ศีล
ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน
ระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ
พระธรรมบทคำกลอน
อนุสรณ์ในฉลองพระชนมายุครบ ๗๒
พรรษา
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช
(กิตติโสภณมหาเถระ)
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๐๔
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า | เพราะธรรมอาศัยจิตคิดเป็นฐาน |
ใจประเสริญเลิศสฤษฎ์ซึ่งกิจการ | บรรดางานย่อมสัมฤทธิ์ด้วยจิตดล |
หากคนมีใจหมองเพราะครองโทษ | ย่อมพูดโฉดทำชั่วทั่วทุกหน |
ทุกข์ย่อมติดตามต้องสนองตน | ดุจล้อวนตามเต้ารอยเท้าโค ฯ |
พระครูกิตติฌานวิสุทธิ์ |
|
ใจเป็นหัวหน้านำให้ธรรมเกิด | แสนประเสริฐสุดจรัสประภัสสร |
เครื่องสัมฤทธิ์บุญกรรมกลัมพร | เป็นอากรกิจจาบรรดามี |
หากคนใจใสสะอาดปราศโทษกล้ำ | ย่อมพูดทำเป็นสง่าสีราศี |
สุขย่อมตามเขาไปเพราะใจดี | ดังเงาที่ตามตนทุกหนไป ฯ |
พระมหาพูนศักดิ์ อินฺทฏฺฐานิโย |
|
ชนเหล่าใดเข้าไปผูกใจโกรธ | ว่ามันโจทด่าประจานประหารฉัน |
มันผจญปล้นชิงสิ่งของกัน | เวรของเขาเหล่านั้นไม่บรรเทา |
แต่เหล่าใดย่อมไม่ผูกใจโกรธ | ว่ามันโจทด่าประจานประหารเปล่า |
มนผจญปล้นชิงสิ่งของเขา | เวรของเขาเหล่านั้นบรรเทาลง ฯ |
พระพรหมจริยาจารย์ |
|
ตั้งแต่ไหนไรมาในหล้านี้ | เวรไม่มีสงบเย็นด้วยเวรสนอง |
แต่ระงับดับเข็ญเวรไม่จอง | นี้ธรรมของคนเก่าเล่ากันมา ฯ |
พระพรหมจริยาจารย์ |
|
คนยังมีกิเลสขังดังน้ำฝาด | ทั้งไปปราศจากทมะสัจจะสิ้น |
จักครองผ้ากาสาว์ปิดกายิน | เป็นมลทินแก่ผ้าหาสมควร |
ส่วนคนใดคลายกิเลสมีเจตมั่น | ในศีลอันผ่องผุดสุดสงวน |
ความฝึกหัดสัจซึ้งถึงทั้งมวล | เขาย่อมควรครองผ้ากาสาว์ครันฯ |
พระมหาทองสุก สุวณฺณสุกฺโก |
|
ผู้รู้สิ่งไร้ค่าว่าสาระ | มีทัศนะในประโยชน์ว่าหมดสาร |
มีความดำริผิดติดดวงมาน | ไม่พบพานสารธรรมล้ำบวร |
ส่วนผู้ใดไม่เห็นดังเช่นว่า | รู้สาราสาระตามพระสอน |
มีดำริชอบเด่นเป็นโคจร | ประสพพรนิพพานศาสติธรรม ฯ |
พระมหาประเวศ ธมฺมปฺปเวโส |
|
ผู้ทำบาปเศร้าโสกในโลกนี้ | วายชีวีโศกเศร้าไม่เบาหนา |
ย่อมโศกเศร้าหม่นหมองสองโลกา | ไม่สร่างซาโศกีทวีคูณ |
เขาเห็นกรรมเศร้าหมองไม่ผ่องแผ้ว | ของตนแล้วสุขหายสลายสูญ |
ย่อมเดือดร้อนโสกาแสนอาดูร | ไม่ไพบูลย์พูนสุขต้องทุกข์ทน ฯ |
