|
|||
ยุคนี้การติดต่อสื่อสารต่างๆทั่วโลกจะเป็นไปอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว อย่างเช่น ข่าวหลวงพ่อคูณอาพาธต้องส่งเข้าผ่าตัด ที่โรงพยาบาล ศิริราชเป็นการด่วน เมื่อวันที่ 25 ตุลานี้ เป็นต้น คนไทยที่อยู่ในยุโรปก็สามารถรู้ข่าวนี้ได้พร้อมๆกับคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน ใน สภาพการณ์ที่ข่าวสารต่างๆเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วอย่างนี้ การรับข่าวสารต่างๆจะต้องมีการพิจารณาไตร่ตรองหรือมีการตรวจ สอบข้อเท็จจริงกันบ้าง เพราะว่าเรื่องราวข่าวสารต่างๆทั้งหลายแหล่นั้น มีทั้งความจริงและ ความไม่จริง มีการแต่งเติมให้เกินความจริง มีการ โฆษณาชวนเชื่อ ฯลฯ แอบแฝงอยู่ในระบบการสื่อสารต่างๆอย่างมากมายหลากหลายรูปแบบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพิจารณาและตรวจ สอบทุกครั้งที่รับข่าวสาร และเครื่องมือที่เราจะนำมาใช้ในการนี้ ก็มีอยู่กับมนุษย์เราแล้ว ซึ่งเราเรียกกันว่า ปัญญา นั่นเอง |
|||
"ปัญญา" ไม่ใช่สมอง สมองเป็นเพียงแต่อวัยวะอย่างหนึ่งที่ใช้ในกระบวนการให้เกิดปัญญาเท่านั้นเอง ความจริงแล้วปัญญาเป็นนามธรรมอย่างหนี่ง ซึ่งในทางพุทธศาสนาได้ให้ความหมายไว้อย่างกว้างๆ ว่า ปัญญา คือ ความรอบรู้ ความเข้าใจในเหตุผล ความเข้าใจในสภาวะของสรรพสิ่งต่างๆตาม ความเป็นจริง ปัญญานี่เอง เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความเก่งกาจฉลาดรอบรู้กว่าสรรพสัตว์ต่างๆทุก ประเภทบนพื้นพิภพนี้ อีกทั้งยังสามารถที่จะพัฒนาให้เพิ่มพูนขึ้นได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และท่านยังได้บอกถึงแนวทางที่จะสร้างปัญญาให้เพิ่มขึ้นได้ มีอยู่ 3 ทางคือ 1. สุตมยปัญญา(สุตะมะยะ) 2. จินตมยปัญญา(จินตะมะยะ) 3. ภาวนามยปัญญา(ภาวะนามะยะ) มวลมนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกนี้จะใช้ปัญญาและพัฒนาปัญญาให้เจริญก้าวหน้า ก็เฉพาะปัญญา 2 ประการข้างต้นเท่านั้น เพราะเท่านี้ก็สามารถทำให้เกิดประโยชน์ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของ มนุษย์โลกโดยทั่วๆไป ที่ยังต้องเผชิญอยู่กับโลกธรรมทั้ง 8 ประการ ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ได้ยศ-เสื่อมยศ มีสรรเสริญ-มีนินทา มีสุข-มีทุกข์ คละเคล้ากันไปตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย เรียกว่า วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏไม่รู้จักสิ้นสุด แต่เจ้าชายสิทธัตถะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นพระองค์แรกที่นอกจากจะพัฒนาปัญญา 2 ประการแรก แล้วยังได้หาหนทาง พัฒนาปัญญาประการที่ 3 หรือวิปัสนาญาณจนได้รับผลสูงที่สุด คือได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธองค์ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อ สรรพสัตว์ในทั้ง 3 แดนโลกธาตุคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ จึงได้นำสิ่งพระพุทธองค์ตรัสรู้ ที่เรา เรียกว่า พระสัทธรรม นำมาแนะนำสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้ประพฤติปฏิบัติตาม จนมีผู้ได้รับผลสำเร็จ สมดังคำสอนมากมายนับตั้งแต่ พระอัญญาโกณทัญญะเป็นต้นมา จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เรา ท่านทั้งหลายที่ได้ชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนาจะได้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักพระสัทธรรมคำสอน ของพระพุทธองค์ให้ยิ่งๆขึ้น เพราะเวลาและโอกาสของเราน้อย ลงไปทุกขณะแล้ว หลักคำสอนของพระพุทธองค์ ที่สอนให้ชาวพุทธกระทำและบำเพ็ญนั้นก็มี 3 เรื่องใหญ่ คือ การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญจิตภาวนา ซึ่งครั้งนี้จะนำเอาเรื่องการเจริญจิตภาวนามาขยาย ความในเข้าใจกันตามสมควร จุดประสงค์ของการปฏิบัติจิตภาวนาในทางพระพุทธศาสนานั้น ก็เพื่อจะทำให้กิเลส(ความโลภ ความโกรธ ความหลง) ตัณหา (ความอยากได้รูป-เสียง-กลิ่น-รส-การสัมผัส) อุปาทาน(ความยึดถือในสรรพสิ่งต่างๆว่าจะจีรังยั่งยืนตลอดไป) ให้ลดน้อย ถอยลงไปจากจิตใจและหมดสิ้นไปในที่สุด วิธีการปฏิบัติจิตภาวนานั้น ท่านจัดไว้เป็น 2 แนวทางด้วยกันคือ 