บทที่ 9 การต่อหลอดไฟฟ้า

การต่อหลอดฟลูออเรสเซนต์

วงจรและส่วนประกอบ

            ภายในวงจรหลอดฟลูออเรสเซนต์ประกอบด้วย บัลลาสต์ (Ballast) สตาร์ทเตอร์ (Starter) และหลอด (Lamp) บัลลาสต์ต่ออนุกรมกับหลอดส่วนสตาร์ทเตอร์ต่อขนานกับไส้หลอดเมื่อจ่ายไฟให้กับวงจรจะทำให้กระแสไหลผ่านบัลลาสต์ ผ่านไส้หลอดไปยังสตาร์ทเตอร์ จะเกิดประจุไฟฟ้าขึ้นที่หน้าสัมผัสของสตาร์ทเตอร์ ทำให้อิเล็กตรอนก ระจายจากหน้าสัมผัสหนึ่งไปยังอีกหน้าสัมผัสหนึ่งผ่านแก๊สเฉื่อยภายในสตาร์ทเตอร์ ทำให้แก๊สเฉื่อยร้อนขึ้น หน้าสัมผัสทั้งสองจะงอต่อวงจร

สตาร์ทเตอร์ ทำให้ครบวงจร ไส้หลอดก็จะเริ่มร้อนขึ้นเผาไอปรอทภายในหลอดให้กระจายอยู่ในหลอดแก้วและยังผลให้อิเล็กตรอนหลุดกระจายออกมาจากไส้หลอดด้วย ในขณะนี้หน้าสัมผัสจะเย็นตัวลงเพราะไม่เกิดกระจายอิเล็กตรอนผ่านแก๊สเฉื่อยอีก แก๊สเฉื่อยจะเย็นตัว หน้าสัมผัสจะดีดตัวออกจากกัน ทำให้บัลลาสต์สร้างแรงดันสูง (High Voltage) ขึ้นเสริมแรงดันที่จ่ายเข้ามาในวงจร อิเล็กตรอนก็สามารถวิ่งจากไส้หลอดข้างหนึ่งไปยังไส้หลอดอีกข้างหนึ่งได้ เมื่อกระแสไฟฟ้าผ่านหลอดไอปรอทจะทำให้เกิดรังสีเหนือม่วง หรืออุลตราไวโอเลท และเมื่อรังสีนี้วิ่งไปกระทบสารเรืองแสงข้างๆ หลอดสารนั้นจะเปล่งแสงสีนวลออกมา ในระยะเวลาที่หลอดสว่างบัลลาสต์จะทำหน้าที่จำกัดปริมาณกระแสไฟฟ้าที่หลอด ส่วนสตาร์ทเตอร์จะอยู่ในตำแหน่งเปิดวงจรตลอดเวลาที่หลอดสว่าง

การเกิดแสงสว่าง

การเกิดแสงสว่างในหลอดฟลูออเรสเซนต์

            การเลือกใช้ขนาดของหลอด บัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ ต้องมีความสัมพันธ์กันด้วย อุปกรณ์ทั้งสามมีหลายขนาดด้วยกัน เช่น ขนาด 10, 20, 40 วัตต์ เป็นต้น เมื่อต้องการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาด 40 วัตต์ ก็ต้องใช้บัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ขนาด 40 วัตต์ด้วย ซึ่งถ้าขนาดทั้งสามไม่เท่ากันอาจทำให้หลอดฟลูออเรสเซนต์เสียหาย สำหรับสตาร์ทเตอร์ในปัจจุบันสามารถใช้กับหลอดได้หลายขนาดซึ่งก็จะต้องพิจารณาขนาดที่เขียนกำกับไว้ด้วย