พระมหาชัยรัต สุชาโต |
|
ผู้สร้างความดีไว้ในแหล่งหล้า | บุญย่อมพาใจเพลินเจริญศรี |
ย่อมเพลิดเพลินคราตายวายชีวี | ทั้งโลกนี้โลกหน้าบุญพาเพลิน |
ย่อมเพลิดเพลินว่าฉันสรรค์กุศล | จึงได้ดลแดนสวรรค์น่าสรรเสริญ |
ผลของบุญกูลเกื้อดีเหลือเกิน | ให้จำเริญเพลินจิตนิรันดร์ ฯ |
พระพรหมจริยาจารย์ |
|
ผู้ขยันไม่คร้านในการกิจ | สติติดตัวมั่นไม่ผันผวน |
งานสะอาดชอบธรรมกรรมสมควร | คิดใคร่ครวญหวนย้อนเสียก่อนทำ |
ระวังตัวกลัวกิจจะผิดพลาด | ครองชีวาตม์สุจริตไม่ผิดถลำ |
ไม่ประมาทเมามัวเกลือกกลั้วกรรม | ยศย่อมจำเริญนานแก่ท่านเทียว ฯ |
พระพรหมจริยาจารย์ |
|
โอ้กายนี้ไม่นานวิญญาณจาก | ต้องทิ้งซากนอนทับกับดินหนอ |
ดังท่อนไม้ไร้ค่าล้มคาตอ | ทิ้งท่อนรอปลวกไฟอยู่ในดง ฯ |
พระพรหมจริยาจารย์ |
|
พระมุนีเที่ยวไปที่ในบ้าน | ไม่ระรานศรัทธาโภคาเขา |
เหมือนภมรลิ้มรสกำหนดเอา | ไม่ให้เฉาดอกกลิ่นสีบินไป ฯ |
พระเทพกิตติมุนี |
|
ช่างดอกไม้ทำพุ่มกลุ่มมาลา | จากบุปผากองใหญ่ได้มากหลาย |
กุศลสรรพ์อันสัตว์อุบัติกาย | ควรขวนขวายประกอบก่อให้พอการ ฯ |
พระพรหมจริยาจารย์ |
|
อันคนโง่รู้ว่าตนคนโง่เง่า | พอเรียกเขาว่าฉลาดเป็นปราชญ์บ้าง |
แต่คนโง่โอ่ฉลาดปราชญ์นอกทาง | ท่านเรียกอ้างว่าเขาโง่เง่าจริง ฯ |
พระพรหมจริยาจารย์ |
|
ทำกรรมใดร้อนใจในภายหลัง | น้ำตาหลั่งร้องไห้ใจโหยหา |
เสวยผลแสนทุเรศเวทนา | กรรมนั้นอย่าทำไปเพราะไม่ดี ฯ |
พระพรหมจริยาจารย์ |
|
บุคคลทำกรรมใดไม่ร้อนรุ่ม | จิตชื่นชุ่มดีใจในภายหลัง |
เสวยผลกรรมใดไม่น่าชัง | กรรมนั้นตั้งจิตทำเป็นกรรมดี ฯ |
พระมหาประเวศ ธมฺมปฺปเวโส |
|
ช่างเหมือนย่อมไขน้ำทำระหัด | ช่างศรดัดลูกธนูให้อยู่ที่ |
ช่างถากแต่งตัวไม้ให้รูปดี | บัณฑิตปรีชาชาติย่อมตัดตน ฯ |
พระพรหมจริยาจารย์ |
|
ผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อคนที่ | เจริญศรีเป็นนิจไม่บิดผัน |
ย่อมเจริญธรรมสี่ทวีพลัน | อายุวรรณ์สุขะพละพร ฯ |
พระเทพกิตติมุนี |
|
หากจะก่อสร้างบุญสุนทรธรรม | พึงกระทำบ่อย ๆ ค่อยบากบั่น |
ควรทำความพอใจในบุญนั้น | เพราะสร้างสรรค์สมบุญสุขจุนเจือ ฯ |
พระพรหมจริยาจารย์ |
|
อย่าดูหมิ่นบุญกรรมจำนวนน้อย | จักไม่ต้อยตามต้องสนองผล |
แม้ตุ่มน้ำเปิดหงายรับสายชล | ย่อมเต็มล้นด้วยอุทกที่ตกลง |
