ข้อมูลทั่วไป : ระนองมีจำนวนประชากรที่น้อยที่สุดของไทยเพียง 154,733 คน (ข้อมูลประชากรเดือนกรกฎาคม ปี 2541 )
แบ่งการปกครองเป็น 4 อำเภอกับ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองระนอง อำเภอกระบุรี อำเภอกะเปอร์ อำเภอละอุ่นและกิ่งอำเภอสุขสำราญ
เมืองระนองห่างจากกรุงเทพฯ 568 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผนดินสายที่ 4 (ถนนเพชรเกษม) เศรษฐกิจของระนองขึ้นกับการประกอบอาชีพประมง เหมืองแร่
สวนยางพารา กาแฟ มะพร้าว และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งคนระนองเรียกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ว่า "กาหยู"
โดยจังหวัดอื่นในภาคใต้จะเรียกต่างกันเป็น กาหยี หัวครก มะม่วงเม็ดล่อ มะม่วงหิมพานต์ของระนองมีเนื้อหวานโดยเฉพาะพันธุ์ที่ปลูกบนเกาะพยามอันเป็น แหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ
เม็ดมะม่วงที่คั่วไฟแบบชาวบ้านท้องถิ่นที่เก็บในฤดุปลูกจะมีรสอร่อย หอม และกรอบ และเป็นของฝากยอดนิยมที่ขึ้นชื่อของระนองชนิดหนึ่ง
ของฝากจากระนองยังมี กุ้งแห้ง กะปิ ปลาเค็ม มีการทำฟาร์มปูนิ่มที่บ้านท่าฉาง ตำบลหงาว อำเภอเมืองระนองเป็นครั้งแรกในประเทศไทยปัจจุบันได้มีแพร่หลายทั่วไป
ตามจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลทั้งสองฝั่งของอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภออื่นของระนอง :
เทศกาลและงานประเพณี :
งานปิดทองพระถ้ำพระขยางค์ : ที่อำเภอกระบุรี จัดขี้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี โดยใช้บริเวณถ้ำพระขยางค์เป็นสถานที่จัดงาน
เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเข้าชมความสวยงามของถ้ำ กลางคืนจะมีมหรสพต่าง ๆ
งานเสด็จพระแข่งเรือ ที่อำภอกระบุรี เป็นงานประเพณีประจำปี จัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2450 ระยะเวลาจัดงาน 3 วัน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ถึง แรม 3 ค่ำ เดือน 11
มีการแข่งขันเรือพระน้ำ โดยการนำเรือมาตกแต่งให้สวยงาม และอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในเรือ แล้วแห่ไปตามลำน้ำของแม่น้ำกระบุรี มีการประกวดร้องเพลงเรือ การแข่งเรือระหว่างชาวไทยกับชาวพม่า งานจัดที่บริเวณแม่น้ำกระบุรีช่วงคอคอดกระ
งานกาหยู เป็นงานประกวดพืชผลและจำหน่ายผลิตผลทางเกษตร จัดในช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่กาหยูหรือมะม่วงหิมพานต์กำลังสุกเต็มต้นและเป็นฤดูเก็บเมล็ดกาหยู ในงานจัดมีการออกร้านจัดนิทรรศการ มีการประกวดพืชผลทางเกษตร เช่น เมล็ดกาหยู หล้วยน้ำหว้า กล้วยเล็บมือนาง และมีการจำหน่ายผลิตผลทางเกษตรและอาหารทะเลแห้ง
งานเปิดเมืองระนอง ท่องอันดามัน เป็นงานเปิดเทศกาลท่องเที่ยวของจังหวัดระนอง จัดในช่วงเดือนเมษายนที่บริเวณลานข้างศาลหลักเมืองตรงข้ามเทศบาลเมืองระนอง
มีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางทะเล ในงานมีการออกร้านจำหน่ายอาหารทะเลให้นักท่องเที่ยวได้เลือกรับประทานอาหารทะเลสด ๆ
เอกลักษณ์ของระนอง :
![]() |
