมุนี พระที่นั่งทรงผนวช ( พระกุฏิ ) เจ้าจอมมารดาเรือน
     - พระครูใบฎีกาบุศย์ กุฎีโสฬสภาค ( กุฏิ ๑ ) สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี
     - กุฎีโสฬสภาค ( กุฏิ ๒ ) พระนางเจ้าพระราชเทวี
     - กุฎีโสฬสภาค ( กุฏิ ๓ ) เจ้าจอมมารดารัศมี
     - กุฎีโสฬสภาค ( กุฏิ ๔ ) เจ้าจอมมารดาชุ่ม
     - กุฎิสัตตภาค ( กุฏิ ๒๖ ) สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
     - กุฎิสัตตภาค (กุฏิ ๒๗) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การพระเมรุ และ เมรุ
     - พระเมรุที่สนามหน้าโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้มีการพระราชทานเพลิงพระศพ หม่อมเจ้าชายเกียรติกำจร และหม่อมเจ้าชายมาโนชมานพ ในพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ากิตติยากรวรลักษณ์
     - สนามตรงหลังพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร มีการพระราชทานเพลิงศพ ๔ พระองค์ รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระเมรุเครื่องยอดดาดสีตามแบบพระเมรุท้องสนามหลวง สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพราชวงศ์ โดยพระราชทานเพลิงพระศพ จอมพล พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นพระศพแรก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ เสนาบดีที่ปรึกษา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรงหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ และ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ( พระชนนีสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ )
     - ในสมัย รัชกาลที่ ๗ มีการพระราชทานเพลิงศพ ที่สนามหน้าศาลาบัณณรศภาค ๒๔ พระองค์ มีองค์ที่สำคัญ คือ สมเด็จพระวันรัต ( จ่าย ปุณณทัตตเถร ) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร องค์ปฐม
     - ในสมัย รัชกาลที่ ๘ มีการพระราชทานเพลิงศพองค์ที่สำคัญคือ มหาอำมาตย์โท เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ( ปลื้ม สุจริตกุล ) พลตรีหม่อมเจ้านิลประภัสสร เกษมศรี
     - ในสมัย รัชกาลที่ ๙ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เชฏฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตี พันตรี หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ อดีต รมต. คมนาคม
     - ใน รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ตั้งพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ณ พระที่นั่งทรงธรรม
     - ใน รัชกาลที่ ๙ โปรดให้ตั้งพระศพ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นพระศพแรก และตั้งพระศพ พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญของชาติหลายราย เช่น สมเด็จพระสังฆราช กิตติโสภณมหาเถระ , จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี

 


Copyright © ๒๕๔๗ ALL RIGHTS RESERVED