อันนักปราชญ์สั่งสมบ่มบุญบ่อย | ทีละน้อยทำไปไม่ไหลหลง |
ย่อมเต็มด้วยบุญนั้นเป็นมั่นคง | บุญย่อมส่งสบสถานวิมานทอง ฯ |
พระพรหมจริยาจารย์ |
|
การเกิดเป็นมนุษย์นี้สุดยาก | ชีพชนม์มากยากแค้นสุดแสนเข็ญ |
การฟังธรรมลำบากยิ่งยากเย็น | อุบัติเป็นองค์พุทธ์สุดยากจริง ฯ |
พระมหาทองสุก สุวณฺณสุกฺโก |
|
การให้ธรรมชำนะให้ทั้งหลายอื่น | รสธรรมชื่นชนะหมดรสไหน ๆ |
ยินดีธรรมชำนะสิ้นยินดีใด | ตัณหากษัยชนะทุกข์ดลสุขจริง ฯ |
บุญสม เจนใจ |
เบญจศีล
คนมีศีล | ห้าข้อ | บริสุทธิ์ |
เป็นมนุษย์ | ดีเลิศ | งามเฉิดฉาย |
่ย่อมมีสุข | ยั่งยืน | มิคืนคลาย |
ทรัพย์มากมาย | เกิดมี | บริบูรณ์ |
วจีกรรม (จำเขามาเล่า)
ปาก เป็น ยอดคม ยอดลม ยอดรส และยอดอาวุธ
เป็นยอดคม เช่น
"ปากคนฆ่าคนจนม้วยมุด
มากกว่าคมอาวุธเป็นไหนไหน"
เป็นยอดลม เช่น
"เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา"
เป็นยอดรส เช่น
"มีดว่าคมก็ไม่มากเหมือนปากคม
รสหวานขมขมไม่มากเหมือนปากคน"
เป็นยอดอาวุธ เช่น
"จำจะพลิ้วยชิวหาเป็นอาวุธ
สังหารบุตรเจ้าลังกาให้อาสัญ"
ถึงบางพูด | พูดดี | เป็นศรีศักดิ์ |
มีคนรัก | รสถ้อย | อร่อยจิต |
แม้พูดชั่ว | ตัวตาย | ทำลายมิตร |
จะชอบผิด | ในมนุษย์ | เพราะพูดจา |
เป็นมนุษย์ | สุดนิยม | เพียงลมปาก |
จะได้ยาก | โหยหิว | เพราะชิวหา |
แม้นพูดดี | มีคน | เขาเมตตา |
จะพูดจา | จงพิเคราะห์ | ให้เหมาะสม |
ปากเป็นเอก | เฉกเช่น | เป็นอาวุธ |
ปากมนุษย์ | คมกล้า | น่าหวาดหวั่น |
ปากดี | มีประโยชน์ | ไร้โทษทัณฑ์ |
ปากชั่วนั้น | ย่อมลำบาก | เพราะปากมอม |
ปากเปราะเปราะ | เราะร้าย | ยิ่งร้ายกาจ |
ปากตลาด | โจษจัน | นั้นยิ่งแย่ |
ปากหอย | ปากปู | ไม่มีใครแล |
เที่ยวยุแหย่ | แทะแยก | คนแตกคอ |
อันรสปาก | หากหวาน | ก็หวานเด็ด |
บรเพ็ด | ก็ไม่มาก | เท่าปากขม |
มีดว่าคม | ก็ไม่มาก | เหมือนปากคม |
รสหวานขม | ขมไม่มาก | เหมือนปากคน |
เป็นมนุษย์ | สุดจะดี | ที่ลมปาก |
ถ้าพูดมาก | แต่ไร้ค่า | พาเสียศรี |
แม้พูดน้อย | ด้อยราคา | ค่าไม่มี |
พูดไม่ดี | เสียค่า | ราคาคน |
หัวใจบัณฑิต
จำขึ้นใจ | ในวิชา | ดีกว่าจด |
จำไม่หมด | จดไว้ดู | เป็นครูสอน |
ทั้งจดจำ | ทำวิชา | ให้ถาวร |
อย่านิ่งนอน | รีบจดจำ | หมั่นทำเอย |
หญิงงาม
หญิงจะงาม | งามน้ำใจ | ใช่เรือนร่าง |