2. วิปัสสนาภาวนา คือความพยายามเอาจิตที่ตั้งอยู่ในสมาธิแล้ว(ระดับจิตเป็นอุปจารสมาธิ)มาพิจารณาสภาวะธรรมต่างๆทั้ง สมมุติสัจจะและปรมัติถ์สัจจะให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อได้รู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว ผลที่ตามมาจิตจะต้องเกิดนิพพิทา (รู้แล้วเริ่มละวาง) -วิราคะ(คลายจากความยินดียินร้าย) -วิมุติ-(หลุดพ้นจากกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน) วิมุติญาณทัสสนะ(ผู้ปฏิบัติได้รู้ด้วยเองว่าหลุดพ้นแล้ว) เป็นไปตามลำดับ นี่เป็นแนวทางการปฏิบัติจิตภาวนาที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ ในการลงมือปฏิบัติจิตภาวนานั้น ต้องพยายามทำตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้นั่นแหละดีที่สุด เช่นใน อานาปาณสติสูตร(เล่ม 14) กายคตาสติสูตร(เล่ม 14) มหาสติปัฏฐานสูตร(เล่ม 10) อยู่ในพระไตรปิฎก หรือตามที่พระพุทธโฆษาจารย์ รวบรวมไว้ใน คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ก็ได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเรียนรู้จากตำราที่เป็นคำสอนโดยตรงของพระพุทธองค์กันบ้าง พระไตรปิฎกนั้น ใครๆก็อ่านได้ทั้งนั้น คืออ่านในเบื้องต้นก่อนก็ได้ แล้วจึงลงมือปฏิบัติและศึกษา เพิ่มเติมอีก ปฏิบัติไปศึกษาไป ในที่สุดจะเข้าใจ เรื่องการ ปฏิบัติจิตภาวนาที่ถูกต้องจริงๆ และขอยกเอาคำสอนของพระพุทธองค์ที่สอนการฝึกจิตภาวนาที่สอนไว้ในอานาปาณสติ สูตร มาไว้เป็นแบบดังนี้ ...ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติ มั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้าเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัด ว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น สำเหนียกอยู่... ขออธิบายเพื่อจะได้นำมาปรับใช้กับสภาพการณ์ของเรา คือในขั้นต้นเป็นการเตรียมตัว หาโอกาสที่ว่างที่สุด บริเวณที่ปลอด การรบกวนเท่าที่จะทำได้ เช่น ช่วงเวลาก่อนนอน นึกถึงพระรัตนตรัยหรือสวดมนต์ก่อนก็ได้ นั่งตัวตรงๆในท่าที่สำรวมเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ต้องเกร็ง ส่วนต่างๆของร่างกาย กำหนดความรู้สึกมาอยู่กับตัว โดยพยายามหายใจเข้า-ออก ให้ช้าๆสบายๆ 3-4 เที่ยว ในขณะ เดียวกันให้เรารู้สึกตัวอยู่ว่ากำลังหายใจเข้า-ออก ต่อมาปล่อยการ หายใจไปตามสบาย แต่ต้องรู้ทุกขณะว่า หายใจเข้าอยู่หรือหายใจออกอยู่ ส่วนการหายใจจะสั้นหรือ ยาวไม่ต้องเอามา กำหนด เพราะว่าเรารู้การหายเข้าออกทุกขณะแล้ว จะสั้นหรือยาวก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมดาของ มันเอง สิ่งสำคัญต้องรู้ลมหายใจอย่างต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆก็แล้วกัน ถ้าทรงความรู้สึกให้รู้การหายใจ เข้า-ออก ติดต่อกันระยะหนึ่งจะมากหรือน้อยก็ตาม ช่วงนั้นเรียกว่า จิตก็เป็นสมาธิ ในขั้นต้นทำเท่านี้ ก่อน และควรจะทำเป็นประจำสม่ำเสมอ อีกอย่างหนึ่งขณะทำอาจ นึกในใจว่า พุท-เมื่อหายใจเข้า โธ-เมื่อหายใจออก ด้วยก็ได้ แต่ไม่ต้องไปสนใจว่าจะเห็นอะไรหรือไม่ จิตเป็นสมาธิหรือเป็นฌาน ระดับใด หรือว่าอาจจะมีความรู้สึกแปลกๆวูบๆวาบๆเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องไปเอา ใจใส่ ให้พยายามกำหนด ความรู้สึกให้มารู้อยู่กับการ การหายใจเข้า-ออกอย่างเดียวเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถที่จะรักษาจิตให้รู้ลมหายใจเข้า-ออก ได้ระยะหนึ่งเท่านั้น จากนั้นจิตจะเผลอไผล่ไปคิดเรื่องอื่น สักครู่หนึ่งพอเรารู้ตัวว่าจิตไปคิดเรื่องอื่นอยู่ เราพยายามกำหนดจิตให้กลับมารู้ที่อาการหายใจอีก การปฏิบัติของผู้ที่จิตยังไม่เข้มแข็ง ก็จะเป็นเช่นนี้ ถ้าเราทำเป็นประจำแล้วจิตจะสามารถทรงความรู้อยู่กับลมหายใจได้เป็นเวลานานขึ้น หรือเรียกว่าจิตเป็นสมาธินานขึ้น ถ้าปฏิบัติแล้วสามารถทรงจิตเป็นสมาธิได้เสมอๆ ผ่านไปสักระยะหนึ่งเราจะรู้เองว่าปัญญาได้พัฒนาดีขึ้น =================================================================================
บทความข้างต้นนี้ได้ตีพิมพ์ลงใน นิตยสารเวียนนา-ไทยไลฟ์ ฉบับที่ ๗ ประจำเดือนธันวาคม-มกราคม ๒๕๔๘ สนใจอ่านคอลัมน์อื่นๆในนิตยสารฯ คลิกที่นี่
|