ตราประจำจังหวัด ได้จากประมวลเอาสิ่งสำคัญเมื่อคราวที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์พระองค์แรก เสด็จประพาสเมืองระนอง ซึ่งเจ้าเมืองระนองในสมัยนั้นได้จัดที่ประทับบนเนินเขานิเวศน์คีรี ซึ่งได้พระราชทานนามพลับพลาที่ประทับว่า พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ มาเป็นดวงตราประจำจังหวัด ซึ่งเป็นรูปปราสาทตั้งอยู่บนภูเขา มีรูปเลข ๕ ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า ความหมายต่างๆ ในดวงตรา คือ เลข ๕ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปราสาท หมายถึง พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ภูเขา หมายถึง ภูเขานิเวศน์คีรี พานแว่นฟ้า หมายถึง ชาวจังหวัดระนอง |
คำขวัญจังหวัดระนอง " คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง "
![]() |
ดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง เป็นดอกกล้วยไม้ป่าชนิดหนึ่งมีชื่อว่า เอื้องเงินหลวง (Dendrobium Formasum) คล้ายคัทลียา ดอกสีขาวมีสี่กลีบ กลีบใหญ่มีแต้มเหลืองบริเวณใกล้ลิ้น มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ บานอยู่ได้หลายวัน ขึ้นเกาะติดกับต้นไม้อื่น จะออกดอกประมาณเดือนตุลาคม - ธันวาคม สามารถพบเห็นอย่างดาษดื่นในป่าที่มีความชุ่มชื้นของระนอง โดยเฉพาะ ป่าเขาน้ำตกหงาว เดิมเรียกว่า"ฟอร์ม มา ซ่อม" ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนเป็น"โกมาซุม" |
อาหารประจำถิ่น :
อาหารประจำถิ่นของระนองได้รับอิทธิพลจากอาหารของคนจีนฮกเกี๋ยนที่เป็นผู้มาบุกเบิกตั้งถิ่นฐาน และได้วัฒนธรรมของอาหารมาเผยแพร่สืบมาถึงปัจจุบัน
แฮ่จี่ หรือ กุ้งทอด เป็นอาหารประเภทว่างรับประทานก่อนมื้อหลัก ประกอบด้วยกุ้ง มันแกว ถั่วงอกลวก ทอดด้วยแป้งข้าวเจ้าพอเหลืองกรอบ
รับประทานกับน้ำจิ้มที่โรยด้วยถั่วลิสงบดที่มีรสออกหวานและเผ็ดเล็กน้อย
อ่าจาด เป็นอาหารรับประทานเป็นกับข้าว ลักษณะเป็นผักหลายชนิดผัดกับพริกแกง และถั่วลิสงบด ให้มีน้ำแบบขลุกขลิก ผักที่นิยมใช้เช่น
ถั่วฟักยาว แตงกวาที่ลอกไส้ออก ผักบุ้ง มะเขือยาว หน่อไม้ ถั่วงอก
บี่ไถ่บั๊ก เป็นขนมหวาน ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเจ้ามีแบบย้อมสีอาหารสีเหลือง ชมพู และสีขาวของแป้ง รับประทานกับน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็งบด
![]() |
![]() |
![]() |
แฮ่จี่ หรือ กุ้งทอด | อ่าจาด | บี่ไถ่บั๊ก |
ของฝากของระนอง :
ของฝากของเมืองระนองเป็นผลิตผลการประมงและการเกษตร
กะปิ ระนองมีชายฝั่งที่เป็นป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นแหล่งอาศัยของกุ้งเคย
ที่นำมาทำกะปิ และส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์ของตำบลในหลายตำบล กะปิจากเกาะเหลามีชื่อเสียงมายาวนาน
และนิยมซื้อเป็นของฝากของคนระนอง
กุ้งแห้งมีการส่งเสริมและประกวดผลิตผลเพื่อพัฒนาคุณภาพ กุ้งแห้งที่ระนองนิยมทำเป็นตัวขนาดกลางและขนาดเล็ก
ที่ไม่ใช้สีผสมมีให้เลือกหาได้ทั่วไปจากร้านค้าในเมืองระนอง
เม็ดมะม่วงหิมพานที่คั่วแบบดั้งเดิมจากตำบลหงาวที่มีรสชาติ มัน กรอบ หรือ เม็ดมะม่วงหิมพานที่อบเนยจากโรงงานย่านสะพานปลาก็ยังนิยมใช้เป็นของฝาก
ผักเหลียงจากผักที่ขึ้นในพื้นที่ป่า ได้ปรับปรุงมาส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูก
เป็นที่นิยมเอาใบอ่อนมาปรุงอาหารได้หลายชนิด ปัจจุบันมีการนำขายอย่างแพร่หลายทั่วไป
ปูนิ่ม ที่ทำจากปูเนื้อตัวผู้ ซึ่งมีการทำฟาร์มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่บ้านท่าฉาง ตำบลหงาว
ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปขายที่ กทม.และขายให้ร้านอาหารในเมือง สำหรับผู้ต้องการซื้อเป็นของฝาก
ติดต่อซื้อได้ที่บริษัทไตรริง ถนนเพชรเกษม หรือที่ฟาร์มที่เพาะเลี้ยง
![]() |
![]() |
![]() |