หญิงจะสวย | สวยท่าทาง | วางถูกที่ |
หญิงจะรวย | รวยคุณงาม | และความดี |
หญิงจะแก่ | แก่เพราะมี | ปรีชาชาญ |
สุดยอดของความงาม
จันทร์จะงาม | ยามหมอก | ไม่ปกปิด |
พระอาทิตย์ | จะงาม | ยามทรงกลด |
หญิงจะงาม | ยามงอน | ค้อนประชด |
ธรรมรส | งามยิ่ง | กว่าสิ่งใด |
ยามจน ยามเจ็บ ยามจาก ยามเจ๊ง
อาจรู้จัก | บ่าวดี | เมื่อมีกิจ |
ญาติสนิท | เมื่อสมัย | ภัยให้ผล |
มิตรก็ฉัน | เดียวกัน | เมื่อวันจน |
ภรรยาตน | เมื่อทรัพย์ | อับสูญไป |
โลกนิติ |
ผู้ใหญ่
เป็นผู้ใหญ่ | ให้ดี | ต้องมีหลัก |
เด็กก็รัก | ชื่นชม | นิยมทั่ว |
เป็นผู้ใหญ่ | มิใช่ใหญ่ | อยู่ที่ตัว |
หรือที่หัว | ขาวหงอก | เป็นดอกเลา |
เป็นใหญ่ | ต้องรู้หลัก | ของนักปราชญ์ |
ให้โอวาท | ใช่ว่า | จะด่าเขา |
เป็นผู้ใหญ่ | ต้องรู้จัก | ความหนักเบา |
มิใช่เอา | แต่อำนาจ | เข้าฟาดฟัน. |
หน้าที่ พ่อแม่ที่ดี
พ่อแม่ | ควรบำรุง | ลูกเช่นนี้ |
หนึ่งย่อมชี้ | บาปกรรม | อย่าทำหนา |
สองความดี | ให้ทำไว้ | ในกายา |
สามศึกษา | ให้เล่าเรียน | หมั่นเพียรไป |
สี่เมื่อลูก | ถึงวัย | เติบใหญ่แล้ว |
ท่านยึดแนว | หาคู่ | ดูสดใส |
ห้าลูกดี | เป็นศรี | ในผองไทย |
สมบัติใด | ยกให้ลูก | ผูกชีวิน. |
หน้าที่ ลูกที่ดี
หน้าที่ลูก | มีห้า | ท่านว่าไว้ |
หนี่งตั้งใจ | เลี้ยงพ่อแม่ | ตอบสนอง |
สองทำใจ | ของพ่อแม่ | ให้สมปอง |
สามประคอง | วงศ์พันธุ์ | ให้มั่นคง |
สี่ทำตน | เป็นคน | ควรรับทรัพย์ |
ห้าท่านลับ | โลกไป | กลายเป็นผง |
หมั่นทำบุญ | อุทิศ | จิตยืนยง |
บุญจะส่ง | ให้พบ | คบคนดี. |
หน้าที่ สามีที่ดี
สามีดี | มีห้า | ท่านว่าไว้ |
หนึ่งใส่ใจ | ยกย่อง | ประคองขวัญ |
สองไม่ดูถูก | ภรรยา | ให้จาบัลย์ |
สามผูกพัน | ไม่นอกใจ | จนวายปราณ |
สี่มอบความ | เป็นใหญ่ | ให้เสร็จสรรพ |
ห้าให้เครื่อง | ประดับ | สำรองร่าง |
สมบัติห้า | มีครบ | จบไม่จาง |
เป็นเยี่ยงอย่าง | ยอดสามี | ดีนักแล. |
หน้าที่ ภรรยาที่ดี
ภรรยาดี | มีห้า | ท่านว่าไว้ |
หนึ่งเข้าใจ | จัดการ | งานเคหา |
สองสงเคราะห์ | เพื่อนผัว | ตัวไปมา |
สามเสน่หา | สามี | ไม่นอกใจ |
สี่รักษา | ทรัพย์ไว้ | มิให้ขาด |
ห้าหมั่นปัดกวาด | บ้านเรือน | ไม่เชือนไถล |
สมบัติห้า | ถ้ามีใน | สตรีใด |
เธอทำได้ | นับว่าเลิศ | ประเสริฐเอย. |