วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หรือที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักกันดีในนาม The Marble Temple เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนนครปฐม (ถนนฮก) ติดคลองเปรมประชากรด้านทิศตะวันตกซึ่งอยู่ระหว่างสถานที่สำคัญหลายแห่งคือ พระราชวังสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระที่นั่งอนันตสมาคม ทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น

วัดเบญจมบพิตร เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง เพราะมีต้นไทรทองอยู่ภายในวัด เดิมเป็นวัดเล็ก ๆ ไม่ทราบประวัติการก่อสร้างแต่สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์

สมัยรัตนโกสินทร์วัดนี้ปรากฏความสำคัญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐ เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์คิดตั้งตัวเป็นอิสระ แม่ทัพไทยผู้รักษาพระนครในขณะนั้นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระราชโอรส ได้ตั้งกองบัญชาการรบอยู่ที่วัดแหลมแห่งนี้ แต่กองทัพของเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้ก่อนที่จะยกมาถึงพระนคร เจ้าอนุวงศ์ถูกจับตัวลงมายังกรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๒ และสิ้นชีวิตในอีก ๗ - ๘ วันต่อมา

เมื่อเสร็จการปราบกบฎครั้งนั้นแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์จึงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์วัดแหลม หรือวัดไทรทองแห่งนี้ พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องเธอ ร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน ๔ พระองค์ คือ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ พระองค์หญิงอินทนิล และพระองค์หญิงวงศ์

ในการปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ ๕ องค์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งแปลว่า วัดของเจ้านาย ๕ พระองค์

ครั้นถึงรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดที่จะขยายพระนคร ได้ทรงจัดซื้อทึ่ดินบริเวณคลองสามเสน กับคลองผดุงกรุงเกษมตอนเหนือของวัดเบญจบพิตรในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ เพื่อสร้างเป็นพระราชอุทยาน โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ และพระราชทานนามว่า สวนดุสิต พร้อมทั้งโปรดให้สร้างพระราชวังแห่งใหม่ คือ พระราชวังดุสิต (คือบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นต้น)

บริเวณที่สร้างสวนดุสิตเป็นพื้นที่ของวัดร้าง ๒ วัด คือ วัดดุสิต และวัดปากคลอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงทำผาติกรรม และสถาปนาวัดเบญจบพิตรเพื่อเป็นการทดแทนทั้งสองวัด และประกอบกับวัดเบญจบพิตรกำลังทรุดโทรมลงตามลำดับ จึงมีพระราชดำริที่จะสถาปนาขึ้นเป็นวัดใหญ่ พร้อมกับให้มีความงดงามสง่าสมกับเป็นพระอารามหลวงใกล้พระราชวังดุสิต จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นประธานในการก่อสร้างวัดใหม่ทั้งหมดเริ่มจากวางแผนผัง พร้อมทั้งขยายพื้นที่วัดรวมทั้งที่ธรณีสงฆ์เพื่อเป็นการชดเชยเนื้อที่วัดร้างทั้ง ๒ วัดในวันที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นองค์ประธานในการผูกพันธสีมา

งานพระราชพิธีดำเนินการถึง ๓ วัน ๓ คืน จนถึงวันที่ ๑๗ มีนาคมจึงแล้วเสร็จ และโปรดให้เปลี่ยนนามวัดใหม่เป็น วัดเบญจมบพิตร และเติมสร้อยนามเป็น วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งมีความหมายว่า วัดของพระองค์ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๕ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งอยู่ใกล้สวนดุสิตอันเป็นพระราชฐาน พร้อมทั้งทรงแสดงพระราชประสงค์ว่า เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้วถวายพระเพลิงแล้ว ให้นำพระสรีรังคารมาบรรจุไว้ภายใต้รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช พระประธานในพระอุโบสถ

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสทรงจัดการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์

< หน้าหลัก    สิ่งสำคัญภายในวัด  >